Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การพูดว่า “กฎหมายอาจไม่ยุติธรรม แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” เป็นการพูดเพื่อเชิดชูศาสนาโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง บทความนี้เสนอว่า ในหลายกรณี ศาสนาไม่ได้สนใจความยุติธรรม เพราะหากจะยึดตามนิยามของอิมมานูเอล ค้านท์ ความยุติธรรมคือการได้รับผลในระดับหรือปริมาณที่เท่ากันกับการที่ตนได้กระทำ หลักกรรมในทางพุทธเองก็ให้ผลมากกว่านั้น ทั้งบุญและบาปมักให้ผลหลายเท่าตัว 

เช่น เมื่อฆ่าสัตว์ นอกจากต้องชดใช้กรรมในนรกเป็นต้นแล้ว แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็อาจมีผลทำให้เจ็บป่วยง่ายหรืออายุสั้น หรือถวายของเพียงนิดหน่อยกับพระอริยเจ้า แต่กลับได้รับผลตอบแทนหลายเท่า ทำนองเดียวกับศาสนาของพระเจ้า ที่แม้จะบอกว่ารักมนุษย์มาก แต่หากเขาทำความดีโดยปราศจากความเชื่อ เขาก็ต้องลงนรก เพราะความยุติธรรมของพระเจ้าจะวัดด้วยความศรัทธาเป็นประการสำคัญ

บทความนี้จะพาสำรวจหนังผีไทย ซึ่งมักสะท้อนเรื่องกฎแห่งกรรม ผมไม่อยากอ้างว่ากรรมเป็นความเชื่อของคนไทย เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนไทยเชื่อเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อย กรรมมักถูกอ้างเอามาใช้และเป็นฐานคิดสำคัญที่เอื้อต่อการลงโทษผู้อื่นมากกว่าการต้องให้อภัยหรือคิดหาทางช่วยให้เขากลับตัว การตีความพุทธเถรวาทของ สมภาร พรมทา เพื่อสนับสนุนโทษประหารชีวิต เป็นตัวอย่างที่ดีว่าคนควรได้รับการลงโทษในระดับที่เท่ากับสิ่งที่เขาทำลงไป เพราะการประหารมิใช่การตัดโอกาสในการพัฒนาชีวิตของเขา เพราะเขายังเกิดใหม่และพัฒนาตัวเองได้ในชาติต่อๆ ไป
  
ธรรมชาติของหนังผีจะต้องน่ากลัวหรือหลอน การฆ่าคนให้ตายจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความหวาดกลัวที่พบในธีมของหนังผีไทย สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ หนังจำนวนมากเหล่านั้น ผลิตซ้ำความเชื่อเรื่องกรรมที่มาตอบสนองกับคนอย่างล้นเกินหรือต้องชดใช้อย่างหลายเท่าตัวนัก หลายเรื่องสะท้อนชัดว่า ตัวละครไม่ควรตายเพียงเพราะการกระทำเช่นนั้นด้วยซ้ำ


ผู้หญิงต้องรับกรรมมากกว่าผู้ชาย

เริ่มจาก 4 แพร่ง ซึ่งออกฉายในปี 2551 ตอน เที่ยวบิน 224 ที่พิมต้องดูแลเจ้าหญิงผู้ซึ่งมีโรคประจำตัวบนเครื่องบินกันสองต่อสอง เจ้าหญิงผูกอาฆาตพิมเพราะเป็นกิ๊กกับสามีของเธอ สุดท้ายเธอป่วยหนักและตาย โดยที่พิมต้องอยู่บนเครื่องบินลำเดียวกันเพื่อส่งศพเธอกลับประเทศ พิมถูกเธอหลอกจนตาย โดยที่ร่างของพิมนอนลืมตา พนมมือไหว้เพื่อร้องขอชีวิต (หรือเพื่อขอโทษ?)

อย่างน้อยที่สุด หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงที่เป็นชู้ต้องเป็นฝ่ายผิดและรับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย (ในที่นี้คือ เจ้าชาย) ไม่ใช่การต้องรับผิดชอบกันทั้งสองฝ่าย สิ่งนี้วางอยู่บนฐานของแนวคิดชายเป็นใหญ่ ความตายที่เกิดขึ้นอย่างโหดร้ายเป็นสิ่งไม่ยุติธรรมที่พิมได้รับ เพราะแม้จะมองว่าการเป็นชู้เป็นสิ่งเลวร้าย แต่พิมก็ไม่ได้ฆ่าคนตาย


ฆ่าพ่อแม้ไม่ตั้งใจ ก็ให้อภัยไม่ได้

5 แพร่ง ซึ่งออกฉายเมื่อปีถัดมา ก็ให้ความหลอนปนความไม่ยุติธรรมของกรรมแบบไม่แพ้กัน เรื่องแรก “หลาวชะโอน” เป้และเพื่อนซึ่งเพิ่งย่างเข้าสู่วัยรุ่น ตั้งใจจะปาก้อหินใส่กระจกรถและปล้นเอาเงินกับโทรศัพท์ แต่สุดท้ายรถคันนั้นกลับเป็นพ่อของตัวเองซึ่งประสบอุบัติเหตุถึงตาย แม่พาเป้ไปบวชเณรโดยมีพระที่วัดคอยดูแลดี แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ แรงกรรมทำให้เป้ต้องหนีออกมาและถูกฆ่าตายในป่า การฆ่าพ่อ (แม้จะไม่ตั้งใจ) ก็เป็นความชั่วร้ายที่ให้อภัยไม่ได้ แม้เสียงขอโทษที่เป้โทรไปคุยกับแม่เพื่อสารภาพผิดและขอความช่วยเหลือ กรรมก็ทำให้แม่ไม่ได้ยิน


กรรมตกทอดสู่ลูกหลานได้?

อีกตอนหนึ่งคือ “รถมือสอง” สะท้อนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ตกไปสู่ลูกหลานได้ นุชขายรถมือสองซึ่งมักโกหกลูกค้าว่าเป็นรถบ้าน ไม่เคยมีการชน ทั้งที่ความจริงรถจำนวนมากเคยประสบอุบัติเหตุถึงขั้นมีคนเสียชีวิต วิบากกรรมอันนั้นส่งผลให้เธอต้องสูญเสียลูกชาย ขณะที่ลูกถูกผีดลใจให้เข้าไปแอบในห้องเครื่องยนต์และเธอต้องสตาร์รถเพื่อขับหนีผี (โดยที่เธอเองไม่ต้องตาย)

เรื่องการสืบทอดของกรรมเช่นนี้ ขัดกับความเชื่อเรื่องมนุษย์มีกรรมเป็นของตน (กมฺมสฺสโกมฺหิ) ใครทำคนนั้นก็รับผล นั่นคือเด็กย่อมไม่รู้เรื่องด้วย แต่คนพุทธยังอธิบายเรื่องนี้ได้ว่า เพราะเขาทำกรรมไม่ดีอย่างอื่นมาในอดีตชาติ จึงต้องมาชดใช้กรรมนั้นด้วยกัน เช่น แม่เป็นเอดส์ ลูกก็เป็นตาม แน่นอนว่าแม้ลูกจะไม่รู้เรื่องด้วย แต่ลูกคนนั้น อาจเคยทำกรรมชั่วมาเมื่อชาติที่แล้ว จึงต้องได้รับโทษในชาตินี้ กรรมเป็นกฎที่อธิบายทุกอย่างในจักรวาลได้มากกว่าจะต้องมาถกเรื่องการทำแท้งหรือทำหมันไปเลยเพื่อช่วยให้เด็กไม่ต้องคลอดออกมาทรมาน 

การเชื่อว่ากรรมสามารถสืบทอดไปยังผู้อื่นได้ (หรือเพราะเขาทำกรรมนั้นมาเองในชาติก่อนก็ตาม) ในแง่หนึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้ความรุนแรงต่อเครือญาติของผู้นั้นได้ เช่น เกลียดพ่อแต่แก้แค้นด้วยการข่มขืนหรือฆ่าลูกสาว เกลียดพี่ชายแต่ตบฝากน้องสาวมา เพราะมองว่าคนไม่ได้เป็นปัจเจก แต่ในฐานะที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในอดีตแนวคิดนี้ส่งผลถึงขั้นประหาร 7 ชั่วโคตรเป็นต้น


ผีไม่รู้จักดี-ชั่ว

5 แพร่ง ตอน “Backpackers” ที่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น 2 คนโบกรถบรรทุกเพื่อขอติดเข้ากรุงเทพฯ ไปด้วย แต่โชคร้ายที่รถขนเอาผู้ใช้แรงงาน (ผิดกฏหมาย?) และทุกคนก็ตายในตู้คอนเทนเนอร์ (เพราะขาดอากาศหายใจ?) ขณะที่คนขับและเด็กรถลงไปลากศพเหล่านั้นทิ้ง และวางแผนว่าจะฆ่าชาวญี่ปุ่นทั้ง 2 ด้วย ชายชาวญี่ปุ่นแย่งปืนไปได้ แต่โชคร้าย เขาถูกผีกัดตาย (ซึ่งเขาไม่เกี่ยวข้องกับการทำให้คนเหล่านั้นตาย)

ผู้หญิงญี่ปุ่นหนีต่อไป เธอได้ช่วยปกป้องเด็กชายตัวน้อยจากการฆ่าของเด็กรถ แต่สุดท้าย เธอก็ถูกเด็กคนนั้นฆ่าตาย ซึ่งผีในเรื่องนี้ดูไม่มีสามัญสำนึกเอาเสียเลย กระทั่งไม่รู้ว่าใครทำร้ายหรือช่วยเหลือตัวเอง เรื่องนี้คล้ายกับเรื่อง เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน ที่ออกในปี 2556 ตอน “วนิดา”

มนัสวีและเพื่อนสนิทของเธอชอบเรื่องผี และเมื่อพบว่าโรงเรียนของพวกเธอเคยเป็นแดนประหารเก่าก็ไปถ่ายรูปด้วยท่าต่างๆ วนิดาเป็นนักเรียนรุ่นก่อนที่ตายด้วยการถูกภารโรง (ผีสิง) ฆ่าตัดคอแล้วเอาหัวของเธอไปซ่อน และมีกฏว่า หากใครเห็นหัวในโต๊ะ (ซึ่งเป็นภาพนิมิต) และไม่สามารถหาหัวจริงได้ จะต้องตายภายใน 2 วัน เพื่อนของมนัสวีได้เห็นและตายในเวลาต่อมา มนัสวีได้เห็นเช่นกันและตามหาหัวจนพบ เธอพาหัวไปฝังและแผ่เมตตากรวดน้ำให้วนิดา สิ่งนี้ควรถือว่าเป็นกุศลกรรมด้วยซ้ำ

แต่สุดท้าย ผีจากแดนประหารก็เข้าสิงแม่เธอและฆ่าพ่อกับเธอจนตาย ความตายของเธอและครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลอีกเช่นเคย แต่หนังอาจต้องการสื่อว่า ไม่ควรสนใจหรือยุ่งกับเรื่องผีในทุกกรณี เพื่อจะป้องกันอันตรายในอนาคต


ฆ่าคนชั่วย่อมไม่ผิด?

หนังเรื่อง “อาปัติ” อดีตเจ้าอาวาสได้กลายเป็นคนบ้าหลังจากที่เขาได้ฆ่าพระรูปหนึ่งเพื่อปิดปาก เนื่องจากพระรูปนั้นมาทราบว่าตนมีเมียซึ่งถือเป็นอาบัติหนักถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ แท้จริงคนบ้านั้นยังมีความสำนึกอยู่ลึกๆ ตรงที่แกจะนั่งสวดบทปลงอาบัติอยู่ตลอดเวลา แต่ความบ้าก็ไม่หายไป เพราะการฆ่าคนขณะที่เป็นพระ เป็นอาบัติที่ปลงไม่ได้ นี่เป็นภาพสะท้อนอันหนึ่งว่า พุทธเถรวาทมีวิธีที่ลงโทษคนผ่านวินัยหรือกรรมในระดับที่หนักถึงขั้นที่ไม่สามารถให้อภัยได้

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อคนบ้านั้นแย่งอาหารจากบาตรพระขณะที่ชาวบ้านกำลังใส่บาตร ชาวบ้านรุมกระทืบเขาแบบไม่ยั้งมือจนพระต้องไปขอชีวิตไว้ ฉากนี้สะท้อนว่า คนพุทธสามารถฆ่าคนอื่นได้เพียงเพราะเชื่อว่าเขาเป็นคนชั่วหรือขัดขวางการทำความดีของตน (ผู้ซึ่งกำลังใส่บาตร) และเขาไม่ได้เชื่อว่า การฆ่าคนบ้าหรือคนชั่วเป็นสิ่งเลวร้าย เพราะความเป็นมนุษย์ในตัวคนคนนั้นไม่มีแล้ว เหลือแต่ความเป็นปีศาจหรือสัตว์เดรัจฉาน 


มหายานเน้นการเปลี่ยนแปลงคน

ขณะที่หนังผีแบบเถรวาทใช้ความรุนแรงหรือความตายอย่างโหดเหี้ยมมาข่มขวัญควบคู่ไปกับการสอนศีลธรรม โดยเชื่อว่า ความกลัวผีอาจทำให้คนไม่กล้าทำความชั่ว ต่างกับหนังศาสนาที่มีแนวคิดมหายาน เช่น “ไซอิ๋ว” ที่หงอคงพยายามแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการฆ่าปีศาจ แต่ถูกพระถังซำจั๋งห้ามด้วยการสวดมนต์รัดเกล้าให้ปวดหัว คนไทยที่ดูเรื่องนี้อาจรู้สึกว่าพระถึงซำจั๋งโง่ ยังจะปกป้องปีศาจที่จะมาฆ่าตัวเอง แต่เพราะมหายานเชื่อว่า เราต้องพัฒนากุศโลบายในการเปลี่ยนคน (เพราะเขามีโพธิจิต เพียงแต่ถูกกิเลสปิดบังไว้) การฆ่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ ไม่ว่าเขาจะเลวร้ายปานใดก็ตาม (ถึงขั้นเป็น ปีศาจ) บารมี 6 ข้อปัญญาของมหายานจึงไม่ได้หมายถึงแค่เขาใจสุญตา แต่รู้อุบายเพื่อขนสรรพสัตว์ออกจากความทุกข์ด้วย (ย้ำว่า ผ่านการสอน ไม่ใช่การฆ่า)

หนังเรื่อง “จี้กง” มักจะลงโทษคนชั่วด้วยโทษที่เบากว่ามาก ในฐานะที่จี้กงเองเป็นคนมีฤทธิ์ แม้จะถูกวางแผนฆ่า เขาก็เลือกลงโทษแค่ทำให้ผู้นั้นปวดท้อง หรือท้องป่องเช่นกับสตรีที่ใกล้คลอด สุดท้ายตนก็รักษาด้วยการให้ท่องบทสวดมนต์คุณธรรม และหลายคนก็เปลี่ยนชีวิตได้โดยไม่ต้องให้ผีมาหลอก 


ผีสะท้อนถึงการลงโทษที่รุนแรง

ตัวอย่างเรื่องผีในสังคมไทยที่ยกมาสะท้อนถึงการขาดตรรกะในการลงโทษ ระดับความรุนแรงที่เขาควรได้รับ การให้อภัย ตลอดจนกุศโลบายในการเปลี่ยนคนผิดให้กลายเป็นคนดี ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ การต้องฆ่าให้ตายในกรณีเหล่านั้นยังถูกให้การรับรอง/ความชอบธรรมผ่านเรื่องกฎแห่งกรรมของศาสนา บางคอมเม้นท์ในยูทูปพูดชัดว่า “กูสะใจจริงๆ ที่มันตาย กรรมตามสนองมันแล้ว” แนวคิดเหล่านี้ยังนำไปสู่การลงโทษคนในชีวิตประจำวันหรือสนับสนุนให้ประหารชีวิตคนชั่ว มากกว่าจะเสนออุบายหรือชวนให้คิดวิธีว่าจะช่วยเขาอย่างไรให้เปลี่ยนตัวเองได้ เพราะการถูกลงโทษ ไม่ว่าจะในระดับเดียวหรือมากกว่าที่เขาได้ทำ ถือเป็นความยุติธรรมอยู่แล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net