สหรัฐฯ ขู่จะค้านมติยูเอ็นต้านการข่มขืนในสงคราม อ้างภาษาสื่อสนับสนุนทำแท้ง

รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขู่ว่าจะวีโต้ หรือคัดค้านร่างมติสหประชาชาติที่ต่อต้านการใช้การข่มขืนเป็นอาวุธในการสงคราม เหตุไม่พอใจที่จะมีการให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เผชิญความรุนแรงทางเพศผ่านคลินิคการวางแผนครอบครัว โดยอ้างว่าเป็นการสนับสนุนการทำแท้ง ขณะที่ตัวแทนยุโรปบางส่วนพยายามผลักดันร่างมตินี้

โดนัลด์ ทรัมป์ บนเวทีสหประชาชาติ(ที่มา: Official White House Photo by Joyce N. Boghosian)

24 เม.ย. 2562 สื่อเดอะการ์เดียนรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนักการทูตยุโรปว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขู่ว่าจะวีโต้ หรือคัดค้านร่างข้อมติของสหประชาชาติเรื่องการต่อต้านการใช้การข่มขืนในฐานะอาวุธทางการสงคราม เนื่องจากไม่เห็นด้วยในเรื่องการใช้ภาษาเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และเพศสภาพ

ทูตเยอรมนีหวังว่าข้อมติของยูเอ็นในเรื่องการต่อต้านความรุนแรงทางเพศในความขัดแย้งจะได้รับการรับรองในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อวันที่ 23 เม.ย. แต่ร่างข้อมติดังกล่าวก็ถูกตัดข้อความสำคัญออกบางส่วนคือเรื่องการจัดตั้งกลไกเพื่อตรวจสอบและรายงานการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อน เนื่องจากประเทสสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน คัดค้านการจัดตั้งฝ่ายตรวจสอบในเรื่องนี้

แม้จะมีการตัดข้อความเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบออกแล้ว แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงโหวตคัดค้านร่างมตินี้โดยอ้างว่าไม่พอใจที่มีข้อความระบุถึงการให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เผชิญความรุนแรงทางเพศผ่านทางคลินิคการวางแผนครอบครัว โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีการยืนกรานต่อต้านเอกสารยูเอ็นฉบับใดก็ตามที่มีการส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (sexual and reproductive health) จากสาเหตุเพราะคำเหล่านั้นสื่อถึงการสนับสนุนการทำแท้ง นอกจากนี้รัฐบาลทรัมป์ยังต่อต้านการใช้คำว่า "เพศสภาพ" (gender) ด้วย โดยอ้างว่าเป็นการส่งเสริมสิทธิของคนข้ามเพศในแบบเสรีนิยม

ปรามิลา แพตเทน ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นในประเด็นความรุนแรงทางเพศภายใต้สงครามความขัดแย้งกล่าวว่าสหรัฐฯ ขู่จะโหวตคัดค้านเนื่องด้วยสาเหตุไม่พอใจเรื่องการใช้ภาษาเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ แต่ตัวร่างยังยืนยันจะมีการใช้ภาษานี้ต่อไป เธอบอกว่ามันจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวเองอย่างมากถ้าหากมีการพูดถึงแนวทางแบบเน้นผู้เผชิญการข่มขืนเป็นศูนย์กลางแต่กลับไม่มีภาษาสื่อถึงบริการเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งแพตเทนมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

เดอะการ์เดียนระบุว่าจากเอกสารข้อมติที่พวกเขาได้รับระบุถึงเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยในเอกสารระบุว่า "คณะบุคคลของสหประชาชาติและผู้บริจาคควรจะจัดหาให้มีบริการสุขภาพในแบบที่ครอบคลุมและไม่กีดกันเลือกปฏิบัติ รวมถึงสุขภาวะทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาวะทางจิตสังคม การสนับสนุนทางกฎหมายและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงบริการภาคส่วนอื่นๆ หลายภาคส่วนที่จะจัดหาให้กับผู้เผชิญความรุนแรงทางเพศ โดยมีการคำนึงถึงเรื่องความต้องการเฉพาะด้านของคนพิการด้วย"

ขณะที่สหรัฐฯ ต่อต้านการระบุถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ หลายประเทศในยุโรปได้แก่เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ก็ยืนยันว่าควรจะมีการระบุถึงเรื่องนี้ ไม่ควรจะละเลยการที่จะให้ผู้เผชิญความรุนแรงทางเพศสามารถเข้าถึงการวางแผนครอบครัวหรือคลินิคสุขภาวะทางเพศได้ เพราะการละเลยในเรื่องนี้จะเป็นการทำลายความก้าวหน้าของการยอมรับเรื่องสิทธิสตรีตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ทูตที่ให้ข่าวในเรื่องนี้กล่าวว่าสหรัฐฯ เคยเป็นฝ่ายที่ปกป้องเรื่องนี้มาโดยตลอด มีเพียงรัฐบาลทรัมป์ในตอนนี้ที่หันไปอยู่ฝ่ายเดียวกับรัสเซีย ศาสนจักรแห่งวาติกัน ซาอุดิอาระเบียและบาห์เรนทำลายความก้าวหน้าที่ถูกสร้างมาโดยตลอด

ร่างมติฉบับล่าสุดของสหประชาชาติมีความสำคัญตรงที่ยอมรับงานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เป็นทางการด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง อย่างไรก็ตามแพตเทนบอกว่าระบบในปัจจุบันยังไม่มีช่องทางที่เสมอต้นเสมอปลายมากพอในการทำให้เรื่องความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นที่สนใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ถ้าหากมีกลไกที่เป็นพิธีการเช่นมีการประเมินการปฏิบัติตามหลักการหรือการเสนอบทลงโทษก็จะทำให้กลุ่มที่ทำงานด้านสตรีทั้งในหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ แต่ในร่างมติปัจจุบันแพตเทนมองว่ากลไกที่เป็นพิธีการถูกตัดออกไปแล้วทำให้มันเป็นร่างมติที่อ่อนมาก

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ที่มีสงครามและความขัดแย้งย่อยๆ ปะทุในหลายภูมิภาคทั่วโลกประปราย จะเห็นการใช้การข่มขืนเป็นยุทธวิธีที่ถูกใช้ในการสงคราม พล.อ.แพทริค แคมเมิร์ต อดีตผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นในคองโกตะวันออกกล่าวถึงยุทธวิธีที่ใช้การข่มขืนว่ามันอาจทำให้การเป็นผู้หญิงนั้นเสี่ยงอันตรายกว่าการเป็นทหารในช่วงสงคราม "คุณทำลายชุมชน คุณลงทัณฑ์พวกผู้ชาย และลงโทษผู้หญิงด้วยการทำมันต่อหน้าเหล่าผู้ชาย"

ภาพสะท้อนหนึ่งของความรุนแรงทางเพศเช่นว่าคือสงครามในบอสเนียที่เริ่มเมื่อปี 2535 เมื่องกองกำลังชาวเซิร์บโจมตีบางพื้นที่ในประเทศบอสเนียโดยมีเป้าหมายจะทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบอสเนีย หนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้ล้างเผ่าพันธุ์คือการข่มขืน โดยให้ผู้หญิงชาวบอสเนียตั้งครรภ์กับทหารชายชาวเซอร์เบีย เหล่าผู้บังคับบัญชากองกำลังชาวเซิร์บปัจจุบันถูกนำขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศไปแล้ว

แมนเฟรต โนวัก ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในประเด็นการทรมาน การดูแลและการลงโทษที่ทารุณ ไม่มีมนุษยธรรมระบุว่า การข่มขืนเป็นการทรมานเสมอและเหยื่อก็ได้รับอันตรายทางจิตวิทยา

ประเด็นการทำแท้งเป็นที่ถกเถียงในสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ปัจจุบันแต่ละมลรัฐมีแนวทางการสนับสนุนและจำกัดการทำแท้งอยู่หลายแบบ ทำให้การทำแท้งมีระดับความยากง่ายและเงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่ว่ายืนอยู่บนพื้นฐานต่ำที่สุดว่าการทำแท้งทำได้ในภาวะที่ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการมีชีวิตรอด (ที่มา: Guttmacher Institute)

เรียบเรียงจาก

US threatens to veto UN resolution on rape as weapon of war, officials say, The Guardian, Apr. 22, 2019

Rape: Weapon of war, OHCHR 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท