ย้อนดู ‘ล้มเจ้า’ ข้อหาเก่าแก่ของไทย-การกลับมาใหม่เพื่อเล่นงาน ‘ปิยบุตร’

 

ย้อนดูวาทกรรมล้มเจ้าในอดีตจนปัจจุบัน เส้นทางสายความเกลียดชังที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง เริ่มต้นตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 มาจนถึงสนธิ ลิ้มทองกุล กับม็อบเสื้อเหลือง-นายกฯ พระราชทาน-ปฏิญญาฟินแลนด์ ก่อนมีรัฐประหาร 2549 ต่อมามี ‘ผังล้มเจ้า’ ของ ศอฉ.ช่วงสลายการชุมนุมแดงปี 53 ล่าสุดคือ กรณีปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พ่วงเรื่องกลุ่มนิติราษฎร์กับข้อเสนอแก้ไข ม.112 ลองเปิดดูว่าพวกเขาเสนออะไร

 

 

ภาพรวมการกลับมาใหม่ของการสร้างกระแส ‘ล้มเจ้า’

 

เร็วๆ นี้การโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยวาทกรรม ‘ล้มเจ้า’ กำลังกลับมาอีกครั้ง

หฤทัย ม่วงบุญศรี หรือ อุ๊ อดีตนักร้องชื่อดังโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า “ยอมรับเลยว่า ช่วงหลัง ไม่ค่อยสนใจข่าวการเมืองมากนัก แต่เมื่อ 2 วันก่อนเดินเข้าไปในห้องนอนคุณพ่อ เห็นคุณพ่อดูข่าวการเมือง ได้เห็นนายปิยบุตร แสงกนกกุล บรรยายแนวความคิดที่รุนแรงเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ อุ๊ตกใจมาก และคิดว่าการวิพากษ์ที่บิดเบือนรุนแรงนี้ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมาก”

หลังจากนั้นเธอยังโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวท้าให้ปิยบุตรออกมาดีเบตกับตนเอง “ปิยบุตร​ มึงอยู่ไหน? กูขอท้ามึงออกมาพูดกับกู มึงจะได้รู้ว่านรกมีจริงในการดีเบต”

ต่อมาวันที่ 4 เม.ย.2562 เธอเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ให้ตรวจสอบข้อความในหนังสือ 2 เล่มที่ปิยบุตรเป็นผู้เขียน คือ ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป , รัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจ สถาปนาและการเปลี่ยนผ่าน โดยหฤหัยเห็นว่า แม้เขียนในเชิงวิชาการแต่เนื้อหาอาจกระทบกับระบบการปกครองไทยซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ใช้ชื่อเฟสบุ๊ค Pu Sawangphon โพสต์คลิปลงในกรุ๊ป ‘การเมืองภาคประชาชน’ โดยคลิปได้ชี้ว่าปิยบุตรพูดว่า “ระบอบประชาธิปไตย” โดยไม่มีสร้อย “ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หลายครั้ง ในคลิปมีข้อความตอนหนึ่งของหนังสือราชมัลลงทัณฑ์ฯ ด้วยที่ระบุว่า “ฝ่ายกษัตริย์นิยมปรารถนาให้สังคมไทยกลับไปใกล้เคียงกับระบอบเก่าให้มากที่สุด โดยให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทและอำนาจมาก แต่พวกเขาก็ตระหนักดีว่าหากเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ในยุคศตวรรษที่ 21 คงเป็นไปได้ยากที่สังคมโลกจะยอมรับ เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่กระแสโลกสมัยปัจจุบัน “บังคับ” ให้ทุกประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยและการเสนออะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ย่อมทำให้ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมแลดูโง่เขลาเกินไป” ในท้ายคลิปได้ระบุว่า “ร่วมกันหยุดคนคิดร้ายทำลายสถาบัน”

ความเดือดดาลเกิดขึ้น อาจด้วยการตีความว่า “ฝ่ายกษัตริย์นิยม” หรือ royalist อันเป็นคำเรียกขานผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม กลายเป็นสิ่งเดียวกันหรือเท่ากับสถาบันกษัตริย์

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการแชร์คลิปที่ปิยบุตรพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการตัดต่อเฉพาะตอนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ปิยบุตรออกมาชี้แจงต่อกรณีว่า คลิปนี้เป็นการพูดของเขาเมื่อ 6 ปีก่อน สมัยยังเป็นอาจารย์และไม่ได้พูดถึงประเทศไทย แต่ถูกตัดมาเผยแพร่บางตอนในช่วงเลือกตั้งหวังให้คนไม่เลือกพรรคอนาคตใหม่ เป็นขบวนการใส่ร้ายด้วยข้อหา “ล้มเจ้า” สร้างความเกลียดชัง เขายืนยันว่าตั้งพรรคลงเลือกตั้งเพื่อนำความเชื่อมั่นประชาธิปไตยกลับคืน ตัดวงจรรัฐประหาร รักษาสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ต่อไป

ก่อนหน้านี้ก็มีการขุดคุ้ยประวัติของปิยบุตรว่าเป็นหนึ่งใน ‘กลุ่มนิติราษฎร์’ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ด้านกฎหมายในธรรมศาสตร์ที่รวมกลุ่มกัน 5 คน (ภายหลังเป็น 7 คน) มีบทบาทวิจารณ์คณะรัฐประหารและกฎหมายที่มาจากคณะรัฐประหารตั้งแต่ยุค คมช. ปี 2549  รวมถึงวิพากษ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในหลายครั้ง  (ทำความรู้จักนิติราษฎร์ได้ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นิติราษฎร์โดนโจมตีอย่างหนักคือ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขมาตรา 112 โดยใช้ร่างที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการไปเมื่อปี 2555 โดยใช้สิทธิเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายตามรัฐธรรมนูญกำหนด ตามระบบปกติและเรื่องก็ตกไปแล้วเพราะประธานสภาเวลานั้นไม่รับพิจารณา

 

ครก.112 ผิดหวังสภา ยันเกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพ-ควรเรียกชี้แจงก่อนปัดตก

ปัดตกอุทธรณ์ ครก.112 เลขาฯ สภา ระบุเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ

 

ในขณะที่โลกทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค แบ่งเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน ทั้งฝ่ายที่โจมตีปิยบุตรด้วยข้อความรุนแรง เช่น “ปิยบุตร must die” หรือ “สมควรจับตัวมาแขวนที่สนามหลวง เหมือนวันมหาวิปโยค”

 

 

 

 

และข้อความของฝ่ายที่ปกป้องปิยบุตร เช่น “ได้อ่านสิ่งที่คุณอุ๊หฤทัยเขียน ได้ฟังแนวคิดของเธอ บอกตรงๆ ผมรู้สึกขนลุกเลยครับ เข้าใจเลยว่าทำไม #6ตุลา คนกลุ่มหนึ่ง ถึงคลั่ง และออกมาฆ่าอีกฝ่าย เพียงเพราะความคิดแตกต่างกัน ถูกสื่อเสี้ยมจนกลายเป็นความเกลียดชัง จนอยากฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีความแค้นเคืองกันมาก่อน”

 

 

กระแสของข้อกล่าวหานี้รุนแรง ขยายผลเร็ว จนกระทั่งหลายคนออกมาแตะเบรคอารมณ์ของผู้คนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมว่า ไม่ควรเอาสถาบันลงมาเกี่ยวข้อง โจมตีกันและกัน เพราะความเกลียดชังสามารถไต่ระดับจนอาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ดังที่เราเคยมีประสบการณ์กันแล้วในอดีต 

 

ส.ศิวรักษ์ชี้คนที่ล้มเจ้าแท้จริงคือคนที่อ้างว่าจงรักภักดีแต่ไม่ใช้สัจจะเป็นพื้นฐาน

เจิมศักดิ์ ห่วงซ้ำรอย 6 ตุลา แนะควรใช้กฎหมายไม่ใช่ยั่วให้คนออกมาลุย
 

 

ทวนความจำ ‘ล้มเจ้า’ วาทกรรมเก่าแก่ของสังคมไทย

 
‘ล้มเจ้า’ เป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุค 6 ตุลา เพื่อกล่าวหานักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาซึ่งการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์โดยเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนด้วยกันอย่างเหี้ยมโหดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย (อ่านเรื่องราวย้อนหลังได้ที่นี่)
 
 

 หนังสือพิมพ์ชาวไทยวันที่ 10 ตุลาคม 2519

 

หลังจากนั้นข้อหานี้ก็ซาไปเนื่องจากทหารกุมสภาพทางการเมืองได้ยาวนาน ก่อนจะค่อยๆ ปล่อยมือให้พลเรือนเข้ามามีบทบาทในอำนาจบริหารมากขึ้น และพุ่งขึ้นสุดในช่วงก่อนและหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมรดกของการขับไล่ทหารเข้ากรมกองจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในทางหนึ่งมันต้องการแก้ไขความไม่เสถียรภาพของการเมืองไทยโดยออกแบบให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก่อกำเนิดขึ้นจากตรงนี้ แล้วข้อหา ‘ล้มเจ้า’ ก็เริ่มกลับมาอีกครั้งหลังจากนั้น

สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีบทบาทอย่างเปิดเผย ในการทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับไล่ทักษิณ ชินวัตร มีลักษณะเกี่ยวพันกับสถานบันกษัตริย์ ผ่านการพิมพ์หนังสือเช่น ‘พระราชอำนาจ’ เขียนโดย ประมวล รุจนเสรี การนำสัญลักษณ์ต่างๆ ของสถาบันมาใช้ในการเคลื่อนไหว เช่น เสื้อสีเหลือง ผ้าพันคอสีฟ้า การผลิตวาทกรรม “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ฯลฯ รวมไปถึงการนำเสนอทางออกทางการเมืองโดยตีความมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ว่ากษัตริย์สามารถพระราชทานนายกฯ ได้

‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สนธิและนักวิชาการอีกหลายคนใช้โจมตีทักษิณในช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ไม่กี่เดือน โดยกล่าวหาว่า พรรคไทยรักไทยวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ การเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลและมีผู้นำคนเดียว, การเปลี่ยนแปลงระบบราชการเป็นแบบซีอีโอ, การแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ และ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์

เรื่องนี้ไทยรักไทยและทักษิณฟ้องสนธิและพวก ในการต่อสู้คดีผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่าไม่เคยมีแนวคิดและการกระทำดังกล่าว เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวก็เป็นไปตามกรอบและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 เอง อย่างไรก็ตาม แม้ผู้กล่าวหาไม่มีพยานมายืนยันว่าได้ทราบเรื่องนี้มาจากไหน แต่ศาลก็พิพากษาว่าพวกเขาไม่มีความผิด เนื่องจากเป็นการติชมบุคคลสาธารณะโดยสุจริต

 

คดีปฏิญญาฟินแลนด์ ศาลยกฟ้อง "สนธิ" ส่วน "ปราโมทย์-ขุนทอง" รอลงอาญา

 

ฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณก็ประท้วงและตอบโต้การยึดอำนาจเช่นกัน มีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการต่างๆ ทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และโจมตีไปถึงองคมนตรีว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการรัฐประหาร 

เกษียร เตชะพีระ เคยประเมินเนื้อหาหรือแก่นแท้ของการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ว่าเป็น "รัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์...กล่าวอีกนัยหนึ่งคือก่อรัฐประหารขึ้นก็เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยไทยไปในลักษณะวิถีทางที่จะทำให้มันปลอดภัยสำหรับสถาบันกษัตริย์จากการท้าทายด้วยอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ หรือที่พลเอกสนธิ เรียกในเวลาต่อมาว่า ‘เผด็จการทุนนิยม’ ” นั่นเอง (บทความ "รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 กับการเมืองไทย" โดยเกษียร เตชะพีระ รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2551 หน้า 52-53)

นอกจากนี้ในปี 2551 ภายหลังการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ต.ค. เพื่อกดดันไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และจากเหตุการณ์นี้ ‘น้องโบว์’ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เสียชีวิต และต่อมาวันที่ 13 ต.ค. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จไปที่งานศพของน้องโบว์ โดยตอนหนึ่งทรงรับสั่งและทรงชมว่า "ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์"

 

"ราชินี" ทรงชมอังคณาเด็กดี "ป้องชาติ-ช่วยรักษาสถาบัน"

 

เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง ในระหว่างที่ความขัดแย้งของสีเสื้อปรากฏชัด จากนั้นมามีกระแส “การล่าแม่มดออนไลน์” สูงขึ้นมาก เพจที่โดดเด่น คือ เพจยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม (Social Sanction) หรือ SS รายงานของเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุว่า เพจนี้นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของเป้าหมายที่เชื่อว่าหมิ่นสถาบันมากกว่า 40 ราย และส่งผลให้หลายรายต้องออกจากงาน บางรายกลายเป็นคดีความ จนกระทั่งเกิดเพจ Anti-SS ออกมาตอบโต้ ในช่วงปี 2552-2553 จึงเกิดการไล่ฟ้องคดี 112 และไม่ให้สิทธิประกันตัวเป็นจำนวนมาก

การประท้วงยังคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเกิดขึ้น ในปี 2553 มีการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดย นปช. ก่อนจะมีการสลายการชุมนุมที่จบลงด้วยการเสียชีวิตของประชาชนเกือบร้อยคน บาดเจ็บอีกนับพัน ศอฉ.ซึ่งคือหน่วยงานที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งขึ้นโดยให้หน่วยงานความมั่นคงมีบทบาทในการจัดการกับการชุมนุม ได้จัดทำ “ผังล้มเจ้า” ขึ้นมาในช่วงเวลานั้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. เป็นผู้จัดแถลงข่าวเรื่องนี้และแจกผังล้มเจ้าให้แก่สื่อมวลชนในวันที่ 26 เม.ย.2553 พร้อมระบุว่า แกนนำคนเสื้อแดงพยายามจะยกระดับการชุมนุมไปสู่การก่อการร้าย ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จมุ่งโจมตีสถาบันเบื้องสูง โดย ศอฉ. อ้างว่ามีผังที่เชื่อมโยงบุคคลต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งแกนนำ นปช. องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักวิชาการ

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนหนึ่งที่มีชื่ออยู่ผังนี้ได้ยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก อดีตโฆษก ศอฉ. ซึ่งต่อมาจบลงด้วยการประนอมข้อพิพาท โดย พล.ท.สรรเสริญ ยอมรับต่อศาลว่าผังล้มเจ้าที่ทำออกมานั้นไม่ได้หมายความว่าบุคคลในนั้นเป็นเช่นนั้น  

 

โฆษก ศอฉ. ยอมรับแต่ง “ผังล้มเจ้า” เพื่อตอบโต้การใส่ร้ายท่านผู้หญิงจรุงจิตต์

 

จากผลงานชิ้นโบว์แดงในการสร้างตราประทับให้คนจำนวนมากในผังนั้น ถึงตอนนี้ พล.ท.สรรเสริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ใหม่หมาดในรัฐบาลรักษาการ คสช.

 

มาตรา 112 เป็นปัญหาอย่างไร

 

วาทกรรมล้มเจ้าจัดได้ว่าเป็นมาตรการทางสังคม สิ่งที่ดำเนินการให้มันเป็นจริงและดูรุนแรงเป็นรูปธรรมคือ มาตรการทางกฎหมาย อย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

กฎหมายนี้มีชื่อเล่นเป็นชื่อเก่าคือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จุดเริ่มต้นของมันเกิดขึ้นใน พ.ศ.2442 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มขั้น แต่โทษจำคุกระบุไว้ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,500 บาท น้อยกว่าโทษในปัจจุบันมากนัก

ต่อมามีการเอาความผิดนี้มาโจมตีกันมากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งประชาธิปไตยเบ่งบานก่อนจบลงที่โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 หลังจากการรัฐประหาร 2519 มีการเพิ่มโทษตามประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ปี 2519 ด้วย และได้ใช้อัตราโทษสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ คดีที่ใหญ่มากในตอนนั้นคือ คดีที่ผู้นำนักศึกษา 19 คนถูกฟ้องร้องหลายคดี หนึ่งในนั้นคือ คดี 112 ด้วย  

ปัญหาของกฎหมายมาตรานี้คืออัตราโทษที่สูง จำคุกระหว่าง 3-15 ปี และใครก็เป็นผู้ดำเนินคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง นอกจากนี้ยังถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ทำให้ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดมักไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

ในหนังสือที่ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นบรรณาธิการ คือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work บทหนึ่งพูดเรื่องกฎหมายหมิ่น กล่าวว่า จากพ.ศ. 2536-2547 เป็นเวลา 11 ปี จำนวนคดีหมิ่นใหม่ๆ ลดลงครึ่งหนึ่ง และไม่มีคดีหมิ่นเลยในปี 2545 ซึ่งน่าจะเป็นยุคต้นของรัฐบาลทักษิณ แต่หลังรัฐประหาร 2549 คดีหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นมหาศาลเมื่อเทียบกับจำนวนคดีก่อนหน้านี้ ปี 2552 สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ (เป็นปีเดียวกับที่มีปัญหามรดกโลกและเขาพระวิหาร) โดยสถิติคดี 112 ในชั้นตำรวจ ปี 2552 จะอยู่ที่ 104 คดี และปี 2553 อยู่ที่ 65 คดี

 

1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาแต่ต้น เมื่อไรก็ตามที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มาตรา 112 จะถูกนำมาใช้เล่นงานฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเอง และเราเห็นได้ชัด คำตอบที่ว่าทำไมหลังปี 2549 มีการใช้และลงโทษมาก เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คนที่ถูกตัดสินลงโทษเป็นฝ่ายเสื้อแดงทั้งหมด

ข้อสังเกตประการต่อมาคือ การลงโทษคดีนี้โดยมากทุกคดีหลักฐานอ่อน  และใช้การตีความให้ผิดเป็นหลัก ยกตัวอย่าง กรณีนักวิชาการรายหนึ่งที่ถูกแจ้งข้อหาดังกล่าวเนื่องจากตั้งคำถามในข้อสอบว่า สถาบันกษัตริย์สอดคล้องกับการปกครองประชาธิปไตยหรือไม่ ให้อภิปราย

สุธาชัยยังระบุว่า การพิจารณาคดี 112 นั้นเป็นการพิจารณาที่ขัดหลักนิติธรรม เริ่มตั้งแต่ไม่มีการให้ประกันตัว การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ประเทศที่มีระบบกษัตริย์มีอยู่ราว 200 กว่าประเทศ มี 25 ประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นฯ และในบรรดา 25 ประเทศนี้ไม่มีประเทศไหนมีการลงโทษที่รุนแรงเท่าประเทศไทย

เช่นเดียวกับในหนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work ที่ขยายความว่ากฎหมายหมิ่นฯ ของไทยนั้นมีโทษรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี โทษขั้นต่ำของไทยเท่ากับโทษสูงสุดของจอร์แดน และสูงกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับในยุโรป ทำให้ราชอาณาจักรไทยในสมัยปัจจุบันมีคดีหมิ่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลกเช่นเดียวกัน

 

โทษเพิ่มขึ้นในยุค คสช.

 

ไอลอว์ได้เปรียบเทียบไว้ว่า คดีมาตรา 112 ในศาลยุติธรรม ส่วนใหญ่ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ต่อ 1 กรรม เช่น คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข คดีของดารณี (ดา ตอร์ปิโด) คดีของอำพล (อากงSMS) คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคดีที่ศาลกำหนดโทษสูงหรือต่ำกว่านั้น เช่น คดีของปิยะ ให้จำคุก 9 ปี คดีของชาญวิทย์ให้จำคุก 6 ปี คดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ให้จำคุก 3 ปี

คดีมาตรา 112 ในศาลทหารยุค คสช. กำหนดให้ต้องไปขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ศาลยุติธรรมปกติ และส่วนใหญ่ศาลทหารมักสั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม ถามว่าการกระทำ 1 กรรมแปลว่าอะไร ตัวอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การโพสต์เฟสบุ๊ค 1 สเตตัส อาจนำมาซึ่งคุก 10 ปี

ตัวอย่างการลงโทษจำคุก 10 ปี เช่น คดีของพงษ์ศักดิ์ คดีของเธียรสุธรรม คดีของสมัคร ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคดีที่ศาลกำหนดโทษสูงหรือต่ำกว่านั้น เช่น คดีของศศิวิมล ให้จำคุกกรรมละ 8 ปี คดีของนิรันดร์ ให้จำคุก 5 ปี คดีของโอภาส ให้จำคุก 3 ปี

นอกจากนี้ ตลอดทศวรรษอันเฟื่องฟูของคดีหมิ่นฯ ศาลยุติธรรมยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมาเกี่ยวกับการตีความที่กว้างขวางว่าอะไรคือ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย บางคดีไปไกลถึงการเอ่ยถึงสุนัขทรงเลี้ยงเช่นคดีของฐนกร หรือกรณีที่ศาลฎีกาในคดีของณัชกฤช ตีความว่า การเอ่ยถึงอดีตกษัตริย์ อย่างรัชกาลที่ 4 ก็เป็นความผิด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขอบเขตของมาตรา 112 อยู่ในสถานะที่ประชาชนคาดเดาลำบากเมื่อคิดจะใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นเหตุเป็นผล สื่อมวลชนก็มักเลือกการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นทางเลือกแรก

 

นิติราษฎร์: แก้ไข ม.112 ไม่ใช่การล้มเจ้า แต่เป็นการรักษาความมั่นคงให้สถาบันฯ

 

ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ กลุ่มนิติราษฎร์นับว่ามีบทบาทอย่างสำคัญ กลุ่มนี้เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 มีบทบาทในการแสดงความเห็นทางกฎหมายคัดค้านการรัฐประหาร 2549 คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ.2549 เพื่อจะได้เป็นการต่อต้านการรัฐประหารอย่างเป็นทางการ ส่วนคดีทั้งหมดที่สืบเนื่องจากการรัฐประหารให้นำมาดำเนินคดีในศาลปกติ เรื่องนี้ถูกฝ่ายกระแสหลักโจมตีว่า ต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด ทั้งที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์คือ การนำ พ.ต.ท.ทักษิณมาขึ้นศาลปกติ จะให้ความเป็นธรรม และโปร่งใสมากกว่าการกลั่นแกล้งโดยใช้คำสั่งรัฐประหาร

นิติราษฎร์ยังแสดงความเห็นแย้งต่อกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและลงโทษกรรมการบริหารพรรค 111 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2550 และอีกหลายเรื่อง จนอาจกล่าวได้ว่า นิติราษฎร์เป็นกลุ่มหลักที่วิพากษ์วิจารณ์ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ แบบไทย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตุลาการกำหนดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองอย่างสำคัญในหลายครั้งหลายหน

ปี 2554 นิติราษฎร์เสนอให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยลดอัตราโทษ และป้องกันไม่ให้มีการใช้ “ความจงรักภักดี” เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย จึงมีการตั้งขึ้นเป็น "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในเดือนมกราคม พ.ศ.2555 มีนักวิชาการสำคัญ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกษียร เตชะพีระ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ฯลฯ และยังมีกลุ่มนักเขียน นักกฎหมายรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าร่วม ประวัติศาสตร์นิติศาสตร์ของราษฎร

โดยข้อเสนอของนิติราษฎร์ต่อการแก้ไข ม. 112 วาด รวี ได้สรุปได้เป็น 4 ประเด็นคือ

1. ย้ายหมวดของบทบัญญัติการกระทำผิดให้ออกจากหมวด “ความมั่นคง” ไม่ให้บิดเบือน ขยายความเกินกว่าเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

2. ลดโทษลงให้ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด เพิ่มโทษปรับ และไม่ระบุโทษขั้นต่ำ แยกแยะการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทให้เกิดความชัดเจน แยกแยะโทษของบุคคลตามตำแหน่งทั้ง 4 โดยให้โทษของกษัตริย์อยู่สูงสุด

3. เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ ผู้ที่วิจารณ์โดยใช้เหตุผล เพื่อประโยชน์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ควรได้รับการสนับสนุน

4. ให้เฉพาะสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจกล่าวโทษ

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้ตอบคำถามการแก้ไข ม. 112 จะทำให้สถาบันฯ มั่นคงได้อย่างไรไว้ว่า ประเด็นสำคัญในที่นี้ คือ การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ จะต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย นั่นคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยไม่อยู่ภายใต้ความกลัว เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่สถาบันฯ ดำรงอยู่ได้ เนื่องมาจากการปรับตัวเข้ากับคุณค่าของสังคมสมัยใหม่ ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน คือ มาตรา 112 ซึ่งหากดำรงอยู่ ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย และหากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน จำเป็นต้องทำภายใต้หลักประชาธิปไตย

“ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่า การวิจารณ์โดยสุจริตมีเหตุผล ไม่เท่ากับเป็นการล้มล้างสถาบัน จึงเป็นที่หวังว่า การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะไม่เพียงแต่เป็นการรักษาความมั่นคงให้สถาบันฯ แต่ต้องเป็นการประกันสิทธิกับเสรีภาพของประชาชนด้วย” พวงทองเคยกล่าวไว้

 

FAQ กับ “ครก. 112”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท