Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องน่ายินดีที่เพิ่งผ่านมาคือ ชัยชนะของผู้ใช้แรงงานในคดีฟ้องร้องทวงสิทธิที่ถูกบริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด เอารัดเอาเปรียบมานาน โดยศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ให้บริษัทลินฟ้อกซ์ฯ จ่ายค่าจ้างที่เป็นค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดประจำปีให้แก่พนักงานขับรถบรรทุกที่ถูกเลิกจ้างไปเมื่อปี 2556 รวมแล้วหลายล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 15% นับตั้งแต่วันเลิกจ้าง

เชิด ครเพ็ง อดีตคนขับรถบรรทุกลินฟ้อกซ์ สาขาวังน้อย ตัวแทนฝ่ายโจทก์จำนวน 70 คนให้สัมภาษณ์ถึงการเอารัดเอาเปรียบสิทธิประโยชน์ของคนขับรถบรรทุกกับความเหนื่อยยากในการดำเนินคดีกับบริษัทลินฟ้อกซ์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัสไปยังโลตัสทั่วประเทศ จากเดิมคนงานไม่รู้สิทธิของตน หลงเชื่อนายจ้างมาตลอดว่าค่าเที่ยวนั้นได้รวมค่าทำงานล่วงเวลาทั้งในวันทำงานปกติและวันหยุดทุกประเภทครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อรู้ทันนายจ้างก็ร่วมกันฟ้องศาลแรงงาน ทวงสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งหมดกลับคืนมา

พนักงานรวมตัวกันฟ้องร้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานกลางและการรับกลับเข้าทำงานด้วย เนื่องจากผู้บริหารประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หลังการเจรจาข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างระหว่างลูกจ้างสาขาลำลูกกา ปทุมธานีกับนายจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ไม่ประสบผลสำเร็จ กรณีน้าเชิดถูกปลดออกจากงานถึง 3 ครั้ง ซึ่งฝ่ายนายจ้างยอมรับต่อศาลว่าปลดงานผิดพลาด (คือปลดเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และออกเอกสารปลดงานย้อนหลังเดือนมกราคม 2556 สร้างความสับสนแก่โจทก์และผู้พิพากษา)

 ในส่วนคดีแพ่ง มีการฟ้องค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ทั้งหมด 79 คน ซึ่งในขั้นตอนแรก มีการไกล่เกลี่ยกันระหว่างสองฝ่าย และมีคนงานยอมรับข้อเสนอนายจ้าง รับเงินไปแล้ว 9 คน


สิทธิที่หายไปของพนักงานขับรถบรรทุก

เชิด ครเพ็ง (ต่อไปเรียก น้าเชิด) เล่าต่อว่า คนขับรถบรรทุกส่วนใหญ่จบ ป.4 ไม่รู้สิทธิของตนเอง วันๆ ทำแต่งาน ขับรถไปทั่วทุกสารทิศ แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ มีปัญหาตามมาที่เป็นสาเหตุให้พนักงานลินฟ้อกซ์ฟ้องนายจ้างได้ไม่หยุดหย่อน ไม่เพียงแต่คดีนี้ ยังมีคดีก่อนหน้าอีกเป็นจำนวนมากและจะมีอีกในอนาคตหากไม่แก้ปัญหาตามที่พนักงานเรียกร้อง

สำหรับคดีน้าเชิด ผู้เขียนขอสรุปตามเอกสารคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ได้รับจากตัวแทนโจทก์ ข้อถกเถียงหลักๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นศาลคือ ปัญหาการคิดคำนวณค่าเที่ยวของนายจ้างลินฟ้อกซ์ ที่ไม่เป็นไปตามกับสิทธิของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

เริ่มต้น คนงานทั้ง 70 คนขอให้บริษัท 1) รับคนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและสภาพการจ้างเดิม พร้อมจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราเดือนสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน 2) หากไม่รับกลับให้บริษัทชำระค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ 3)ให้บริษัทชำระค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง ซึ่งเป็นค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

  • การไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลแรงงานต้องพิจารณาคดีใหม่เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังมาไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามมาตรา 56 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 และศาลฎีกาคำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างและฐานะทางกิจการของนายจ้างตามมาตรา 48 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 รวมทั้งนำประเด็นค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติและวันหยุด ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้พิจารณาคดีของโจทก์ใหม่ ยกเว้นประเด็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังต่อไปนี้

  1. สิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและเงินเพิ่มตามคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 70 คน ภายในช่วงเวลา 2 ปีย้อนหลัง (2554-2555)นับแต่วันฟ้องของคนงาน
     
  2. สภาพการจ้างของลูกจ้าง อัตราค่าจ้าง จำนวนวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดประจำปีที่บริษัทจัดให้
     
  3. การตีความค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ หรือเป็นค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ (Over time) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (2541) ออกตามความมาตรา 6 และมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
     
  4. เงื่อนไขในการจ่ายค่าเที่ยวให้แก่คนขับรถบรรทุก และวิธีการคำนวณ (ตามระยะทางหรือระยะเวลาในการขับรถ) ลักษณะการเหมาจ่ายค่าเที่ยวนั้น บริษัทจ่ายค่าเที่ยวโดยให้ส่วนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ 8 ชั่วโมง และอีกส่วนที่เหลือเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาซึ่งเชื่อว่าถูกต้องแล้ว

ผลการพิจารณาประเด็นของโจทก์

ประเด็นที่ 1 สภาพการจ้างของลูกจ้างและสิทธิในวันหยุด

น้าเชิด ตัวแทนโจทก์ ได้ให้การว่าเป็นลูกจ้างประจำ มีรายได้เป็นเงินเดือน มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีจำนวน 14 วันและหากทำงานครบ 1 ปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 10 วันในปีถัดไป ซึ่งตรงกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ส่วนวันหยุดประจำสัปดาห์คือ สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 1 วันโดยให้คนงานผลัดเปลี่ยนกันหยุด รวมทั้งพนักงานจะได้รับค่าจ้างในวันหยุดเท่ากับวันทำงานตามปกติ ส่วนสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี บริษัทให้ปีละ 10 วัน ส่วนการทำงานในวันหยุดทั้งสามประเภท มีข้อมูลการทำงานของคนงานในใบงาน (work sheet) ในแต่ละวันตั้งแต่ปี 2554-2556

ใบงานที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง ลูกจ้างต้องลงชื่อปฏิบัติงานตามใบงานทุกครั้ง ซึ่งในใบงานจะระบุสถานที่ส่งสินค้า เวลาทำงาน และพนักงานขับรถต้องลงวันที่ที่กลับและเวลาสิ้นสุดการทำงานในใบงาน และนายจ้างจะลงบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ จำนวนวันทำงานทั้งหมดจึงปรากฏอยู่ในใบงาน

ประเด็นที่ 2 การตีความค่าเที่ยวและวิธีคำนวณ

นายจ้างอ้างว่า ค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนสำหรับการทำงานในเวลาทำงานปกติและทำงานเกินเวลาทำงานปกติ (Over time) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (2541) ออกตามความ ม.6 และ ม.12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ[1] ซึ่งค่าเที่ยวคำนวณหาค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานปกติ 8 ชั่วโมงแล้วนำไปเป็นฐานคำนวณค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ซึ่งไม่ได้คำนวณจากระยะทางเริ่มต้นและสิ้นสุด คือคิดค่าทำงานเป็นรายชั่วโมง แต่เงินค่าเที่ยวของบริษัทไม่ได้คิดถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน[2] คือ ในการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะต้องมีการคิดค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าครึ่งในวันทำงานปกติ, ทำงานในวันหยุดจ่ายเพิ่มจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า และค่าล่วงเวลาในวันหยุด จ่ายเพิ่มไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ แต่นายจ้างคิดเหมาจ่ายโดยไม่แยกประเภทวันหยุด

ค่าเที่ยวในความหมายของนายจ้างจึงเป็นการคิดเหมาค่าทำงานล่วงเวลาในการทำงาน ที่คลุมเครือเรื่องวันหยุด เพราะในใบงานไม่ระบุการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทำให้โจทก์ต้องมาตรวจสอบวันตามปฏิทินตั้งแต่ปี 2554-2556 เพื่อคำนวณค่าล่วงเวลาใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังกล่าว

ท้ายสุด ศาลคิดค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติให้โจทก์ 1เท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงคูณกับจำนวนชั่วโมงที่ทำ ยกตัวอย่างของน้าเชิด เมื่อปี 2554 มีอัตราเงินเดือนๆ ละ 6,475 บาท เท่ากับวันละ 215.83 บาท (อัตราชั่วโมงทำงานปกติ 26.97 บาท) ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 40.45 (26.97x1.5 เท่า) ในเดือนพฤษภาคม จำนวนวันทำงาน 31 วัน จำนวนชั่วโมง OT รวม 267 ชั่วโมง ค่า OT ช.ม.ละ 40.45 บาท คิดเป็นเงินทั้งหมด 10,800.15 บาท

สำหรับค่าล่วงเวลาในวันหยุดทั้ง 3 ประเภท น้าเชิดทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ 42 วัน, ทำงานในวันหยุดประเพณี 7 วัน และทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วันรวมทั้งหมด 59 วัน (59x215.83 บาท) คิดเป็นเงิน 12,733.57 บาทในปี 2554 นั่นคือ ศาลคิคค่า OT ในวันหยุด 1 เท่าของค่าจ้างวันทำงานปกติ 8 ชั่วโมง ซึ่งในความเป็นจริงน้าเชิดให้การไปแล้วว่า ทำงานในวันหยุดเกิน 8 ชั่วโมง ทว่าการพิจารณาของศาลคำนึงถึงฐานะแห่งกิจการของนายจ้างตลอดจนสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

จากการคิดค่าทำงานล่วงเวลาของน้าเชิดก็ได้นำไปเป็นฐานคิดคำนวณอีก 32 คน แม้ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด 3 ประเภทจะขาดหายไป ซึ่งสามารถอุทธรณ์ต่อได้ แต่ตัวแทนฝ่ายโจทก์ไม่ติดใจ และไม่สามารถยืดเวลาต่อสู้ได้อีกแล้ว อีกทั้งไม่มีทนายความ จึงยุติเพียงเท่านี้


ความลำบากในการต่อสู้คดี

ประสบการณ์การขึ้นศาลของน้าเชิดสอนใจมาตลอดถึงหลายเรื่อง ได้แก่ ความไม่ไว้ใจทนายฝ่ายตน การต้องรู้ทันทนายฝ่ายจำเลย การสื่อสารกับเพื่อนร่วมฟ้อง ความแตกแยกในหมู่โจทก์ การเก็บเอกสารหลักฐานทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ในชั้นศาล ไม่ใช้หลักฐานเท็จ และจุดยืนที่มั่นคง ไม่โลเลกับผลประโยชน์อันเล็กน้อยที่บริษัทหยิบยื่นให้ และความเจ็บช้ำในระบบยุติธรรมที่น้าเชิดทิ้งท้ายว่า เขาสามารถเป็นพยานได้ทุกเมื่อ หากเพื่อนร่วมอาชีพต้องการ เพื่อไม่ให้เพื่อนๆ ลำบาก และหากเราต้องการเขาไว้เป็นพยานสำหรับการปฏิรูประบบศาลในอนาคต ความลำบากในการต่อสู้ที่สำคัญคือ

  1. การเปลี่ยนทนายความฝ่ายโจทก์

น้าเชิดเล่าว่า ได้เปลี่ยนทนายความมาถึง 3 คน อีกทั้งยังแพ้คดีในศาลชั้นต้นซึ่งตัดสินยกฟ้องคำร้องของโจทก์

เริ่มต้น ถอนทนายความคนแรกอย่างเป็นทางการกับนิติกรของศาลแรงงานกลาง เพราะมีความคิดไม่ตรงกัน มองว่าการว่าความของทนายไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนงาน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อคดี ก่อนการตัดสินพิพากษาในศาลชั้นต้น คดีทำท่าจะแพ้ น้าเชิดจึงเริ่มคิดที่จะเปลี่ยนทนาย และเมื่อแพ้คดีจึงเปลี่ยนทนาย และขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยให้แนะนำทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งสามารถหาทนายความคนใหม่ได้และเขียนอุทธรณ์คำร้องจนสำเร็จ ทำให้ศาลสั่งให้ย้อนสำนวนมาหาศาลชั้นต้นเพื่อหาข้อเท็จจริงใหม่ นั่นคือ ศาลอุทธรณ์สงสัยคำตัดสินของศาลชั้นต้นจึงขอนับหนึ่งใหม่ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสืบพยาน น้าเชิดเล่าว่า ทนายคนที่สองพยายามไกล่เกลี่ยโน้มน้าวตัวแทนโจทก์ให้รับเงินตามที่บริษัทเสนอ ซึ่งน้าเชิดไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากค่าชดเชยต่ำกว่าความเป็นจริงมาก บริษัทเสนอให้เพียง 50,000 บาทในขณะที่ตนจะต้องได้หลายแสนบาท ดังนั้น ในระหว่างนี้ น้าเชิดและศิริชัย แตงมีแสง ตัวแทนโจทก์อีกคนหนึ่งจึงคิดที่จะถอนทนาย แต่ทนายได้ถอนตัวไปก่อน

จากนั้น น้าเชิดจึงไปปรึกษาหารือกับพรรคพวกเพื่อนฝูงและได้ติดต่อกับทนายอาสาคนหนึ่ง เมื่อเริ่มสืบพยาน ซึ่งรอบนี้ตัวแทนฝ่ายโจทก์ได้ตั้งประเด็นคำถามให้ทนายช่วยตั้งคำถามตนในศาล เนื่องจากมีประสบการณ์ในชั้นศาลและทนายยังใหม่ ไม่ทราบรายละเอียดก่อนหน้านี้ แต่ผลคือ ทนายไม่ยอมตั้งคำถามตามที่โจทก์ต้องการ และทำท่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ จึงเถียงกันในระหว่างให้การ ผู้พิพากษาเล็งเห็นว่าจะทะเลาะกันระหว่างทนายกับลูกความและอาจเกิดเหตุการณ์ถอนทนายกลางศาลอย่างที่ผ่านมา  จึงอนุญาตให้น้าเชิดตั้งคำถามตัวเองและตอบเองจนจบ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 นับจากนั้นมาลูกความและทนายก็ไม่ติดต่อกันอีกเลย

  1. กลุ่มโจทก์คนงานแตกออกเป็น 2 กลุ่ม

ในระหว่างที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนมาให้ศาลแรงงานสืบพยานใหม่ คนงานแตกออกเป็นสองกลุ่ม คือมีกลุ่มของน้าเชิด 33 คนและอีกกลุ่ม 37 คนซึ่งกลุ่มหลังรับเงินก่อนศาลพิพากษาไปแล้ว 2 เดือน สำหรับกลุ่มของน้าเชิด 33 คนได้รับเงินตามคำสั่งของศาล ซึ่งน้าเชิดมองว่า เป็นที่น่าเสียดายที่คนงานอีกกลุ่มรับเงินจากบริษัทเพียงหลักหมื่น

น้าเชิดทิ้งท้ายว่า “ต้องอดทนต่อสู้ ต้องไม่ยอมให้เงินฟาดหัวเด็ดขาด แม้จะลำบากเรื่องเงิน กอปรกับสุขภาพของภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะขอสู้เพื่อเพื่อนร่วมอาชีพต่อไป”

​​​​​​​

ข้อคิดจากการต่อสู้คดีในชั้นศาล        

คำพิพากษาดังกล่าวมีนัยถึงปัญหาสภาพการจ้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทลินฟ้อกซ์ฯ  ที่แม้จะมีบางอย่างเปลี่ยนไป แต่เรื่องสิทธิประโยชน์ยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการตรวจสอบมาตรฐานแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานของบริษัทขนส่งโลจิสติกส์แห่งอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ จะเห็นว่าการต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานด้วยการฟ้องร้องเป็นคดีความใช้เวลายาวนาน และเป็นภาระของตัวแทนโจทก์อย่างมาก ซึ่งผู้เขียนมองว่า ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายแรงงานที่อยู่ในสถานะด้อยกว่านายจ้าง เดือดร้อนยิ่งกว่านายจ้าง ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ แรงงานจึงควรหาทางป้องกันปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ การฟ้องร้องคดีอีกนับไม่ถ้วน ด้วยการเจรจากับนายจ้าง ให้แก้ปัญหาเรื่องสิทธิและมาตรฐานแรงงานในระดับอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์ให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นอย่างต่ำ การเจรจาของฝ่ายแรงงานภาคขนส่งจึงต้องรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง และให้การศึกษาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หลุดพ้นจากวังวนสภาพที่เป็นอยู่ ใครทนได้ก็ทนไป ใครทำงานอดหลับอดนอนได้ ก็ทำไป ในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ

 

อ้างอิง

[1] จากข้อ 6 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลา หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว

[2] มาตรา 61 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันทํางานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือ .........

มาตรา 62 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทํางานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

  1. สําหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําหรือ…..
  2. สําหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือ…….

มาตรา 63 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือ......

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net