Skip to main content
sharethis

พรรคสังคมประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งฟินแลนด์แบบฉิวเฉียด ขณะที่พรรคขวาจัดจ่อตามมาติดๆ เป็นอันดับที่สอง ท่ามกลางประเด็นถกเถียงเรื่องรัฐสวัสดิการ ผู้อพยพ สหภาพยุโรป และเรื่องโลกร้อน มีการตั้งข้อสังเกตว่าแม้พรรคขวาจัดได้ความนิยมมากขึ้นเล็กน้อย แต่พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายในฟินแลนด์ก็ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่พรรคพรรคกลางที่เคยเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้สูญเสียที่นั่งไปเยอะมากเทียบกับครั้งก่อน โดยมีการวิเคราะห์ว่า อันติ รินเน หัวหน้าพรรคซ้ายกลางจะจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไร

อันติ รินเน ผู้นำพรรคซ้ายกลางเอสพีดี (ซ้าย) ได้ ส.ส. 40 ที่นั่งและ จุสซี ฮัลลา-อาโฮ ผู้นำพรรคฟินน์ (ขวา) ได้ ส.ส. 39 ที่นั่ง (ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia [1], [2])

15 เม.ย. 2562 ในฟินแลนด์มีการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด โดยพรรคฝ่ายซ้ายกลางโซเชียลเดโมแครต หรือ "เอสดีพี" ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างฉิวเฉียด ทำให้พวกเขาต้องเลือกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดบ้าง

มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อว่าถึงแม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคฝ่ายขวาจัดจะทำได้ดีเกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่ก็เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่พรรคฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของฟินแลนด์กวาดที่นั่งได้มากกว่าเดิมจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

พรรคซ้ายกลางเอสดีพีมีผู้นำพรรคคือ อันติ รินเน อดีตนักสหภาพแรงงานอายุ 56 ปี พวกเขาสามารถชนะที่นั่งในสภาได้ 40 ที่นั่งจากทั้งหมด 200 ที่นั่ง มีคะแนนโหวตร้อยละ 17.7 พวกเขาหาเสียงโดยการโจมตีนโยบายปรับลดสวัสดิการประชาชนที่เรียกว่านโยบายรัดเข็มขัดซึ่งเป็นนโยบายที่ฝ่ายขวากลางสนับสนุน

อย่างไรก็ตามพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับสองคือพรรคฝ่ายขวาจัดที่ชื่อพรรคฟินน์ พวกเขามีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและมีแนวทางแบบหัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาชนะที่นั่งมาได้ 39 ที่นั่ง และได้รับคะแนนโหวตร้อยละ 17.5 ซึ่งถือว่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็เกือบจะเท่าเดิมเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2558 โดยที่พวกเขาได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว 1 ที่นั่งเท่านั้น

ทั้งนี้ฝ่ายซ้ายของฟินแลนด์พรรคอื่นๆ ต่างก็ทำได้ดีขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคกรีนที่ได้ที่นั่งมากกว่าเดิม 5 ที่นั่ง พรรคฝ่ายซ้ายจัดที่ชื่อ วาเซมมิสโต ได้เพิ่ม 4 ที่นั่ง ส่วนพรรคที่แพ้หนักที่สุดคือพรรคสายกลางหรือเซ็นเตอร์ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี จูฮา สิปิลา ได้ 31 ที่นั่ง หรือได้ที่นั่งลดลง 18 ที่นั่ง ซึ่งพรรคเซ็นเตอร์ที่เป็นพรรครัฐบาลก่อนหน้านี้เคยตัดงบประมาณการศึกษาของฟินแลนด์ทั้งที่ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องระบบการศึกษามาก นอกจากนี้พรรคเซ็นเตอร์ยังเคยบีบเค้นสวัสดิการคนว่างงานทำให้ผู้คนเกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง ฝ่ายสิปิลาบอกว่ารัฐบาลของพวกเขาจำเป็นต้อง "ดำเนินการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก" เพราะต้องสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลง

แนวทางดังกล่าวนี้ตรงกันข้ามกับพรรคฝ่ายซ้ายกลางที่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นรัฐสวัสดิการกลายเป็นที่จับตามองโดยเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้งสภายุโรปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะฟินแลนด์เป็นประเทศที่เป็นเสาหลักสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าแนวทางสวัสดิการสังคมแบบประเทศสแกนดิเนเวีย หรือ "นอร์ดิกโมเดล" (Nordic model) ซึ่งมีระบบรัฐสวัสดิการ การต่อรองแบบรวมกลุ่มของสหภาพแรงงาน ควบคู่ไปกับระบบตลาดเสรี อีกสาเหตุที่มีการจับตามองฟินแลนด์เป็นเพราะประเด็นเรื่องการแผ่ขยายอิทธิพลของขวาจัดในยุโรปที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ

รินเน กล่าวต่อผู้สนับสนุนของเขาหลังมีการประกาศผลว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2542 ที่พรรคของพวกเขาได้ที่นั่งมากที่สุดในสภา ขณะที่สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่านี่อาจจะเป็นการกลับมาของฝ่ายเอียงซ้ายในยุโรปหลังจากที่ก่อนหน้านี้สวีเดนและไอซ์แลนด์ก็ได้นายกรัฐมนตรีเอียงซ้ายมาแล้ว ขณะที่ในเดนมาร์กผลสำรวจโพลล์ก็ระบุว่าพรรคโซเชียลเดโมแครตได้รับความนิยมนำพรรคอื่นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในปีนี้

อย่างไรก็ตามพรรคซ้ายกลางที่ชนะมาแบบเฉียดฉิวต้องดูว่าจะจัดตั้งพรรครัฐบาลร่วมกับพรรคใดบ้างท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ฝังรากลึกระหว่างพรรคการเมืองกระแสหลักในฟินแลนด์ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสร้างพรรคร่วมรัฐบาลที่ยั่งยืน มีนักวิเคราะห์มองว่ารินเนอาจจะดึงพรรคกรีนส์และพรรคซ้ายจัดเข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมากแบบกว้างๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะดึงเอาพรรคขวากลางคือพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (NCP) ที่ชนะ 38 ที่นั่งเข้าร่วมด้วยถึงแม้ว่าจะเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนโยบายทางสังคมและงบประมาณรัฐ หรือกระทั่งเป็นไปได้ที่จะดึงพรรคเซ็นเตอร์ซึ่งได้มา 31 ที่นั่งเข้าเป็นพรรคร่วมฯ ขณะเดียวกันพรรคส่วนมากรวมถึงเอสดีพีบอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะดึงพรรคขวาจัดอย่างพรรคฟินน์มาเข้าร่วม

นักวิจารณ์การเมือง สินี คอร์ปิเนน กล่าวว่ามีพรรคอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะตอบรับคำชวนของพรรคโซเชียลเดโมแครตสูงมากเพราะพรรคอื่นๆ ไม่อยากให้พรรคฟินน์เป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาล

นอกจากประเด็นในเรื่องรัฐสวัสดิการ ประเด็นผู้อพยพ และประเด็นสหภาพยุโรป แล้วองค์กรอย่างกรีนพีชฟินแลนด์ยังตั้งข้อสังเกตว่าเป็นครั้งแรกที่มีการถกเถียงอภิปรายอย่างจริงจังในเรื่องโลกร้อนในการเมืองฟินแลนด์ โดยมีผลโพลล์ระบุว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนควรจะเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลใหม่ให้ความสนใจ ซึ่งพรรคฟินน์มีจุดยืนในเรื่องนี้ว่าไม่ควรเร่งการปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

เรียบเรียงจาก

Finland's SDP tries to build coalition after narrow election win, The Guardian, 15-04-2019

Finland goes left: Social Democrats win slim victory as far right surges, SBS News, 15-04-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wikipeida

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net