คนอเมริกันส่วนใหญ่มอง การเหยียดเชื้อชาติเพิ่มขึ้นในสมัย โดนัลด์ ทรัมป์

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิวพบ ชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อ สหรัฐฯ มีการเหยียดเชื้อชาติสีผิวมากขึ้นในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็สอดคล้องกันว่ามีเหตุการณ์อาชญากรรมจากความเกลียดชังเชื้อชาติสีผิวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในยุคนี้ โดยมีจำนวนผู้ก่อเหตุเป็นคนขาวชาตินิยมขวาจัดเพิ่มขึ้น

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน (ที่มา: slavicsac.com)

11 เม.ย. 2562 ศูนย์วิจัยพิว (PEW Research Center) ศูนย์ข้อมูลหรือที่เรียกว่า Think Tank ชื่อดังในสหรัฐฯ เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 56 เชื่อว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติสีผิวในสหรัฐฯ แย่ลง นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (ร้อยละ 65) ระบุว่าในยุคหลังทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ผู้คนแสดงออกแบบไม่คำนึงถึงความอ่อนไหวในประเด็นเชื้อชาติสีผิวมากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45 ยังมองว่าผู้คนคิดว่าการเหยียดเชื้อชาติสีผิวกลายเป็นเรื่องยอมรับได้ในสังคมมากกว่าเดิม

ศูนย์วิจัยพิวทำการสำรวจโดยสุ่มประชากรสหรัฐฯ วัยผู้ใหญ่จากหลายหลายเชื้อชาติสีผิวเข้ามาตอบแบบสอบถาม โดยข้อมูลล่าสุดนี้มีกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม 6,637 ราย จากช่วงระหว่างวันที่ 22 ม.ค. - 5 ก.พ. ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวยังระบุอีกว่ามีร้อยละ 15 เท่านั้นที่มองว่าทรัมป์สร้างความก้าวหน้าในเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติสีผิว ขณะที่ร้อยละ 37 มองว่าบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้สร้างความก้าวหน้าในเรื่องความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติสีผิว

ผลสำรวจนี้ออกมาในวันเดียวกับที่คณะกรรมาธิการตุลาการสหรัฐฯ ไต่สวนพิจารณาเรื่อง "อาชญากรรมจากความเกลียดชัง ผลกระทบจากกลุ่มชาตินิยมคนขาวที่มีต่อชุมชนชาวอเมริกันและการแพร่กระจายของอุดมการณ์แบบคนขาว" ที่ประธานกรรมาธิการ เจอร์โรลด์ นาดเลอร์กล่าวว่าโวหารของประธานาธิบดีทรัมป์กลายเป็นการโหมไฟความเกลียดชังโดยที่ไม่ว่าทรัมป์จะจงใจหรือไม่ก็ตามแต่โวหารเหล่านี้ทำให้กลุ่มคนขาวที่มองว่าตัวเองเป็นชนชาติเหนือกว่าคนอื่นเกิดความฮึกเหิม ทั้งนี้ เจอร์โรลด์ยังวิพากษ์วิจารณ์พรรครีพับลิกันด้วยในแง่ที่เป็นตัวช่วยโหมไฟความเกลียดชัง จากการที่รีพับลิกันไม่เคยเปิดให้มีการไต่สวนพิจารณาใดๆ เลยแม้จะมีเหตุการณ์ที่คนฝ่ายขวาใช้ความรุนแรงและสังหารผู้คนเกิดขึ้นก็ตาม

สื่อนิวส์วีคยังยกตัวอย่างกรณีที่ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อต่างๆ ที่แสดงให้เห็นการพูดถึงชาวเม็กซิกันหรือชาวยิวในประเทศตัวเองอย่างไม่เคารพต่ออัตลักษณ์ของพวกเขา นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างหลังเกิดกรณีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาตินิยมคนขาวก่อเหตุรุนแรง ทรัมป์ก็มักจะพูดในเชิงลดความสำคัญของเหตุการณ์ลงเช่นบอกปัดว่า "มีคนดีอยู่ทั้งสองฝ่าย" หลังฝ่ายชาตินิยมคนขาวในความรุนแรงในการชุมนุมชาร์ล็อตต์วิลล์ และเมื่อมีคนถามถึงเรื่องกรณีการกราดยิงมัสยิดในนิวซีแลนด์ว่าในทุกวันนี้ปัญหาชาตินิยมคนขาวเป็นภัยที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกใช่หรือไม่ ทรัมป์ก็ตอบว่าเขาไม่คิดเช่นนั้นเขาบอกว่ากลุ่มชาตินิยมคนขาวเป็นแค่ "คนกลุ่มเล็กที่มีปัญหาจริงจังมากๆ"

อย่างไรก็ตามนอกจากศูนย์วิจัยพิวแล้ว สื่อและองค์กรด้านความเป็นธรรมในสังคมต่างก็พบว่ามีอาชญากรรมจากความเกลียดชังและการสังหารโดยผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มขวาจัดมากขึ้น การวิเคราะห์ของสื่อวอชิงตันโพสต์ระบุว่ามีการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมจากความเกลียดชังร้อยละ 226 ในเทศมณฑลที่จัดขบวนหาเสียงในปี 2559 เทียบกับเทศมณฑลที่ไม่ได้จัด องค์กรชาวยิวในสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีคนฝ่ายขวาหัวรุนแรงเกี่ยวข้องกับเหตุสังหารในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วถึง 50 กรณี ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2538 รวมถึงการพยายามโฆษณาชวนเชื่อจากกลุ่มชาตินิยมคนขาวก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 182

การวิจัยจากศูนย์เซาธ์เทิร์นโพเวอตีลอว์ (SPLC) กลุ่มด้านสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาเฝ้าระวังกลุ่มความเกลียดชังต่างๆ เปิดเผยว่ากลุ่มความเกลียดชังในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2561 อยู่ที่ 1,020 กลุ่ม และอาชญากรรมจากความเกลียดชังก็เพิ่มขึ้นเป็นเวลาสี่ปีติดต่อกันหลังจากที่ลดลงสามปี ในช่วงสมัยรัฐบาลโอบามา

ไฮดี เบริช ผู้อำนวยการโครงการข้อมูลของ SPLC กล่าวว่าจำนวนตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่าทรัมป์ไม่ได้เป็นเพียงคนที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วเท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่ทำให้เกิดการกลายเป็นหัวรุนแรง ทรัมป์ยกระดับให้เกิดสิ่งเหล่านี้ผ่านทางโวหารและนโยบายของเขา เป็นเสมือนใบผ่านทางให้ชาวสหรัฐฯ ทำตามสัญชาติญาณดิบที่เลวร้ายที่สุดของตัวเอง

ในแง่ของนโยบายนั้น ทรัมป์กีดกันและกระทำโหดร้ายต่อผู้อพยพ-ผู้ลี้ภัยข้ามแดน โดยการสั่งปลด คริสเตนท์ นีลเซน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐโดยอ้างว่าเธอไม่เข้มงวดมากพอในเรื่องพรมแดน ทรัมป์ยังเคยใช้นโยบายพรากลูกจากครอบครัวผู้อพยพ รวมถึงมีคนเชื่อว่าที่ปรึกษาระดับสูงของทรัมป์ที่ชื่อสตีเฟน มิลเลอร์ อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการปรับระบบการจัดการของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ โดยที่มิลเลอร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากอิลฮาน โอมาร์ ส.ส. จากมินนิโซตา ว่าเป็นพวกชาตินิยมคนขาว อิลฮานบอกว่ามันเป็นเรื่องเลวร้ายที่ให้คนแบบนี้มามีอิทธิพลกับนโยบายและการแต่งตั้งเกี่ยวกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

เรียบเรียงจาก

RACISM IN AMERICA IS MORE COMMON WITH DONALD TRUMP AS PRESIDENT, LARGE MAJORITY OF AMERICANS SAY IN NEW POLL, Newsweek, Apr. 9, 2019

Race in America 2019, Pew Research Center, Apr. 9, 2019

Race in America 2019 : Methodology, Pew Research Center, Apr. 9, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท