สุรพศ ทวีศักดิ์: ขจัดอนาคตใหม่กับต้นทุนที่ต้องจ่าย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพื่อขจัด “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์” สองพี่น้องตระกูลชินวัตร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องฉีกรัฐธรรมนูญไปถึง 2 ฉบับ ผ่านรัฐประหาร 2549 และ 2557 ถามว่านอกจากขจัดสองพี่น้องตระกูลชินออกจากประเทศไปได้แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้และเสียอะไร

ผลได้รูปธรรมคือ แกนนำ พธม.ตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” แต่เมื่อลงเลือกตั้งปี 2554 ก็ไม่ได้รับเลือกแม้แต่คนเดียว แกนนำ กปปส.ตั้งพรรคการเมืองก็ได้ ส.ส.มาเพียง 5 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ขณะที่ประชาธิปัตย์แพ้เกินคาดหมาย ส่วนพลังประชารัฐที่ประกาศหนุนประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯต่อ ก็ยังแพ้พรรคเพื่อไทย ดังนั้น ผลคะแนนนิยมจากประชาชนก็ยังแพ้ฝ่ายตรงข้ามอยู่ดี   

ผลได้นามธรรมคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประสบผลสำเร็จในการปกปครองด้วยการสร้างความหวาดกลัว ที่ดำเนินการผ่านรัฐประหาร 2549 การสลายการชุมนุม 2553 รัฐประหาร 2557 และการใช้คำสั่ง กฎหมายของ คสช.ปิดปาก ไล่ล่า ดำเนินคดี จับฝ่ายคิดต่างปรับทัศนคติ เข้าคุก และถูกกดดันให้หนีออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองขยายวงกว้างเกินกว่าที่ คสช.จะเอาอยู่

แต่ผลได้นามธรรมดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่สิ่งยั่งยืน เพราะประชาชนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวตลอดเวลา ยังมีประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่พยายามใช้กลวิธีหลากรูปแบบในการลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่สิ้นสุด ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าในยุคศตวรรษที่ 21 การปกครองด้วยการสร้างความหวาดกลัวกับความเชื่อถือศรัทธาไม่อาจไปด้วยกันได้

ส่วนผลเสียรูปธรรมนั้นมากเกินคณานับ ระบอบประชาธิปไตยถูกพังไปถึง 2 ครั้ง เกิดความแตกแยกของประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐประหาร เกิดการสูญเสียชีวิตและอิสรภาพของประชาชนทั้งสองฝ่ายผ่านเหตุรุนแรงในการชุมนุม, การสลายการชุมนุม และการปราบปรามฝ่ายคิดต่างโดยอำนาจรัฐ (แน่นอนว่าฝ่ายเสื้อแดงสูญเสียมากกว่า) และประเทศเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของประชาธิปไตย

ผลเสียนามธรรมคือ ความเสื่อมลงอย่างมากของความเชื่อถือศรัทธาในสถาบันหลักๆ ของสังคมว่ายังมีสถาบันใดๆ ดำรงความเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่ายได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันจารีต สถาบันการเมือง กองทัพ ศาล องค์กรอิสระ สื่อมวลชน กระทั่งสถาบันศาสนา

ดังนั้น การขจัดสองพี่น้องตระกูลชิน หรือการทำลายสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” จึงเป็นการใช้ต้นทุนที่สูงมากเกินจะประเมินได้ ดังอุปมาที่ว่า “พังบ้านตัวเองเพื่อไล่จับหนูเพียงตัวสองตัว” ยิ่งกว่านั้นเมื่อบ้านถูกพังลงแล้วแต่ยังจับหนูไม่ได้จริง เมื่อหวนกลับสู่การเลือกตั้งทีไร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังแพ้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนเช่นเดิม

นอกจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะแพ้ “คู่ปรับเก่า” แล้วยังเกิด “คู่ปรับใหม่” คือ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ชูอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยชัดเจนและแหลมคมมากกว่า การได้ ส.ส.(ประมาณ) 80-87 เสียงของอนาคตใหม่ ที่สมาชิกพรรคไม่มีอดีต ส.ส.เลย เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายและไม่ธรรมดา เพราะวาระทางการเมืองของอนาคตใหม่คือการสร้างกระแสนิยมจาก “คนรุ่นใหม่” ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย การแก้ปัญหาโครงสร้างผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งแปลว่าคะแนนเสียงสนับสนุนอนาคตใหม่สะท้อนความต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมากกว่าที่จะอยู่กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ “ธนาธร” และ “ปิยบุตร” หัวขบวนของอนาคตใหม่จึงต้องถูกสกัดหรืออาจถูกกำจัดในทุกวิถีทาง

คำถามก็คือ อะไรคือต้นทุนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องจ่ายในการขจัดอนาคตใหม่

หากเทียบกับการขจัดสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอาจได้รับความชอบธรรมในสายตาของกองเชียร์อยู่มาก เพราะข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันและอื่นๆ ทั้งจริงบ้างเท็จบ้างมีคนเห็นคล้อยตามจำนวนมาก นี่จึงเป็นเหตุให้ทำรัฐประหารสำเร็จต่อเนื่องถึงสองครั้ง

แต่ขณะที่ทำรัฐประหารสำเร็จ รัฐบาลจากรัฐประหารก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามข้อเรียกร้องของ พธม.และ กปปส.แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นรัฐบาลที่ไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบเลย ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงความผิดพลาดของขบวนการทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งขบวน ดังนั้นต้นทุนความศรัทธาเชื่อถือในฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงลดลงทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรมดังกล่าวแล้ว

ในการขจัดอนาคตใหม่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีเพียงข้อกล่าวหาหลักประการเดียวคือ “ล้มเจ้า” ซึ่งหลายปีมานี้ คนที่พอรู้เรื่องการเมือง ต่างก็รู้ๆ กันว่าเป็น “ข้อหาปลอม” หรือไม่มีมูลความจริงอยู่เลย

ความจริงมีเพียงความเห็นต่างในสาระสำคัญของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เท่านั้น ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าในยุครัฐบาลเลือกตั้งก็เรียกเป็นทางการว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในยุครัฐบาลจากรัฐประหารก็เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และถือว่าการอ้างสถาบันกษัตริย์เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองและอ้างทำรัฐประหารแบบที่ทำๆ กันมานั้น เป็นการแสดงความจงรักภักดีและแสดงออกถึงการปกป้องสถาบันที่ควรทำหรือทำได้อย่างเป็นปกติ

แต่อนาคตใหม่ (น่าจะรวมเพื่อไทยและประชาชนส่วนใหญ่ด้วย) มองต่างออกไปว่า ในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้นจึงเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ตามเป็นจริง โดยอนาคตใหม่ยืนยันว่า “ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”[i] ที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Constitutional Monarchy” และอยู่เหนือความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง จึงต้องไม่มีการอ้างสถาบันกษัตริย์เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง อ้างกล่าวหากันทางการเมือง และอ้างทำรัฐประหารแบบที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป ขณะเดียวกันกองทัพก็ต้องออกไปจากการแทรกแซงการเมือง หยุดการทำรัฐประหารอย่างถาวร ทหารเป็นทหารอาชีพมีหน้าที่ป้องกันประเทศและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าเรามองอย่างตรงไปตรงมาด้วยจิตใจที่เที่ยงธรรม ระบอบประชาธิปไตยแบบที่อนาคตใหม่ยืนยันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์แน่นอน แต่เป็นระบอบที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนยั่งยืนไปด้วยกันได้อย่างแท้จริง

ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังพยายามขจัดอนาคตใหม่ให้สำเร็จได้จริงๆ ด้วยข้อกล่าวหาล้มเจ้าหรือเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้นทุนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องจ่าย ย่อมหมายถึงการสูญเสียความศรัทธาเชื่อถือจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่ง “คนรุ่นใหม่” ก็ไม่ได้ใหม่แค่ “อายุ” มีทั้งคนมีอายุมากที่มีความคิดก้าวหน้าจำนวนมาก และคนอายุน้อยจำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาในโลกการสื่อสารไร้พรมแดนที่มีความคิดก้าวหน้าและมีแนวโน้มจะมีความคิดก้าวหน้าได้มากกว่าด้วย

นอกจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะประสบกับ “ความเสื่อมศรัทธา” ที่มีมากอยู่แล้วในระดับที่มากขึ้นไปอีก การขจัดอนาคตใหม่ ยังต้องมี “ต้นทุนอนาคตของประเทศ” ที่จะถูกทำให้เสียโอกาสไปอย่างไม่มีอะไรชดเชยได้อีกด้วย นั่นคือ อนาคตของประเทศที่สถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนยั่งยืนไปด้วยกันได้ และการจบความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อเป็นฐานตั้งต้นในการสร้างสังคมที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และมีระบบสวัสดิการด้านต่างๆ ที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วย

พูดให้ชัดคือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบที่อนาคตใหม่ยืนยัน คือประชาธิปไตยที่เปิด “พื้นที่” ให้ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายเสรีนิยมและอื่นๆ มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมในการแข่งขันกันทางความคิดและนโยบายเพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ขึ้น โดยที่ทุกคนทุกฝ่ายเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน จบสิ้นรัฐประหารอย่างถาวร ไม่มีนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิด ไม่มีใครต้องติดคุกหรือหนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศอีกต่อไป

ดังนั้น อนาคตใหม่จะต้องไม่ถูกอำนาจมืดใดๆ ขจัดทิ้ง พรรคการเมืองอื่นๆ และประชาชนที่รักเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและต้องการสร้างอนาคตที่ดีกว่าของประเทศที่ทุกคน ทุกฝ่ายที่คิดต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน จะต้องยืนเคียงข้างอนาคตใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนทุกคน

 

 

 

 

อ้างอิง

 

[i] คำให้สัมภาษณ์ของปิยบุตร แสงกนกกุล ในรายการ “ต่างคนต่างคิด” https://www.youtube.com/watch?v=jYFxYEfo71Q

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท