Skip to main content
sharethis

ประธาน TDRI ชำแหละ 7 ข้อ กรณี ม.44 อุ้มค่ายมือถือ ยืดเวลาชำระหนี้ ชี้ คนได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการ นายทุนเมืองนอก อภิมหาเศรษฐีผู้ถือหุ้น แต่รัฐบาลเสียเงินเพราะผ่อนไม่มีดอกเบี้ย ประชาชนไม่มีตัวเลือกรับบริการ 5 จีในอนาคตเพราะว่าไม่มีการประมูลคลื่น บริการ 5 จีบนคลื่น 700 ยังไม่มีชาติไหนในโลกทำจึงขาดเครื่องมือ ให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. เยอะเสี่ยงคอรัปชัน แนะ ประชาชนตื่นตัวกับการทุจริตเพราะเป็นเรื่องข้ามขั้วการเมือง

19 เม.ย. 2562 สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมยืดเวลาชำระเงินประมูลคลื่นเอาไว้ในเวทีเสวนาหัวข้อ "ม. 44 อุ้มมือถือ: ใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า?" จัดที่ TDRI  โดยแบ่งเป็นเจ็ดข้อตามบทความของเขา ดังนี้

ม.44 อุ้มค่ายมือถือ ยืดจ่ายค่าประมูล 10 ปี ทีวีคืนคลื่นได้-งดจ่ายค่าธรรมเนียม 3 งวด

อดีต กสทช. ชี้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ-ทีวีดิจิตอล ผิดหลักการ ผิดเวลา สื่อน้ำท่วมปาก

หนึ่ง ยืดหนี้ 4 จี = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้ผู้ประกอบการ

ถ้าดูมูลหนี้ของแต่ละรายจะเห็นว่ามีมูลหนี้ค้างอยู่ เอไอเอสประมาณ 6 หมื่นล้าน ของทรูเท่าๆ กัน ดีแทคน้อยกว่า มูลหนี้ที่ชำระในเงื่อนไขใบอนุญาตของเอไอเอสกับทรูต้องชำระกันในปีหน้าแล้วจบกันไป คำสั่งตาม ม.44 นั้นยืดเวลาชำระหนี้ให้ยาวออกไปโดยไม่คิดดอกเบี้ย ผลคือทำให้เงินที่ควรจะได้วันนี้ไม่ได้วันนี้ แล้วเงินเป็นสิ่งที่มีค่าเสียโอกาส มากน้อยขนาดไหนก็คือภาระต้นทุนทางการเงิน ในวงการโทรคมนาคม เวลานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประเมินว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทโทรศัพท์มือถือจะมากน้อยขนาดไหน เขาดูว่าบริษัทนั้นๆ จะไปกู้เงินธนาคารต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ แต่การกู้เงินในระดับหลายหมื่นล้าน ธนาคารหรือเจ้าหนี้ก็มักจะบอกให้ไปเพิ่มทุนเพราะธนาคารไม่อยากรับความเสี่ยงฝ่ายเดียว ถ้าชำระหนี้ไม่ได้ อย่างน้อยมีส่วนผู้ถือหุ้นที่เพิ่มทุนไปก็นำมาชำระหนี้ได้ ต้นทุนจึงมีสองส่วนคือดอกเบี้ยและผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้นในฐานะที่รับความเสี่ยงมากกว่าธนาคารก็จะต้องการผลตอบแทนสูงกว่า ต้นทุนทางการเงินโดยรวมจะนำสองส่วนนี้มาเฉลี่ยกัน ในวงการโทรคมนาคม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จะคิดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจโทรคมนาคมประมาณร้อยละเก้า แต่ละนักวิเคราะห์ก็จะต่างกันไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่นของเอไอเอสมีฐานะการเงินดีที่สุดก็จะต้นทุนต่ำเช่นร้อยละเก้าหน่อยๆ ดีแทคประมาณ 9.5 ทรูประมาณ 9.7 บางรายตีของทรูไปถึงร้อยละ 10

พอรัฐบาลยืดหนี้ให้ สมมติว่าบริษัทเอกชนจะต้องชำระเงินให้รัฐบาลในปีนี้ 100 บาท ปีหน้าก็ควรจะต้องชำระ 109 บาท ถ้าปีหน้าใช้เงิน 100 บาทเท่าเดิม แปลว่าได้ผลประโยชน์เก้าบาท กสทช. พยายามอธิบายว่าการยืดหนี้ 4 จีไม่ทำให้รัฐได้เงินน้อยลงเพราะเอกชนต้องจ่ายเงินเท่าเดิมและ กสทช. ก็ทำตารางชี้แจงมาว่ารัฐได้เงินเท่าเดิมคือ 203,317 ล้านบาท เพราะท่านไม่เอาดอกเบี้ยมาคิดกันเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เงินระดับหมื่นล้าน แสนล้านแต่ไม่พูดถึงดอกเบี้ยแม้แต่คำเดียว ถ้าเอาดอกเบี้ยมาคิดจะเห็นว่าเงินที่รัฐได้นั้นหายไป เงินที่เอกชนได้ก็งอกขึ้นมา

เมื่อคำนวณออกมาเราจะพบว่าหากทั้งสามรายขอยืดหนี้โดยไม่ถูกคิดดอกเบี้ย ทรูและเอไอเอสจะได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8,780 และ 8,380 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนดีแทคได้ไปประมาณ 2,580 ล้านบาท  รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 19,740 ล้านบาท ในมูลค่าปัจจุบัน โดยตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับการประเมินของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เช่น K-Securities ในเครือกสิกรไทยคำนวณได้ 18,456 – 28,393 ล้านบาท ประเด็นคืองานนี้รัฐบาลยกประโยชน์ให้เอกชนในมูลค่าระดับ 2 หมื่นล้านบาท

สอง บังคับทำ 5G เพราะกลัวจะไม่มีคนทำ แท้จริงคือการให้อภิสิทธิ์ให้เอกชนสามรายครองตลาดต่อ

การให้สามรายที่ชำระหนี้ไปแล้วจะได้สิทธิในการเอาคลื่น 5 จีย่าน 700 MHz ขนาด 15 MHz ไปโดยไม่ต้องแข่งกับใครเลย ถ้าใครเป็นรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดก็จะต้องเข้าสู่การแข่งขัน แต่จะยังเข้าไม่ได้เพราะคำสั่งตาม ม.44 ให้จัดสรรคลื่นให้กับสามรายดังกล่าวก่อน สิ่งที่ตามมาคือในตลาด 5 จีก็จะมีผู้ประกอบการสามรายเท่าเดิม เป็นตลาดกึ่งผูกขาดแบบเดิม ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่มาแข่งขัน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายประเมินว่าสำหรับสามเจ้าเดิมก็ถือว่าคุ้มสุดคุ้มแล้ว คือได้ผูกขาดนอกจาก 4 จีแล้วก็ยังผูกขาด 5 จีต่อไปอีกด้วย

ที่ กสทช. ประเมินว่าคลื่นมูลค่าคลื่นต่อรายอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาทนั้น เมื่อดูให้ดีจะพบว่ามีประเด็นที่ควรพิจารณาหลายประการ

หนึ่ง  มูลค่าดังกล่าวเป็นมูลค่าในอนาคต คือผ่อนไปเรื่อยๆ 10 งวด ไม่ใช่ว่ารัฐบาลได้เงิน 25,000 ปีนี้ ถ้าเอาเงินในอนาคตมาคิดเป็นเงินปัจจุบันจะเหลือเพียง 17,167 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเป็นเงินเพียงเท่านั้น เท่ากับเอกชนได้ซื้อคลื่น 5 จีถูกลง เอไอเอสเหมือนซื้อคลื่น 5 จีในราคาแค่ 8,787 ล้านบาท ทรู 8,386 ล้านบาท และดีแทคซื้อในราคาสูงกว่าคือ 14,580 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีผลในการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการทั้งสามราย ทรูได้คลื่นในราคาที่ถูกที่สุด ในขณะที่ดีแทคได้ราคาแพงกว่า ทั้งที่เป็นคำสั่งเดียวกันแต่ได้รับส่วนลดจาก 4 จีไม่เท่ากัน และเชื่อมโยงการลดหนี้ 4 จีเข้ากับการได้ใช้คลื่น 5 จี จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการทั้งสามราย

สอง เราเชื่อจริงๆหรือว่าผู้ประกอบการจะชำระมูลค่าคลื่นในราคา 25,000 ล้านบาทจริง เพราะปัจจัยต่างๆ ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของ กสทช. เช่น อาจขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีกเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วกับกรณีประมูลคลื่น 4 จีในครั้งนี้ หรือขยายเวลาประกอบกิจการให้นานกว่า 15 ปี ถ้าถึงเวลาแล้วเป็น 20 ปี 25 ปีล่ะ นั่นก็เพราะ คสช. ให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. มาก เหมือนให้เช็คเปล่า

สาม ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออภิมหาเศรษฐีไทยและนักลงทุนต่างชาติ

ผู้ถือหุ้นคือผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด ผู้ประกอบการทั้งสามรายมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ทรู มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นตระกูลเจียรวนนท์ อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทยจากการจัดอันดับของฟอร์บ ไล่ลงไปอีกก็เป็นนักธุรกิจจากจีน ของเอไอเอสเป็นผู้ถือหุ้นจากสิงคโปร์ และผู้ถือหุ้นนอร์เวย์ในดีแทค ทำไมรัฐบาลไทยต้องไปอุ้มอภิมหาเศรษฐีและผู้ถือหุ้นต่างประเทศ กรณีทีวีดิจิทัล รัฐบาลมีส่วนบกพร่องอยู่บ้าง แต่กรณี 4 จี รัฐบาลไม่มีข้อบกพร่อง ถ้าจะว่ากันก็คือ กสทช. ปล่อยให้มีผู้ประมูลรายหนึ่งเข้ามาร่วมประมูลแล้วก็ทิ้งการประมูลไปโดยมีบทลงโทษเพียงเล็กน้อยก็ตามทำให้ราคาสูง แต่อย่าลืมว่าผู้ชนะประมูลได้ยอมรับในราคาที่ประมูลไปแล้วทั้งสิ้น ในข่าวเก่าก็มีที่รายงานว่าผู้ชนะประมูลได้ไปก็บอกว่าตัวเองคือเบอร์หนึ่ง มีคลื่นมากที่สุด คำนวณราคารอบคอบแล้ว คิดราคาให้ลูกค้าใหม่ด้วย เงื่อนไขชำระหนี้ยืดหยุ่นพอ เอื้อให้บริหารเงินสดได้ ถ้ามองว่าเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมถึงยังมาขอยืดหนี้และถ้าเราติดตามข่าวเวลาผู้ประกอบการสามรายไปโรดโชว์ก็จะได้ยินพวกเขาบอกว่ามีฐานะทางการเงินที่มั่นคง เงินปันผลที่จ่ายกันก็จ่ายกันมหาศาล

ในปี 2561 เอไอเอสและทรูมีกำไรสุทธิ 29,682 และ 7,035 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนดีแทคขาดทุน 4,369 ล้านบาทเนื่องจากมีค่าใช้จ่าย 9,510 ล้านบาทเพื่อระงับข้อพิพาทกับ กสท. โทรคมนาคม ถ้าไม่มีก้อนนี้ก็คือได้กำไรทั้งสามราย แน่นอนว่าทั้งสามรายล้วนเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคงทางการเงินทั้งสิ้น นี่จึงไม่ใช่การอุ้มธุรกิจขนาดเล็กที่ประสบภาวะขาดทุน แต่ถ้าเป็นความเสี่ยงจากธุรกิจรัฐก็ไม่จำเป็นต้องอุ้ม เพราะเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องเจอทุกวัน แล้วความเป็นธรรมอยู่ตรงไหนถ้ารัฐอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคง มีกำไร และมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติอยู่มาก

สี่ บริการ 5 จีเป็นบริการแห่งอนาคต = ไม่ต้องรีบร้อนทำวันนี้

เอไอเอสให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ว่ายังไม่อยากประมูลคลื่น 5 จีเพราะยังไม่เห็นว่ามีบริการอะไรโดดเด่นที่จะออกมา เช่น IOT (อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง) รถไร้คนขับ ซึ่งพูดกันได้ แต่ทดลองอยู่ในห้องวิจัย ยังไม่มีคนใช้ ปีนี้จึงขอทดลงไปก่อนอีก 2-3 ปีค่อยว่ากัน สิ่งที่เลขาธิการ กสทช. บอกว่าถ้าเอา 5 จีออกมาจะได้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่ม 2.3 ล้านล้านบาทนั้นเป็นอะไร คงเป็นความฝันของบริการแห่งอนาคตเท่านั้น เพราะผู้ให้บริการเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร

ถ้าไปดูในตลาดจะพบว่าคลื่น 700 ที่จะนำมาใช้ทำ 5 จีนั้น ยังไม่มีอุปกรณ์มารองรับการใช้งาน 5 จีบนคลื่นความถี่ดังกล่าว สหรัฐฯ ใช้ 600 ในเอเชียก็ใช้คลื่นความถี่สูงมาก ที่ไทยจะประมูลกันนั้นมีอุปกรณ์ใช้แล้วหรือ กสทช. ทำโรดแมปประมูล 5 จียังไม่เสร็จ ที่สำคัญคือเอามาแจก ไม่ได้ประมูล แล้วอีกสองย่านความถี่ยังไม่รู้เลยว่าจะทำกันยังไง แล้ววันหลังจะแข่งขันกันอย่างไร

ไทยจึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งทำ 5 จี ปัจจุบันมีเพียง 4-5 ประเทศที่ใช้ 5 จี คือเกาหลี จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ประมาณ 20-30 เมือง ประเทศที่ทำ 5 จีก่อนคือประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ขาย ต้องทำ 5 จีเพื่อนำอุปกรณ์ไปขาย ไทยจึงยังไม่จำเป็น ต่อให้บริการ 5 จีจะเกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศมหาศาลอย่างที่ กสทช. กล่าวอ้าง ก็ต้องรอถึงปี 2578 ซึ่งหมายความว่าการรอไปอีกสองสามปีก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไร

ห้า คำสั่งตามมาตรา 44 = ขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ

ม.44 ที่ออกมาขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ถ้าจู่ๆ หน่วยงานรัฐจะไปลดเงินที่จะได้รับจากเอกชนอันมาจากการยืดหนี้ คงจะหนีไม่พ้นกับการถูกดำเนินคดีทางอาญา หรือติดคุกได้ถ้าไปยกประโยชน์ให้เอกชนแบบไม่มีเหตุไม่มีผล หนทางที่จะทำให้ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. รอดพ้นคือใช้ ม.44 เพราะประชาชนไปฟ้องดำเนินไม่ได้ และการมีคำสั่งเช่นว่าหลังเลือกตั้ง ก็เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองอื่นโจมตีพรรคที่สนับสนุน คสช. ว่าสนับสนุนนายทุน การดำเนินการในช่วงสงกรานต์ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว เช่นเดียวกันกับการออกคำสั่งอุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปพร้อมกัน ยังทำให้สื่อโทรทัศน์หลีกเลี่ยงที่จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพราะตนก็ได้รับประโยชน์

หก อำนาจดุลพินิจมาก = เสี่ยงทุจริตมาก

การให้อำนาจดุลพินิจแก่เลขาธิการ กสทช. มากก็มีความเสี่ยงจะทุจริตคอรัปชันมาก ในคำสั่งที่ออกมาตาม ม.44 เขียนว่ากรณีใดที่มีปัญหาวินิจฉัยตามคำสั่งนี้ ให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของเลขาธิการ กสทช. ถือเป็นที่สิ้นสุด ข้อสังเกตที่ไม่ควรลืมคือครั้งนี้ คสช. มอบอำนาจดุลพินิจมหาศาลให้กับบุคคลเดียว ไม่ใช่ กสทช. ทั้งคณะ เหมือนให้เช็คเปล่า

อำนาจดุลพินิจที่สำคัญประการหนึ่งคือการให้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการจัดสรรคลื่น 5 จี ในคลื่น 700 MHz มากมายเช่นระยะเวลาการประกอบการ การตีมูลค่า ระยะเวลาวางโครงข่าย ยืดชำระเงินได้หรือไม่ได้ เยอะไปหมด การให้อำนาจดุลพินิจกว้างขวางแบบนี้มีปัญหาเพราะไม่มีข้อกำหนดที่เป็นหลักการมากำกับไว้เลย ถ้าเป็น พ.ร.บ. ก็มักจะเขียนหลักการว่าจะใช้อำนาจอย่างไร และคำสั่งนี้ไม่มีแม้แต่ข้อกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ

ก่อนหน้านี้ คสช. ยังมีคำสั่งตาม ม.44 ให้ระงับการสรรหากรรมการ กสทช. ไว้ เท่ากับว่า กสทช. ชุดนี้สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตหากไม่มีการสรรหาใหม่ อาจมีเรื่องเกษียณที่ล็อกไว้ตามกฎหมาย แต่จะไม่มีการสรรหาใหม่ การใช้อำนาจ ม.44  ครั้งนี้ก็ไม่ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

เจ็ด ผู้เสียหาย = ประเทศและประชาชน

การที่ประชาชนเป็นผู้เสียภาษี แปลว่าประชาชนเป็นเจ้าหนี้ทางอ้อมผู้ประกอบการ 4 จีทุกคน การที่รัฐจะมายืดหนี้ให้เอกชนได้เงินสองหมื่นกว่าล้านบาท เจ้าหนี้ทางอ้อมควรต้องตั้งคำถาม ในฐานะผู้บริโภค เราเสียโอกาสสำคัญในการได้รับบริการ 5 จีจากผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันมากขึ้น ทั้งที่เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ มีตลาดใหม่ ก็ควรให้ผู้ประกอบการใหม่เข้ามาแข่งขันด้วย แต่ว่ารายใหม่ถูกปิดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดครั้งนี้เพราะจัดสรคลื่นให้สามรายเดิม

คำสั่งตาม ม.44 ครั้งนี้ทำให้ระบบกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของไทยเสมือนย้อนกลับไปในสมัยที่กิจการโทรคมนาคมอยู่ใต้ระบบสัมปทาน ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้มีการวิ่งเต้น กติกา สัญญาต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดหมายและพยากรณ์ได้ ทำให้เกิดธนกิจการเมือง (Money Politics) สร้างเจ้าสัวใหญ่โตแล้ววันต่อมาก็เข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง เสียหายต่อเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของประเทศ

ปัญหาในวงการโทรคมนาคมประเทศไทยจะส่งสัญญาณให้นักลงทุนต่างประเทศว่าไทยยังห่างจากการเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างที่รัฐบาลฝันไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

คสช. จึงควรทบทวนและแก้ไขข้อบกพร่องในการออกคำสั่งครั้งนี้ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยและคนไทยทุกคน มิฉะนั้นคำสั่งนี้ก็จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองในฐานะที่เป็นผลงานโบว์ดำอีกชิ้นหนึ่งของ คสช.

สมเกียรติยังกล่าวทิ้งท้ายในเวทีเสวนาถึงทางออกว่า จริงๆ แล้วไม่ควรออก ม.44 มาอุ้ม แต่ไหนๆ ก็ออกไปแล้วและยังมีอำนาจใช้ ม.44 ได้อีก ก็ควรออก ม.44 มาแก้ไข ทบทวนข้อบกพร่องในการออกคำสั่งครั้งนี้ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศและประชาชน แต่สิ่งที่ควรคาดหมายกว่าก็คือ คนไทยต้องตระหนักต่อการถูกรัฐและนายทุนสมคบกันเอาเปรียบ สร้างการรู้เท่าทันในสังคม อย่าไปใช้ความคิดทางการเมืองว่าเราชอบใคร การต่อต้านคอปรัชันเป็นเรื่องของทุกคน ทุกสี อย่าไปยอมรับการทุจริตภาครัฐ เป็นผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ไม่ให้ทุนใหญ่ผูกขาดมาเอาเปรียบ

(คลิกเพื่อดูตารางผนวกเรื่องต้นทุนการเงินและรายชื่อผู้ถือหุ้น)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net