'ทวี สอดส่อง' ชี้ กกต. แจ้งความ 'พะเยาว์-เพนกวิน-จ่านิว' เอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจ

26 เม.ย. 2562 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชนชาติ ได้โพสต์เฟสบุ๊ค กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พะเยาว์ อัคฮาด (มารดาของพยาบาลกมนเกด ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในปี 2553) สิรวิชญ์ เสรีธวัฒน์ หรือจ่านิว และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ซึ่งได้ร่วมจัดกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอนเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา

'พะเยาว์-เพนกวิน-จ่านิว' จ่อเดินจากวัดปทุมฯไป สน.พญาไท หลัง กกต.เอาผิดปมล่าชื่อถอดถอน

โดยพ.ต.อ.ทวี ระบุว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พะเยาว์ อัคฮาด พยาบาลอาสา ได้สูญเสียน้องเกด หรือ กมนเกด อัคฮาด ลูกสาวผู้เป็นที่รักจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 ที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งเธอได้พยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้ลูกสาวของเธอมาตลอด และคราวนี้เธอยังคงเป็นนักสู้เพื่อความยุติธรรม โดยได้ร่วมกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะเธอมองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นไม่ยุติธรรมโปร่งใส แต่เธอกลับถูกฟ้องจากรัฐ ซึ่งล่าสุดเธอได้โพสต์ภาพและข้อความบนเฟสบุ๊ค 'Phayaw Akkahad' ระบุว่า ตนได้รับหมายเรียกจาก สน.พญาไท ผู้กล่าวหาคือ พินิจ จันทร์ฉาย หนึ่งใน กกต. มีผู้ถูกร้องทุกข์เอาผิดรวม 3 คน ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งพะเยาว์ยืนยันว่า ตนไม่เคยให้ร้ายใคร

พ.ต.อ.ทวีแสดงความเห็นต่อว่า กรณีข้างต้นถือว่า กกต.ไม่ยึดหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะการกระทำของทั้ง 2 ท่านถือว่าได้พยายามต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งผู้ที่น่าจะกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฏหมายคือรัฐ ในที่นี้หมายถึง กกต. และ ตำรวจ เพราะประชาชนมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่ได้มาจากหลักการประชาธิปไตย ยังบัญญัติให้ความคุ้มครองไว้ ดังนี้

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ หรือจากการกระทําความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
มาตรา 50 (10) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
มาตรา 63 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริม ให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

ประกอบกับ มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้น เป็นการทําเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดําเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชน หรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญคือศักดิ์ของกฏหมายที่ระบุให้รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด อยู่ในมาตรา 5 ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ กรณีที่เกิดกับพะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด กับน้องเพนกวิน เป็นสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โครงสร้างและบริบททางสังคม จะสะท้อนออกผ่านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่าง “การรักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคม” กับ “การแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของผู้ปกครอง” ซึ่งดูได้จากการการปฏิบัติว่า มีการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่? กฎหมายรัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่ากฏหมายใดๆ หรือไม่? และมีการธำรงไว้ถึงหลักนิติธรรม คือสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะละเมิดไม่ได้ แม้แต่กฏหมาย (เว้นแต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ) หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ "ไม่" กฎหมายก็จะเป็นเพียงเครื่องมือของผู้ปกครองที่ใช้เอาเปรียบและกดทับเสรีชน และคนไร้อำนาจ เพื่อแสวงหาและคงไว้ซึ่งอำนาจของผู้ปกครองเป็นหลักนั้นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท