สนช. หัวร้อน อัด กสม. โผล่พื้นที่การเมือง 'อังคณา’ แจงไปสังเกตการณ์ตามหน้าที่

ตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. เดือดในสภาหลังฟังรายงาน กสม. ประจำปี ระบุ มีตัวแทน กสม. ไปเอี่ยวการเมือง ไปปรากฏตัวในพื้นที่การเมือง-คนถูกคดีอาญา ไปโชว์ตัวทำไม ถ้ามาร่วมรายงานในสภาจะโดนถล่มมากกว่านี้ ด้านตัวแทน กสม.แจง เป็นหน้าที่ต้องไปสังเกตการณ์ ทำมานานแล้ว ‘อังคณา’ ผู้ไปสังเกตการณ์คดีปิยบุตรชี้ ไปทำงานตามหน้าที่ เช็คว่าได้รับสิทธิที่พึงได้หรือไม่ ที่ผ่านมา กสม. ก็ไปดูม็อบทุกฝ่ายเป็นธรรมดา

ซ้ายไปขวา: ตวง อันทะไชย อังคณา นีละไพจิตร (ที่มาภาพ บล็อกสมาชิก สนช. แฟ้มภาพประชาไท)

24 เม.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 2562) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 28/2562 ในการพิจารณาระเบียบวาระที่ 6.4 รายงานการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยประจำปี 2561 และรายงานผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประจำปีงบประมาณ 2561

ผู้รับผิดชอบการนำเสนอรายงานนำโดยประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการ กสม. โสพล จริงจิตร เลขาธิการ กสม. หรรษา บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. และชุลีพร เดชขำ ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

หลังการนำเสนอรายงานทั้งสองฉบับ ประธานสภาได้เปิดให้สมาชิก สนช. อภิปรายและตั้งข้อสังเกต โดยมีผู้ใช้สิทธิอภิปรายทั้งสิ้นสามคน ตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. อภิปรายเป็นคนที่สอง ระบุว่าสิ่งที่ชอบมากในการรายงานคือการพูดถึงเรื่องในอนาคตอย่างการนำพาผู้สูงอายุให้เข้าถึงสิทธิ และพัฒนาแนวทางแก้ไขการละเมิดสิทธิเด็ก จะทำอย่างไรให้คนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

ตวงกล่าวต่อไปว่า มีประเด็นฝากสืบเนื่องจากข้อแจ้งหน้า 170 ถึงปัญหาและอุปสรรค ที่ กสม. บอกสภาว่ามีปัญหาเรื่องการไม่ได้รับความร่วมมือ ติดต่อ ครม. ก็ไม่แจ้งกลับมา ไม่ว่าจะอ้างกฎหมายแค่ไหนแต่คนจะมีศรัทธาต่อกลไกและองค์กรนั้นถ้าองค์กรสร้างศรัทธาต่อผู้คนได้ก็จะมีอำนาจที่ได้รับจากกฎหมาย ถ้าใช้อำนาจเพื่อผู้อื่น เพื่อสาธารณะ อำนาจนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าใช้กับพวกพ้องหรือสหาย อำนาจนั้นจะเสื่อม และยังกล่าวถึงประเด็นที่มีคณะกรรมการ กสม. ไปปรากฏตัวในที่สาธารณะทางการเมืองโดยเชื่อว่าเป็นการเกี่ยวข้องทางการเมือง

“ท่านประธานที่เคารพ ประเด็นสำคัญที่ผมจะฝาก ผมไม่กล้าเตือน ฝากไว้ให้ท่านพึงตระหนักว่า ถ้าท่านยังปล่อยไว้อย่างนี้มันจะเกิดความเสื่อมในองค์กรของท่าน มีตัวแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ไปปรากฏตัวในที่สาธารณะของทางการเมือง ไปปรากฏตัวต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามคดีอาญาด้วยตัวเขาเอง คณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ควรไปปรากฏตัวตรงนั้น ท่านจะอ้างว่าไปเพราะสนิทชิดเชื้อส่วนตัวก็ไม่เป็นไร เป็นความชอบของท่าน แต่มันทำไม่ได้ ท่านแยกไม่ได้เพราะท่านคือ กสม.”

“ท่านประธานทราบไหมครับว่าจะเกิดคำถามอะไร ประชาชนทั่วไป ยายมี ตาสี ตาสาเขาจะเกิดคำถามว่า เอ้า เวลาฉันทำผิดคดีอาญาผมไม่เห็นกรรมการสิทธิฯ มานั่งกับผม ไปโรงพักกับผม ไม่ไปอยู่กับผม ทำไมกรรมการสิทธิฯ ต้องเลือกไปอยู่กับคดีอาญาบางคดีที่เป็นพรรคการเมืองบางพรรค ท่านคงทราบนะ ผมไม่เอ่ยชื่อท่าน ดีนะที่ไม่มา ถ้ามาโดนถล่มมากกว่านี้”

“มือข้างขวาของท่านกำลังจะสร้างศรัทธาในตัวผู้คน มือข้างซ้ายของท่านทำลายองค์กรของท่านโดยตัวท่านเอง ถ้าจะให้กำลังใจท่านโทรศัพท์ไปก็ได้ ไม่ต้องไปปรากฏตัว เพราะมันเป็นคำถามต่อสาธารณะ มันทำให้องค์กรของท่านเสื่อมโดยอัตโนมัติ มันคือการเมือง”

“ช่วงเวลาสี่ซ้าห้าปีที่ผ่านมา เพียงอ้างว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย ก็สามารถละเมิดสิทธิคนอื่น ไปทำร้าย ทำลายคนอื่น เอา M79 ไปยิงคนอื่นได้ ท่านเห็นไหม ผมถามว่าทำไมกรรมการสิทธิฯ ต้องไปเลือกข้าง จะต้องไปยืนชูตัวเอง ชื่นชมท่าน (ที่) ไม่ไป ท่านไปก็โดนเหมือนกัน จึงกราบเรียนท่านเพื่อได้โปรดกอบกู้และฟื้นฟูศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นการเมือง ถ้าเป็นคดีอาญาที่เขากระทำเอง เขาจะต้องไปรับผิดชอบเอง ไม่ใช่กรรมการสิทธิฯ ไปเป็นตัวการันตี”

“กรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองที่รัฐไปละเมิดสิทธิของประชาชน ถูกไหมครับ ที่ประชาชน คนยากจน คนยากไร้ที่อยู่ในซอกหลืบที่ไม่มีอำนาจถูกละเมิด ที่ท่านกำลังทำถูกแล้ว แต่ที่ท่านไปโชว์ตัวเพื่อการันตี เขาเป็นพรรคการเมือง เขาเป็นนักการเมือง เขากระทำผิดอาญาโดยตัวเขาเอง ผมพูดเอาไว้เพราะท่านเป็นกรรมการแห่งชาติ เพราะท่านคือกรรมการสาธารณะ เพราะท่านคือความหวังของผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้ยากจน คนยากไร้ นักธุรกิจก็ตามต้องพึ่งท่าน” ตวงกล่าว

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. อภิปรายต่อจากตวงว่า การที่ กสม.ไปปรากฏตัวเป็นเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ ทีนี้ก็ยังมีเรื่องต่างประเทศ ยอมรับว่าสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศอย่างในยุโรป โดยเฉพาะประเทศอย่างฝรั่งเศสที่เป็นต้นตำรับเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนรายมาตราแต่ก็เขียนในคำปรารภซึ่งเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญและสามารถใช้กับกฎหมายทุกฉบับ

แต่กรณีนั้นเอามาใช้กับบ้านเราก็จะมีปัญหา เพราะว่าประเทศเรา ประชาชนทุกคนโดยทั่วไปไม่ได้มีสิทธิ เสรีภาพ ไม่ได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องตัวบทกฎหมายหรือเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเท่ากันกับประเทศทางยุโรป ฉะนั้นทางยุโรปจึงใช้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากับประเทศเรา โดยเฉพาะกรณีของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และเรื่องของสิทธิมนุษยชนถูกนำไปปรากฏในองค์กรใหญ่คือองค์การสหประชาชาติ เป็นกรณีที่นำเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหากับบ้านเมืองเรา ซึ่งตรงนี้ทาง กสม. เองก็ต้องระวังบทบาททางด้านนี้ เชื่อว่าทาง กสม. เองคงเข้าใจดีว่าเครื่องมือที่ต่างประเทศใช้เป็นกลไกในการบีบประเทศเราเกิดจากอะไร เกิดอย่างไร คิดว่าอยู่ที่การวางตัวของ กสม. เองกับเรื่องต่างๆ ซึ่งจะนำเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ

“อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งก็เป็นหน้าที่หนึ่งของ กสม. ที่ต้องไปดูเรื่องนี้ แต่ว่าสิทธิ เสรีภาพในหมวด 3 เป็นสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตราที่ 253 เขียนเอาไว้ว่าประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สามารถใช้ช่องทางศาล รัฐธรรมนูญเพื่อเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพได้ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้ช่องทางนี้เอาไว้ในผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเป็นผู้กลั่นกรอง ว่าด้วยสิทธิของประชาชนที่คิดว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ “

“ประเด็นนี้คืองานที่หนักส่วนหนึ่งของ กสม. เพราะหน้าที่ของท่านในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นสิทธิที่มีมาแต่กำเนิด ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ว่าสิทธิ เสรีภาพ มันเป็นไปตามกฎหมายที่เขียนเอาไว้ในแต่ละประเทศ ในประเทศเราเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ 3 ทั้งหมวด แล้วก็นอกจากทั้งหมวดแล้ว ยังเขียนว่า นอกจากที่เขียนไว้ในมาตราต่างๆ แล้ว สิทธิ เสรีภาพอื่นๆ ก็ถูกผนวกรวมอยู่ด้วย ก็คือสิทธิ เสรีภาพทุกชนิด เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นภาระงานที่หนักขึ้น และผมก็คิดว่าถ้าประชาชนเราเรียนรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพของตัวเอง ก็จะใช้ช่องทางนี้ในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพมากขึ้น ก็กลัวว่าจะเป็นงานหนึ่งที่จะเพิ่มภาระของผู้ตรวจการแผ่นดินและ กสม. ทั้งในเรื่องของการรณรงค์ เรื่องการให้ความรู้ต่อประชาชน ฝากเอาไว้ตรงนี้ด้วยเพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ประชาชนใช้ช่องทางร้องเรียนถึงหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

หลังสิ้นการอภิปราย ชาติชายชี้แจงว่าการปรากฏตัวของ กสม. ท่านหนึ่งในการดำเนินคดีอาญาคดีหนึ่งนั้น โดยหน้าที่ กสม. มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง การรวบรวมข้อเท็จจริงนั้นรวมไปถึงการเฝ้าระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเฝ้าระวังทำได้หลายอย่างซึ่งอาจรวมไปถึงการสังเกตการณ์ ในความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งในอดีต กสม. ก็มีการสังเกตการณ์ การสังเกตการณ์นั้นจะดำเนินโดยคณะกรรมการ กสม. หรือเจ้าหน้าที่ กสม. ส่วนจะเปิดเผยตัวหรือไม่ก็แล้วแต่สถานการณ์ ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่างๆ

ครั้งที่พูดถึงเมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งของการดำเนินการ แต่เส้นขีดแบ่งระหว่างความเหมาะสมจะเป็นอย่างไร ในสายตาคนที่เกี่ยวข้องก็จะมองเห็นต่างกันได้ก็ต้องยอมรับด้วยความเคารพ แต่จะเป็นข้อหนึ่งที่จะทำให้ กสม. ใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่และดำเนินการตามที่มีบทบาทหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่า กสม. ทำหน้าที่อย่างไม่ตรงไปตรงมา

‘อังคณา’ ระบุ ไปสังเกตการณ์ปิยบุตรตามหน้าที่ เช็คว่าเข้าถึงสิทธิตามสมควรหรือไม่

ด้านอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. ผู้ที่ไปสังเกตการณ์การรับฟังข้อกล่าวหากรณีแถลงการณ์ต่อการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) เมื่อ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเธอไปสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามหน้าที่ของ กสม. ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่ง กสม. ก็มีการสังเกตการณ์เช่นนี้ในการชุมนุมทางการเมือง การดำเนินคดี การจำคุกรวมไปถึงการจัดการเลือกตั้งมาก่อนแล้วเป็นเรื่องปกติ

“ปกติก็จะให้เจ้าหน้าที่ กสม. ไปแล้วบันทึกมาอย่างที่มีการชุมนุมทุกครั้งก็จะมีเจ้าหน้าที่ กสม. ทุกครั้งและทุกฝ่ายเป็นหน้าที่การเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในวันที่ปิยบุตรมารับฟังข้อกล่าวหาที่ ปอท. เป็นวันเปิดทำงานวันแรกหลังหยุดยาว ระหว่างวันหยุดติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่คนอื่นไม่ได้ เมื่อเปิดทำงานวันที่ 17 จึงไปเอง”

อังคณากล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเลือกตั้งก็มีเจ้าหน้าที่ กสม. ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายพื้นที่ เพื่อดูว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทำหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เป็นการเก็บข้อมูล มองว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของปิยบุตรเรื่องการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และก็ทราบว่าศาลรัฐรรมนูญเป็นผู้เสียหาย แต่ คสช. มาฟ้องต่อ ปอท. ซึ่งเธอไปดูว่า ปอท. ให้ปิยบุตรเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับ อย่างการฟังข้อกล่าวหาพร้อมทนายความ พร้อมคนที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวน มีสิทธิแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่และต้องชื่นชมทางเจ้าหน้าที่ ปอท. ที่กำกับดูแลให้ปิยบุตรเข้าถึงสิทธิให้ทนายและผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบสวน และไม่ต้องมีการประกันตัว ซึ่งถือว่าเหมาะสม

ต่อข้อสังเกตว่าเลือกข้างทางการเมืองกับผู้มีคดีอาญาติดตัว อังคณาตอบว่า ตามหลักแล้วต้องสันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษา จะปฏิบัติตัวกับผู้นั้นเสมอผู้กระทำผิดไม่ได้ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นพรรคการเมืองใด ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนขั้วแล้วใครถูกดำเนินคดีแบบนี้ กสม. ก็ต้องไปดูว่าได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามสิทธิหรือไม่

“ไปก็นั่งเงียบ ไม่ได้อ้าปาก ไปนั่งฟัง และได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าไปสังเกตการณ์ปิยบุตรมารับทราบคำกล่าวหา และไม่ได้พูดอะไร แค่คุยกับเจ้าหน้าที่ ปอท. ว่าปิยบุตรได้สิทธิอะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าเขาคือนักการเมืองต่างขั้วกับรัฐบาล” อังคณากล่าว

“คนนอกอาจจะไม่รู้ว่า กสม. มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงในเรื่องการเฝ้าระวัง ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการแบบนี้มาโดยตลอด ความขัดแย้งทางการเมืองปี 2553 ก็มีเจ้าหน้าที่รวมถึงคณะกรรมการบางคนไปอยู่ในพื้นที่ รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ควรดีใจด้วยซ้ำที่มี กสม. ไปสังเกตการณ์ สมมติว่าหากปิยบุตรหรือกองเชียร์บอกว่าได้รับการดูแลไม่ดี ทาง กสม. จะได้บอกว่าไม่จริง เขาได้รับสิทธิตามกฎหมาย” กรรมการ กสม. กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บางส่วนของการรายงานสถานการณ์สิทธิในการประชุมดังกล่าวมีใจความว่า ภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามส่งเสริม คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ แก้ปัญหาการละเมิด โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำและการส่งเสริม เพิ่มศักยภาพ

ในส่วนข้อเสนอแนะ มีผู้ร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมายัง กสม. มาก เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังขอให้มีการบัญญัติ ร่างพิจารณาป้องกันและปราบปรามและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  

ประเด็นเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีข้อจำกัดจาก คำสั่ง คสช. ที่ยังมีอยู่ หรือคำสั่งที่ออกโดย ม.44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ตามหลักแล้วเสรีภาพดังกล่าวมีข้อจำกัดได้โดยมีเงื่อนไขบางประการ รวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม แต่ต้องมีการตีความโดยเคร่งครัด รัฐบาลควรระมัดระวังการใช้กฎหมายประเภทนี้

ในทางสถิติ ปี 2561 มีการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เห็นสมควรให้มีการตรวจสอบรวม 232 เรื่อง มีการร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมากสุด 80 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 34.48 พื้นที่ร้องเรียนสูงสุดคือภาคใต้ จำนวน 104 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.83

ในปี 2561 ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเสร็จสิ้น 445 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องก่อนปี 2561 385 เรื่อง และเรื่องในปี 2561 อีก 50 เรื่อง เป็นเรื่องที่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 45 เรื่อง มีเรื่องที่ตรวจแล้วไม่มีการละเมิด แต่มีข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะ 59 เรื่อง และเป็นเรื่องที่ยุติการตรวจสอบเนื่องจากผู้ร้องขอถอนเรื่อง หรือ กสม. เห็นว่าควรได้รับแก้ไขโดยหน่วยงานรัฐอื่น 342 เรื่อง

เจริญศักดิ์ ศาลากิจ ผู้แทนคณะกรรมาธิการการเมือง สนช. อภิปรายว่า รายงานประเมินในปีต่อไปควรมีการเสนอ วิเคราะห์ทั้งในด้านที่ก้าวหน้าและถดถอย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มาแล้ว และมีข้อสังเกตว่าการรายงานต่างๆ ของ กสม. ไม่ว่าประกาศ แถลงการณ์ในไทย ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ในเวทีต่างประเทศ และบางครั้งการขยายความก็สะเทือนกับสถานการณ์ในประเทศ ขอให้ กสม. ระวังในเรื่องดังกล่าว โดยเรื่องที่หน่วยงานอื่นใช้เวลาดำเนินการเนิ่นช้าในเรื่องการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นขออย่าให้ท้อถอย ทั้งนี้ ทุกกิจกรรม การเคลื่อนไหวของ กสม. อยุ่ภายใต้การจับจ้องดูแลจากเวทีต่างประเทศ ขอให้คิดได้และได้คิดในทุกๆ เรื่อง ซึ่งสองคำนี้มีความสำคัญยิ่ง คิดได้คือคิดก่อนทำ ส่วนคำว่าได้คิด เมื่อตระหนักรู้ก็ควรปรับปรุงแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายกับสถานการณ์ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท