Skip to main content
sharethis

บทสะท้อนการรื้อถอนบ้านกลางทะเลใน จ.ภูเก็ต ที่เจ้าของอาจถูกแจ้งความข้อหาละเมิดสิทธิอธิปไตยไทยที่มีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต-ประหาร  ดู seasteading คืออะไร มีตัวตนหรือไม่ ละเมิดอธิปไตย-กฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร และเมื่อกฎหมายระหว่างประเทศยังเป็นแค่เรื่องของ ‘ประเทศ’ อยู่ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าปัจเจกชนตัวเล็กแค่ไหน

เป็นข่าวครึกโครมเมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย. นี้ เมื่อกองทัพเรือภาคที่สาม อ.เมือง จ.ภูเก็ต เข้าตรวจสอบบ้านกลางทะเลที่ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งไทยประมาณ 12 ไมล์ทะล หลังรับทราบว่ามีการโฆษณาของบริษัท Ocean Builder บริษัทรับสร้างชุมชนที่อยู่อาศัยลอยน้ำกลางทะเลหรือที่เรียกว่า Seasteading (ซีสตีดิ้ง)

ทางกองทัพเรือได้ให้ทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความที่ สภ.วิชิต โดยจากหลักฐานบนสิ่งปลูกสร้างพบว่าผู้อยู่อาศัยเป็นชายชาวสหรัฐฯ ชื่อแชด เอลวาร์ทอฟสกี และหญิงชาวไทย สุปราณี เทพเดช หรือนาเดีย โดยทั้งสองอาจมีความผิดฐานละเมิดสิทธิอธิปไตยของไทย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 และละเมิดสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยที่มีเหนือเขตต่อเนื่องตามข้อ 56B และข้อ 60 วรรค 7 และวรรค 8 ของอนุสัญญากฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982

สื่อต่างประเทศรายงานว่าคู่สามีภรรยายังคงหลบซ่อนตัวอยู่ และทางบริษัทโอเชียนบิลเดอร์ก็ออกแถลงการณ์ว่าจะฟ้องศาลระหว่างประเทศหากมีการรื้อถอน อย่างไรก็ดี ทางการไทยได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและลากเข้าฝั่งแล้ว

ประเด็นหนึ่งที่น่าถอดบทเรียนจากการตั้งบ้านกลางทะเลคือความพยายามเอาตัวเองออกไปจากรัฐ อย่างที่เคยมีแนวคิดเรื่องการสร้างอาณานิคมในอวกาศ การตั้งถิ่นฐานในดินแดนห่างไกลของกลุ่มลัทธิ ไปจนถึงโจรสลัดในยุคกลาง หากไปให้สุด กรณีนี้ เรากำลังพูดถึงเสรีภาพในอีกรูปแบบที่ไปปะทะกับรัฐและข้อตกลงระหว่างประเทศโดยตรง

คำถามจึงตรงกับวลีดังช่วงเลือกตั้งว่า “แล้วมันผิดตรงไหน”

ประชาไทชวนถอดบทเรียนด้วยการทำความรู้จักความพยายามดีดตัวออกจากรัฐแบบ Seasteading ว่าไปปะทะกับเพดานของอำนาจอธิปไตยอย่างไร และทำไมการทำเช่นนี้ถึงไม่เป็นที่ยอมรับในทางกฎหมายทั้งไทยและต่างประเทศ

รู้จัก Seasteading ความพยายามดีดออกจากรัฐไปหาทะเลที่ยังเป็นหมัน

Seasteading ถูกพูดถึงอยู่บ้างแม้อาจไม่แพร่หลายในไทย มันคือแนวคิดการสร้างดินแดนใหม่บนน่านน้ำพร้อมกับระบบการบริหารจัดการการปกครองกันเองโดยต่อรองกับรัฐที่เป็นเจ้าของอาณาเขต หรือไม่ก็ไปสร้างกันในทะเลหลวง มีการจัดตั้งกันจริงจังเป็นสถาบันอย่าง The Seasteading Institute ที่ก่อตั้งโดยแพทรี ฟรีดแมน วิศวกรซอฟต์แวร์จากกูเกิล และปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้งเพย์พอล ระบบจ่ายเงินออนไลน์ชื่อดัง โดยเริ่มกันในซิลิคอน วัลเลย์ มหานครนวัตกรรมและเทคโนโลยีในสหรัฐฯ

สถาบันตั้งใจจะสร้างชุมชนลอยน้ำกลางท้องทะเลหลวง (มากกว่า 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรัฐใดๆ) ดินแดนที่เป็นอิสระในอุดมคติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบพลังงานลมและแสงอาทิตย์และวัตถุดิบรีไซเคิลจะถูกนำมาใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียน และการแยกออกจากรัฐเช่นนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นการทดลองค้นหาและสร้างสังคมทางเลือกที่ดีกว่าที่มีอยู่ คำอธิบายส่วนหนึ่งในเว็บไซต์ของสถาบันระบุไว้ว่า

“โลกจำเป็นต้องมีสถานที่ให้คนที่หวังจะทดลองสร้างสังคมใหม่ไปทดสอบความคิดนั้น แผ่นดินทั้งหมดบนโลกต่างถูกจับจองแล้ว ทำให้มหาสมุทรคือพรมแดนต่อไปของมนุษยชาติ”

จากข่าวใน business insider รายงานว่า เมื่อเปิดระดมทุนจากสาธารณะหรือคราวด์ฟันดิ้งในปี 2556 (หลังถูกปฏิเสธจากคนในซิลิคอน วัลเลย์) ก็ยังคงมีคนให้เงินสนับสนุนราว 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 865,000 บาท ทั้งนี้ สถาบันเคยประเมินว่าจะต้องใช้เงินราว 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการสร้างเมืองลอยน้ำ และใช้เงินอีกปีละ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการดำเนินการแต่ละปี เคยมีการขอความร่วมมือจากประเทศเฟรนช์โพลีนีเซียในการเป็นสถานที่ทดลองสร้างเมืองลอยน้ำนี้ในปี 2559 เพื่อเริ่มต้นทำโมเดลทดลองแบบที่ยังไม่ห่างไกลผืนแผ่นดินมากนักก่อน

การขอความร่วมมือไปถึงระดับเจรจากับรัฐบาลที่คิดว่าการมีเมืองลอยน้ำนี้อาจจำเป็นกับประเทศที่เป็นเกาะและได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่หลังจากสิ้นสุดสัญญาความร่วมมือฉบับแรกในปี 2560 ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

ละเมิดอธิปไตย-กฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร

การตั้งบ้านกลางทะเลในพื้นที่ดังกล่าวตกอยู่ในพื้นที่กฎหมายสองส่วน หนึ่ง กฎหมายของรัฐไทย และสอง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) ที่จำกัดความพื้นที่อาณาเขตของรัฐต่างๆ บนท้องทะเล ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกเมื่อ 15 พ.ค. 2554 โดยจำกัดความอาณาเขตรัฐบนท้องทะเลไว้ดังนี้

ทะเลอาณาเขต  อาณาเขตทางทะเลของรัฐชายฝั่ง ที่วัดความกว้างออกจากเส้นฐานตามที่รัฐชายฝั่งกำหนดขึ้น ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล โดยรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตครอบคลุมไปถึงห้วงอากาศ เหนือและใต้ผิวพื้นท้องทะเล

เขตต่อเนื่อง เป็นเขตที่อยู่ต่อจากเส้นขอบนอกของทะเลอาณาเขตออกไปอีก 12 ไมล์ทะเล ตาม UNCLOS กำหนดให้เขตต่อเนื่องขยายได้ไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล รัฐชายฝั่งมีอำนาจในการควบคุมเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้

1. ป้องกันมิให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อบังคับว่าด้วยศุลกากร การเข้าเมือง รัษฎากร และสุขาภิบาล อันจะทำให้เกิดในดินแดน หรือในทะเลอาณาเขตของตน และลงโทษผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าว

2. คุ้มครองวัตถุโบราณหรือวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นทะเลในเขตต่อเนื่อง

เขตเศรษฐกิจจำเพาะ บริเวณที่อยู่เลยไปจากและประชิดกับทะเลอาณาเขต โดยเขตเศรษฐกิจจำเพาะต้องไม่ขยายออกไปเกิน 200 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต 

(ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

หากไกลไปกว่านั้นก็เป็นทะเลหลวงซึ่งก็มีหลักเกณฑ์ในการใช้งานในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินเรือและการใช้เส้นทางการบิน

นวพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่ารัฐไทยยังมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายในเขตต่อเนื่องได้ดังนี้ และการสร้างหรืออนุญาตให้สร้างสิ่งก่อสร้างเป็นของรัฐชายฝั่งแต่เพียงผู้เดียว การดำเนินการของรัฐไทยตามกฎหมายในประเทศจึงไม่เป็นการขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ

อำนาจในการป้องกันมิให้มีการฝ่าฝืนกฏหมายและข้อบังคับของรัฐชายฝั่งเรื่องศุลกากร การเข้าเมือง รัษฎากรและสุขาภิบาล  และลงโทษต่อการฝ่าฝืนกฏหมายและข้อบังคับข้างต้น

การสำรวจ การแสวงหาประโยชน์ การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีและไม่มีชีวิตในน้ำเหนือพื้นดิน ท้องทะเล และในพื้นดินท้องทะเลกับดินใต้ผิวดินของพื้นท้องทะเลในส่วนของที่อยู่ในบริเวณ 200 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐานนั้น และยังมีเขตอำนาจในการสร้างและใช้เกาะเทียม สิ่งติดตั้ง และสิ่งก่อสร้างต่างๆการวิจัยทางทะเล การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณนี้อีกด้วย

“ตามข้อ 60 ของ UNCLOS รัฐชายฝั่งจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการสร้างหรืออนุญาตให้สร้าง และ/หรือควบคุมเกาะเทียม (Artificial islands) สิ่งติดตั้ง (Installations) และสิ่งก่อสร้างต่างๆ (Structures) หรือควบคุมการใช้เกาะเทียม สิ่งติดตั้งและสิ่งก่อสร้างอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของรัฐชายฝั่งในเขตดังกล่าวอีกด้วย”

“ประเด็นในเรื่องการตีความอำนาจอธิปไตยกรณีบ้านกลางทะเลนั้น ที่จริงแล้วต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าแม้รัฐชายฝั่งไม่มีอำนาจอธิปไตยในบริเวณดังกล่าว รัฐชายฝั่งหรือก็คือประเทศไทยในกรณีนี้ก็ย่อมมีสิทธิในเรื่องที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าอาจกล่าวไม่ครบทุกเรื่องที่รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในบริเวณ EEZ ก็ตาม แต่เพียงสรุปเฉพาะในเรื่องของการพิจารณาสิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งตาม UNCLOS นั้นก็สามารถอธิบายว่าในเรื่องการติดตั้งสิ่งติดตั้งทางทะเลต่างๆนั้น อันรวมไปถึงบ้านลอยน้ำนั้น รัฐไทยมีสิทธิอธิปไตยและมีเขตอำนาจอย่างชัดแจ้งในการจัดการ ควบคุมดูแล ซึ่งย่อมหมายรวมไปถึงการต้องขออนุญาติในการดำเนินการก่อน ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศก็ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันโดยสากลแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาเลยว่ากฎหมายภายในของประเทศไทยนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่”

นวพรกล่าวเพิ่มเติมว่า หากปัจเจกบุคคลอยากมีสิ่งปลุกสร้างทางทะเลควรเคารพกฎเรื่องอธิปไตย ในการจะแจ้ง ขออนุญาตและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากเป็นพื้นที่ทะเลหลวงซึ่งห่างจากเส้นฐานไป 200 ไมล์ทะเลนั้นก็อาจจะทำได้ เพราะไม่มีอำนาจอธิปไตยของรัฐใดไปถึง

0000

แม้การบังคับใช้กฎหมายในประเทศจะไม่เหมือนกับการทำงานของกฎหมายระหว่างประเทศในแง่ที่อย่างหลังนั้นขึ้นอยู่กับเจตนารมย์ของรัฐว่าจะทำตามหรือไม่ทำตามเสียมากกว่า เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น แม้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ก็วางอยู่บนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่ในบริบทบ้านกลางทะเลที่กฎหมายทั้งสองชุดมีทิศทางไปในทางเดียวกันก็ทำให้ปัจเจกชนหรือกลุ่มคนที่แสวงหาเสรีภาพทางท้องทะเลในลักษณะนี้จึงดูตัวเล็กลงไปถนัดต่อหน้ากฎหมายทั้งสองชุด เพราะกฎหมายระหว่างประเทศยังคงเป็นเรื่อง ‘ประเทศ’ เสียมาก

การจะตั้งข้อหากันหนักสุดถึงขั้นประหารชีวิตจนสื่อนอกประโคมข่าวใหญ่โตถือเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่คงยังตอบไม่ได้ แต่ย่อมสะท้อนถึงความหนาของกำแพงอธิปไตยทางท้องทะเลไทยที่ก็ต้องทำความเข้าใจของรัฐในฐานะผู้ถูกท้าทายด้วย อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือปฏิกิริยาของสถานทูตสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีท่าทีใดๆ กับการดำเนินคดีต่อพลเรือนอเมริกัน เรื่องนี้จึงยังมีอะไรให้ติดตามมากไปกว่าแค่รื้อบ้านแล้วลากกลับเข้าฝั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net