Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายสิทธิฯ รายงาน 7 นักศึกษาคดีละเมิดอำนาจศาล ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ทั้งเจ็ดมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ชี้กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” และสื่อถึงการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหาร ยืนยันความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่อาจนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คนถูกฟ้องหลังทำกิจกรรมให้กำลังใจไผ่ ดาวดิน ด้านหน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อ 10 ก.พ. 2560 (แฟ้มภาพ)

16 เม.ย.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายนงานคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล จากการจัดกิจกรรมการแสดงออกเพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ขณะตกเป็นจำเลยในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าวบีบีซีไทย และสื่อถึงการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหาร บริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 7 นักศึกษา ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล มอบอำนาจให้ทนายความเข้ายื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ “ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  31(1), 33  ให้รอการกำหนดโทษสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 ไว้คนละ 2 ปี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จำคุก  6  เดือน และปรับ 500 บาท  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้คนละ 1 ปี  โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 6 ครั้ง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาคนละ  24 ชั่วโมง ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบหาสมาคมหรือจัดทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันในลักษณะอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก”

โดยเหตุแห่งคดีมาจากการจัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ อ่านบทกวี และ ร้องเพลง บริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เพื่อให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน 

ฎีกาของนักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4  และพิพากษายกคำกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด  ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดพ้นผิดไป โดยยกเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

  1. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า …แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34  บัญญัติให้ประชาชนและผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การพูด  และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น  แต่ต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย  ซึ่งในกรณีนี้คือบทบัญญัติของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล… ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตราไว้เพื่อให้ศาลมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว  และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล  ไม่ใช่กฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ถือเป็นบทบทบัญญัติที่นำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกทั้งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดซึ่งเป็นไปโดยสงบและปราศจากความวุ่นวายใด ๆ  จึงเป็นการใช้เสรีภาพที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  และย่อมได้รับความคุ้มครอง
  2. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า …ในเวลาต่อเนื่องกันหลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีซึ่งนายจตุภัทร์เป็นจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6  กับพวก ไปรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าป้ายศาลฯ โดยมีไม้แปรรูปทำเป็นสัญลักษณ์คล้ายตาชั่งอันหมายถึงศาลเอียงลงไปทางรองเท้าบูทซึ่งหมายถึงทหาร ตั้งอยู่ข้างหน้า สื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าศาลพิจารณาของนายจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายทหาร  ย่อมทำให้สถาบันศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม  ต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ…  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4  รับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้คลาดเคลื่อน เนื่องจากที่ผู้ถูกกล่าวหาทำกิจกรรมหลังศาลพิจารณาคดีของจตุภัทร์ เพราะต้องการให้กำลังใจจตุภัทร์ และเห็นว่าการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว ไม่เป็นการรบกวนการพิจารณาคดีของศาล โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ บทกวี หรือเพลง ไม่ได้พาดพิงถึงการพิจารณาคดีของศาลเลย อุปกรณ์ที่มีผู้นำมาวางก็เพื่อสื่อให้เห็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหารในวันเกิดเหตุที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนที่มาให้กำลังใจจตุภัทร์ และเหตุที่ทำกิจกรรมที่ป้ายหน้าศาล เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลให้ออกไปทำกิจกรรมนอกศาล อีกทั้งการพิจารณาคดีของศาลในวันนั้นก็ไม่ปรากฏว่าได้มีคำสั่งอะไรขึ้นใหม่ในคดี  จึงไม่เป็นการทำให้สถาบันศาลเสื่อมเสียถูกลดทอนศักดิ์ศรีหรือความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด
  3. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า …ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 สวมหน้ากากใบหน้านายจตุภัทร์ถ่ายภาพร่วมกับบุคคลอื่นซึ่งถือป้ายกระดาษมีข้อความว่า “FREE PAI”  อยู่บริเวณหน้าป้ายศาลฯ ถือเป็นการกดดันศาลเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์… ขณะผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6  กับพวกอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงอยู่บริเวณหน้าป้ายศาลฯ  ก็ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้นำดอกกุหลาบสีขาวไปวางบนทางเท้า บริเวณที่สัญลักษณ์คล้ายตาชั่งตั้งอยู่ แสดงถึงการยอมรับต่อการกระทำของผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6…  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้คลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อความว่า FREE PAI  หมายถึงคืนเสรีภาพให้นายจตุภัทร์ อันมีความหมายกว้างกว่าการปล่อยตัวชั่วคราว อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ไม่ได้แสดงท่าทางที่จะใช้กำลัง  ข่มขู่  คุกคาม หรือปลุกระดม  เพียงแต่การถ่ายภาพกับคำว่า FREE PAI  ไม่อาจจะมีอิทธิพลเหนือประชาชนจนถึงขนาดจะเป็นการกดดันให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์ได้ และการวางดอกกุหลาบสีขาวก็เพราะผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เห็นว่าเป็นกิจกรรมให้กำลังใจนายจตุภัทร์เท่านั้น
  4. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า …แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะกระทำการดังกล่าวนอกศาล  แต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่มีการดำเนินอยู่ในศาลโดยตรง  กรณีย่อมถือว่าเป็นการกระทำมุ่งหมายให้มีผลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล  จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล…  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดขอคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นมาตรการบางประการที่ให้อำนาจศาลในอันที่จะควบคุมกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย   และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่หลักเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา อีกทั้งการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้  มิได้มีผลต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นเพียงนักศึกษาและประชาชน  ไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้คุณให้โทษใด ๆ กรณีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดส่งผลต่อการพิจารณาคดีของศาลในคดีนายจตุภัทร์แต่อย่างใด ดังนั้น  การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
  5. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า …เงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพื่อคุมความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง (3) และไม่ปรากฏว่าเงื่อนไขดังกล่าวกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควรตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา… ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดขอคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำที่ก่อภยันตรายต่อผู้อื่นหรือสังคม อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งห้ามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมได้ อีกทั้งเงื่อนไขคุมประพฤติดังกล่าวยังมีลักษณะกว้างขวาง คลุมเครือ ไม่ชัดแจ้ง  ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่อาจทราบได้ว่าการทำกิจกรรมใดเป็นไปตามเงื่อนไขของศาลชั้นต้นบ้าง และไม่อาจใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี  ซึ่งกระทบต่อสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพ และกระทบต่อการดำรงชีวิตผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควร  จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ในการเข้ายื่นฎีกา ทนายผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และโดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2558 กำหนดให้ การฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์กระทําได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

โดยคำร้องดังกล่าวระบุเหตุผลในการขออนุญาตฎีกาว่า 1) ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีนี้จะเป็นแนวบรรทัดฐานว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลมีขอบเขตแค่ไหนเพียงใด  2) ประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดฎีกาว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาล และการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเรื่องการห้ามคบค้าสมาคมในคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

3) เพื่อเป็นการพัฒนาและทบทวนการตีความกฎหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย และ 4) คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รับรองเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการชุมนุม ซึ่งมีผลผูกพันประเทศไทย

อ่านลำดับเหตุการณ์คดีนี้ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความฯ https://www.tlhr2014.com/?p=11889

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net