Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โพสต์ย้ำ 5 ปีที่ล่วงเลยกับคำถามว่า 'บิลลี่' นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หายไปไหน ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปรามการทรมานและอุ้มหาย ย้ำวันนี้ควรเป็นอีกวันที่เตือนให้รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลใหม่ ตระหนักถึงพันธกรณีของตนในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน

17 เม.ย.2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยแพร่รายงานในวาระครบรอบห้าปีการหายตัวไปของ บิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากนั้นก็ไม่มีผู้พบเห็นเขาอีกเลย ก่อนที่จะหายตัวไป บิลลี่เป็นนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง เขากำลังร่วมมือกับชาวบ้านคนอื่นและนักเคลื่อนไหวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านระหว่างปี 2553 และ 2554

หลังจากบิลลี่หายตัวไป พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่สวนการหายตัวไปของบิลลี่ แต่ต่อมาศาลยกคำร้อง โดยระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ จากนั้นมึนอได้ยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เข้ามาตรวจสอบคดีนี้เป็นคดีพิเศษ จนกระทั่งปี 2561 ดีเอสไอได้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ และเริ่มสอบสวนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561

แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในวาระครบรอบการหายตัวไปของบิลลี่ เน้นให้เห็นถึงภัยคุกคามร้ายแรงที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ ทั้งยังเผยให้เห็นความล้มเหลวของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย วันนี้ควรเป็นวันที่เตือนให้รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลใหม่ ตระหนักถึงพันธกรณีของตนในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยหากจำเป็น รัฐต้องให้ความคุ้มครองเป็นการเฉพาะและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญกับการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ เพียงเพราะพวกเขาต้องการให้ประเทศนี้เท่าเทียมและเป็นธรรมขึ้นเท่านั้นเอง

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้การประกันว่า จะดำเนินการสอบสวนคดีบิลลี่อย่างเป็นอิสระ ไม่ลำเอียงและรอบด้าน โดยต้องนำไปสู่การเยียวยาครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบทุกคนอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษด้วย

รัฐบาลใหม่ยังควรกำหนดให้การผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังมีการแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ..รัฐบาลใหม่ยังต้องปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่จะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายของบุคคลโดยการบังคับและโดยไม่สมัครใจ ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว

ท้ายนี้รัฐบาลต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายซึ่งยังคงอนุญาตให้มีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งการควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหา หรือนำตัวมาไต่สวนในศาล” แคทเธอรีน กล่าวทิ้งท้าย

พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่โพสต์ในเฟซบุ๊กระบุว่า ในวันสงกรานต์คนส่วนใหญ่คงสนุกสนานกัน แต่ครอบครัวของเธอยังคงรู้สึกเศร้า มีสนุกได้บ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ผ่านมาชีวิตมีครบทุกรูปแบบ แต่อย่างไรเสียเธอยังหวังและรอคอยความยุติธรรมให้กับบิลลี่และครอบครัว

“ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ขอเพียงเราทุกคน แม้ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ หรือจะมียศมีตำแหน่งอะไร หันหน้าเข้ามาคุยเจรจากัน อย่าดีแต่คอยจ้องจับผิดชาวบ้าน และให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายบุคคลสูญหายให้ผ่านไวๆ ใช้อย่างเคร่งครัด รวมถึงคุ้มครองบุคคลที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ครอบคลุมให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทยและทั่วโลก” ข้อความสุดท้ายในจดหมายที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กของเธอ

นอกจากแอมเนสตี้ฯ แล้ว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก็เขียนถึง 5 ปีการหายตัวไปของบิลลี่ เช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

5 ปีที่ล่วงเลยกับคำถามว่าบิลลี่หายไปไหน 

วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ช่วงเย็นๆ บิลลี่เดินทางออกมาจากบ้านบางกลอย หลังจากกลับจากเยี่ยมแม่ และมีข้อมูลว่าเขาจะนำฎีการ้องทุกข์ของชาวกะเหรี่ยงไปยื่น แต่เมื่อรถจักรยานยนต์ของเขาเคลื่อนผ่านด่านเขามะเร็ว ซึ่งเป็นด่านตรวจของอุทยานและเป็นเหมือนประตูของการเข้าออกหมู่บ้านบางกลอย บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเรียกให้หยุดและถูกควบคุมตัว โดยอ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองเป็นจำนวน 6 ขวด ซึ่งการครอบครองน้ำผึ้งป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงควบคุมตัวบิลลี่ไว้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เจอตัวบิลลี่อีกเลย แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่

เช้าของวันที่ 18 เมษายน 2557 บิลลี่ยังไม่กลับบ้าน มุนอ ภรรยาของบิลลี่ จึงเดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอยของบิลลี่แต่อย่างใด

หลังจากนั้นไม่นาน องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลชุมชน และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ก็ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ช่วยดำเนินการร้องเรียนหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การยื่นหนังสือต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการหายตัวไปของบิลลี่ และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้มาตรการทางศาลเพื่อให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ควบคุมตัวบิลลี่ไว้

โดยวันที่ 24 เมษายน 2557 มุนอ หรือ นางสาวพิณนภา รักจงเจริญ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางไปยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยความเชื่อว่าศาลจะช่วยให้ทราบได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน หากเจ้าหน้าที่อุทยานฯยังควบคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา แต่ก็น่าผิดหวัง เพราะทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาต่างยกคำร้องเนื่องจากศาลเห็นว่าคำร้องไม่มีมูล โดยมีประเด็น และข้อเท็จจริง ดังนี้

เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัว บิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียก ชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ มาไต่สวนโดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก โดยพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ มุนอ และ กระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่าชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวบิลลี่ไว้หรือไม่ ส่วนนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของบิลลี่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าชัยวัฒน์ กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล จึงพิพากษายกคำร้อง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่บิลลี่หายไป ภรรยาของบิลลี่และองค์กรต่างๆ ต่างก็พยายามเดินหน้าแสวงหาความจริงและความเป็นธรรอย่างต่อเนื่อง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พึงมีมติรับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินงานเพื่อสืบทราบความจริงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อย่างไรก็ดี เวลาระยะเวลาผ่านพ้นมาถึง 5 ปีแล้ว การค้นหาพยานหลักฐานก็อาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก คดีนี้จึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นกรณีแรกที่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้หรือไม่

บิลลี่คือใคร?

พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เกิดที่บางกลอยบน หรือ ใจแผ่นดิน เป็นหลานชายของปู่คออี้ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวบ้านบางกลอย บิลลี่ได้แต่งงานกับนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มุนอ และมีบุตรด้วยกัน 5 คน บิลลี่ไม่มีที่ดินทำกินภายหลังจากที่ถูกบังคับอพยพออกมาจากพื้นที่ดั้งเดิม จึงต้องออกไปรับจ้างเฝ้าสวน ส่วนภรรยามีอาชีพรับจ้างรายวันทั่วไป แต่เนื่องจากบิลลี่เป็นเด็กชาติพันธุ์เพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจึงมีความรู้ และสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างชัดเจน เขาจึงมีส่วนสำคัญในการทำงานในด้านต่างที่ได้รับมอบหมายจากปู่คออี้ รวมถึงการเข้ามาทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องชุมชนที่ตนเองเกิด และอยู่อาศัยด้วย จนกระทั่งมีเหตุการณ์การรื้อเผาบ้านชาวกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบน บิลลี่ก็ได้เข้ามาเป็นพยานปากสำคัญ และผู้ประสานงานให้กับทนายความในคดีดังกล่าวอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net