Skip to main content
sharethis

วะลง และจ่อซออู ผู้สื่อข่าวชาวพม่าคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ 2019 ประเภทข่าวต่างประเทศ จากรายงานข่าวเปิดโปงกองทัพพม่าและชุมชนพุทธยะไข่สังหารหมู่ชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ ผลจากการรายงานข่าว ทำให้ทั้งสองถูกทางการพม่าจับกุมคุมขัง โดยศาลตัดสินจำคุก 7 ปีในข้อหาเปิดเผยความลับราชการ

วะลง (บน) และจ่อซออู (ล่าง) 2 นักข่าวชาวพม่าที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2019 ประเภทข่าวต่างประเทศ (ที่มาของภาพ: pulitzer.org)

 

ในการประกาศผลรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2019 ซึ่งเป็นการประกาศปีที่ 102 ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 15 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 03.00 น. วันที่ 16 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย โดยในรางวัลพูลิตเซอร์ ประเภทข่าวต่างประเทศ (International Reporting) ปีนี้ได้แก่ ทีมข่าวรอยเตอร์และด้วยการอุทิศผลงานอย่างโดดเด่นของ วะลง (Wa Lone) และจ่อซออู (Kyaw Soe Oo) ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวพม่า ซึ่งรายงานเปิดโปงว่ากองทัพพม่าและชุมชนชาวพุทธในรัฐยะไข่มีส่วนรับผิดชอบต่อการขับไล่และสังหารชาวโรฮิงญามุสลิมอย่างเป็นระบบ โดยการรายงานข่าวที่กล้าหาญนี้ได้ทำให้ผู้สื่อข่าวทั้งสองถูกจองจำในคุก

โดยผลงานของทีมข่าวรอยเตอร์ต่อกรณีวิกฤตมนุษยธรรมรัฐยะไข่ อยู่ในผลงานข่าวชุด Myanmar Burning: The expulsion of the Rohingya

สำหรับรางวัลพูลิตเซอร์ ประเภทข่าวต่างประเทศ ยังมีการมอบรางวัลให้กับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Associated Press ประจำกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้แก่ Maggie Michael, Maad al-Zikry and Nariman El-Mofty จากผลงานเกาะติดรายงานข่าวสงครามกลางเมืองในเยเมนด้วย

สื่อรอยเตอร์เผยรายงานสืบสวน: กองกำลังพม่าสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินดิน, 9 ก.พ. 2561

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 3 ก.ย. 2561

ศาลพม่าปัดตกอุทธรณ์คดีสองนักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 12 ม.ค. 2562

เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2017 โดยในรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือนที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่าร่วมกับชาวบ้านยะไข่สังหาร (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)

สภาพของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีประชากร 6,000 คน ในภาพเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 แสดงให้เห็นสภาพของชุมชนที่ถูกเผาทำลาย (กรอบสีแดง) โดยมีชุมชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย (กรอบสีเขียว) (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ทั้งนี้รายงานเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) เผยว่าทหารพม่าและ อส. ร่วมกันสังหารหมู่ชาวบ้านโรฮิงญา 10 รายในขณะถูกควบคุมตัวที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากซิตตะเหว่เมืองหลวงรัฐยะไข่ 50 กม. ทั้งยังเผยว่ากองทัพพม่ามีคำสั่ง "เคลียร์" หมู่บ้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างเป็นระบบ โดยหลักฐานของรอยเตอร์ระบุว่า กองพันทหารราบเบาที่ 33 เป็นผู้ปฏิบัติการที่หมู่บ้านอินดิน และได้รับการสนับสนุนจากกองพันตำรวจกองหนุนที่ 8 โดยในเวลาที่เผยแพร่ข่าวนั้น วะลง และจ่อซออู ถูกจับกุมมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2017 และถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง

เดือนกรกฎาคม 2018 พวกเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายมาตรา 3 (1) ที่ระบุถึงกรณีความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ และเมื่อวันที่ 3 กันยายนปี 2018 ศาลพม่าตัดสินจำคุก 7 ปี และในเดือนมกราคมที่ผ่านมาศาลก็ยกคำร้องขออุทธรณ์

คดีนี้ทำให้เกิดเสียงโต้ตอบด้วยความไม่พอใจจากประชาคมนานาชาติเพราะถือเป็นการที่ทางการพม่าพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการรายงานข่าวกรณีกองกำลังความมั่นคงสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ กรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 ราย ต้องลี้ภัยไปที่บังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีอาชญากรรมจากน้ำมืฝ่ายกองกำลังความมั่นคงพม่าทั้งการข่มขืน การฆาตกรรม และการวางเพลิง

ในการพิจารณาคดี นักข่าวพม่าทั้งสองคนปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการพม่าสร้างสถานการณ์เพื่อกล่าวหาเอาผิดพวกเขา ทั้งสองเล่าว่าพวกเขาถูกเชิญไปทานอาหารค่ำกับตำรวจ โดยที่ในขณะนั้นพวกเขากำลังหาข้อมูลทำข่าวเกี่ยวกับการสังหารชาวโรฮิงญา ในการนัดครั้งนั้นตำรวจก็ยื่นเอกสารให้พวกเขารับแล้วทำการจับกุมพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังจะออกจากร้านอาหารโดยอ้างว่าพวกเขามีเอกสารลับทางราชการไว้ในครอบครอง

แต่ผู้พิพากษา เย ลวิน (Ye Lwin) อ้างว่านักข่าวสองรายนี้ "มีเจตนาทำให้รัฐเสียผลประโยชน์" จึงตัดสินพวกเขาว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ

ผู้สื่อข่าวทั้งสองคนเคยทำข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอินดิน ขณะที่ฝ่ายกองทัพพม่าเผยแพร่เหตุการณ์ในแบบของตนเองระบุว่าชาวโรฮิงญาถูกสังหารขณะถูกควบคุมตัว แต่ก็นำเสนอในทำนองว่ามีการใช้กำลังรุนแรงจากทั้งฝ่ายกองทัพและชาวบ้านในพื้นที่ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2])

สำหรับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ตั้งขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ได้รับเกียรติสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในวงการสิ่งพิมพ์ การบรรลุความสำเร็จทางวรรณกรรม และการประพันธ์เพลง โดยปี 2019 มอบรางวัล 22 ประเภท โดยการมอบรางวัลบริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก 

รางวัลพูลิตเซอร์ก่อตั้งโดยโจเซฟ พูลิตเซอร์ นักหนังสือพิมพ์และผู้พิมพ์โฆษณาชาวฮังการี-อเมริกัน ซึ่งได้มอบเงินจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐไว้ในพินัยกรรมแก่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียหลังการเสียชีวิตเมื่อปี 1911 เงินส่วนหนึ่งของกองมรดกนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการก่อตั้งสถาบันวิชาการหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยในปี 1913 ได้มีการมอบรางวัลพูลิตเซอร์รางวัลแรกเมื่อ 4 มิถุนายนปี 1917 ปัจจุบันมีการประกาศรางวัลทุกๆ เดือนเมษายน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net