Skip to main content
sharethis

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวอินเดียรำลึกถึงเหตุการณ์ครบรอบ 100 ปีสังหารหมู่ที่เมืองอมฤตสาร์ที่มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 379 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นยุคที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษก่อเหตุปิดล้อมและยิงผู้คนรวมถึงเด็กที่ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ถึงแม้ว่าทางอังกฤษจะส่งตัวแทนเข้าร่วมและกล่าวในทำนองรู้สึกเสียใจแต่ก็ยังไม่เคยขอโทษอย่างเป็นทางการ โดยอมารินเดอร์ สิงห์ มุขมนตรีประจำรัฐปัญจาบ สถานที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กล่าวว่าพวกเขาต้องการ "คำขอโทษชัดเจนอย่างเป็นทางการ" จาก "ความป่าเถื่อนครั้งใหญ่ระดับประวัติศาสตร์"

ทางเข้าสวนจัลเลียนวาลาบักห์ ภาพถ่ายในปี ค.ศ. 2007 สถานที่เกิดเหตุสังหารหมู่เมืองอมฤตสาร์เมื่อ 13 เมษายน ค.ศ. 1919 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยมีการติดป้ายเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อิสรภาพของชาวอินเดีย (ที่มา: Wikipedia/Vinoo202)

กำแพงที่สวนจัลเลียนวาลาบักห์ เมืองอมฤตสาร์ ยังคงเก็บร่องรอยกระสุนจากเหตุสังหารหมู่เมื่อ 13 เมษายน ค.ศ. 1919 ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 (ที่มา: Wikipedia/Adam Jones)

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2562 ชาวอินเดียทำการรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่อมฤตสาร์ ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ ชาวอินเดียมักจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า"'การสังหารหมู่จัลเลียนวาลาบักห์" เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพอังกฤษในยุคสมัยที่เป็นเจ้าอาณานิคมอินเดียเปิดฉากยิงใส่ประชาชนผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธที่เมืองอมฤตสาร์ เมื่อปี 2462 (ค.ศ. 1919) ซึ่งในการรำลึกครั้งนี้มีตัวแทนจากอังกฤษกล่าวว่าประเทศพวกเขารู้สึกเสียใจต่อการสังหารที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้บอกขอโทษ

ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านในอินเดียต่างก็ระบุถึงเหตุการณ์นี้ผ่านทางทวิตเตอร์ โดยที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กล่าวว่าเหตุสังหารหมู่ที่อมฤตสาร์เป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายและความทรงจำของผู้ที่ถูกสังหารก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาทำงานหนักขึ้นเพื่อสร้างอินเดียที่พวกเขาภาคภูมิใจ

ด้านผู้นำฝ่ายค้าน ราหุล คานธี ผู้ที่อยู่ในอมฤตสาร์ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 เม.ย.) ระบุว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ในครั้งนั้นถือเป็นวันแห่งความอัปยศที่ทำให้ทั้งโลกรู้สึกตะลึงและกลายเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวอินเดีย

ในเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นมีชาวอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 379 ราย จากข้อมูลบันทึกทางการของยุคอาณานิคม อย่างไรก็ตามผู้อาศัยในพื้นที่กล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจจะมีมากถึงเกือบ 1,000 ราย โดยที่เหตุการณ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนความโหดร้ายของลัทธิอาณานิคมซึ่งชาวอินเดียเรียกร้องให้ทางการอังกฤษขอโทษมาเป็นเวลาหลายปีแล้วรวมถึงเรียกร้องจากสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธในช่วงที่พระองค์เสด็จเยือนอมฤตสาร์ในปี 2540 ด้วย

ในการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้มีประชาชนหลายร้อยรายถือธงชาติอินเดียเข้าร่วมเดินขบวนจุดเทียนรำลึกในช่วงกลางคืนวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตหลังจากนั้นในวันที่ 13 เม.ย. 

ตัวแทนจากอังกฤษที่มาเข้าร่วมในครั้งนี้คือ โดมินิก อัสควิธ ข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดีย อัสควิธทำตามพิธีการด้วยการเข้าไปวางพวงหรีดในสถานที่เกิดเหตุสังหารหมู่จากนั้นจึงกล่าวว่า "คุณอาจจะอยากเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เช่นที่พระราชินีเคยมีพระราชดำรัสไว้แต่คุณก็ไม่สามารถทำได้ สิ่งที่คุณทำได้เช่นที่พระราชินีทรงพระราชดำรัสไว้คือการเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ ผมเขื่อมั่นอย่างมากว่าพวกเราล้วนต่างเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องถามเลยว่าพวกเราจะจดจำเหตุการณ์นี้อยู่เสมอ และจะไม่ลืมว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้นที่นี่"

อัสควิธกล่าวอีกว่าอังกฤษรู้สึกเสียใจที่ "ทำให้เกิดความเจ็บปวด" และยังคงรู้สึกแขยงต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่เขาก็ไม่ได้พูดขอโทษออกมาตรงๆ เช่นเดียวกับผู้นำอนุรักษ์นิยมคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของอังกฤษที่พูดถึงเหตุการณ์แต่ก็ไม่ได้กล่าวขอโทษในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน หรือเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ทั้งนี้ในช่วงปี 2540 ที่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธเสด็จเยือนเจ้าชายฟิลิปก็แย่งหัวข้อข่าวเด่นไปด้วยการอ้างว่าทางอินเดียพูดถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตเกินจริง อย่างไรก็ตาม เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษบอกว่าอังกฤษควรจะขอโทษในเรื่องนี้

ทางด้าน อมารินเดอร์ สิงห์ มุขมนตรีประจำรัฐปัญจาบ สถานที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กล่าวว่าคำพูดของผู้นำอังกฤษยังไม่เพียงพอ และพวกเขาต้องการ "คำขอโทษชัดเจนอย่างเป็นทางการ" จาก "ความป่าเถื่อนครั้งใหญ่ระดับประวัติศาสตร์"

เหตุการณ์สังหารหมู่จัลเลียนวาลาบังห์เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประชาชนในอินเดียรวมถึงเด็กไปเข้าร่วมชุมนุมที่จัลเลียนวาลาบังห์ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแบบมีกำแพงกั้นในอมฤตสาร์ พวกเขาต่อต้านการออกมาตรการบีบบังคับชาวอินเดียและไม่พอใจการจับกุมผู้นำท้องถิ่น 2 ที่เป็นผู้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงด้วยความรุนแรง 3 วันก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามในการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. นั้นยังเป็นวันที่ตรงกับวันเทศกาลฤดูไม่ไม้ผลิครั้งใหญ่ด้วยทำให้มีฝูงชนในสถานที่แห่งนั้นราว 20,000 ราย รวมถึงผู้เดินทางแสวงบุญที่วัดทองของศาสนาซิกข์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน

ในตอนที่มีการชุมนุมวันนั้น พลจัตวากองทัพบกอังกฤษ เรจินาล เอ็ดเวิร์ด แอร์รี ดายเยอร์ ก็เข้าไปในพื้นที่พร้อมกับกองกำลังสั่งปิดทางออกและสั่งให้ทหารเปิดฉากยิงโดยไม่มีการประกาศเตือน ส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากพยายามปีนกำแพงหนี บ้างก็กระโดดลงไปในบ่อน้ำ มีพยานเห็นเหตุการณ์จำนวนมากได้รับการรวบรวมปากคำเอาไว้ในหนังสือของนักประวัติศาสตร์ 2 ราย มีผู้ให้ปากคำรายหนึ่งชื่อ ราตัน เทวี ผู้ที่สามีเสียชีวิตในเหตุการณ์เล่าว่าเธอเห็น "กองซากศพเรียงรายอยู่ที่นั่น บ้างก็คว่ำหน้า บ้างก็หงายหน้า มีส่วนหนึ่งที่เป็นเด็กบริสุทธิ์ผู้น่าสงสาร ฉันจะไม่ลืมภาพนั้นเลย" เทวีเล่าอีกว่าในคืนนั้นเธอต้องอยู่คนเดียวท่ามกลางซากศพผู้คนไม่มีอะไรเลยนอกจากเสียงสุนัขเห่าและเสียงลาร้อง เธอผ่านค่ำคืนนั้นไปด้วยการร้องไห้และได้แต่เฝ้ามอง

ดายเยอร์ผู้ที่มีคนเรียกว่า "ฆาตกรโหดแห่งอมฤตสาร์" กล่าวหลังจากนั้นอ้างว่าการปราบปรามผู้ชุมนุมเป็น "มาตรการที่จำเป็น" รวมถึงบอกอีกว่าการกราดยิงดังกล่าวไม่ใช่เพื่อสลายการชุมนุมแต่เป็นการ "ลงโทษชาวอินเดียที่ไม่เชื่อฟัง"

เรียบเรียงจาก

India marks colonial massacre centenary, Britain makes no apology, Aljazeera, 13-04-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net