Skip to main content
sharethis

เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.0 ในปี 62-63 จากเดิมที่เคยเติบโตร้อยละ 6.3 เมื่อปี 61 ซึ่งเป็นผลจากแรงลมต้านเศรษฐกิจโลกและจากการที่จีนมีนโยบายชะลอการเติบโตทางศรษฐกิจ ขณะที่ไทยและเวียดนามจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจของภูมิภาคยังคงรอดพ้นจากความผันผวนทางการเงินเมื่อปี 61 ได้เป็นอย่างดีเพราะเนื่องจากกรอบนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง รวมถึงเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายด้านผลผลิต อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น และนโยบายการคลังที่เข้มแข็ง

ภาพจาก Google Maps

24 เมษายน 2562 รายงาน East Asia and Pacific Update เดือนเมษายน 2562 ภายใต้ชื่อ การจัดการลมต้านเศรษฐกิจโลกที่เปิดตัววันนี้พบว่า ในขณะที่ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกผ่อนคลายลง การค้าโลกปีนี้น่าจะเติบโตแบบชะลอตัวลง นอกจากนี้ รายงานยังนำเสนออีกว่า ความต้องการบริโภคภายในประเทศของภูมิภาคนี้ยังคงเข้มแข็ง ซึ่งช่วยทดแทนผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง

“การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้สามารถรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยืดหยุ่นจะช่วยให้ความยากจนลดลง ซึ่งถือว่าก็ได้ลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์แล้ว ภายในปี 2564 เราคาดว่าอัตราความยากจนขั้นนรุนแรงจะลดลงต่ำว่าร้อยละ 3” วิกตอเรีย กวาวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีก 500 ล้านคนในภูมิภาคนี้ที่ยังขาดความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนอีกครั้ง  เรื่องนี้ยังคงเป็นความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึง”

ประเทศจีนยังคงใช้นโยบายเพื่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 6.2 ในปี 2562-2563 ลดลงจากร้อยละ 6.6 เมื่อปี 2561 เศรษฐกิจของมาเลเซียและอินโดนีเซียคาดว่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยและเวียดนามจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ในส่วนฟิลิปปินส์นั้น การอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลประจำปี 2562 ที่ล่าช้าอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควรในปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2563

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กในภูมิภาคนี้คาดว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยให้ศรษฐกิจของ สปป. ลาวและมองโกเลียเติบโตดีขึ้น เศรษฐกิจของกัมพูชานั้นคาดว่าจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะเติบโตช้าลงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคจากภายนอกประเทศอ่อนตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้  ส่วนเมียนมานั้น คาดการณ์ว่านโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะสั้น และคาดว่าการปฏิรูปโครงสร้างจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะปานกลาง  เศรษฐกิจของปาปัวนิวกินีคาดว่าน่าจะดีขึ้นในปีหน้าเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา  ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟีจีนั้นคาดว่าจะสดใสอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในทิศทางที่ช้าลง เนื่องจากความพยายามในการฟื้นฟูบูรณะหลังจากโดนพายุไซโคลนถล่มใกล้สำเร็จแล้ว

“ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในด้านบวก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักว่าภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความกดดันทางเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และยังสามารถส่งผลกระทบด้านลบได้อีก  ความไม่แน่นอนยังคงเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย รวมทั้งการที่ชะลอตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า  โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางการค้าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข” แอนดรู เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ลมต้านจากเศรษฐกิจโลกเหล่านี้ต้องมีการจัดการอย่างแข็งขัน”

ในการที่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่นี้ รายงานได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดในการรับมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้น รายงานได้เรียกร้องเพิ่มความสามารถการนโยบายการคลัง โดยการเพิ่มเงินสำรองต่างประเทศซึ่งได้ลดลงหลังจากมีการจัดการลดอัตราความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเมื่อปี 2561 นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับนโยบายการเงินให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เนื่องจากเงินทุนไหลออกนอกประเทศได้ลดลงอย่างมาก รายงานนี้ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มผลิตภาพ กระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสที่ดีกว่าสำหรับภาคเอกชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ‘ทุนมนุษย์’ ของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ มีความเสี่ยงบางประการที่เพิ่มขึ้นเน้นให้เห็นถึงการลงทุนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้านโครงการทางสังคมและการประกันเพื่อปกป้องกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ทุกวันนี้ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกให้ความคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมกลุ่มคนยากจนที่สุดเพียงร้อยละ 20 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ

รายงานนี้ยังได้เน้นถึงประเด็นสำคัญของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกที่ต้องจัดการเรื่องความมั่นคงด้านหนี้สาธารณะให้ได้ด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าหนี้สาธารณะของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ปัจจัยด้านโครงสร้าง รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวที่อยู่ระดับปานกลาง ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติสูง และบริการภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าสูงส่งผลให้ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมีความเสี่ยงจากความยุ่งยากในเรื่องหนี้สาธารณะสูง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net