Skip to main content
sharethis

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ข้อเสนอ 'ไพบูลย์' เปิดช่อง 250 ส.ว.ร่วมโหวต กม.งบประมาณได้ โดยอ้าง ม.270 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะมาตราดังกล่าวอยู่ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่วุฒิสภาเป็นการ "เฉพาะเรื่อง" แถมไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หากตีความเช่นนี้ต่อไปการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติจะมาใช้และอ้างอิง ม.270 เพียงมาตราเดียวเท่านั้นอันถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง ส่งผลเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติ ขยายอำนาจให้แก่วุฒิสภา

18 เม.ย.2562 จากกรณีข้อกังวลเรื่องการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะต้องเผชิญปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะพิจารณาผ่านกฎหมายต่างๆ รวมทั้งการพิจารณากฎหมายงบประมาณแผ่นดิน หากได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไม่มาก เสียงเพียงปริ่มน้ำนั้น เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา จากกรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ออกมาเสนอแก้ปัญหาข้อกังวลเรื่องดังกล่าวว่า การผ่านกฎหมายงบประมาณแผ่นดินนั้น เป็นกฎหมายที่สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.270 ได้ โดยใช้การพิจารณากฏหมายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พร้อมแสดงความมั่นใจว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีเสียง ส.ส และส.ว. สนับสนุนในรัฐสภา มากกว่า 500 เสียง ทำให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินไปได้ด้วยความมั่นคงได้ 

ต่อมา ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ค 'Pornson Liengboonlertchai' ถึงข้อของ ไพบูลย์ ว่า ข้อเสนอที่ให้ใช้ ม.270 ของรัฐธรรมนูญมาเป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการออกกฎหมายต่างๆ ทั้งนี้เพราะเรื่องเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลในอนาคต หากพิจารณาตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเป็นเรื่องไม่พึงเสนอให้กระทำและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง 3 ประการด้วยกันคือ

1. ม.270 อยู่ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่วุฒิสภาเป็นการ "เฉพาะเรื่อง" กล่าวคือ วุฒิสภามีอำนาจร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ไม่ใช่การตราตัวบทกฎหมายทั่วๆ ไป

2. การอาศัย ม.270 เป็นฐานอำนาจในการออกกฎหมายคือการตีความให้กฎหมายทุกฉบับเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศทั้งหมด การตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด ขัดแย้งต่อ "เหตุผลของเรื่อง" (Nature of things) ที่ใช้กำกับในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย กล่าวคือ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ม.270 เอง กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากตีความเช่นนี้ ต่อไปการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติจะมาใช้และอ้างอิง ม.270 เพียงมาตราเดียวเท่านั้นอันถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง

3. การตีความเช่นนี้ส่งผลเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตามหลักวิชาอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความอันมีลักษณะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยพฤตินัย (De Facto Constitutional Amendment) เพราะเป็นการขยายอำนาจให้แก่วุฒิสภาในการตรากฎหมายอย่างชัดแจ้ง ส่งผลกระทบต่อการใช้และความสัมพันธ์ในทางอำนาจระหว่างองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วยกันอีกด้วย อันอาจส่งผลกระทบและความเสียหายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

"เราพึงต้องตระหนักด้วยว่าปัญหาหนึ่งของวิกฤติระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาคือ การ (พยายาม) ตีความ หรือบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่แท้จริง (Constitutional fidelity) ดังนั้น จึงพึงหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมอีกครับ" ผศ.ดร.พรสันต์ โพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net