Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ พระองค์มีความโน้มเอียงที่จะมีมนุษยธรรม แต่ก็โหดเหี้ยมด้วยนโยบาย 
พระองค์เข้าใจดีว่าพระองค์จะต้องถืออาวุธในมืออยู่เสมอเพื่อให้ประชาชนสยบยอม
และพร้อมที่จะปราบปรามเมื่อเขาไม่หวาดกลัวและต่อต้านพระองค์ “

ข้อความข้างบนคือคำบรรยายบุคลิกภาพของสมเด็จพระนารายณ์ โดยตุรแปง (Francois Henri Turpin) ที่อ้างถึงในหนังสือ “มาคิอาเวลลี การเมืองไทยของเจ้าผู้ปกครอง” ของกานต์ บุณยะกาญจน ซึ่งเป็นงานวิเคราะห์แนวคิดทางการเมืองของชนชั้นนำไทยว่ามีลักษณะสำคัญสอดคล้องกับแนวคิดแบบมาคิอาเวลเลียน (Machiavellian) อันมีที่มาจากงานปรัชญาการเมือง “เจ้าผู้ปกครอง” หรือ “The Prince” ของนิโคโล มาคิอาเวลลี (Nicolo Machiavelli) ไว้อย่างน่าสนใจ

คำบรรยายบุคลิกภาพของสมเด็จพระนารายณ์ของตุรแปง เป็นคำบรรยายจากมุมมองแบบมาคิอาเวลเลียน เพราะสอดคล้องกับข้อความในบทที่ 18 ของหนังสือเจ้าผู้ปกครองตอนหนึ่งว่า

“...จงทำเหมือนเป็นผู้มีเมตตา ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีมนุษยธรรม เคร่งศาสนา ยึดมั่นในความถูกต้องและจงเป็นแบบนั้น แต่ด้วยความคิดที่ตีกรอบเอาไว้ด้วยว่าหากพระองค์จำเป็นที่จะต้องไม่เป็นแบบนั้น พระองค์จะสามารถทำได้และรู้ว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับเป็นตรงข้ามได้อย่างไร” (ไซมอน แบล็กเบิร์น, 20 คำถามสำคัญของปรัชญา, หน้า 173)

กานต์สำรวจหาร่องรอยของแนวคิดทางการเมืองแบบมาคิอาเวลเลียนก่อนการเข้ามาของหนังสือ “The Prince” ของมาคิอาเวลลี ตั้งแต่สมัยอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงการเข้ามาของของหนังสือดังกล่าว ความคิดและบทบาททางการเมืองตามวิธีคิดแบบมาคิอาเวลเลียนของชนชั้นนำสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงการอ้างอิงความคิดดังกล่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษที่ผ่านมา 

กานต์มองว่า บุคลิกภาพของสมเด็จพระนารายณ์ตามคำอธิบายของตุรแปง เป็นวิธีการอธิบายบนฐานคิดแบบมาคิอาเวลเลียนใน The Prince ที่ว่ากษัตริย์ต้องปกครองผู้คนด้วยความหวาดกลัว เพราะความหวาดกลัวคือเครื่องมือในการรักษาอำนาจของกษัตริย์ ไม่เพียงเท่านั้น ภาพลักษณ์ของผู้เคร่งศาสนา รักสันติที่สามารถจะใช้ความโหดเหี้ยมในยามจำเป็นของสมเด็จพระนารายณ์ก็สะท้อนภาพลักษณ์ของ “เจ้าผู้ปกครอง” ที่ควรเป็นในแบบมาคิอาเวลเลียน

นอกจากนี้กานต์ยังอ้างถึงงานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือที่คนไทยเรียก “วันวลิต” ที่อธิบาย “การเมืองอุบายมารยาแบบมาคิอาเวลลีของพระเจ้าปราสาททอง” และบันทึกของบาทหลวงเกี่ยวกับวิธีการขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจของสมเด็จพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ ที่ใช้ทั้งความโหดเหี้ยมและอ้างคุณธรรมทางศาสนาในทำนองเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ และอ้างถึงงานเขียนของพระสารสาสน์พลขันธ์ (เจโรลาโม อีมิลิโอ เยรินี) ที่อธิบายการเปลี่ยนผ่านจากธนบุรีสู่รัตนโกสินทร์ภายใต้คำพังเพย “ตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติสำคัญแบบหนึ่งในการขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจของชนชั้นนำ

แนวคิดแบบมาคิอาเวลเลียนที่ถือว่า เจ้าผู้ปกครองต้องใช้อำนาจเด็ดขาด ความโหดเหี้ยม และคุณธรรมไม่ได้มีเฉพาะยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แม้หลัง 2475 การบริหารอำนาจของชนชั้นนำด้วยการขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่ให้มี “ที่ยืน” ในสังคมยังดำเนินต่อมาผ่านประวัติศาสตร์รัฐประหารที่ทำกันจนเป็นประเพณี 

ตามแนวคิดแบบมาคิอาเวลเลียน ความมั่นคงของสถานะและอำนาจของ “เจ้าผู้ปกครอง” กับความมั่นคงของ “รัฐ” หรือ “ชาติ” ย่อมเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะเจ้าผู้ปกครองก็คือเจ้าของรัฐหรือชาติ ดังนั้นหากจำเป็นที่เจ้าผู้ปกครองจะใช้วิธีการโหดเหี้ยมในบางสถานการณ์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือชาติ นั่นก็ย่อมจำเป็นต้องทำหรือเป็น “คุณธรรม” ของรัฐที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติ ขณะที่ยามปกติผู้ปกครองต้องแสดงให้ผู้ใต้ปกครองเห็นเสมอว่าตนเองดำรงตนอยู่ในคุณธรรมความดีตามหลักคำสอนทางศาสนา

การไม่ใช้ความเด็ดขาดตามคำพังเพย “ตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” อาจเป็นความผิดพลาดมหันต์ของผู้ปกครอง ดังรัฐประหาร 2549 ที่ถูกสะท้อนความผิดพลาดผ่านวาทกรรม “รัฐประหารเสียของ” ดังนั้น รัฐประหาร 2557 จึงต้อง “ไม่เสียของ” ทำให้มีการใช้อำนาจเด็ดขาดต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเข้มข้นมากขึ้น 

แต่การใช้อำนาจเด็ดขาดก็อาจแตกต่างไปตามสถานการณ์ ขณะที่ในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีการจับฝ่ายตรงข้ามเข้าคุกและยิงเป้า แต่ในยุค คสช.เน้นการใช้กฎหมายที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนปิดปาก ไล่ล่า เอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และนี่ก็เป็นข้ออ้างว่าพวกเขา “ไม่ใช่เผด็จการ” เพราะไม่เคยจับใครไปประหารเหมือนในอดีต แต่ต้องการให้ทุกคนเคารพกฎหมายเพื่อความสงบของบ้านเมือง บ้างก็ว่านี่เป็นความเมตตาของ คสช.ที่ต่างจากเผด็จการในอดีตลิบลับ

แต่จากสถิติผู้ถูกดำเนินคดี, ติดคุก และหนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศจำนวนมาก ซ้ำยังมีผู้ลี้ภัยบางกลุ่มถูกอุ้มฆ่าอย่างมองไม่เห็นทางว่าจะสืบสาวไปถึงตัวผู้กระทำได้ กระบวนการทั้งหมดก็คือการสร้าง “ความหวาดกลัว” เพื่อรักษาอำนาจ ยังไม่ต้องพูดถึงอุบายพลิกแพลงต่างๆ ที่แสดงออกมาเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ การวางระบบและกลไกการเลือกตั้งเอาเปรียบคู่แข่งเพื่อสืบทอดอำนาจ การใช้กฎหมายไล่ล่าเอาผิดพรรคการเมืองคู่แข่งและอื่นๆ ซึ่งสะท้อนแนวคิดในการขึ้นมามีอำนาจ การรักษาอำนาจแบบมาคิอาเวลเลียนอย่างชัดเจน

ในบทสุดท้าย กานต์อ้างถึงข้อพิจารณาการเมืองไทยกับศาสนาของ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน (Peter A. Jackson) ว่า

“โดยทั่วไปแล้วในรัฐสมัยใหม่ ศาสนาและการเมืองจะถูกแยกออกจากกัน แต่อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎีการแยกศาสนาออกจากคำสอนทางการเมืองไทยเป็นไปได้ยาก และมีปัญหาอย่างยิ่งที่จะทำให้มีเส้นแบ่งชัดเจน ดังนั้นการละเลยคำสอนทางศาสนาในฐานะคำสอนทางการเมือง ก็มีโอกาสอย่างยิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจความคิดทางการเมืองอย่างผิดๆ”

ในความคิดของแจ็กสัน ถ้าละเลยคำสอนทางการเมืองของศาสนาเราจะไม่เข้าใจความคิดทางการเมืองของไทยตามเป็นจริง ขณะที่กานต์ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกับมาคิอาเวลเลียนน่าจะมีอยู่แล้วในสังคมไทยก่อนการเข้ามาของหนังสือ The Prince ของมาคิอาเวลลี คือมีอยู่ในคำสอนพุทธศาสนา ชาดกต่างๆ และราชนิติ อรรถศาสตร์ของศาสนาพราหมณ์ เมื่อ The Prince เข้ามาเผยแพร่ในไทยก็ไม่ปรากฏว่าพระสงฆ์และชาวพุทธต่อต้าน มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็นำไปใช้ศึกษาอย่างปกติเหมือนกับว่าพุทธศาสนาไทยคุ้นเคยกับแนวคิดแบบมาคิอาเวลเลียนอยู่ก่อนแล้ว ต่างจากศาสนจักรคริสต์ที่เคยต่อต้านแนวคิดมาคิอาเวลเลียนในยุคแรกๆ ที่มาคิอาเวลลีเผยแพร่หนังสือเจ้าผู้ปกครอง

อันที่จริงสุลักษ์ ศิวรักษ์ก็เคยเปรียบเทียบว่า ความคิดทางการเมืองใน “เจ้าผู้ปกครอง” นั้นใกล้เคียงกับคัมภีร์อรรถศาสตร์ที่สอนว่า “พระราชาต้องแสดงตนเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมแก่ราษฎร เพื่อสร้างศรัทธาเชื่อถือ แต่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องรักษาอำนาจ ย่อมพร้อมที่จะประหารแม้แต่โอรสหรืออนุชา ตลอดถึงบิดาหรือปิตุลา ถ้าบุคคลนั้นๆ ขัดขวางพระราชประสงค์” (ส. ศิวรักษ์, ความเข้าใจเรื่องสันธูธรรม, หน้า 37) 

ใน “ภควัตคีตา” นั้นสอนด้วยซ้ำว่า การทำสงครามที่ต้องประหัตประหารญาติมิตรของตนเองนั้นถือเป็น “ธรรม” หรือ “หน้าที่” ของผู้ปกครองในการรักษาบ้านเมือง และการฆ่านั้นก็ไม่ได้มีความหมายเป็นการฆ่าเพราะลูกธนูที่ยิงออกไปปักอกของข้าศึกนั้นเป็นเพียง “วัตถุ ก.ชำแรกเข้าไปในวัตถุ ข.” แปลว่าลูกธนูกับร่างกายศัตรูเป็นเพียงสสาร ตัวตนที่แท้จริงของศัตรูคือ “อัตตา” หรือ “อาตมัน” นั้นมีธรรมชาติเป็นอมตะที่ไม่อาจถูกทำลายได้ นี่เป็นเรื่องที่ศาสนาเล่นแร่แปรธาตุกับชีวิตมนุษย์ทำให้คนเชื่อได้ว่า การฆ่า (ในสถานการณ์จำเป็นบางอย่าง)ไม่ได้มีความหมายเป็นการฆ่าเลยแม้แต่นิดเดียว

หากพิจารณาจากไตรปิฎกและอรรถกถาจะพบว่า พุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับ “เจ้าผู้ปกครอง” ที่สวมอาภรณ์คุณธรรมและใช้อำนาจเด็ดขาดที่อาจจะโหดเหี้ยมในบางสถานการณ์และใช้คุณธรรมในบางสถานการณ์ เช่นพระเจ้าอชาตศัตรูที่ยึดอำนาจพ่อและจับไปขังคุกทรมานจนตายก็ได้รับการสนับสนุนจากนักบวชในพุทธศาสนาคือ “เทวทัต” ขณะที่พุทธะและสาวกเพียงแต่ประกาศให้ชาวเมืองราชคฤห์รับรู้ว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆ ของเทวทัต” เท่านั้น 

ต่อมาเมื่ออชาตศัตรูหันมานับถือพุทธะและอุปถัมภ์การสังคายนาธรรมวินัยครั้งที่ 1 พระสงฆ์ก็ยกย่องในคุณงามความดีของกษัตริย์ผู้นี้ คล้ายกับที่พระเจ้าอโศกมหาราชกลายเป็นจักรพรรดิธรรมราชาผู้ยิ่งใหญ่ เพราะหันมาอุปถัมภ์และสนับสนุนการเผยแผ่พุทธศาสนา พระสงฆ์และชาวพุทธก็ไม่ได้วิพากษ์การขึ้นสู่อำนาจของอโศกที่ใช้ความโหดเหี้ยมฆ่าญาติๆ ของตนเองและทำสงครามจนมีคนตายเป็นแสนๆ แต่อย่างใด

ในการเสนอแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” ของปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านก็ยกตัวอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชในฐานะผู้ปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการโดยธรรมว่า ทรงใช้อำนาจเด็ดขาด ฉับไวเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ หากจำเป็นต้องประหารชีวิตคนหรือแม้แต่พระสงฆ์ที่ทำผิดก็ต้องประหาร 

ในสังคมไทยปัจจุบัน ความเป็นมาคิอาเวลเลียนหากจำกัดอยู่เฉพาะในแนวคิดทางการเมืองของชนชั้นนำเท่านั้นก็คงไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างประสบผลสำเร็จ ถ้าหากว่าคนทั่วไปไม่ได้มีความเป็นมาคิอาเวลเลียนผ่านการซึมซับคำสอนทางการเมืองของศาสนาอยู่ด้วย นึกถึงภาพมวลชนชุมนุมทางการเมืองที่ใช้วาทกรรม “ธรรมนำหน้า” คู่กับการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ชูผู้ปกครองที่เป็น “คนดี” จะเห็นว่าการอ้างคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้มาตั้งคำถามต่อนักการเมืองนั้นเป็น “วาระสำคัญสูงสุด” ในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลจากเลือกตั้งเลยทีเดียว แต่หลังจากเกิดรัฐประหารแล้ว กลับไม่มีการนำข้ออ้างดังกล่าวมาตั้งคำถามต่อผู้ปกครองที่ได้อำนาจมาจากรัฐประหารอีกต่อไป

สำหรับกลุ่มชนชั้นนำที่ทำรัฐประหารรวมทั้งกลุ่มบุคคลที่เข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาลจากรัฐประหาร และที่รัฐบาลจากรัฐประหารแต่งตั้งให้ช่วยงานด้านต่างๆ นั้น ย่อมถือว่าเป็น “คนดี” ที่เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองโดยปริยาย เพราะเมื่อทำรัฐประหารสำเร็จแล้วแทบไม่เคยปรากฏมีการตั้งคำถามว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นคนดีหรือไม่ดี ต่างจากทุกครั้งที่มีเลือกตั้งที่ต้องมีการณรณรงค์ให้เลือก “คนดี” เสมอๆ แปลว่ากลุ่มคนที่ทำรัฐประหารและแนวร่วมต้องเป็นคนดีโดยไม่ต้องสงสัย ส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกของประชาชนต้องสงสัยไว้ก่อนเสมอว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ 

จากประสบการณ์ตรงในการสนทนา ในเวทีเสวนาวิชาการและอื่นๆ ผมพบว่าพระสงฆ์และชาวพุทธบ้านเรารู้สึกดีใจหรือภูมิใจเมื่อเห็นนักวิชาการต่างชาติหรือนักวิชาการไทยตีความว่า หลักคำสอนพุทธศาสนาสอดคล้องหรือสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ครั้นมีผู้เสนอว่า “ควรแยกศาสนาจากรัฐ” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่รัฐสมัยใหม่ต้องแยกศาสนาจากการเมือง รัฐเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น ไม่อุปถัมภ์หรือให้อำนาจทางกฎหมายแก่องค์ศาสนาใดๆ ไปใช้ปกป้องความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล พระสงฆ์และชาวพุทธก็มักแย้งว่านั่นเป็น “ความคิดตะวันตก” ไม่เหมาะกับไทย 

ความย้อนแย้งดังกล่าวสะท้อนความเป็นมาคิอาเวลเลียนแบบไม่รู้ตัวหรือไม่ เพราะเวลาใครบอกว่าคำสอนพุทธศาสนานับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลับดีใจ เพราะรู้สึกว่าทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาดูทันสมัย ก้าวหน้า แต่เวลาใครนำหลักการกระชาธิปไตยและแนวคิดโลกวิสัย (secularism) มาตั้งคำถาม วิจารณ์ เพื่อเสนอให้ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้จริง กลับปฏิเสธว่านั่นเป็นตะวันตกไม่ใช่ไทย

หากคิดอย่างจริงจังแล้ว ความเป็นมาคิอาเวลเลียนของพุทธไทย คงไม่ใช่แค่พูดกันอย่างง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้นกระมัง อาจมาจากตัวคำสอนของพุทธผสมพราหมณ์เองที่มีเนื้อหาแบบที่ชนชั้นปกครองหยิบไปใช้ได้สะดวก หรือตัวคำสอนในคัมภีร์และบทบาทของคณะสงฆ์ของรัฐต่างหากที่มีส่วนสำคัญในการสถาปนาเจ้าผู้ปกครองในรัฐพุทธศาสนาที่มีลักษณะแบบมาคิอาเวลเลียนขึ้นมาเอง และยังเป็นเช่นนั้นสืบมาจนปัจจุบัน เพียงแต่อาจปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป 

แต่สาระสำคัญของแนวคิดการขึ้นสู่อำนาจ การรักษาอำนาจ การนิยามความมั่นคงของสถานะและอำนาจของผู้ปกครองเท่ากับความมั่นคงของชาติ การใช้อำนาจเด็ดขาด การสร้างความหวาดกลัว ควบคู่กับการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนดีหรือหรือเป็นผู้ที่เปี่ยมล้นคุณธรรม เสียสละเพื่อชาติ รักความสงบ และมีเมตตา ก็ยังคงอยู่และถูกปรับใช้ตามสถานการณ์ซึ่งมักขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ศัตรูของ “ความมั่นคง” แห่งสถานะและอำนาจของชนชั้นนำในเครือข่ายมาคิอาเวลเลียนก็คือ นักการเมือง ปัญญาชน นักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย คนเหล่านี้ถูกกระทำให้อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและถูกขจัดทิ้งมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปรีดี พนมยงค์เป็นต้นมา คนแล้วคนเล่าจนกระทั่งปัจจุบัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net