บุญเลิศ วิเศษปรีชา: อย่าปล่อยให้เขาทำให้งง แล้วปกครอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เห็นข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ออกคำแถลงว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะใช้วิธีการใดในการคำนวณ  ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อแล้วเศร้าใจเป็นที่สุด เศร้าใจที่องค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงที่จำเป็นต้องรู้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วจะคำนวณจำนวน ส.ส. อย่างไร กลับไม่แม่นยำในหน้าที่ของตัวเอง  เปรียบเหมือนมีกรรมการตัดสินกีฬาที่ไม่รู้กฎกติกา จนต้องหันไปปรึกษาคนนอกอย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวช่วย

หากพิจารณาเผินๆ ก็ดูเข้าที เมื่อ กกต.ไม่แน่ใจก็ควรถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ก็จะพบว่า ทั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ต่างก็ถูกแต่งตั้งโดย  คสช. และสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า  กกต. กำลังลำเอียงเข้าข้างพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมเปิดเผยผลการเลือกตั้งระดับหน่วยให้ประชาชนตรวจสอบ และล่าสุดเรื่องการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อซึ่งค้านกับกระแสความเข้าใจของคนทั่วไป

การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด จึงอาจเป็นเสมือนการส่งไม้ระหว่างหน่วยงานที่อยู่ในฝ่ายเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาจถูกใช้เป็นไม้เด็ดในลักษณะที่ว่า เมื่อตัดสินแล้วห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ผู้วิจารณ์อาจถูกแจ้งความดำเนินคดีได้ เหมือนกรณีนาย ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ต้อประสบจาการวิพากษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งที่แสดงความเห็นอยู่บนหลักวิชาการและไม่ใช้ถ้อยคำก้าวร้าว

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สังคมและสื่อมวลชน  ไม่ควรถูกชี้นำไปในทางที่ว่า การคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้นซับซ้อนเกิดกว่าจะเข้าใจ สุดท้ายก็ยอมให้องค์กร (ที่ไม่ได้) อิสระ ตัดสินไปในทาง บิดเบือนผลจากการเลือกตั้ง แล้วก็ยอมรับกันไปแบบงงๆ

ผู้เขียนจึงขอทำความเข้าใจการคำนวณจำนวน ส.ส. โดยอ้างอิงตัวเลขและตารางที่ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ รายงานไว้ (https://prachatai.com/journal/2019/03/81769) ด้วยภาษาง่ายๆ ของผู้เขียนเอง เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อนมากมาย  วิญญูชนผู้มีเหตุผล ย่อมพิจารณาได้ว่า การคำนวณแบบใดผิดหลักการ ขัดกับกฎหมาย  ก่อนอื่น จำเป็นต้องชี้ว่า ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. มีส่วนที่ทำให้การนับคะแนนเข้าใจยาก  เพราะถ้าเป็นระบบเดิม มีบัตรลงคะแนนสองใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก็จะไม่ยุ่งยากและไม่เกิดคำใหม่ให้เราต้องทำความเข้าใจอย่างคำว่า “จำนวน ส.ส.พึงมี” แต่เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรลงคะแนนใบเดียว แล้วนำไปนับทั้งคะแนน ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงทำให้มีขั้นเพิ่มมากขึ้น

ฐานที่มาสำคัญของการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อก็คือ “จำนวน ส.ส.พึงมี” ซึ่งเริ่มคิดจากจากการนำคะแนนบัตรดีของทั้งประเทศไปหารจำนวน ส.ส.ทั้งหมด จากตัวเลขของ กกต. คือคะแนนรวม 35 ล้านเสียง หารจำนวน ส.ส. 500 ที่นั่ง ผลที่ได้คือ 71,065 เสียง นั่นหมายความว่า ทุกๆ 71,065 คะแนน ของแต่ละพรรคจะได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง จากนั้นนำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รวมกันทั่วประเทศ หารด้วยคะแนน 71,065 เสียง ก็จะได้ “จำนวน ส.ส.พึงมี” ของแต่ละพรรค

จากจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ก็นำมาพิจารณาว่า พรรคการเมืองนั้นๆ ได้ จำนวน ส.ส.เขตไปแล้วเท่าไร หากจำนวน ส.ส.เขต ของพรรคนั้นน้อยกว่า จำนวน ส.ส.พึงมีก็จะเติมจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีให้ตามจำนวนที่ควรจะเป็นของแต่ละพรรค   หากจำนวน ส.ส.เขตของพรรคนั้นมากกว่า จำนวน ส.ส.พึงมีพรรคนั้นก็จะไม่ได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังเช่นที่เกิดขึ้นพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติที่ไมได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อนำคะแนนรวมของแต่ละพรรคมาหาร 71,065 แล้ว จะไม่ได้ตัวเลขลงตัว จะได้จำนวน ส.ส. พึงมีที่เป็นจุดทศนิยม และตัวเลขหลังจุดทศนิยมนี้เองที่เป็นที่มาให้ผู้หาช่องทางตีความให้บิดเบือนไปจากหลักการและข้อกฏหมาย

กล่าวคือ มีกระแสอ้างว่ามาจาก กกต. รวมถึงนักวิชาการบางคนว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุจำนวนคะแนนขั้นต่ำว่า หากคะแนนของพรรคหนึ่งๆ ไม่ถึงเท่าไร พรรคนั้นจะไม่ได้รับ ส.ส. จึงทำให้มีการ “ปัดเศษ” พรรคที่ได้คะแนนมากว่า 0.5 ที่นั่งของจำนวน ส.ส.พึงมี ให้กลายเป็นเลขเต็มได้จำนวน  ส.ส. พึงมี 1 คน เป็นจำนวนรวมถึง 10 พรรค ไล่ไปตั้งแต่พรรคพลังธรรมใหม่ที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 35,553 คะแนน คิดเป็น 0.5 ที่นั่งของจำนวน ส.ส.พึงมี เท่านั้น  ไปถึงพรรคประชาภิวัฒน์ที่ได้คะแนน 69,417 เสียง

หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ เพิ่มพรรคอีก 10 พรรคที่คะแนนรวมไม่ถึง 71,065 เสียง ซึ่งเป็นคะแนนขั้นต่ำที่จะได้ ส.ส. 1 คน แต่พรรคเหล่านี้กลับได้  ส.ส. ไปพรรคละคนรวม 10 เก้าอี้

เก้าอี้ ส.ส. 10 ที่นั่งที่พรรคเหล่านี้ได้ไปพรรคละหนึ่งที่นั่งมาจากไหน ก็ย่อมมาจากการดึงหรือไปลดจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคอื่นลงมา ดังเช่น มีวิธีการคำนวณพิสดารที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้คะแนนรวมทั่วประเทศ 6,265,950 คะแนน เมื่อหารด้วย 71,065 เสียง แล้ว ได้จำนวน ส.ส.พึงมี 88.1717 ที่นั่ง เมื่อหัก ส.ส.เขตที่พรรคอนาตใหม่ได้แล้ว 30 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ควรได้  ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 58 ที่นั่ง แต่วิธีการคำนวณแบบปัดเศษช่วยพรรคเล็ก ทำให้จำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ลดลงไปเหลือ 50 ที่นั่ง ถ้านำไปคำนวณย้อนกลับจะพบว่า กว่าพรรคอนาคตใหม่จะได้  ส.ส. 1 ที่นั่ง จะต้องมีคะแนนถึง 78,324 คะแนน ขณะที่พรรคเล็กได้คะแนนระดับ 35,000-70,000 คะแนน ก็ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งแล้ว

การคำนวณแบบพิสดารเช่นนี้ แม้พรรคพลังประชารัฐ จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง จาก 21 เหลือ 20 ที่นั่ง แต่ก็ยังไม่เสียหายมากเหมือนพรรคอนาคตใหม่ที่หายไปถึง 8 ที่นั่ง และยิ่งปรากฏกระแสว่า พรรคเล็กที่ได้คะแนน 1 ที่นั่งนั้น เพื่อถูกรวบรวมให้สนับสนุนพลเอกประยุทธเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งน่าสงสัยว่า การคำนวณเช่นนี้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  

หลักที่ควรจะเป็นนั้นง่ายๆ ก็คือ พรรคใดจะได้ ส.ส.เต็มตัวหนึ่งที่นั่ง ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 71,065 คะแนน เท่านั้น พรรคใดที่คะแนนไม่ถึงก็ย่อมไม่ได้ ส.ส. แม้แต่ที่นั่งเดียว โดยไม่มีการปัดเศษใดๆ เมื่อนำหลัก “ไม่มีการปัดเศษ” มาคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขั้นตอนการจัดสรรจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องให้เฉพาะที่เป็นตัวเลขเต็มก่อนในรอบแรก เศษที่ยังไม่ถึง 1 ที่นั่งต้องไม่นับ  เช่น พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนรวม 3,947,726 คะแนน หาร 71,065 คะแนน ได้จำนวน ส.ส.พึงมี 55.5568 ที่นั่ง แต่พรรคประชาธิปไตย์ได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 33 ที่นั่ง จึงมีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 22 ที่นั่ง (ส่วนเศษ .5568 ยังไม่ได้รับเก้าอี้ เพราะไม่มีการปัดขึ้น)

การคิดคำนวณด้วยหลักการนับเฉพาะจำนวนเต็มก่อน จะทำให้พรรคการเมืองตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐลงมาถึงพรรคพลังชาติไทยซึ่งเป็นพรรคสุดท้ายที่ได้คะแนนเกิน 71,065 ที่นั่ง ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อรวม 152 ที่นั่ง ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดว่า  ส.ส. บัญชีรายชื่อมี 150 ที่นั่ง ก็มาเทียบบัญญัติไตรยางค์ด้วยสูตร กล่าวคือ จากจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่นับเฉพาะจำนวนเต็มจัดสรรได้รวม 152 ที่นั่ง พรรค ก. ได้ ส.ส. จำนวน  A ที่นั่ง ปรับให้เป็นจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อรวม 150 ที่นั่ง  พรรค ก จะได้ จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเท่ากับ การนำตัวเลข A หาร 152 คูณ 150 แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่ได้ ก็จะออกมาเป็นทศนิยมอีก ก็จัดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้แต่ละพรรคตามตัวเลขเต็มก่อน ส่วน ตัวเลขจุดทศนิยม พักไว้ก่อน ผลปรากฏตามที่ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้ทำรายงานคือ เมื่อปรับยอดรวมเป็น 150 ที่นั่ง แล้วนับเฉพาะจำนวนเต็มจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 138 ที่นั่ง

คำถามก็คือ แล้วอีก 12 ที่นั่ง จะมาจากไหน ก็มาจากการจัดลำดับตัวเลขหลังจุดของทศนิยมของแต่ละพรรค จากมากไปน้อย ก็จะทราบว่ามี 12 พรรค ได้คะแนนจัดสรรเพิ่มอีกพรรคละ 1 ที่นั่ง รวม 12 เสียง บวกกับ 138 ที่นั่ง ที่มาจากจำนวนเต็ม ก็จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ครบ 150 ที่นั่ง  การคำนวณเช่นนี้ พรรคอนาคตใหม่ จะถูกปรับตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากรอบแรก 58 ที่นั่ง เหลือ 57 ที่นั่ง เพราะเป็นพรรคที่มีจุดทศนิยมหลังปรับตัวเลขน้อย แต่ก็ยังเป็นการลดลงที่สมเหตุสมผล  

ประเด็นสำคัญที่สังคมต้องร่วมกันแสดงออกก็คือ เราต้องไม่ยอมรับวิธีการคำนวณแบบบิดเบือน ให้พรรคที่ไม่ผ่านคะแนนขั้นต่ำมาได้ส.ส. ด้วยวิธีการ “ปัดเศษ” มิเช่นนั้น สังคมเราจะหาหลักเกณฑ์ไม่ได้ เช่น หากการสอบใบขับขี่จะต้องทำข้อสอบให้ได้ 45 ข้อ จาก 50 ข้อ หรือ 90 % ถ้านายก. ไปสอบแล้วทำได้ 43 ข้อ คิดเป็น 86 % ถือว่าเกิน 80 % มาครึ่งหนึ่งแล้ว จะเราจะปัดให้นาย ก. สอบผ่านเกณฑ์ 90 เช่นนั้นหรือ

การทำหน้าที่  กกต. ชุดนี้ ขาดความสง่างามมากขึ้นทุกที สังคมกังขาอยู่แล้วว่า ถ้าการนับคะแนนของ กกต.โปร่งใส ทำไมจึงไม่ยอมเปิดเผยผลคะแนนระดับหน่วยให้ประชาชนตรวจสอบ มาถึงกรณีการำคำนวณจำนวนส.ส. ก็ใช้ “อภินิหารทางคณิตศาสตร์” ทำให้คนงงแล้วก็ปัดเศษอย่างน่ากังขา

ถึงตอนนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่ประชาชนต้องร่วมกดดัน กกต. ให้กกต.ได้รู้ว่า ประชาชนต่างทราบว่า การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่ถูกต้องคือสูตรใด และรู้เท่าทันว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นเพียงแค่การส่งลูกในหมู่คนพวกเดียวกัน ที่การันตีสูตรการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง    

ที่สำคัญ หากปล่อยให้การนับคะแนนไม่ถูกเปิดเผยอย่างโปร่งใส การคำนวณ ส.ส.ที่ฝืนกับกติกาเกิดขึ้นเช่นนี้ เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ก็อาจถูกบิดเบือน ด้วยกลวิธีแบบนี้อีกในอนาคต

เลือกตั้งแล้ว ต้องเคารพเสียงประชาชน.     

    

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท