Skip to main content
sharethis

หญิงชาวบังกลาเทศ นุสราต จาฮาน ราฟี ฟ้องร้องเรื่องที่ครูใหญ่ล่วงละเมิดทางเพศเธอ แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็ถูกสังหารด้วยการชุบน้ำมันก๊าดและจุดไฟเผาทั้งเป็น เรื่องนี้จุดชนวนให้คนหันมาสนใจปัญหาความเสี่ยงของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในประเทศเอเชียใต้แห่งนี้ 

ภาพนุสราตหลังถูกรุมทำร้ายและจุดไฟเผา เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา (ที่มา: risingbd)

19 เม.ย. 2562 นุสราต จาฮาน ราฟี เป็นหญิงอายุ 19 ปี จากเมืองเล็กๆ ที่ชื่อเฟนี ห่างออกไป 160 กม. ทางตอนใต้ของเมืองหลวงธากา ประเทศบังกลาเทศ เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่ต่อมานำมาสู่การเสียชีวิตของเธอเกิดขึ้นเมื่อเธอกำลังเรียนอยู่ที่มาดราสซาหรือโรงเรียนอิสลาม ในวันที่ 27 มี.ค. เธอแจ้งว่าครูใหญ่ของโรงเรียนเรียกเธอเข้าพบที่สำนักงานและจับเนื้อต้องตัวเธออย่างไม่เหมาะสมแบบซ้ำๆ และก่อนที่จะเกิดเรื่องอะไรไปมากกว่านี้เธอก็หนีออกมาก่อน

ปัญหาที่ผู้หญิงในบังกลาเทศ โดยเฉพาะเด็กหญิงและวัยรุ่นหญิงจำนวนมากต้องเผชิญคือการต้องปกปิดเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นความลับเพราะกลัวจะถูกสังคมหรือครอบครัวตราหน้าให้อับอาย แต่สิ่งที่นุสราตทำต่างออกไป ไม่เพียงแค่เธอพูดถึงเรื่องนี้ออกมาเท่านั้น แต่เธอยังไปแจ้งความกับตำรวจด้วยความช่วยเหลือจากครอบครัวเธอในวันเดียวกับที่เกิดเหตุด้วย

แต่กระบวนการสอบปากคำของตำรวจในบังกลาเทศก็มีปัญหา แทนที่ตำรวจจะสร้างบรรยากาศปลอดภัยในขณะที่เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่กลับนำกล้องโทรศัพท์มือถือขึ้นมาอัดวิดีโอไว้ในขณะที่เธอเล่า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพูดออกมาด้วยว่าคำแจ้งความของเธอ "ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร" และบอกให้เธอเลิกเอามือปิดหน้าปิดตาตัวเองขณะเล่าเรื่อง ในเวลาต่อมาวิดีโอนี้รั่วไหลออกไปและถูกนำเสนอในสื่อท้องถิ่น

สังคมรอบตัวนุสราตเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่ทำให้เธอต้องเผชิญกับการถูกตัดสินตีตราหลังมีการรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ชุมชนที่เธออยู่อาศัยยังคุกคามและรังแกเธอทั้งในโลกออนไลน์และโลกภายนอก

ครูใหญ่ของโรงเรียนถูกจับกุมภายหลังจากการแจ้งตำรวจ แต่เหตุการณ์ก็ยิ่งแย่ลงสำหรับนุสราตเมื่อมีกลุ่มคนรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวครูใหญ่ การประท้วงครั้งนี้จัดโดยนักเรียนชาย 2 คน และน่าสงสัยว่าจะมีนักการเมืองในท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย การประท้วงนี้ทำให้ครอบครัวของนุสราตเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัยของเธอ

เหตุร้ายเกิดขึ้นในที่สุดเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 11 วันหลังจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศ นุสราตไปโรงเรียนเพื่อสอบไล่ พี่น้องผู้ชายของนุสราตเล่าว่าเขาพยายามพาตัวนุสราตเข้าไปในโรงเรียนแต่ตัวพวกเขาเองถูกห้ามไม่ให้เข้าไป ส่วนนุสราตถูกเพื่อนนักเรียนหญิงนำตัวขึ้นไปบนดาดฟ้าของโรงเรียน หนึ่งในนั้นทุบตีเธอ มีกลุ่มคนสวมผ้าคลุมหัวบุรกา (Burqa) 4-5 คนล้อมเธอไว้แล้วกดดันให้เธอถอนคดีครูใหญ่ เมื่อนุสราตปฏิเสธ พวกเขาก็จุดไฟเผาเธอ 

เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยสืบสวนเปิดเผยว่าผู้ก่อเหตุต้องการทำให้ดูเหมือนเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ฆาตกรเหล่านี้ก็พลาดเพื่อมีคนมาช่วยเธอไว้ในขณะที่พวกเขาพยายามหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ทำให้เธอยังคงบอกเล่าเรื่องราวได้ในขณะที่เธอยังไม่เสียชีวิต โดยการอัดลงโทรศัพท์มือถือในช่วงที่เธออยู่ในรถพยาบาล เมื่อนุสราตไปถึงโรงพยาบาลแล้วก็พบว่าร่างกายเธอถูกเผาไปถึงร้อยละ 80 และไม่สามารถรักษาได้ นุสราตเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในคำให้การที่เธอบันทึกไว้ในรถพยาบาลเธอระบุตัวผู้ก่อเหตุรวมถึงบอกว่า "ครูใหญ่แตะเนื้อต้องตัวฉัน ฉันจะต่อสู้อาชญากรรมนี้จนลมหายใจสุดท้าย"

เรื่องราวของนุสราตเผยแพร่ไปทั่วสื่อบังกลาเทศ หลังจากที่นุสราตเสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. คนหลายพันคนปรากฏตัวที่งานศพของเธอ ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ 15 ราย มี 7 รายในนี้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ในจำนวนนี้มีนักเรียนชาย 2 คนที่เคยประท้วงให้ปล่อยตัวครูใหญ่อยู่ด้วย ตัวครูใหญ่เองยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัว ตำรวจที่ถ่ายภาพนุสราตตอนให้การถูกสั่งปลดจากตำแหน่งเดิมและย้ายไปทำงานแผนกอื่น นายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา เข้าเยี่ยมครอบครัวของนุสราตและสัญญาว่าจะนำตัวคนที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

เหตุการณ์ของนุสราตยังทำให้เกิดการประท้วง ผู้คนจำนวนมากใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงความโกรธเคืองทั้งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอและวิธีการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศในบังกลาเทศ ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่งระบุในคอมเมนต์เพจของบีบีซีบังกลาเทศว่าผู้หญิงหลายคนไม่ทักท้วงเรื่องพวกนี้เพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์แบบนุสราต ไม่ว่าจะเป็นบุรกาหรือชุดที่ทำจากเหล็กก็ไม่อาจหยุดยั้งคนข่มขืนได้

องค์กรผู้หญิงบังกลาเทศ มหิลาปาริชาด ระบุว่ามีกรณีข่มขืนในบังกลาเทศเกิดขึ้น 940 กรณีในปี 2561 แต่นักวิจัยกล่าวว่าตัวเลขที่จริงอาจจะสูงกว่านี้มาก โดยปัจจัยมาจากสังคมที่ตีตราผู้หญิงให้อับอายต่อเรื่องนี้

ซัลมา อาลี นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของสมาคมทนายความหญิงกล่าวว่า เมื่อผู้หญิงพยายามเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ พวกเธอต้องเผชิญกับการข่มเหงรังแกซ้ำสองไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้คดีลอยค้างเป็นเวลาหลายปี ถูกสังคมตีตราให้อับอายหรือตำรวจที่ขาดความตั้งใจจะสืบสวนข้อกล่าวหาอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เผชิญการข่มขืนล้มเลิกการแสวงหาความเป็นธรรมให้ตัวเอง นั่นทำให้อาชญากรไม่ถูกลงโทษแล้วพวกเขาก็ก่อเหตุแบบเดิมอีกครั้ง กลายเป็นตัวอย่างให้คนอื่นทำตามเพราะเห็นว่าไม่มีอะไรต้องกลัว

ในปี 2552 ศาลสูงสุดของประเทศเคยออกคำสั่งให้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับมือปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศได้ แต่ก็มีโรงเรียนน้อยแห่งที่ริเริ่มในเรื่องนี้ ทำให้นักกิจกรรมเริ่มเรียกร้องให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเช่นนี้ในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นและมีกฎหมายคุ้มครองนักเรียนในเรื่องนี้ด้วย

เรียบเรียงจาก

Nusrat Jahan Rafi: Burned to death for reporting sexual harassment, BBC, Apr. 4, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net