Skip to main content
sharethis

มาตรา 44 ประกาศ ยืดระยะเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นของค่ายมือถือ ซอยย่อยเป็น 10 งวด จ่ายในเวลา 10 ปี อนุญาตให้ทีวีดิจิตอลคืนใบประกอบกิจการได้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมประมูลสามงวด อุ้มค่าเช่าโครงข่ายกระจายสัญญาณ พบ 11 ทีวีดิจิตอลค้างจ่ายรวมกว่า 12,373 ล้านบาท ประธาน TDRI ชี้ อุ้มค่ายมือถือหวังให้ประมูล 5G คือ "เสียค่า (แกล้ง) โง่"

11 เม.ย. 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม สืบเนื่องจากสภาพปัญหาการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ทันกำหนด

จึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้ประกอบกิจการได้ต่อไปโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ และเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) และ 2,600 MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G โดยคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คำสั่งแบ่งเป็นส่วนของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม และทีวีดิจิทัล ในส่วนโทรคมนาคม ระบุว่า ผู้ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จาก กสทช. ที่ชำระค่าประมูลตามกำหนดเวลาเดิมไม่ได้ ให้ยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่คำสั่งมีผลใช้บังคับเพื่อขอแบ่งชำระเงินประมูล โดยคำสั่งนั้น ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระออกเป็นสิบงวด ปีละงวด งวดละเท่าๆ กัน

ในส่วนผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทำธุรกิจทีวีดิจิตอล อนุญาตให้ผู้ให้บริการทีวีดิจิตอลคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยให้แจ้งหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระไปแล้ว และให้สำนักงาน กสทช.นำคลื่นที่ถูกคืนดังกล่าวไปจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคม

คำสั่งนี้ยังให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้น และสองงวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำหรือราคาเริ่มต้น ในกรณีที่ยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมจนถึงงวดที่ได้รับยกเว้น ให้ชำระค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วนถึงงวดที่ได้รับยกเว้นภายใน 120 วันตั้งแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ส่วนผู้ที่ชำระไปเกินงวดที่ได้รับยกเว้นก็ให้ได้รับค่าธรรมเนียมดังกล่าวคืน

นอกจากนั้น ยังให้มีการทดแทน ชดใช้ จ่ายค่าตอบแทนในส่วนค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ตลอดระยะเวลาการได้รับอนุญาตการให้บริการทีวีดิจิตอลที่เหลืออยู่ โดยให้เริ่มมีผลภายหลังสิ้นสุดมาตรการบรรเทาผลกระทบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่เคยออกไปเมื่อ 23 พ.ค. 2561 ที่ให้ กสทช. อุดหนุน ค่าเช่าจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 24 เดือน พร้อมเงื่อนไขการควบคุมการนำเสนอเนื้อหา

สุภิญญา กลางณรงค์: ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล ยิ่งคลายยิ่งรัด ทหาร-คสช. ได้ประโยชน์

นอกจากนั้นยังให้มีการทดแทน ชดใช้ จ่ายค่าตอบแทนกับผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย ผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการทีวีดิจิตอล จากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

การทดแทน ชดใช้ จ่ายค่าตอบแทนในส่วนทีวีดิจิตอลนั้นให้สำนักงาน กสทช. ใช้เงินจากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนหรือที่ไปเรียกคืน เว้นแต่ในส่วนการชำระค่าธรรมเนียมที่ขาดและเกินช่วงที่ถูกงดเว้น ในขณะที่ยังไม่มีรายได้จากส่วนนั้น ให้ใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะไปพลางก่อน เมื่อได้รายได้จากการจัดสรรคลื่นแล้ว จึงนำเงินไปคืนกองทุน

ข่าวหุ้นรวบรวมมาว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดที่สี่ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายมีสามราย ได้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส (59,574 ล้านบาท ในปี 2563) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (30,084 ล้านบาท ในปี 2562) และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู (60,218 ล้านบาท ในปี 2563)

ในส่วนทีวีดิจิตอลนั้น มีผู้ประกอบการ 11 รายที่ค้างจ่ายค่าธรรมเนียม มียอดค้างจ่ายรวมกว่า 12,373 ล้านบาท

ประธาน TDRI ชี้ อุ้มค่ายมือถือหวังให้ประมูล 5G คือ "เสียค่า (แกล้ง) โง่"

ด้านสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสท์เฟสบุ๊คในกรณี ม.44 ข้างต้นว่า 

ยืดหนี้มือถือ = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน

วันสองวันนี้มีข่าวลือว่า จะมีการออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อยืดหนี้ให้กับบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 รายคือ เอไอเอส ทรู และดีแทค ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้หุ้นของบริษัททั้งสามเด้งสูงขึ้นมาทันที

การที่หุ้นเด้งสูงขึ้นรับข่าวลือดังกล่าวชี้ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสังสัยว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสามจะได้ประโยชน์หากมีมาตรการยืดหนี้ออกมาจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับความพยายามก่อนหน้านี้ของคนในภาครัฐที่บอกว่า มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายบอกว่า ทรูจะได้ประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ดีแทคจะได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด เพราะหนี้งวดสุดท้ายที่จะถูกยืดออกไปมีมูลค่าน้อยที่สุด

การคำนวณของผมพบว่า ที่จริงแล้ว ทั้งสามบริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆ กันคือ แต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน

แม้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายอาจไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันและต่างก็ได้หมด ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม

ข้ออ้างเรื่องการยืดหนี้อุ้มผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ด้วยหลายเหตุผลคือ หนึ่ง ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ สอง ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีใครสัญญาว่าจะเข้าประมูล 5G เลย โดยต่างพูดตรงว่า ต้องดูเงื่อนไขการประมูลและราคาเริ่มต้นก่อน

ข้ออ้างในการยืดหนี้เพื่อให้เอกชนเข้าประมูล 5G จึงไม่ใช่ “หมูไปไก่มา” แต่ “เสียหมูไปฝ่ายเดียว” เสมือนเป็น “ค่า (แกล้ง) โง่”

หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้คสช. และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว

หากรัฐบาลและ คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจและกล่าวหารัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าทุจริตคอรัปชั่น ต้องออกคำสั่งใช้มาตรการพิเศษ เพื่อทำเรื่องที่ไม่จำเป็น สร้างความเสียหายต่อประชาชน และทำลายความน่าเชื่อถือในการทำสัญญากับภาครัฐ เพียงเพื่อเอื้อนายทุน เราคงอดคิดไม่ได้ว่า แม้ คสช. จะประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฏฐาธิปัตย์แท้จริงที่เหนือกว่า คสช. ก็คือกลุ่มทุนบางกลุ่มนั่นเอง

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมเนื้อหาของสมเกียรติ ในวันที่ 11 เม.ย. 2562 เวลา 20.00 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net