Skip to main content
sharethis

ดัชนีเสรีภาพสื่อจากองค์กรสื่อไร้พรมแดนประจำปี 2562 ระบุ โลกนี้อันตรายกับสื่อมวลชนขึ้นเรื่อยๆ จากการถูกข่มขู่ เป็นแพะรับบาป ทัศนคติของผู้นำการเมืองและการเล่นงานทางกฎหมายที่ทำให้นักข่าวทำงานไม่สะดวก เสี่ยงถูกทำร้ายและเสียชีวิต สำหรับไทย อันดับดีขึ้น รั้งอันดับ 136 จากทั้งหมด 180 แต่ยังอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาระดับรองสุดท้าย

ภาพแผนที่ดัชนีเสรีภาพสื่อปี 2562 โดย RSF

18 เม.ย. 2562 องค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) องค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อในระดับสากล เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2562 จัดอันดับเสรีภาพสื่อและการทำงานอย่างปลอดภัยของสื่อมวลชนในกลุ่มสำรวจ 180 ประเทศทั่วโลก โดยสรุปรวบยอดว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา ที่ทำการสำรวจ พบว่ามีความเกลียดชังสื่อมวลชนมากขึ้นในระดับที่ก่อให้เกิดความรุนแรง จำนวนประเทศที่สื่อมวลชนทำงานอย่างปลอดภัยลดน้อยลง

รายงานระบุว่า ทัศนคติของผู้นำทางการเมืองที่มีต่อสื่อมีผลกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อคนทำงานด้านสื่อ กลายเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัวในการทำงานข่าว  คริสตอฟ เดลอยรี กล่าวว่า “ถ้าการถกเถียงทางการเมือง surreptitiously หรือเปิดสู่บรรยากาศแบบสงครามกลางเมืองที่นักข่าวถูกมองเป็นแพะรับบาป ประชาธิปไตยก็จะอยู่ในภาวะอันตรายใหญ่หลวง”

ในรายงานปีนี้ ประเทศทีมีระดับเสรีภาพสื่อสูงที่สุดคือนอร์เวย์ ครองแชมป์มาแล้วเป็นปีที่สาม ในขณะที่ฟินแลนด์ได้อันดับที่สองแทนที่เนเธอร์แลนด์ เนื่องจากรายหลังมีกรณีที่นักข่าวสองคนที่ทำข่าวเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมแล้วต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สวีเดนได้อันดับสามเนื่องจากมีการคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้น

ส่วนไทยนั้นอยู่ในอันดับ 136 ขยับมาจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 140 เมื่อปีที่แล้ว แม้จะขยับขึ้นมาแล้วแต่ก็ยังอยู่ในโซนสีแดง คือเป็นประเทศที่สถานการณ์สื่อมีความยากลำบาก เป็นอันดับรองสุดท้ายจากทั้งหมดห้าระดับ ประเทศเผด็จการนิยมหลายประเทศเกาะกลุ่มอยู่อันดับท้ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเวเนซูเอลา (148) ที่นักข่าวถูกจับกุมและเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองหนักฝังรากลึก รัสเซีย (149) ที่รัฐบาลใช้การจับกุม เข้าตรวจค้นตามอำเภอใจ และใช้กฎหมายโบราณมาเล่นงานสื่อ

ในส่วนท้ายตารางมีประเทศเวียดนาม (176) จีน (177) เอริเทรีย ประเทศในทวีปแอฟริกา (178) เกาหลีเหลือ (179) และเติร์กเมนิสถานที่ขยับมารั้งท้ายแทนเกาหลีเหนือ (180) (คลิกเพื่อดูตารางเต็ม)

รายงานยังระบุว่า หากจำแนกกลุ่มประเทศตามระดับสถานการณ์ของสื่อ จะพบว่ามีเพียงร้อยละ 24 ประเทศเท่านั้นที่มีสถานการณ์ในเกณฑ์ดีหรือค่อนข้างดี ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 26 อย่างในสหรัฐฯ เสรีภาพสื่อก็ลดน้อยลงเนื่องจากมีการขู่ฆ่าสื่อจนต้องหันไปใช้บริการบริษัทคุ้มกันของเอกชน เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 มีผู้ชายเดินไปในห้องข่าวของ ‘แคปิตอล แกซเซตต์’ ในรัฐแมรีแลนด์แล้วกราดยิงปืนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นนักข่าวสี่คนและเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคน โดยมือปืนคนดังกล่าวได้แสดงความเกลียดชังสำนักข่าวดังกล่าวบนโซเชียลเน็ตเวิร์คซ้ำแล้วซ้ำอีกก่อนจะไปก่อเหตุ

กรณีอินเดีย (140) และบราซิล (105) เป็นภาพสะท้อนว่าการถูกด่าทอหรือถูกทำร้าย เป็นส่วนหนึ่งของ “ความอันตรายในวิชาชีพ” ของสื่อมวลชนที่มีการสังหารนักข่าวหกคนเมื่อปีที่แล้ว หรือในกรณีของบราซิล หลังการเลือกตั้งและได้จาอีร์ บอลซาโนโรที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมขึ้นเป็นประธานาธิบดี สื่อก็ถูกผู้สนับสนุนของจาอีร์ล็อกเป้าทำร้ายทั้งบนโลกออนไลน์และทำร้ายร่างกายจริงๆ อย่างในเม็กซิโก มอลตา สโลวาเกียและกาน่าต่างก็มีนักข่าวถูกสังหาร

การรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในหลายประเทศนำไปสู่การถูกดำเนินคดีและการลงโทษทางกฎหมาย อย่างในอิตาลี (43) ที่มัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงมหาดไทยระบุว่าอาจเพิกถอนการคุ้มครองโดยตำรวจกับนักข่าวที่วิจารณ์เขา นอกจากนั้น กระบวนการยุติธรรมยังอาจเป็นเครื่องมือปิดปากสื่อไม่ให้ทำงานสะดวก อย่างในบัลแกเรีย (11) ที่มีนักข่าวสองคนถูกจับกุมหลังใช้เวลาหลายเดือนสืบสวนเรื่องกรใช้เงินทุนของสหภาพยุโรปอย่างทุจริต ไปจนถึงการคุมขังวะลงและจ่อซออู นักข่าวรอยเตอร์ในพม่าที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องการใช้ความรุนแรงจากรัฐสู่ชาวโรฮิงญา

นอกจากนั้น การใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวที่ aggravate กับรัฐดูจะไม่มีขีดจำกัด การสังหารจามาล คาชอกกี้ นักขาวของวอชิงตันโพสท์ในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในนครอิสตันบูลเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ทำให้เกิดความกลัวในหมู่นักข่าวในระดับเรื่องการเอาชีวิตรอด มีนักข่าวในหลายภูมิภาคเซ็นเซอร์ตัวเองหรือไม่ก็หยุดเขียนไปเลย

แปลและเรียบเรียงจาก

2019 World Press Freedom Index – A cycle of fear, RSF [1] [2]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net