Skip to main content
sharethis

รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มาภาพ เว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

25 เม.ย. 2562 รักษชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึง ความคืบหน้าการชี้แจงคำร้องการเลือกตั้งโมฆะของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่า กกต. ได้ส่งคำชี้แจงมาแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. โดยเจ้าหน้าที่จะนำคำชี้แจงมาเทียบเคียงคำร้อง ขณะนี้ เรามีหลายคำร้อง ล่าสุดวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งคำร้องมาในประเด็นที่คล้ายคลึงกับเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ที่ให้พิจารณาว่า มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ รวมทั้ง คำร้องการเลือกตั้งโมฆะ ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังประมูลข้อมูล

เรืองไกรยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน. หรือศาลปกครอง วินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ

“วันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.) เวลา 09.30 น.ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้นัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยพยานหลักฐานที่มีอยู่ เชื่อว่าน่าจะเพียงพอ จากนั้น จะแถลงให้ทราบว่า จะมีมติจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ตามปกติผู้ตรวจการฯ จะมีการประชุมทุก 2 สัปดาห์ในวันอังคาร แต่เรื่องนี้เราตระหนักเรื่องกรอบเวลาจึงจะพิจารณาโดยเร็ว” รักษเกชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า วานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไม่รับคำร้องของ กกต. กรณียื่นให้พิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญใต้บัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้วโดยการใช้สิทธิทางศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ผู้ร้องจึงไม่อาจ ยื่นคําร้องโดยตรงในประเด็นนี้โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ได้

ส่วนกรณีคำร้องที่ของให้พิจารณานั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) ว่า กรณีดังกล่าว เป็นหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทําหลังจากมีการประกาศผล การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว และข้อเท็จจริงตามคําร้องยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้หน้าที่และอํานาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว คําร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 44 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net