ข้อเสนอการปรับยุทธศาสตร์ และข้อเสนอกลยุทธ์เชิงรุกของฝ่ายประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้มุ่งแสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ของผู้เขียน ซึ่งมีความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองภาคประชาชน ที่ดำเนินภารกิจไปโดยฝ่ายประชาธิปไตย เช่น กลุ่มนิสิต กลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มประชาชนอื่น ๆ เป็นต้น ด้วยการวิเคราะห์ผ่านแนวคิดการวางยุทธศาสตร์ (Strategy) การรณรงค์ (Campaign) และกลยุทธ์ (Tactic) ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์เรื่องราวด้วยการสังเกตของตนจากภารกิจต่าง ๆ ของฝ่ายประชาธิปไตย โดยผู้เขียนหวังว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะมีจิตใจกว้างขวาง อดทนอดกลั้นต่อการวิเคราะห์ของข้าพเจ้า ที่เขียนมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินภารกิจของฝ่ายประชาธิปไตยด้วยความหวังดี ในบริบทปัจจุบันที่ผู้เขียนเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความต้องการเห็นสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ในบทความนี้ ก่อนอื่นข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และการทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์เสียก่อน ยุทธศาสตร์เป็นการตั้งเป้าหมายในภาพรวมที่สำคัญที่สุด ซึ่งส่งผลต่อผลลัพธ์ (Outcome) ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากฝ่ายประชาธิปไตยกำหนดยุทธศาสตร์ได้เหนือกว่า โดยฝ่ายประชาธิปไตยมีความรู้เกี่ยวกับฝ่ายตน และมีความรู้เกี่ยวกับฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตย ฝ่ายที่กำหนดยุทธศาสตร์ได้เหนือกว่าย่อมมีผลลัพธ์การดำเนินภารกิจที่เหนือกว่าฝ่ายที่กำหนดยุทธศาสตร์ได้ด้อยกว่า การจะออกแบบยุทธศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้จากการสังเกตเพียงผิวเผิน แต่ต้องมาจากการคิดวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลอย่างมีฐานคิด โดยเนื้อหาในขั้นต่อไป จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

  1. ข้อเสนอการปรับยุทธศาสตร์
     
  2. ข้อเสนอกลยุทธ์เชิงรุกของฝ่ายประชาธิปไตย
     
  3. กล่าวปิดท้าย

1. ข้อเสนอการปรับยุทธศาสตร์

ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงภาพรวมของยุทธศาสตร์ฝ่ายประชาธิปไตยเสียก่อน นับตั้งแต่เหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้เกิดกลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยมากมาย ที่มีฐานอัตรากำลังมาจากกลุ่มนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และประชาชนร่วมกัน ซึ่งได้ทำการต่อต้านการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตยเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้กลุ่มนักเคลื่อนไหวจะมีการดำเนินภารกิจในลักษณะของการรณรงค์ต่าง ๆ อย่างเป็นที่ประจักษ์บ่อยครั้ง แต่มักเป็นภารกิจการณรงค์เชิงรับ (Defensive) เสียส่วนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีในการมุ่งถืออำนาจนำเหนือฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการไม่ได้กำหนดปัจจัยแห่งชัยชนะให้ชัดเจน และเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันในฝ่ายตน จึงไม่อาจมุ่งเน้นภารกิจเชิงรุก (Offensive) ให้ฝ่ายตนกุมอำนาจนำได้ นอกจากนี้ การรวมตัวจัดตั้งกันขึ้นมาเป็นกลุ่มของฝ่ายประชาธิปไตย มักเป็นการจัดตั้งมาเป็นกลุ่มที่มีระยะเวลาสั้น เหมาะแก่การดำเนินภารกิจรณรงค์แบบเฉพาะกิจ พอจบภารกิจเฉพาะกิจ สมาชิกก็มักแยกย้ายกันไปจนกว่าจะถึงภารกิจเฉพาะกิจครั้งหน้า ซึ่งสามารถสร้างแนวร่วมกับมวลชนได้แค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถคาดคะเนอัตรากำลังขั้นต่ำของฝ่ายตนได้ยาก เพราะถึงแม้จะมีภารกิจเฉพาะกิจครั้งหน้า ก็ไม่ได้รับประกันว่าอัตรากำลังจากภารกิจเฉพาะกิจก่อนหน้า จะกลับมาร่วมในภารกิจเฉพาะกิจครั้งหน้านี้ขั้นต่ำที่สุดกี่คน

การกำหนดปัจจัยแห่งชัยชนะนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทราบได้ก็ต้องมีการระบุยุทธศาสตร์เสียก่อน โดยทางฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องทราบให้แน่ชัดก่อนว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดของฝ่ายตน เพื่อที่จะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่ทางกลุ่มจะมุ่งดำเนินภารกิจให้เป็นไป และวางโครงสร้างการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ได้ โดยข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในฝ่ายประชาธิปไตยว่า กลุ่มในฝ่ายประชาธิปไตยเลือกกำหนดยุทธศาสตร์ว่า “ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบเต็มใบ” และกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “กลุ่มจะมุ่งส่งเสริมประชาธิปไตย” และมีภารกิจหลักว่า “ร่วมมือกับประชาชนพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย” ซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูง ข้าพเจ้าจะขอเสนอแนะทางกลุ่ม ว่าทางกลุ่มควรจะมีการจัดการเชิงกลยุทธ์ เพื่อจะได้เลือกปรับยุทธศาสตร์ที่แต่เดิมมีความเป็นนามธรรมสูง ให้มีการดำเนินภารกิจตามวิสัยทัศน์ และเป็นไปตามหลักภารกิจหลัก อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

1. วิเคราะห์สถานการณ์ภายนอก
 

1.1 โอกาส (Opportunity) อะไรคือโอกาสที่กลุ่มสามารถใช้เป็นการพัฒนาองค์กรได้ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เป็นข่าว เหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคม หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เป็นที่สนใจของสังคม ทางกลุ่มจะสามารถระดมการสนับสนุนจากประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง สมมติว่ามีเหตุการณ์ที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐเหตุการณ์หนึ่ง ถึงแม้อาจไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มตนเองโดยตรง แต่ความไม่เป็นธรรมดังกล่าว อาจเกิดขึ้นเพราะสังคมขาดบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากภาครัฐ ซึ่งก็เป็นความเกี่ยวข้องทางอ้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของฝ่ายตน หากทางกลุ่มตัดสินใจเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมนี้ ก็จะแสวงหาแนวร่วมสนับสนุนกลุ่มได้เพิ่มจากโอกาสเช่นนี้ เป็นต้น

1.2 ภัยคุกคาม (Threat) อะไรคือสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินภารกิจขององค์กร ยกตัวอย่าง สมมติ เช่น การนำเสนอข่าวโดยสำนักข่าว ที่มีเนื้อหาโจมตีทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือการปลุกระดมประชาชนบางกลุ่มให้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม เพื่อขัดขวางการดำเนินภารกิจขององค์กร เป็นต้น

 

2. วิเคราะห์สถานการภายใน

2.1 จุดแข็ง (Strength) อะไรคือจุดแข็งของกลุ่มบ้าง สมมติ เช่น กลุ่มที่มีเครือข่ายนิสิต และนักศึกษา สามารถติดต่อประสานงานกันได้กว้างขวาง และมีความคล่องตัวในการดำเนินภารกิจสูง หรือกลุ่มที่มีเครือข่ายอาจารย์ สามารถการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกในกลุ่มได้สูง และสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวแก่ประชาชนได้สูง เป็นต้น

2.2 จุดอ่อน (Weakness) อะไรคือจุดอ่อนของกลุ่มบ้าง สมมติ เช่น กลุ่มที่มีเครือข่ายนิสิต และนักศึกษา ถึงแม้จะมีความคล่องตัวสูงในการดำเนินภารกิจ แต่มักจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินภารกิจ เนื่องจากยังคงศึกษาเล่าเรียนอยู่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจจึงอาจมาจากเงินเก็บออมที่ได้รับจากผู้ปกครอง หรืออาจหาเงินมาจากได้ด้วยการขายเสื้อผ้า หนังสือ หรือการรับบริจาคเงิน เป็นต้น ซึ่งก็คงเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงนัก ทำให้ในทางปฏิบัติเคลื่อนไหวทำกิจกรรมได้ลำบาก หรือกลุ่มอาจารย์ที่มีองค์ความรู้สูง แต่กลับไม่มีความคล่องตัวในการดำเนินภารกิจดังกล่าว เนื่องมาจากการทำงานประจำ และอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากการเข้าถึงประชาชนมักต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่ทำกิจกรรม ซึ่งการเข้าใจถึงความต้องการของประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลานานพอสมควร ทำให้เครือข่ายอาจารย์มักมีปัญหาในการเข้าถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ประชาชนต้องการ และอาจคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า เหล่าอาจารย์คือนักวิชาการหอคอยงาช้าง เป็นต้น

เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยมีการทำความเข้าใจถึงหลักยุทธศาสตร์ที่ควรจะถูกปรับ และหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ ดังที่ได้อธิบายข้างต้น โดยทั่วกันแล้ว จึงดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จในการรณรงค์ต่าง ๆ ได้ โดยผู้เขียนขอเสนอกลยุทธ์ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอกลยุทธ์เชิงรุกของฝ่ายประชาธิปไตย

การที่จะถือครองอำนาจนำ ทางฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องใช้กลยุทธ์ที่เป็นเชิงรุกเป็นหลัก โดยข้าพเจ้าจะชี้แจงวัตถุประสงค์ของการใช้กลยุทธ์ทางการเมือง ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์

  1. เน้นการรุกทางการเมืองโดยการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองแก่ประชาชน หลังจากเหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ได้ผ่านพ้นไป ประชาชนได้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงอย่างยิ่งยวดจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากประชาชนได้มีความรู้สึกร่วมกันในการเลือกบุคคลไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ของตนในรัฐสภา ทางกลุ่มต้องใช้โอกาสนี้ ในการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีสำนึกในแผ่นดิน ซึ่งเป็นแผ่นดินที่ตนเองสามารถกำหนดชีวิตตนได้ จะทำให้ประชาชนมีความรักในแผ่นดินของตน และมุ่งหวังพัฒนาแผ่นดินของตนให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อแผ่นดินของตนนั้นจะได้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
     
  2. ขยายการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยเพื่อสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย โดยขยายการมีส่วนร่วมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่ประชาชนจะได้มีกลุ่มที่ทำหน้าที่เรียกร้องผลประโยชน์ของตนมากยิ่งขึ้น ประชาชนในประเทศไทยแบ่งออกหลากหลายกลุ่ม การที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้หลากหลายกลุ่ม ก็ต้องมีจำนวนกลุ่มที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย การขยายการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยจะทำให้ประชาชนสามารถมีทางเลือกในการเข้าร่วมกลุ่มได้หลากหลายมากขึ้น และเลือกเข้ากลุ่มที่ตนเองให้ความสนใจได้อย่างหลากหลาย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยแบบนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ให้ประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของตนเอง ประชาชนก็จะมีความเชื่อถือในประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยแก่ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง การขยายขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยก็จะยิ่งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประชาชนที่มีจิตสำนึกในประชาธิปไตยอย่างยิ่งยวด ก็จะสามารถมาเสริมอัตรากำลังให้กับขบวนการประชาธิปไตยได้ค่อนข้างแน่นอน ยามเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยร้องขอให้เข้าร่วมภารกิจ นอกจากนี้ การขยายการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งกลุ่ม หรือขยายแนวร่วมของฝ่ายไม่ประชาธิปไตยอีกด้วย

เมื่อมีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการใช้กลยุทธ์ทางการเมืองไปแล้ว ในขั้นต่อไป จะมีการอธิบายถึงกลยุทธ์ที่จะเลือกใช้ ดังต่อไปนี้

กลยุทธ์

กลยุทธ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรยึดถือแนวคิดการรุกทางการเมืองเป็นหลักในการดำเนินงาน

1. การให้ความรู้

  1. ควรมีการสร้างองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่เรื่องประชาธิปไตยแก่ประชาชน โดยจะต้องขยายแนวคิดประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าใจตรงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน เพื่อให้ประชาชนมีจิตสำนึกหวงแหนประชาธิปไตยของแผ่นดิน
     
  2. ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นของตนเอง โดยส่งเสริมให้ใช้สิทธิ และเสรีภาพของตนเอง เรียกร้องผลประโยชน์แก่ท้องถิ่นของตน สนับสนุนการกระจายอำนาจ เพื่อให้ประชาชนมีความคุ้นชินกับวิถีประชาธิปไตยในระดับใกล้ตัวอย่างระดับท้องถิ่น อันจะส่งผลให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกประชาธิปไตยได้ง่าย

การให้ความรู้นี้ เครือข่ายนิสิต และนักศึกษา และเครือข่ายอาจารย์ ควรมีการร่วมมือกัน เพื่อเลือกใช้จุดแข็ง และกลบจุดอ่อนที่แต่ละเครือข่ายมี เครือข่ายนิสิต และนักศึกษา สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าเครือข่ายอาจารย์ ก็เหมาะสมที่จะเป็นผู้ทำกิจกรรมลงพื้นที่ ส่วนเครือข่ายอาจารย์สามารถสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ที่จะเผยแพร่แก่ประชาชน และสามารถสนับสนุนเงินทุนให้เครือข่ายนิสิต และนักศึกษา ให้ทำกิจกรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น ในการลงพื้นที่ทำกิจกรรมแทนเครือข่ายของอาจารย์ เครือข่ายอาจารย์จึงเหมาะทำหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเครือข่ายนิสิต และนักศึกษา

2. การปรับแนวคิดของผู้บริหารระดับสูงของขบวนการประชาธิปไตย

  1. ควรมีแนวคิดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และเป็นเอกภาพ เมื่อถ่ายทอดแผนปฏิบัติการลงไปยังกลุ่มระดับย่อยแต่ละกลุ่ม สมาชิกกลุ่มทุกคนมีความเข้าใจโดยทั่วกันถึงวัตถุประสงค์ของปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อจะสามารถปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่คาดหวังมากที่สุด สมมติ เช่น การถ่ายทอดแผนปฏิบัติของสมาชิกเครือข่ายที่เป็นนิสิต หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปยังเครือข่ายที่เป็นนิสิต หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ การถ่ายทอดแผนปฏิบัติการต้องมีความชัดเจน สมาชิกเครือข่ายทั้งสองกลุ่มมีความเข้าใจตรงกัน มีการกำหนดประสิทธิภาพของผลลัพธ์ที่คาดหวังจากแต่ละกลุ่ม หรือการประชุมฝ่ายบริหารระดับสูงแต่ละครั้ง จะมีการกำหนดแนวทางที่กลุ่มจะดำเนินไปอย่างชัดเจน เป็นต้น
     
  2. ควรมีแนวคิดของความเป็นผู้นำสูง โดยมีความเข้มแข็ง และพร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว สมมติ เช่น การแถลงการณ์เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เจออย่างรวดเร็ว หรือสามารถดำเนินภารกิจเชิญชวนประชาชนไปรมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม ตามสิทธิที่มีในรัฐธรรมนูญ อย่างรวดเร็วเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแก่ประชาชน เป็นต้น
     
  3. ควรเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม โดยผู้บริหารระดับสูงควรมีการจัดประชุมบ่อยครั้ง เพื่อหาทางทำกิจกรรมที่แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในสังคม หาแนวทางการทำกิจกรรมใหม่ ๆ เป็นกิจกรรมเชิงรุกที่สามารถเข้าถึงมวลชนได้กว้าง และลึกมากขึ้น

3. การขยายพื้นที่การประชาสัมพันธ์

  1. ชื่นชม และสนับสนุน สื่อมวลชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย
     
  2. ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มมีทักษะในการสร้างข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย
     
  3. ผลิตข้อมูลข่าวสารฝ่ายประชาธิปไตยให้มีจำนวน และความน่าเชื่อถือ ให้มากกว่าข้อมูลข่าวสารฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตย
     
  4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน พยายามเรียกร้องให้สื่อมวลชนสนับสนุนประชาธิปไตย

4. กล่าวปิดท้าย

จากการที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงภาพรวมยุทธศาสตร์ปัจจุบัน และข้อเสนอการปรับยุทธศาสตร์ และข้อเสนอกลยุทธ์เชิงรุกของฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ข้าพเจ้าวิเคราะห์ออกมา และหวังว่าขบวนการประชาธิปไตยจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้ไม่มากก็น้อย โดยใจความสำคัญที่ข้าพเจ้าเสนอนั้น คือ การรุกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเปลี่ยนสภาพของตนที่มักเป็นฝ่ายรับทางการเมือง มาเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นผู้ถืออำนาจนำทางการเมืองได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท