Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประเทศไทยกำลังขจัดความอดอยากให้หมดไป ข่าวนี้อาจจะทำให้หลายคนตกใจ แต่มันคือเรื่องจริง

นี่ไม่ใช่ความอดอยากทั่วไป แต่มันคือ ‘ความอดอยากหนังสือ’  มันเป็นสถานการณ์ที่ ‘คนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์’ มีโอกาสเข้าถึงหนังสือ ตำราเรียน และ สิ่งพิมพ์อื่นๆ ในรูปแบบที่พวกเขาสามารถ “อ่าน” ได้น้อยมาก เนื่องด้วยอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาการตาบอด การบกพร่องทางการเห็น หรือ การอัมพาต ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องใช้ ‘รูปแบบที่ทำให้เข้าถึงสิ่งพิมพ์’ รูปแบบอื่นๆ เช่น อักษรเบรลล์ หนังสือเสียง หนังสืออิเล็กทรอนิก และสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่

เมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไทยได้ทำหน้าที่เพื่อยุติความอดอยากหนังสือ ด้วยการร่วมลงนามในสนธิสัญญามาร์ราเคช (Marrakesh Treaty) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสิ่งพิมพ์สำหรับคนตาบอด คนที่บกพร่องทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562 นี้

สหภาพคนตาบอดโลก (World Blind Union) คาดการณ์ว่าหนังสือน้อยกว่าร้อยละ 10 ถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่คนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์สามารถเข้าถึงได้ และน้อยกว่าร้อยละ 1 ในประเทศกำลังพัฒนา การขาดรูปแบบที่ทำให้สามารถเข้าถึงสิ่งพิมพ์ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ นอกจากนี้ อุปสรรคดังกล่าวยังเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ได้มีการศึกษาอย่างเพียงพอ มีงานที่มั่นคง ชื่นชมวัฒนธรรม และเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างเต็มที่

ในประเทศไทย สถิติแสดงให้เห็นว่าคนพิการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ยกตัวอย่างเช่น คนพิการที่ได้รับการศึกษาระดบสูงมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ในขณะที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ราวร้อยละ 16 ประเทศไทยมีประวัติที่ดีในการรักษาอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นสำหรับคนทั่วไป แต่อัตราการว่างงานของคนพิการพุ่งสูงถึงร้อยละ 60 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปรับปรุงการจ้างงานของคนพิการในปีที่ผ่านมา

ความแตกต่างและการกีดกันดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อคนพิการในการพัฒนาศักยภาพและใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ยังทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับการกีดกันคนพิการจากตลาดแรงงาน (การศึกษาต่ำเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กีดกันคนพิการจากตลาดแรงงาน) จำนวนร้อยละ 0.69-4.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2550 กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและต่อประเทศโดยรวมอย่างมหาศาล

รัฐบาลไทยเข้าใจเรื่องผลเชิงบวกในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการ และยังพยายามทำตามสัญญาระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิคนพิการ ตัวอย่างสำคัญเช่น ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการในปีพ.ศ. 2559 (ประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่เข้าร่วม) และได้ร่วมลงนามสนธิสัญญามาร์ราเคชในปีนี้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการทำตามหลักการ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และ ‘เข้าถึงคนที่อยู่หลังสุดได้ก่อนใคร’ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030

สนธิสัญญามาร์ราเคชได้รับการรับรองในปี พ.ศ.2556 เพื่อยุติความอดอยากหนังสือ ด้วยการสร้างกรอบทางกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยข้อยกเว้นและข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ สนธิสัญญานี้ทำให้การผลิตและเผยแพร่รูปแบบสำเนาหนังสือเพื่อคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น ทั้งในและระหว่างประเทศ

เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ในประเทศไทย “หน่วยงานที่ได้รับอนุญาต” ซึ่งรวมถึง หน่วยงานราชการ ห้องสมุด และ องค์กรคนพิการ สามารถผลิตและเผยแพร่สำเนารูปแบบของงานลิขสิทธิ์ที่ได้มาตามกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ในขณะเดียวกัน สนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้สำเนารูปแบบที่เข้าได้จะต้องถูกใช้โดยคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น

สนธิสัญญามาร์ราเคชจะช่วยให้การเข้าถึงความรู้และข้อมูลในประเทศไทยมีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยการขยายการจัดเก็บสำเนารูปแบบที่ทำให้เข้าถึงสิ่งพิมพ์ พร้อมใช้งาน และการเข้าถึงทั่วประเทศ นอกจากนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวจะช่วยสร้างห้องสมุดจำลองสำหรับคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงหนังสือ ตำราเรียน วรสาร และสิ่งพิมพ์อื่นๆในรูปแบบที่พวกเขาสามารถ “อ่าน”ได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับคนทั่วไปที่สามารถไปโรงเรียนหรือห้องสมุดสาธารณะเพื่ออ่านและยืมหนังสือ

ภายใต้สนธิสัญญามาร์ราเคช ประเทศไทยสามารถเข้าถึงสำเนารูปสิ่งพิมพ์จำนวนมากจากประเทศอื่นๆ (เกือบ 80 ประเทศและกำลังเพิ่มขึ้น) รวมถึงสหรัฐอเมริกา (ในต้นเดือนหน้า) สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งนี้ จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษา การงาน และวัฒนธรรมให้กับคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนภาษาต่างประเทศ วรรณกรรม หรือผู้ที่กำลังศึกษาด้านวิทยาศาสตร์

สุดท้ายนี้ สนธิสัญญามาร์ราเคชจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการตอบสนองต่อความพิการของประเทศไทย โดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานใหม่ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์กฎหมายลิขสิทธิ์และอุตสาหกรรมการพิมพ์ สนธิสัญญาดังกล่าวช่วยเปลี่ยนการรับรู้ของคนทั่วไปเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการ เปลี่ยนจากความเชื่อที่ว่านี่เป็นเรื่องของการกุศลไปสู่เรื่องสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนจากความเชื่อที่ว่านี่คือภาระทางการเงินไปสู่เรื่องการลงทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง

ในยุคแห่งสังคมสูงวัย ประชากรมีความเสี่ยงที่เกิดความพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น ดังนั้น ใครๆก็สามารถใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญานี้ได้ ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ในปีพ.ศ. 2574 ซึ่งเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดจะเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี

การเข้าร่วมสนธิสัญญามาร์ราเคชของไทยในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ คนทั่วไป และภาคอุตสาหกรรมจะเป็นตัวตัดสินว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนดินแดนแห่งความอดอยากหนังสือให้เป็นสยามเมืองยิ้มสำหรับทุกคนหรือไม่

 

 

 

หมายเหตุผู้เขียน: ความเห็นที่แสดงไว้ในที่นี้ไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของรัฐบาลไทยหรือคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net