Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ ธรรมใจ มองทางออกวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจไทย ระบุ คสช. ไม่ควรดันทุรังบิดเบือนผลเลือกตั้ง จับคนขึ้นศาลทหาร ควรยึดหลักประชาธิปไตย นิติรัฐนิติธรรม ธรรมาภิบาล ยึดคนร่วมชาติเป็นพี่เป็นน้องและหลักสันติธรรม ฝากข้อเสนอถึง คสช. กกต. กระทรวงต่างประเทศ พรรคการเมืองและสังคมไทย

16 เม.ย. 2562 อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีความเห็นต่อการออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พรรคการเมืองและสังคมไทย ดังนี้

สังคมไทยสามารถแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ด้วยการร่วมกันแสวงหากลไกหรือกระบวนการปรึกษาหารือกันเพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้ด้วยยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและหลักธรรมาภิบาล โดย รัฐบาล คสช. สามารถมีบทบาทสำคัญในการลดเงื่อนไข ลดความเสี่ยงในการนำพาสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต และสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการยกเลิกแนวคิดในการสืบทอดอำนาจ คสช. จากการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสซึ่งเครือข่ายพรรคการเมือง คสช. ก็ยังไม่ชนะการเลือกตั้ง การดันทุรังเพื่อบิดเบือนผลการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่างๆ หรือ กลั่นแกล้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยการดำเนินคดีต่างๆอย่างไม่เป็นธรรมหรือจับ “พลเรือน” ขึ้นศาลทหาร การใช้อำนาจรัฐอย่างปราศจากธรรมาภิบาล ละเมิดต่อหลักนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตย จะสร้างความเสียหายต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากรวมทั้งจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างยาวนาน

แม้คณะ คสช. จะสลายตัวไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่จัดตั้งขึ้น แต่อำนาจและระบอบ คสช ยังคงอยู่ผ่านกลไก สว 250 คนก็ดี องค์กรอิสระที่ คสช. แต่งตั้งก็ดี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ดี พรรคการเมืองในเครือข่าย คสช. ก็ดี นอกจากนี้ คสช. ยังมีรัฐธรรมนูญปี 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ตัวเองร่างขึ้น หลังการเลือกตั้งประชาชนชาวไทยจึงยังคงอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยเท่านั้น จึงเป็นภารกิจสำคัญของประวัติศาสตร์ของผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่ต้องร่วมกันเปิดพื้นที่ให้กับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้มีบทบาทในเวทีรัฐสภาและรัฐบาลเพื่อให้เกิดสมดุลแห่งอำนาจ   

หลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. 2562 จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่อันยืดเยื้ออาจจะปรากฎเป็นสัญญาณชัดเจนขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมไทยถลำลึกสู่วิกฤตการณ์ สังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ อันนำมาสู่การเพิ่มความขัดแย้งและการเผชิญหน้า การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เวลาประกาศผลอย่างเป็นทางการที่ยาวนานที่สุด การเลือกตั้งผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ คณะกรรมการเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถสรุปวิธีคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้และต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เป็นเรื่องที่มีความผิดปรกติอย่างยิ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.บ. เลือกตั้งมาตรา 128 ได้ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนถึงวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ หากคณะกรรมการเลือกตั้งเพียงแค่ดำเนินการไปตามสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่หากมุ่งตีความกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อการสืบทอดอำนาจย่อมเป็นการทำลายระบบนิติรัฐอันส่งผลเสียหายต่อระบอบการปกครองของประเทศได้  

สังคมไทยได้ผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายช่วงเวลาของประเทศ การต่อสู้หลายครั้งต้องอาศัยความเสียสละของผู้รักชาติรักประชาธิปไตย มีวีรชนต้องสละชีวิตและเลือดเนื้อไปจำนวนไม่น้อย ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย ความรุนแรงนองเลือดซ้ำรอยอดีตอีก การหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต้องยึดหลักการ 5 ประการ ดังนี้ ประการแรก ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ประการที่สอง ต้องยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม ประการที่สาม ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ประการที่สี่ ต้องยึดหลักภราดรภาพนิยม ความเป็นพี่เป็นน้องของเพื่อนร่วมชาติทั้งมวลประการที่ห้า ต้องยึดหลักสันติธรรม สันติสุขเกิดได้เมื่อมีความเป็นธรรม ระบบยุติธรรมไม่มีหลายมาตรฐานและบุคคลเสมอภาคภายใต้กฎหมาย

โดยมีข้อเสนอและความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองดังนี้

ส่วนแรก ข้อเสนอต่อ กกต.

  1. ข้อแรก กกต. ต้องชี้แจงข้อสงสัยในเรื่องความไม่เรียบร้อยและความไม่โปร่งใสในการจัดการการเลือกตั้ง และ เปิดเผยข้อมูลนับคะแนนรายหน่วย ขอให้เครือข่ายของพรรคการเมืองและองค์กรร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งร่วมกับสถาบันตุลาการในการตรวจสอบการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งว่าได้ดำเนินการจัดการการเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระ เป็นกลางหรือไม่ ขอให้มีการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆในการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมโดยเร็วเพื่อให้การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศและนานาชาติก่อนการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. ศกนี้ ขอเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะทั้งหมด ทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ไปใช้สิทธิ คะแนนโหวต จำนวนบัตรที่พิมพ์ จำนวนบัตรที่ใช้ลงคะแนน ทั้งหมดนี้ ขอให้เปิดเผยเรียงหน่วย แต่ละหน่วยต้องเอาตัวเลขนี้ออกมาให้ทางภาคประชาชนและพรรคการเมืองเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ ต้องชี้แจงคะแนนเลือกตั้งที่สูงกว่าจำนวนประชาชนผู้ไปใช้สิทธิในหน่วยต่างๆ นอกจากยังมีบัตรเสียมากอย่างผิดปรกติที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดข้อสงสัยว่าเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและเป็นการแข่งขันอย่างเสรีอย่างแท้จริงหรือไม่ ภาวะดังกล่าวจะนำมาสู่ความเสี่ยงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคต หากพรรคการเมืองพรรคใดมีส่วนร่วมในการทุจริตการเลือกตั้งดังกล่าวต้องมีการดำเนินการลงโทษตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นหรือมีการบังคับใช้กฎหมายแบบหลายมาตรฐาน
  2. ขอให้ ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ช่วยกันติดตามการทำงานของ กกต. ในการแจกใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ว่าดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใสหรือไม่ หากมีการเลือกตั้งซ่อม คะแนนเดิมของผู้สมัครทุกคนในเขตที่มีการเลือกตั้งซ่อมจะถูกยกเลิกทั้งหมดและต้องนำเอาคะแนนใหม่จากการเลือกตั้งซ่อมมาคำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีใหม่ซึ่งอาจทำให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเพิ่มขึ้นหรือลดลง การดำเนินการดังกล่าวของ กกต. จึงต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และซื่อตรง ต้องไม่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมือง หรือ มีการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไม่ชอบธรรม
  3. เสนอให้ กกต. มีการนำเอาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเลคทรอนิกส์และระบบ Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นเพื่อความโปร่งใสและประสิทธิภาพในระบบเลือกตั้งของไทย

ข้อสี่ ขอให้ กกต. ไปศึกษาถึงวิธีการจัดการเลือกตั้งของอินเดียที่มีผู้ใช้สิทธิ 900 ล้านเสียงและสามารถสรุปผลคะแนนเลือกตั้งได้ภายใน 3 วัน นอกจากนี้อินเดียยังให้พรรคการเมืองและผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการนับคะแนนอย่างเต็มที่ เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง

ส่วนที่สอง ข้อเสนอต่อ คสช.

  1. ข้อแรก ขอให้ คสช. หยุดดำเนินคดีและยัดข้อหาต่างๆกับนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามหรือนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หรือ ปิดกั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนและนักวิชาการ
  2. ขอให้ คสช. หยุดใช้มาตรา 44 และทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการเอื้อผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนธุรกิจต่างๆบนต้นทุนของประเทศ ประชาชนผู้เสียภาษีและความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์ การแก้ปัญหาต่างๆในระยะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลควรใช้กลไกกฎหมายในระบบ การดำเนินการใดๆที่เป็นเรื่องสำคัญควรรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ และ คสช. ต้องไม่ใช้อำนาจจากมาตรา 44 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง 
  3. ขอให้ คสช. หยุดยั้งและทบทวนแผนการในการสืบทอดอำนาจและคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องไม่ทำให้ การเลือกตั้ง เป็นเพียงแค่พิธีกรรมหรือกลไกในการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นช่องทางและกลไกในการสะท้อนความต้องการของประชาชน และ เป็นทางออกอย่างสันติของบ้านเมือง

ส่วนที่สาม ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและสังคมไทย

  1. ขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคว่ำบาตร พรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนและไม่ทำตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 เพื่อให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในความหมายที่ว่าได้รับเสียงสนับสนุนที่เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดของประชาชน พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สามารถบริหารประเทศไปได้อย่างมีเสถียรภาพอันก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับพี่น้องประชาชน 
  2. ขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การใช้คดีความ อำนาจเงินและผลประโยชน์ในการชักจูงหรือบังคับให้เกิด “งูเห่า” ขึ้นในระบบพรรคการเมืองอันเป็นการกระทำที่สวนทางกับการปฏิรูปการเมืองและทำลายระบบสถาบันพรรคการเมือง
  3. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย พรรคการเมืองต่างๆ ต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลตามเงื่อนไขและกลไกประชาธิปไตยก่อน  พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนต้องผนึกกำลังเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้โดยไม่ชักช้า
  4. ร่วมกันหยุดยั้งการกระทำใดๆ ที่มุ่งทำลายคู่แข่งทางการเมืองด้วยการสร้างความเกลียดชังโดยใช้การบิดเบือนข้อมูล และใช้ความเท็จในการใส่ร้ายป้ายสีและดึงสถาบันหลักของชาติมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างเพื่อนร่วมชาติที่เพียงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น  
  5. องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น แม้นจะถูกแต่งตั้งโดย คสช. แต่ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระ เป็นกลางและตรงไปตรงมา และ พัฒนากลไกในการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น
  6. เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดและความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดย คสช. จะต้องไม่ทำอะไรก็ตามที่สวนทางกับความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรีควรเป็นการตัดสินใจของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  
  7. การรักษาพื้นที่สันติภาพ การไม่ปิดกั้นเสรีภาพและเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน มีความสำคัญมากต่อสังคมไทย ผู้ที่มีโอกาสที่จะใช้กำลังรุนแรงได้ คือ ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐจึงต้องมีสติในการใช้อำนาจและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การใช้ความรุนแรงหรือใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้เห็นต่างหรือคู่แข่งทางการเมือง จะยิ่งทำให้ความรุนแรงขยายวงและยืดเยื้อยาวนาน

ข้อเสนอต่อข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ

การที่ผู้แทนจากสถานทูตต่างๆและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการดำเนินคดีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ก็ดี เป็นการส่งสัญญาณถึงจุดยืนของผู้แทนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีว่า ต้องการเห็นประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและเป็นประเทศที่ปกครองโดยหลักนิติรัฐและมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากล กระทรวงการต่างประเทศไม่จำเป็นต้องไปแสดงท่าทีใดๆว่า กลุ่มคนเหล่านี้แทรกแซงกิจการภายในประเทศ การกระทำเช่นนั้นเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจจะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net