Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในที่สุด กกต. ก็มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความวิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เนื่องจาก กกต.ไม่ทราบว่าจะปัดเศษทศนิยมคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับอย่างไร กล่าวคือ กกต.จะปัดไปให้พรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำได้หรือไม่ หรือถ้าปัดแล้ว พรรคใหญ่จะได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มจากเศษทศนิยมจะทำได้หรือไม่

ผู้เขียน (ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ) มีความเห็นในเชิงวิชาการว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ

ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญ (เหมือนศาลอื่นในประเทศไทย) ไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษา (advisory functions) มีหน้าที่เฉพาะวินิจฉัย ซึ่งหมายถึง การพิจารณาและชี้ขาดตัดสิน (adjudicative functions) เนื่องจากศาลไทยทุกศาลเป็นองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจตุลาการ ไม่ใช่องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดของฝ่ายบริหาร (tribunals) เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา เหตุผลข้อนี้รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 210 (2) ที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจ           ”พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ” ซึ่งความตามมาตรานี้ย่อมหมายถึงการวินิจฉัยว่า กกต.มีหน้าที่ หรืออำนาจในเรื่องที่มีปัญหาหรือไม่ เป็นหลัก

ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนศาลแพ่ง กล่าวคือ จะวินิจฉัยปัญหาได้เมื่อมีกรณีการโต้แย้งสิทธิหรือมีการร้องขอใช้สิทธิทางศาล แต่กรณีที่กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิใด ๆ คือ ยังไม่มีใครฟ้องศาลว่ากกต.กระทำมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างไร และไม่ใช่กรณีที่กกต.จะร้องขอใช้สิทธิฝ่ายเดียวทางศาลรัฐธรรมนูญได้

ประการที่สาม กรณีของกกต.เป็นกรณีของการใช้ดุลพินิจที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 ให้อำนาจไว้อยู่แล้ว กกต.ต้องมีหน้าที่ตีความเอง

ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งใช้ระบบ common law นั้น ศาลสูงได้วางหลักเรื่องการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารไว้ว่า ศาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง และไม่เข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของดุลพินิจ (ตรวจสอบเฉพาะความชอบด้วยกฎหมาย) รวมทั้งไม่เข้าไปตัดสินใจแทน ตัวอย่างเช่น ความเห็นในคำพิพากษาของตุลาการศาลสูง ดังต่อไปนี้

ในคดีระหว่าง Trop กับ Dulles ปี 1958 Frankfurter J. ให้ความเห็นว่า “การใช้อำนาจของตุลาการ ต้องระวังการล่วงล้ำขอบเขตที่เหมาะสม และไม่ใช่จำกัดฝ่ายบริหารจนเกินไป จนฝ่ายบริหารทำอะไรไม่ได้”

ในกระบวนพิจารณาตรวจสอบฝ่ายบริหารของศาล (Judicial Review) ตุลาการศาลสูงให้ความเห็นว่า “ศาลสูงมีบทบาทควบคุมเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการทำตามกฎหมาย  แต่ไม่ใช่ไปตรวจสอบว่าการตัดสินใจของฝ่ายบริหารถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้ทำเช่นนั้นได้”

Mason J. กล่าวไว้ในคดีระหว่าง Minister for Aboriginal Affairs กับ Peko-Wallsend Ltd ปี 1986 ว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะเข้าไปตัดสินใจแทนฝ่ายบริหาร ในการใช้ดุลพินิจที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบให้แก่ฝ่ายบริหาร บทบาทดังกล่าวถูกจำกัดการใช้ดุลพินิจไว้แล้ว และดุลพินิจที่กำหนดไว้ในขอบเขตนั้นไม่สามารถขยายออกได้”

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญไทย มีคำสั่งไม่รับคำร้องทำนองนี้ไว้พิจารณาจำนวนมาก ศาลให้เหตุผลทำนองเดียวกันกับต่างประเทศ ส่วนใหญ่ศาลให้เหตุผลทำนองว่ายังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลจะรับไว้พิจารณา มีกระบวนการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะ หรือเป็นกระบวนการภายในที่หน่วยงานนั้นจะต้องพิจารณาเอง

ส่วนทางออกเรื่องการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์นั้นอยู่ที่ “หลักการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์” ซึ่งระบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ คือ “ระบบ Largest Remainders” ซึ่งเป็นระบบการนับคะแนนสองรอบ

รอบแรก คือ การเอาคะแนนเสียงทั้งประเทศ (นับเฉพาะบัตรดี) ตั้ง แล้วหารด้วย 500 (ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งส.ส.ทั้งหมด)  ซึ่งของไทยคิดออกมาแล้วได้ 71,065 คะแนน พรรคที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์ในระบบนี้ต้องได้คะแนน 71,065 คะแนนเป็นอย่างต่ำ คะแนน 71,065 นี้จึงเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของการได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้โดยสภาพ (หมายความว่า โดยหลักการนับคะแนนของ “ระบบ Largest Remainders” ต้องผ่านเกณฑ์นี้ แม้จะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดเขียนไว้ว่า คะแนน 71,065 เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำก็ตาม)

ส่วนรอบที่สอง เป็นการเอาคะแนน 71,065 ไปกระจายที่นั่งส.ส.ให้กับพรรคการเมือง โดยเอาคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับหารด้วย 71,065 คิดออกมาจะได้ที่นั่งส.ส.ในสภา เช่น คิดแล้ว พรรคพลังประชารัฐได้ 118.6679 (เศษทศนิยมอาจคลาดเคลื่อน) พรรคเพื่อไทยได้ 111.4651 (เศษทศนิยมอาจคลาดเคลื่อน) ส่วนพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ 71,065 ย่อมไม่ได้ที่นั่งส.ส.เลย ถัดมา ก็เอาคะแนนที่คำนวณได้นี้เป็นตัวตั้งหักออกจากจำนวนส.ส.เขต เช่น พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.เขตแล้ว 97 ที่นั่ง (เอาไปหักออกจาก 118.6679)  ก็จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 21 ที่นั่ง

สำหรับกรณีที่เป็นปัญหา คือ คิดทั้งหมดแล้วได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ 150 ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 (6) ให้ใช้วิธีปัดเศษ (ซึ่งกรณีของไทยนี้ คือ เศษทศนิยม) เช่น พรรคพลังประชารัฐ ได้ 118.6679 ก็อาจปัดเศษเป็นปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มอีกหนึ่งคน เป็นต้น

หลักการกระจายที่นั่งส.ส.ให้กับพรรคการเมืองนี้ ต้องถือตาม vote size (ขนาดของคะแนนเสียงเลือกตั้ง) ยิ่งได้ vote size มาก ก็ต้องได้ที่นั่งมาก สำหรับการปัดเศษทศนิยมก็เช่นกัน ต้องปัดจากพรรคที่ผ่านรอบแรก (ผ่านเกณฑ์ 71,065) และมีเศษทศนิยมมากที่สุดก่อนไล่ลงมา

ส่วนว่าเมื่อปัดแล้วจะทำให้พรรคนั้นได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม เช่น พรรคพลังประชารัฐ ปัดเศษแล้ว อาจได้ส.ส.รวม 119 คน ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ขัดกับคำว่า “ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมีตาม (2)” เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นจากการปัดเศษ เพื่อให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์ครบตามเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 (6) ให้อำนาจ

“ระบบ largest remainders” จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ระบบโควตา” (quota system) คำว่า “โควตา” ก็คือคะแนน 71,065 นั่นเอง พรรคที่จะได้โควตาปาร์ตี้ลิสต์จะต้องผ่านเกณฑ์โควตานี้ก่อน สำหรับวิธีคิดโควตามีอยู่ 3 วิธีย่อย คือ

(1) Hare’s Quota ใช้สูตร (เหมือนที่ไทยกำลังใช้อยู่) คือ

คะแนนเสียงทั้งหมด (Total votes)                                   = 1 quota

ที่นั่งทั้งหมด (total seats)

(2) Droop’s quota

คะแนนเสียงทั้งหมด (Total votes)           + 1                   = 1 quota

ที่นั่งทั้งหมด (total seats) + 1

(3) Imperiali’s quota

คะแนนเสียงทั้งหมด (Total votes)                                   = 1 quota

ที่นั่งทั้งหมด (total seats) + 2

การคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ยังมีอีกระบบหนึ่ง คือ “ระบบ highest average system” ระบบนี้ไม่มีโควตา แต่ใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยโดยเอาเลข 1 2 3 ... (เลขจำนวนเต็มเรียงลำดับ) ไปหาร หรือเอา 3 5 7 9... (เลขจำนวนเต็มเฉพาะเลขคี่ แต่ตัวแรกให้เริ่มด้วย 1.4) ไปหาร ซึ่งค่าเฉลี่ยจะแปรผันไปเรื่อย ๆ ตามตัวเลขที่หาร (divisors) เพราะฉะนั้น ระบบหลังจึงไม่มีค่าเฉลี่ยคงที่เหมือนระบบโควตา วิธีเอา 1 2 3...หาร เรียกว่า “d’Hondt system” (ออกเสียงว่า “ด้องท์”) ส่วนวิธีเอา 3 5 7 9 ...หารเรียกว่า “Sainte-Laque syste” (ออกเสียงว่า “เซนต์-ลาเก้”) วิธีหลังนี้ซับซ้อน ไทยเราจึงเลือกวิธีโควตาคงที่ แต่กระนั้น...!!!!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net