ใบตองแห้ง: ดราม่าค่าโง่

ในประเทศนี้ เมื่อไหร่ที่ศาลตัดสินให้รัฐแพ้คดีเอกชน ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือค่าเสียหาย กระแสสังคมก็มักจะโวยวาย ว่าเป็น “ค่าโง่”

ทำไมล่ะ เอกชนชนะคดีบ้างไม่ได้หรือไร หรือรัฐต้องเป็นฝ่ายชนะ เป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ร่ำไป เพราะเป็น “ผลประโยชน์ชาติ”

แต่ละคดี ก็มีรายละเอียดทางกฎหมาย ต้องดูเหตุผลเป็นคดี ๆ ไป ไม่ใช่เหมารวม จนศาลถูกกดดัน ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก หากจะตัดสินให้เอกชนชนะ (กลับกัน รัฐชนะศาลก็เป็นพระเอก)

“ค่าโง่โฮปเวลล์” เป็นคดีล่าสุด ซึ่งหลายคนโวยทั้งที่ไม่เข้าใจ ประการแรก โครงการนี้ถูกมองเป็นมรดกคอร์รัปชัน ยุคบุฟเฟต์คาบิเนต มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีคมนาคม แต่เอาเข้าจริง นี่ไม่ใช่สาเหตุที่บอกเลิกสัญญา เพราะหลังรัฐประหาร 2534 ผ่านมาหลายรัฐบาล ก็ยังให้โฮปเวลล์ทำต่อ จนประสบปัญหาการเงิน สร้างต่อไม่ไหว บริษัทอ้างว่าการรถไฟฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จึงมีมติ ครม.ยุค พล.อ.ชวลิตให้บอกเลิกสัญญา และมาบอกเลิกเป็นทางการสมัยรัฐบาลชวน 2

ประการถัดมา สัมปทานโครงการใหญ่ มักตกลงให้ใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งศาลมีอำนาจจำกัด จะทบทวนคำชี้ขาดได้ต่อเมื่อ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” โดยที่ผ่านมา ศาลก็มักไม่ทบทวน คดีแรกที่ทบทวนคือค่าสัมปทานไอทีวี (ขัดศีลธรรมอย่างใหญ่หลวง)

เมื่อดูคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ แต่ละประเด็น ก็เห็นได้ว่ามีเหตุผล เช่น การบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามสัญญาข้อ 27.1 ใช้มติ ครม.บอกเลิกฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่การที่โฮปเวลล์ยอมออกจากพื้นที่ ก็เป็นการแสดงเจตนาสนองรับ สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย ต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม

ดังนั้น จึงชี้ขาดให้คืนค่าสัมปทานที่โฮปเวลล์ให้ไว้ 2,850 ล้านบาท คืนหนังสือค้ำประกัน 500 ล้านบาทซึ่งมีค่าธรรมเนียม 38 ล้านบาทเศษ และค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาทจากที่โฮปเวลล์เสียค่าใช้จ่ายไป 14,799 ล้านบาท เพราะเห็นว่าการรถไฟฯ ยังใช้ทรัพย์นั้นได้แม้ใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึง 100%

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องว่า สัญญาสัมปทานเช่นนี้ หากให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจบอกเลิกได้เองฝ่ายเดียว อาจเสี่ยงให้เกิดผลเสียหายร้ายแรง ต่อการจัดทำบริการสาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนรวม จึงต้องร้องศาลให้วินิจฉัย

สรุปคือ ยังไงก็ต้องจ่ายภายใน 180 วัน เพราะคดีถึงที่สุด ที่วิษณุ เครืองาม บอกจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา หาทางเจรจา ฯลฯ ล้วนไร้สาระ แต่ในทางการเมือง ถ้ารัฐบาลบอกว่าพร้อมจ่ายตามคำสั่งศาล ก็โดนด่าฐานไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ ต้องดราม่าเอาใจกระแสไว้ก่อน เหมือนบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่เกี่ยวให้ไปด่ารัฐบาลโน้น (แต่โลกโซเชียลก็สวนทันควัน ไว้รอค่าโง่เหมืองทอง)

เรื่องนี้ไล่เบี้ยเอาผิดใครได้ไหม ได้สิ แต่จะไปตกกับรัฐบาลที่บอกเลิกสัญญา ไม่ใช่ที่สงสัยกันว่าทุจริต เป็นแค่ความบกพร่องในการบอกเลิกผิดขั้นตอน แล้วต้องรับกรรม กระนั้นหากดูตามคำพิพากษา ก็น่าจะไม่ต้องชดใช้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นค่าสัมปทาน ที่เมื่อเลิกสัญญาก็ต้องคืนเขาไป ส่วนหนึ่งเป็นค่าก่อสร้าง ที่การรถไฟฯ ก็ใช้ประโยชน์

การพูดเรื่องดราม่าค่าโง่ โดยบอกว่าศาลตัดสินถูกแล้ว จ่ายเขาไปเถอะ นี่ก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน เสี่ยงโดนข้อหาไม่รักชาติ เข้าข้างนายทุน เข้าข้างคนโกง ฯลฯ ทั้งที่ว่าตามหลักนิติรัฐ รัฐต้องรักษาสัญญากับเอกชน ถ้าอ้างชาติแล้วไม่มีไม่หนีไม่จ่าย ใครจะมาลงทุนกับรัฐไทย

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/290667

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท