Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งหกโมงเย็นภายในหน่วยตรวจเลือกทหารฯ ผมเป็นหนึ่งใน 519 คนที่นั่งรอนานกว่า 10 ชั่วโมงที่เดอะมอลล์ นครราชสีมาเพื่อขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร โดยตั้งแต่ 7.30 – 10.30 น. และ 14.00 – 17.00 น. (รวม 6 ชั่วโมง) ไม่มีการเรียกชื่อ ดำเนินการ หรือแจ้งกำหนดเวลาใด ๆ ให้กับผู้ขอผ่อนผัน ปล่อยให้ผู้ขอผ่อนผันนั่งรอลม ๆ แล้ง ๆ เนื่องจากตั้งแต่ช่วงบ่าย ผู้ขอผ่อนผันเหลือแค่กระบวนการรับใบ สด.43 (ใบรับรองฯ) จากประธานกรรมการฯ เพียงขั้นตอนเดียว ผู้ขอผ่อนผันแต่ละคนจึงไม่กล้าออกไปกินข้าวหรือไปทำธุระจำเป็นอื่น เพราะไม่มีใครทราบว่าประธานฯ จะเรียกชื่อเราเมื่อไหร่ ผมสังเกตไปรอบ ๆ ผู้ขอผ่อนผันส่วนหนึ่งนั่งเล่นโทรศัพท์ ส่วนหนึ่งนั่งบ่นระบบการจัดการของหน่วยตรวจกับเพื่อนข้าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งคือนอนหลับกันไปแล้ว ช่วงบ่ายสองถึงห้าโมง จะเห็นทหารและเจ้าหน้าที่หลายคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์และบางคนก็มัวแต่ถ่ายรูปรัว ๆ เสมือนว่าไม่มีอะไรให้ทำระหว่างนั้น ผมเกือบจะเข้าไปสอบถามถึงปัญหาความล่าช้าดังกล่าว ตั้งใจไว้ว่าถ้าช้ากว่าห้าโมงเย็นจะขอสอบถามกับประธานฯ แต่ปรากฏว่า เมื่อเวลา 16.52 น. ก็เริ่มมีสัญญาณความเคลื่อนไหว เขาเรียกให้ผู้ขอผ่อนผันนั่งเรียงแถวที่หน้าโต๊ะประธานฯ พร้อมมีทหารนายหนึ่งกำชับว่า “จัดแถวให้ว่อง เป็นระเบียบ ถ้าพวกนายช้าก็จะได้กลับบ้านช้า”

เมื่อถึงเวลา 17.00 น. ประธานฯ กล่าวถึงการรับใบ สด.43 และการตรวจปัสสาวะว่า “หลังจากเรียกชื่อ ทุกคนต้องไปตรวจฉี่เพื่อรับใบ สด.43 สองวันที่ผ่านมามีคนหนีฉี่และไม่รับใบ สด.43 วันแรกสี่นาย วันที่สองสิบนาย พวกนี้ไม่คิดถึงอนาคต เจตนาหนีฉี่ สรุปได้เลยว่าพวกนี้เสพยาแน่นอน ต้องส่งเข้าบำบัด ใครที่คิดถึงอนาคตตัวเอง ก็รับใบแล้วไปตรวจฉี่” ผมได้ยินแล้วตั้งคำถามขึ้นมาในหัวทันทีสามข้อ หนึ่ง ประธานฯ กล่าวหาคนไม่รับใบ สด.43 ว่าเป็นพวกเสพยาได้อย่างไร เขาอาจแค่นั่งรอจนเย็นไม่ไหวหรือเพราะเขาอยากปฏิเสธการตรวจฉี่แต่ไม่กล้าที่จะบอกตรง ๆ ก็ได้ สอง ผู้ขอผ่อนผันประมาณ 500 คนนี้แสดงเหตุอันควรสงสัยอะไร ประธานฯ จึงต้อง “บังคับให้ทุกคนลงนามยินยอม” ให้ตรวจฉี่ก่อนออกจากหน่วยตรวจทหาร สาม ประธานฯ และเจ้าหน้าที่ในห้องตรวจสารเสพติดใช้อำนาจหน้าที่อะไรบังคับให้คนทั้ง 500 คนที่ไม่ได้แสดงเหตุอันควรสงสัยต้องเข้าไปตรวจสารเสพติดในร่างกาย เมื่อผมตั้งคำถามกับสามข้อดังกล่าวและตระหนักถึงสิทธิเหนือร่างกายตนเองว่าเราควรมีสิทธิที่จะเลือกยินยอมหรือปฏิเสธการ “ให้สารเคมีในร่างกายของเรา” กับบุคคลอื่น ผมจึงใช้มโนธรรมสำนึกนี้ตัดสินใจว่าจะปฏิเสธการเข้าตรวจปัสสาวะ 

ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างเรียกชื่อผู้ขอผ่อนผันคนอื่น ผมรีบหาข้อมูลกฎหมายจากอินเทอร์เน็ต ขอคำแนะนำด้านกฎหมายจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ค้นหากรณีของคุณเข้มที่เคยเกิดขึ้น และได้รับคำปรึกษาจากเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (เพื่อนนิสิตจุฬาฯ ผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรม) ทำให้ผมมีข้อมูลแน่นอน หนักแน่น และมั่นใจว่าจะสามารถพูดคุยและตั้งคำถามกับการบังคับตรวจปัสสาวะของเจ้าหน้าที่ได้

และแล้วก็ถึงเวลาที่ชื่อของผมถูกขานขึ้น ผมลุกขึ้นไปหาประธานฯ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่พาผมไปยังหน่วยตรวจสารเสพติด ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการนี้ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับเส้นทางเดินและมีรั้วเหล็กกั้นเส้นทางไม่ให้หนีกลับบ้านก่อนตรวจปัสสาวะ เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งพาเราไปจุดลงทะเบียน เขาบังคับให้เราลงนามยินยอมการเข้าตรวจ ผมจึงกล่าวปฏิเสธการลงนาม พร้อมทั้งสอบถามเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณนั้นว่าท่านใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใดบังคับให้ทุกคนต้องตรวจในครั้งนี้ หลังจากนั้น ก็เป็นตามที่คาดไว้ ผมถูกควบคุมตัวและนำพาไปยังห้อง ๆ หนึ่งท่ามกลางเจ้าหน้าที่รัฐร่วม 10 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ปลัดอำเภอ และบุคคลนอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่ง

ผมเริ่มต้นบทสนทนากับท่านปลัดอำเภอ ผมถามไปตรง ๆ ว่าผมสามารถไม่ตรวจได้มั้ยและอำนาจการสั่งตรวจมาจากไหน เขาตอบว่าเป็นคำสั่งจากเลขาธิการ ป.ป.ส. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ซึ่งสั่งให้ตรวจทั้งประเทศ และอ้างแนวนโยบายเรื่องยาเสพติดปี พ.ศ. 2560 ของรัฐบาล ผมจึงแย้งว่าแนวนโยบายเป็นเสมือนแนวทางปฏิบัติ ไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายหรือเป็นพระราชบัญญัติที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษก็ไม่มีข้อความส่วนใดเลยที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บังคับประชาชนตรวจปัสสาวะถ้าไม่มี “เหตุอันควรสงสัย” ต่อมาจึงมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเข้ามาแย้งผมว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทหน้าที่และได้รับคำสั่งอย่างชัดเจนจากกระทรวงกลาโหม 

ปลัดอำเภอให้เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งค้นหาข้อมูลทางกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ผ่านไปพักหนึ่ง ปลัดอำเภอกล่าวว่าเขาเปิดหาข้อมูลในเน็ตและในราชกิจจาฯ ไม่ได้ หาได้เพียงว่า ผู้มีอำนาจตรวจยาเสพติดคือ พนักงานกรมการปกครอง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศ เขาใช้ข้อความนี้แย้งผมว่าเขามีอำนาจในการตรวจปัสสาวะของผม ผมจึงกล่าวย้ำไปว่า ตาม พ.ร.บ. คนที่ถูกตรวจจะต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุอันควรสงสัยก่อน ผู้มีอำนาจตามข้อความดังกล่าวจึงจะสามารถใช้อำนาจของตนเองได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึง “หัวใสครั้งที่ 1” โดยกล่าวกับผมว่า การยืนยันที่จะไม่เข้าตรวจปัสสาวะของผมนั้นสามารถใช้เป็นเหตุผลว่าผมมีพิรุธสงสัย และทำให้เขามีอำนาจหน้าที่บังคับให้ผมตรวจปัสสาวะได้ ผมก็ยังคงยืนยันต่อไปว่า ผมไม่ได้แสดงออกถึงเหตุอันควรสงสัยตั้งแต่แรก รวมถึงผู้ขอผ่อนผันทุกคนก็ไม่ได้แสดงเหตุอันควรสงสัยเช่นเดียวกัน ทุกคนควรมีสิทธิเลือกไม่เข้าตรวจปัสสาวะโดยไม่ต้องให้เหตุผลใด ๆ ผู้ที่ควรชี้แจงเหตุผลและให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ขอผ่อนผันคือเจ้าหน้าที่มากกว่า

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มใช้ไม้แข็ง เขาสั่งให้ผมหยุดพูดว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตรวจผม “ถือว่าหมิ่นเจ้าพนักงาน อย่าก้าวข้ามกัน ถึงเราอยู่คนละฝั่ง แต่อย่านะ นี่คือหมิ่นซึ่งหน้าเลยนะ” แล้วขู่ว่าจะส่งไปโรงพัก “ถ้าไม่ให้ตรวจก็เชิญไปที่โรงพัก น้องเนี่ยไม่ยอมตรวจ พี่เริ่มสงสัยได้ละ” ผมจึงยกกรณีของคุณเข้มที่เคยเกิดขึ้นว่าเขาสามารถพูดคุยกัน เปิดข้อกฎหมาย พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ แล้วก็ตกลงกันได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงโต้กลับว่า “สรุปน้องอยากได้ใคร ตำรวจมั้ย ป.ป.ส. มั้ย ประสานให้ได้ทุกที่ อยากได้ใคร จัดให้”

 ปลัดอำเภอ “หัวใสครั้งที่ 2” เขาหลุดประเด็นไปว่า เขาจะไม่ตรวจปัสสาวะผมที่หน่วยตรวจเลือกทหาร แต่ “เมื่อผมเดินออกไปจากเดอะมอลล์ เขาจะขอตรวจผมทันที” ผมจึงพูดทำความเข้าใจอีกครั้งว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถานที่ตรวจ แต่ผมกำลังแสดงสิทธิของตนเองว่า เนื่องจากผมไม่ได้แสดงเหตุอันควรสงสัย ผมจึงควรมีสิทธิเลือกยินยอมหรือปฏิเสธการให้สารเคมีในร่างกายของผมได้ ปลัดอำเภอจึงถามกลับว่า “แล้วจะให้ผมตรวจฉี่คุณได้ตอนไหน” ผมจึงยืนยันซ้ำ ๆ ว่าผมไม่มีเหตุอันควรสงสัยและผมจะไม่ตรวจปัสสาวะ 

ต่อมา ปลัดอำเภอจึง “หัวใสครั้งที่ 3” บอกว่าการตรวจปัสสาวะไม่ได้สร้างความเจ็บปวด ไม่ได้กระเทือนสิทธิของผมมากมาย และเชิญชวนให้ผมเข้าไปตรวจปัสสาวะด้วยกัน ผมจึงยืนยันในหลักการของผมที่ว่า “ไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าจะเจ็บปวดมั้ย หรือกระเทือนสิทธิมากน้อยแค่ไหน แต่สำคัญที่ว่าสิ่งนี้เป็นสิทธิเหนือร่างกายของคนทุกคน และเป็นมโนธรรมสำนึกของผมที่สั่งให้ผมตัดสินใจขอใช้สิทธิไม่ตรวจในครั้งนี้” และอธิบายเพิ่มเติมว่าปลัดอำเภอมีสิทธิเข้าตรวจหรือไม่ตรวจปัสสาวะได้เช่นกัน แต่ปลัดอำเภอไม่มีสิทธิสั่งให้คนอื่นไปตรวจปัสสาวะ

อยู่ดี ๆ ก็เหมือนมีฟ้าผ่า เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข “หัวใสครั้งที่ 4” และบอกว่า “เซ็นซะ เซ็นไปว่าไม่ยินยอมให้ตรวจฉี่ เขียนชื่อ เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ให้เรียบร้อย จะได้มีข้อมูลว่าใครที่ไม่ตรวจฉี่” และ “ขอดูใบ สด.43 ที่เพิ่งไปรับมาด้วย” สิ่งแรกคือผมไม่ให้เอกสารดังกล่าวกับเขา เพราะผมเกรงว่าเขาจะยึดเอกสารฉบับนี้ เนื่องจากใบ สด.43 เป็นเอกสารรับรองว่าเรามาผ่อนผันถูกต้องตามกระบวนการ และผมก็ไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการปฏิเสธการตรวจปัสสาวะกับใบรับรองผลการผ่อนผัน อีกสิ่งหนึ่งคือผมไม่เซ็นว่าไม่ยินยอมลงในเอกสารดังกล่าว เพราะ ถ้าอ่านเอกสารดูแล้ว (ตามรูปที่แนบ) วัตถุประสงค์ของเอกสารนี้คือ เพื่อให้ผู้ต้องการตรวจปัสสาวะเซ็น “ยินยอม” ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ และเพื่อ “ยืนยัน” ว่าผู้ต้องการตรวจปัสสาวะเป็นผู้มอบตัวอย่างปัสสาวะด้วยความ “สมัครใจ” และไม่มีเจ้าหน้าที่ท่านใดใช้อำนาจหน้าที่ “บังคับ ขู่เข็ญ ล่อลวง ให้สัญญา หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ” ดังนั้น ผู้ที่ต้องใช้เอกสารนี้คือผู้ต้องการตรวจปัสสาวะและเจ้าหน้าที่ที่รับตัวอย่างปัสสาวะมาตรวจเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตรวจปัสสาวะบุคคลใด เจ้าหน้าที่จะต้องให้เอกสารฉบับนี้และต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ถูกตรวจปัสสาวะ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ที่ไม่ต้องการตรวจปัสสาวะก็ไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวและเซ็นชื่อในเอกสารฉบับนี้

เวลาผ่านไปร่วม 70 นาที เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงส่งเสียงมาจากอีกมุมหนึ่งว่า “ก่อนเข้าห้องนี้ ได้กรอกข้อมูลหน้าห้องมั้ย” ผมตอบว่าไม่ได้กรอก เขาจึงพูดว่า “งั้นก็ออกไปเลย ห้องนี้มีไว้สำหรับคนจะตรวจฉี่เท่านั้น ออกไปเดี๋ยวนี้” ผมประหลาดใจเล็กน้อย ผมกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน แล้วเดินออกไปหาคุณแม่ที่นั่งรออยู่อย่างกระวนกระวายใจว่าเหตุใดลูกของตนเองจึงไม่ออกมาเสียที

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิปฏิเสธการตรวจปัสสาวะได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะมอบหรือไม่มอบสารเคมีในร่างกายของตนเองไปให้บุคคลอื่น ทุกคนมีสิทธิปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนตัวและลงลายมือชื่อในเอกสารที่เราไม่จำเป็นต้องดำเนินการ ทุกคนมีสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และอยากจะกล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนว่า ขอบคุณที่ทำหน้าที่เพื่อชาติ แต่ขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของชาติ การทำหน้าที่ใด ๆ ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ประชาชนต้องทำสิ่งใด เจ้าหน้าที่จะต้องไม่บังคับให้ประชาชนทำสิ่งนั้น และไม่แสดงอำนาจของท่านให้ประชาชนเกรงกลัวจนไม่กล้าใช้สิทธิของตนเอง ผมหวังว่าประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐจะใส่ใจสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net