Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในที่สุด กกต.ก็ตัดสินใจใช้ช่องทางตามมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ" ซึ่งก็ไม่ได้เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

แต่การใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการใช้และตีความรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มี final say ในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ถูกต้องในเชิงหลักการ

ผมมีเหตุผลที่สนับสนุนความเห็นของตัวเองในกรณีนี้ ดังนี้

1.โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งมีการจัดตั้งโครงสร้างและองค์กรทางการเมืองขึ้นนั้น จะกำหนดภารกิจหน้าที่ให้แต่ละองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดภารกิจใดให้ ก็จะมี final say ในทางรัฐธรรมนูญในการใช้อำนาจในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะเห็นว่าในบางเรื่องควรมีการตรวจสอบเพื่อคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสดของรัฐธรรมนูญ เช่น การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย

ผลจากการนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจจำกัดเฉพาะแต่เรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เท่านั้น (Enumeraionsprinzip)

2.เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดภารกิจหน้าที่ให้แก่องค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้ว อาจเกิดกรณีปัญหาว่าในประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด หรืออาจเกิดกรณีปัญหาว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญมากกว่าหนึ่งองค์กรอาจจะมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาดว่าในเรื่องนั้น ๆ เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประเด็นที่มีปัญหานั้นเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใดแล้ว การตัดสินใจในเชิงเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้นก็จะเป็น final say ขององค์กรดังกล่าว

3.ในกรณีของ กกต.นั้นตามรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 224) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ว่ามีองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ที่จะมีอำนาจในลักษณะเดียวกับ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง

แต่เป็นปัญหาว่า กกต.ไม่รู้ว่าจะคำนวณจำนวน ส.ส.อย่างไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กกต.มี final say อยู่แล้ว

ในกรณีนี้ผมจึงเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ดังกล่าว เพราะหากตีความเช่นนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถตัดสินปัญหาทางรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง ซึ่งในหลักการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น มีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ "หลักการเคารพภารพกิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ" ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเคารพภารกิจขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย

4.ส่วนปัญหาที่ถกเถียงกันว่าการคำนวณ ส.ส.แบบใดจึงจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะชี้ขาดนั้น ผมมีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการคือ

- มาตรา 91 (4) ระบุชัดเจนว่า "...ให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน..." จากถ้อยคำตามตัวบทดังกล่าว พรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรร ส.ส.ในกรณีนี้ต้องมีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ตามการคำนวณใน (2) นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรร ส.ส. จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 71,xxx คะแนนตามการคำนวณใน (2) การคำนวณที่มีผลทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 71,xxx ได้ ส.ส.ด้วย ย่อมขัดรัฐธรรมนูญ

- ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนนั้นมีเป้าหมายประการหนึ่งเพื่อให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยยังคงมีโอกาสได้ ส.ส.เข้าสภา หรือที่บอกกันว่า "คะแนนเสียงไม่ถูกทิ้งน้ำ" ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหลักการที่สำคัญ แต่เราต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดได้รับรองหลักการหลายประการซึ่งในบางครั้งอาจจะขัดแย้งกันเองได้ ในกรณีนี้หลักการตีความรัฐธรรมนูญบอกเราว่าต้องตีความรัฐธรรมนูญให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นหมายความว่าต้องตีความโดยการผสานหลักการที่ขัดแย้งกันให้เป็นไปได้มากที่สุด 
ในกรณีนี้การเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นนั้นนอกจากต้องทำให้การเลือกตั้งสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริงแล้ว ระบบการเลือกตั้งต้องทำให้ได้สภาผู้แทนราษฎรที่สามารถ "ทำงานได้ด้วย" (parliamentarische Funktionalitaet) ระบบเลือกตั้งที่ทำให้ผลการเลือกตั้งมี ส.ส.จากพรรคการเมืองกว่า 25 เดินเข้าสภาฯ เราอาจตั้งคำถามได้ว่าสภาฯดังกล่าวจะสามารถทำงานหรือภารกิจของตนได้หรือไม่

กรณีนี้มีตัวอย่างที่ชัดเจนใน ม.100 รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกำหนดให้ "บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีนั้นได้รับเลือกตั้ง" การกำหนดจำนวนคะแนนขั้นต่ำเอาไว้ที่ร้อยละห้า ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีจำนวนพรรคการเมืองในสภาฯมากจนเกินไปจนกระทั่งทำให้สภาฯไม่อาจทำงานได้ ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างสมดุลระหว่างหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยของระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนและหลักการทำงานได้ของสภาฯ

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำดังกล่าวเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญไม่ให้รับรองหลักการที่จะประกันให้สภาฯสามารถทำงานได้เอาไว้ ผมเห็นว่าหลักการดังกล่าวเป็นหลักทั่วไปในทางรัฐธรรมนูญและเราสามารถเข้าใจได้อยู่เองว่าระบบเลือกตั้งต้องทำให้ได้มาซึ่งสภาฯที่ทำงานได้

การคำนวณจำนวน ส.ส.ที่ทำให้มีพรรคการเมืองถึงกว่า 25 พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาฯ ย่อมมิใช่การตีความรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งหมายทั้งมวลบอกเราว่ากรณีนี้ กกต.เป็นผู้มีอำนาจที่จะบอกว่าการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร มิใช่การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง

และหากเราซื่อสัตย์ต่อหลักนิติวิธีแล้วเราก็จะรู้ได้อย่างชัดเจนว่าการคำนวณแบบใดที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ อาจจะมีท่านที่เห็นต่างซึ่งเราแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Yun Suthichai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net