Skip to main content
sharethis

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ข้อร้องเรียนต่างๆ ของเรืองไกรเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้งของ กกต. นั้น กกต. ได้ทำหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัดตกยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่มีมติเอกฉันท์ยื่นตีความมาตรา 128 (สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส.) ขัดต่อ มาตรา 91 หรือไม่

26 เม.ย. 2562 รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการนำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงหลังประชุมพิจารณาคำร้องขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ที่ยื่นโดยเรืองไกร ลิกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งชี้ประเด็นถึงการดำเนินการต่างๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

รักษเกชา ระบุว่าคำร้องของเรืองไกร ซึ่งได้ยื่นมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. ชี้ว่าจำนวนบัตรเลือกตั้ง กับจำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ตรงกันโดยแตกต่างกัน 9 ใบ รวมทั้งการแถลงข่าวของ กกต. ที่ไม่สอดคล้องกัน ผู้ตรวจการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของ กกต. ยังเป็นเพียงการแถลงความเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น ยังไม่มีการแถลงข้อมูลที่เป็นทางการจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ส่วนกรณีการคำนวณ ส.ส. ในระบบบัญชรรายชื่อซึ่งเรืองไกรเห็นว่าอาจจะเป็นปัญหา ทางกกต. ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่รับคำร้องดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า จะต้องส่งคำร้องผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน

รักษเกชา กล่าวต่อไปถึงข้อร้องเรียนที่ กกต. ไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากประเทศนิวซีแลนด์มานับนั้น ในประเด็นนี้ก็มีคำวินิจฉัยของ กกต. ออกมาเรียบร้อยแล้วและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่าไม่มีการปิดประกาศผลคะแนนเลือกตั้งรายหน่วย ในทางปฎิบัติ กกต. ได้ชี้แจงว่า ที่หน่วยเลือกตั้งจะมีการปิดประกาศหลักฐานในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งประชาชนสามารถขอดูและติดตามได้อยู่แล้ว ไม่ได้มีการปิดบังประการใด ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการ นำคนต่างชาติมารวมอยู่ในทะเบียนราษฎร ผู้ตรวจการฯ พิจารณาพบว่า ในการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. นั้นเป็นเพียงการดำเนินการเพื่อดูว่าในเขตเลือกตั้งนั้นมีจำนวนราษฎรอยู่ทั้งหมดกี่คนซึ่งอาจจะเป็นไปได้ที่จะมีทั้งที่เป็นคนไทย และไม่ใช่คนไทย ซึ่งกระบวนการนี้เป็นไปเพื่อทำให้รู้ว่าพื้นที่นั้นมีจำนวนราษฎรมากน้อยเพียงใด และควรจะมี ส.ส. ทั้งหมดกี่คน ฉะนั้นกระบวนการนี้จึงถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย

รักษเกชา กล่าวต่อว่าอีก กรณีที่มีการร้องว่า มาตรา 128 ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ที่ประชุมผู้ตรวจการฯ ได้วินิฉัยแล้วพบว่า มาตรา 128 มีทั้งสิ้น 8 อนุมาตรา ขณะที่มาตรา 91 ตามรับธรรมนูญมี 5 อนุมาตรา ฉะนั้นเท่ากับว่ามีอนุมาตราใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เพิ่มมา 3 อนุมาตราคือ อนุมาตราที่ 4 6 และ 7 ซึ่งเป็นการขยายความเพิ่มจากรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่า การที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีการเพิ่มอนุมาตราขึ้นนั้น ทำให้การคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อมีปัญหา กล่าวคิอมาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net