Skip to main content
sharethis

ป.ป.ส. ระบุแม้เปิดนิรโทษฯ แต่ไม่อนุญาตให้ปลูก อย. ปัดไม่ก้าวล่วงคดี ปัดปมเอื้อนายทุน ด้าน ‘เดชา’ ชี้ทำเรื่องขอนิรโทษฯ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธเหตุไม่มีของกลางซึ่งถูกตำรวจริบไปแล้ว กก.ปฏิรูประบบสาธารณสุขชี้ อย. - ป.ป.ส. ขาดความเข้าใจเรื่องกัญชา เมินข้อเรียกร้องของ WHO ให้นำกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ระบุต้องเอื้อให้กัญชาเข้าสู่ระบบมาตรฐานโดยไม่มีการแยก “บนดิน” และ “ใต้ดิน”

 

 

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมพรชัย ชูเลิศ หรือ ‘อาจารย์ซ้ง’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังได้ออกหมายเรียกเดชา ศิริภัทร ครูผู้สอนเรื่องข้าวและผู้ศึกษากัญชาทางการแพทย์ในข้อหาครอบครองกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง ณ ขณะนั้นเดชาอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ โดยทั้งสองอยู่ระหว่างวิจัยประโยชน์ของกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์และมอบยาให้กับผู้ป่วย โดยไม่ได้แสวงหาประโยชน์ใดๆ

ต่อมาวันที่ 9 เม.ย. พรชัย ชูเลิศ ได้รับการประกันตัวในวงเงิน 600,000 บาท โดยศาลอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว และสำหรับเงินประกันนั้นได้รวบรวมมาจากประชาชนที่ช่วยกันบริจาค โดยบรรยากาศในวันประกันตัวมีทั้งประชาชน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากพรชัยและเดชา รวมทั้งมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี พร้อมด้วยทีมกฎหมายของพรรคภูมิใจไทยซึ่งประกาศจุดยืนเรื่องกัญชาถูกกฎหมายมาช่วยทำคดี

ทั้งนี้กัญชาทางการแพทย์ยังอยู่ในระยะ 90 วันที่ให้มีนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงยังมีการแจ้งข้อหาดังกล่าว

 

ป.ป.ส. ระบุแม้เปิดนิรโทษกรรมแต่ไม่อนุญาตให้ปลูก

นิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่าการนิรโทษกรรมกัญชา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.พ.นี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดให้ยื่นขออนุญาตภายในระยะเวลา 90 วัน และจะสิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค.นี้ ผู้ที่กำลังศึกษาวิจัยเรื่องกัญชาต้องหยุดดำเนินการ เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด อนุญาตเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามจำหน่ายครอบครอง จึงมีความผิดหากไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องปฏิบัติตามที่เงื่อนไขกำหนดก่อน โดยผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายให้ยื่นขออนุญาต หรือกรณีผู้ป่วย หรือบุคคลอื่นให้แจ้งการมีไว้ในครอบครอง แต่มิได้หมายถึงว่าจะทำการใด ๆ ได้โดยรับการยกเว้นโทษก่อนได้รับอนุญาต หรือแจ้งการครอบครอง

กรณีของมูลนิธิข้าวขวัญ เบื้องต้นพบว่าการวิจัยกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อการค้า เพราะนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนจริงไม่ได้เก็บเงิน แต่ก็ยังมีความผิด เพราะเจอทั้งต้นกัญชา น้ำมันกัญชา เมล็ดพันธุ์ ซึ่งเข้าข่ายครอบครองยาเสพติดโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูก และทำสารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์แม้จะอยู่ในช่วงนิรโทษกรรม

 

อย. ปัดไม่ก้าวล่วงคดี ชี้นิรโทษกรรมมี 3 กลุ่ม ผู้มีโอกาสอนุญาตผลิต-ผู้ป่วย-อื่นๆ

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ต่อคำถามว่าการเข้าตรวจสอบเช่นนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่แม้อยู่ในระยะนิรโทษกรรม ขณะนี้ก็มีผู้รู้กฎหมายตีความออกมาหลากหลายและไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้ทางด้านเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญกฎหมายตีความ อย.คงไม่ก้าวล่วง เพราะอยู่ในช่วงของการดำเนินคดี โดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ หากครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายออกมา จะผ่อนปรนให้ 90 วัน ในการมาแจ้งครอบครองโดยไม่ต้องรับโทษ การตีความคงต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน ซึ่งต้องว่ากันไปในแต่ละคดี

ภญ.สุภัทรากล่าวต่อว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นเรื่องของการครอบครองเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีโอกาสอนุญาตผลิต ปลูก สกัดกัญชาในอนาคต เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ หรือผู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำร่วมกับรัฐ 2.ผู้ป่วย และ 3.กลุ่มที่ไม่เข้าข่ายในสองกลุ่มแรก ไม่ว่ามีไว้ลักษณะไหนก็มาแจ้งครอบครองได้ โดยกลุ่มนี้หากไม่สามารถแจงได้ว่า นำมาใช้รักษาเฉพาะบุคคลหรือวิจัย กัญชาของคนกลุ่มนี้จะทำเรื่องให้ตกเป็นของแผ่นดิน

 

‘เดชา’ ชี้ทำเรื่องขอนิรโทษฯแต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธเหตุไม่มีของกลางซึ่งถูกตำรวจริบไปแล้ว

ขณะเดียวกันในแถลงของเดชาหลังเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ได้ระบุว่า ก่อนการเดินทางไปประเทศลาวตนได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ยื่นเรื่องขอนิรโทษกรรม แต่กลับมาถูกจับกุมเสียก่อนทั้งๆ ที่ยังอยู่ในระยะเวลา 90 วัน เพิ่งทราบด้วยว่า หลังจากที่ตัวแทนของตนได้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 9 เม.ย. แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่าการยื่นขอนิรโทษกรรมต้องมีหลักฐานว่าได้ครอบครองกัญชา ซึ่งตำรวจได้ริบไปหมดแล้ว อีกทั้งอ้างว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าตนเป็นหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่มีหนังสือรับรองจากมูลนิธิสุขภาพไทยที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายหมอพื้นบ้านทั่วประเทศ ได้แสดงหลักฐานยืนยันก็ตาม

 

ไบโอไทยตั้งข้อสังเกต 3 กลุ่มที่ได้รับประโยชน์หากมูลนิธิข้าวขวัญไม่อาจผลิตน้ำมันกัญชาแจก

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ระบุว่า แปลกใจที่มีการจับกุมมูลนิธิข้าวขวัญซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะที่ผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อแจกให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง และจับในช่วงเวลา 90 วันที่ขอนิรโทษกรรม แทนที่จะไปไล่จับผู้ลักลอบขายน้ำมันกัญชาซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก จากข้อมูลพบว่าน่าจะมี 3 กลุ่มที่อยู่ในข่ายได้รับผลประโยชน์หากมูลนิธิข้าวขวัญไม่สามารถผลิตน้ำมันกัญชาแจกผู้ป่วยได้ นั่นคือ

1. ข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติและจับกุมผู้ที่ปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์ยาที่สกัดจากกัญชา เพราะหากมูลนิธิซึ่งเป็นองค์ไม่แสวงกำไรไม่สามารถผลิตยาจากกัญชาเพื่อแจกจ่าย โอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเอกชนที่มาขออนุมัติก็มีมาก หรือตราบใดที่กฎหมายยังคลุมเครือ การเรียกรับผลประโยชน์จากการจับกุมก็สามารถทำได้ 

2. กลุ่มที่จะเสียรายได้หากมีการผลิตยารักษามะเร็งแจกจ่ายให้ผู้ป่วยฟรี

3. กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 บริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา และมีความร่วมมือกับภาครัฐในการวิจัยพัฒนาเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยทั้ง 3 บริษัทมีศักยภาพทั้งในด้านของการปลูกกัญชา พัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชา ซึ่งกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะอยู่เบื้องหลังในการสกัดไม่ให้มูลนิธิข้าวขวัญสามารถผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาแก่ผู้ป่วยมะเร็ง

“เท่าที่รู้ทั้ง 3 บริษัทมีความสัมพันธ์กับภาครัฐในทุกระดับ และมี 2 บริษัทที่ลงทุนปลูกกัญชาในต่างประเทศเพื่อรองรับธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ จึงมีโอกาสสูงมากที่ 3 บริษัทนี้จะเข้ามาครองตลาดผลิตภัณฑ์จากกัญชาในประเทศไทยซึ่งจากการประเมินคาดว่ามีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจาก 3 บริษัทนี้ยังมีบริษัทต่างชาติที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาบางแห่งในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยมีบริษัทหนึ่งที่ถูกเพิกถอนการขอสิทธิบัตรไป แต่เขาก็สามารถยื่นขอเข้ามาใหม่ได้ และบริษัทต่างชาติดังกล่าวก็สามารถร่วมทุนกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้ จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์มหาศาล คนกลุ่มนี้จึงทำได้ทุกอย่างเพื่อธุรกิจ” วิฑูรย์กล่าว

 

ป.ป.ส. และ อย. ปัดปมเอื้อนายทุน มีแค่ 2 องค์กรรัฐได้รับอนุญาตให้ผลิต

นิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่ากรณีมีข้อกังวลว่า การดำเนินการกับมูลนิธิดังกล่าวว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนหรือไม่ ข้อเท็จจริงขณะนี้มีเพียงองค์กรของรัฐ 2 หน่วยงาน ที่ได้รับอนุญาตในการผลิตคือ องค์การเภสัชกรรม และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อีกทั้งกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับอนุญาตไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ในระยะ 5 ปีแรก การผลิต นำเข้า ส่งออก กัญชา ให้อนุญาตได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือโดยความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ประเด็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เพื่อเอื้อนายทุนหรือภาคเอกชนรายใหญ่ ขอย้ำว่า ไม่มีการเอื้อนายทุนใหญ่เลย อย่างคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถขอรับอนุญาตปลูก ผลิต สกัด กัญชา ตามกฎหมายช่วง 5 ปีแรก เปิดไว้ทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐที่สอนแพทย์ รพ.รัฐ และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ต้องมาดำเนินงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเอกชน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร มาร่วมกับหน่วยงานรัฐปลูกผลิตสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ จะเห็นว่าเราไม่ได้ปิดกั้นเกษตรกรไทยเลย และส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการปลูกผลิตสกัดกัญชา และที่ทำได้อีก คือ การศึกษาวิจัยที่เปิดกว้างมาก ทั้งรัฐและเอกชนที่มาขอวิจัยได้ ซึ่งขณะนี้มีมายื่นศึกษาวิจัยกับ อย.จำนวนมาก เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

กก.ปฏิรูประบบสาธารณสุขชี้ อย. - ป.ป.ส. ขาดความเข้าใจเรื่องกัญชา

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง กัญชาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงาน ของ อย. โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

ในเรื่องของกัญชา อย. ไม่ได้มีความเข้าใจ (หรือไม่พยายามเข้าใจ) ในความเป็นยาของกัญชา ไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดในเรื่องของกัญชาซึ่งต้องให้มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มที

ทั้งนี้โดยหลีกเลี่ยงที่จะมีการนำเข้า ยากัญชาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงเช่นเดียวกับยาปัจจุบันที่ใช้อยู่ขณะนี้

ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา มีการศึกษาสถานการณ์ของการใช้กัญชาในประเทศผ่าน ทางคณะกรรมการหลายชุดโดย อย. และ ป.ป.ส. ได้รับทราบข้อมูลโดยละเอียดถี่ถ้วน ถึงกัญชา สารสกัดกัญชารวมถึงน้ำมันกัญชาที่ใช้ในประชาชน โดยผ่านทางชมรม ใต้ดินหรือแท้ที่จริงคือชมรมจิตอาสา ที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนคนป่วยและครอบครัวที่มีข้อจำกัดจากการรักษาแผนปัจจุบันทั้งด้วยลักษณะของตัวโรคเอง และด้วยระยะความรุนแรงของโรค

ชมรมเหล่านี้มีความรู้ที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาของปราชญ์คนไทยซึ่งมีตำราจารึกไว้หลาย 100 ปีและได้ทำการพัฒนาปรับเปลี่ยนกระบวนการ ให้สามารถนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งถึงมีการสอนคนป่วยและครอบครัวให้มีความรู้ในเรื่องการเพาะปลูก สกัด การนำมาใช้ วิธีใช้ในโรคต่างๆ รวมกระทั่งถึงข้อสังเกตในเรื่องของผลข้างเคียงและปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน

ความพยายามของ อย. และ ป.ป.ส. มุ่งเป้าต้องการให้กัญชาและการใช้ต้องอยู่ในระบบทั้งสิ้นโดยการใช้อำนาจทางกฎหมายที่ตนเองเป็นผู้เขียนตามต่อมาจากพระราชบัญญัติกัญชาอันได้แก่กฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาตในการใช้และการครอบครองรวมถึงการจำหน่ายจ่ายแจกถึงแม้ว่าในพระราชบัญญัติจะไม่ได้ลงลึกไปถึงคนปลูก เพาะและสกัด ที่เป็นรายบุคคลหรือเป็นครอบครัวเดี่ยวและไม่ได้เป็นผู้ป่วยแต่ได้เปิดโอกาสให้สามารถกระทำได้

ทั้งนี้กระบวนการที่ อย. และ ป.ป.ส. ต้องเตรียมการ และจะต้องปฏิบัติก่อนหน้าที่จะมีการออกกฎหมายต่างๆ คือทำให้มีกลไกที่เอื้ออำนวยให้บุคคลที่ไม่ใช่เป็นผู้ป่วยและเป็นผู้เพาะปลูกและสกัด ทั้งที่เป็นรายเดี่ยว รายย่อยหรือชมรมมีความสะดวกและ “ขึ้นบก” โดยถูกกฎหมายตามพระราชบัญญัติ

เหตุผลสำคัญที่ต้องทำเช่นนั้น ซึ่ง อย. และ ป.ป.ส. ต้องทราบดีจากการประชุมและแยกแยะสถานการณ์ที่ผ่านมา

1. กัญชาที่จะผลิตขึ้นมาในระบบไม่เพียงพอ ทั้งนี้โดยการประเมินการใช้ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและในอนาคตตามข้อบ่งใช้ของภาวะและตัวโรค จะมีจำนวนหลาย 100,000 คน

การที่จะได้กัญชาจากประชาชนที่ทำการเพาะปลูกอยู่แล้วจะสามารถทำให้ได้ยากัญชาที่เข้าอยู่ในระบบในปริมาณที่เพียงพอได้

2. การรักษามาตรฐานความปลอดภัย ของกัญชาว่าต้องปราศจากสารเคมีกำจัดวัชพืชและโลหะหนักปนเปื้อนที่ได้จากดิน ดังนั้นจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาตรฐานที่ทำการตรวจได้ทันทีและสามารถรับตัวอย่างจากทั่วประเทศ

3. ในช่วงเวลาของการทำให้ยากัญชาเป็นยาของประเทศและยาในระบบยังไม่เกิดขึ้น ต้องมีการส่งเสริมชมรมที่มีอยู่แล้วให้ปฏิบัติงานต่อและในขณะเดียวกันสามารถให้บุคคลในชมรมที่มีความรู้ประสบการณ์ ความสามารถทั้งเรื่องการเพาะปลูก สกัด การใช้ในโรคต่างๆ ให้เป็น ผู้สอนแก่แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่กำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติ เนื่องจากบุคคลที่สามารถสั่งใช้ยากัญชาแก่ผู้ป่วยตามกฎหมายเหล่านี้ไม่เคยมีความรู้และไม่เคยใช้กัญชาในการรักษาโรคมาก่อน

ความผิดพลาดเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ออกกฎหมายและการเข้าตรวจจับกุมชมรมต่างๆ จะมีผลกระทบอย่างสูงต่อเจตนารมณ์ของการนำกัญชาเข้าสู่ระบบมาตรฐานโดยไม่มีการแยก “บนดิน” และ “ใต้ดิน”

และแน่นอนเกิดผลเสียหายต่อชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาอยู่แล้วในขณะนี้โดยเฉพาะภาวะหรือโรคที่ควบคุมยากอยู่แล้วเช่นเจ็บปวดทรมานจากโรคมะเร็ง เจ็บปวดทรมานจากโรคที่เกิดจากระบบประสาทผิดปกติ รวมถึงโรคที่ยาปัจจุบันรักษาไม่ได้และกัญชาทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้และครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยได้ด้วยความง่ายและสะดวกมากขึ้น เช่นโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน

ทั้งนี้ อย. และ ป.ป.ส. ต้องตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่ขาดการเตรียมพร้อมทั้งๆ ที่ได้รับทราบข้อมูลมาล่วงหน้าแต่ยังดื้อดึงที่จะปฏิบัติการกวาดล้าง

และถือเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของคนป่วยในการที่จะพยายามรักษาชีวิตของตนเอง

นอกจากนั้น อย. และ ป.ป.ส. ยังต่อต้านข้อเรียกร้องขององค์การอนามัยโลกที่ให้นำกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด โดยเฉพาะกันชง และ CBD ให้ถือเป็นยาและสามารถใช้ได้โดยเสรี ในขณะที่สารออกฤทธิ์ที่ทำให้มีผลต่ออารมณ์ ได้แก่ THC ยังคงต้องมีการควบคุมแต่ถือเป็นยาเช่นเดียวกัน

เพียงแต่เรื่องกัญชากระบวนความคิด การบริหารจัดการการปฏิบัติที่ต้องมีความรอบคอบไม่เกิดความเสียหายต่อชีวิตของผู้ป่วย อย. และ ป.ป.ส. ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ขาดความรู้ขาดความสนใจ หรือไม่ได้สนใจต่อข้อมูลต่อสถานการณ์ ยังคงต้องการที่จะบริหารอำนาจเท่านั้น

 

อ้างอิงจาก:

https://mgronline.com/specialscoop/detail/9620000035216

https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_1444718

https://www.voicetv.co.th/read/Sak7G2XB5

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1445656

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net