กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: ความขัดแย้งจากทุนนิยม จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงการเมืองไทยปัจจุบัน

ปาฐกถา 'ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย' กุลลดา เกษบุญชู นำเสนอว่า ทุนนิยมคือที่มาความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของพระมหากษัตริย์ ต่อเนื่องสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันระหว่างทุนรุ่นแรกกับทุนรุ่นที่สอง

  • ทุนนิยมทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่ชนชั้นนำในสยามซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของพระมหากษัตริย์
  • การเกิดขึ้นของรัฐศักดินาสร้างข้าราชการจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งสุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งกับระบอบเดิมจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
  • ความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันคือความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมรุ่นแรก กับทุนนิยมรุ่นสอง

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปิดตัวหนังสือคลาสสิกฉบับแปลภาษาไทยของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ โดยภายในงาน กุลลดาบรรยายถึงการเกิดขึ้นของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุบัน ดังนี้

ดิฉันจะพูดเรื่องทุนนิยมกับการพัฒนารัฐไทย ซึ่งเราจะเริ่มต้นช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา และเราจะสามารถเข้าใจปรากฏการณ์การทำงานของรัฐไทยในปัจจุบันผ่านทุนนิยมได้อย่างไร

ตอนเริ่มทำงานวิจัยนี้ ดิฉันมีความพยายามตอบคำถามว่ากระบวนการก่อรูปรัฐนั้น ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างไร พบว่าทุนนิยมมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสร้างรัฐไทย และประเด็นต่อไปคืออยากจะชี้ให้เห็นผลกระทบที่สำคัญอันหนึ่งของการสร้างรัฐไทย ซึ่งก็คือการเกิดขบวนการชาตินิยม และชี้ให้เห็นพัฒนาการของทุนตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมาว่ามีบทบาทอย่างไรต่อขบวนการทารการเมืองและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐไทยปัจจุบัน

ทุนนิยมคือที่มาของความขัดแย้งที่พระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายชนะ

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เมื่อเราพูดถึงทุนนิยม สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือมันเป็นที่มาของความขัดแย้ง ทุนนิยมที่เข้ามากลางศตวรรษที่ 19 เป็นที่มาของความขัดแย้งและโอกาสอะไรบ้าง พูดถึงโอกาสก่อน การเข้ามาของทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 นั้นหมายถึงการขยายตัวของการผลิตข้าวเพื่อป้อนตลาดโลกอย่างขนานใหญ่ ผลที่เกิดขึ้นคือการขยายตัวของทรัพยากรที่มีในสังคมไทย ประเด็นคือใครจะสามารถควบคุมทรัพยากรที่กำลังขยายตัวอย่างมากมายนี้ได้ นี่เป็นที่มาของความขัดแย้งที่สำคัญ

ประการที่ 2 ทุนนิยมทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดระบบแรงงานหรือการจัดการทรัพยากรเสียใหม่ เพื่อให้ตอบสนองการใช้งานของทุนนิยมได้อย่างเต็มที่ นี่ก็เป็นที่มาของความขัดแย้งที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ สิ่งที่อยากเน้นก็คือกระบวนการสร้างรัฐที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 เราไม่เรียกว่าการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐที่หลุดลอยจากรัฐศักดินาเปลี่ยนเป็นรัฐสมัยใหม่หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตรงนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในระหว่างผู้นำกลุ่มต่างๆ ว่าด้วยการจัดระเบียบระบบกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของทุนนิยมได้ดีที่สุด ดังนั้น ก็ควรต้องเป็นระบบที่ชาวนาหลุดจากการเป็นทาสติดที่ดิน กลายมาเป็นผู้ผลิตอิสระ หมายความว่าต้องเลิกทาส เลิกไพร่ จัดบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ของคนส่วนใหญ่ในสังคมซึ่งก็คือชาวนาเสียใหม่

การจะปลดทาสมันก็เกิดความขัดแย้ง เพราะรัฐศักดินาอาศัยผลประโยนที่เกิดจากการคุมกำลังคนเป็นสำคัญ เป็นที่มาของความขัดแย้งที่มีความสำคัญมากในตอนต้นรัชกาลที่ 5 และปรากฏเป็นวิกฤตการณ์วังหน้า ที่มาของความขัดแย้งอันแรกคือการจัดการกำลังคน การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของแรงงานในสังคมไทยเสียใหม่ กระบวนการนี้ก็ใช้เวลานาน แต่ก็เลิกทาสไพร่ได้สำเร็จ ถือว่าฝ่ายสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงครังนี้ประสบความสำเร็จ

ความขัดแย้งที่กล่าวมาแล้วก็คือ แล้วใครจะเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลนี้ ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่คือสถาบันกษัตริย์กับขุนนางคนสำคัญ อย่าลืมว่าขุนนางคนสำคัญนั้นเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงและเขาก็หวังจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่การที่มีการขยายตัวทางการผลิตอันเนื่องจากข้อเรียกร้องของระบบทุนนิยม มันทำให้มีทรัพยากรจำนวนมากที่ผู้นำไทยต้องการแย่งชิงมาควบคุม ในที่สุดฝ่ายสถาบันกษัตริย์ก็ได้รับชัยชนะเหนือขุนนางคนสำคัญในสังคมทั้งหมด เป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดรัฐรวมศูนย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5

อยากจะขอพูดถึงรูปแบบรัฐ เมื่อสักครู่เราพูดว่ารัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ดิฉันเรียกว่ารัฐศักดินามาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำเรียกรัฐก่อนที่จะเป็นรัฐสมัยใหม่หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีคำเรียกต่างๆ กันมาก ดิฉันพึงใจจะเรียกรัฐศักดินามากกว่า หลังจากได้ค้นคว้า ทำความเข้าใจกับรัฐศักดินาในสังคมตะวันตก ดิฉันก็คิดว่าของไทยมีลักษณะร่วมกับรัฐศักดินาในคุณลักษณะที่สำคัญอยู่หลายประการ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าถ้ายูใช้คำว่ารัฐศักดินา ยูไม่จบแน่ ในที่สุดก็เลยประนีประนอมเรียกเป็น pre-modern state แต่เมื่อพิมพ์เป็นหนังสือก็เปลี่ยนเป็นคำที่ดิฉันพึงใจมากที่สุดก็คือรัฐศักดินา
จากรัฐศักดินาสู่รัฐชาติและรัฐทุนนิยม

พอจบ pre-modern State หรือรัฐศักดินาแล้ว มันก็คือจุดเริ่มต้นของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวมาก เมื่อตอนทำวิทยานิพนธ์ว่าดิฉันปฏิบัติต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าต่างจากรัฐศักดินาในนัยที่สำคัญหลายประการ ตื่นตาตื่นใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การมีระบบราชการสมัยใหม่ การมีคนที่ได้รับการศึกษา จึงไม่ได้คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐศักดินา แต่ 20 ปีให้หลังจากการเขียนหนังสือเล่มนี้ ดิฉันก็เปลี่ยนใจหันมายอมรับการวิเคราะห์ของ Perry Anderson ที่มองว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็คือขั้นตอนสุดท้ายของรัฐศักดินาก่อนที่จะเปลี่ยน ทีนี้เราจะเรียกรัฐนี้ว่าอะไร

ทีนี้มันก็มีหลายแนวคิดที่จะใช้ แนวคิดหนึ่งคือรัฐชาติ และคนมักมองว่ารัฐชาติของเราเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ดิฉันอยากมองรัฐชาติในบริบทการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผ่านการเป็นรัฐศักดินาและรัฐสมัยใหม่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับในรัฐไทย แต่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในรัฐอาณานิคมคือเจ้าอาณานิคม เมื่อรัฐเหล่านี้ได้รับเอกราชก็เกิดรัฐชาติ ถ้าเอาปรากฏการณ์นี้มาดูกรณีของไทย ดิฉันก็ต้องบอกว่ารัฐชาติของเราเกิดขึ้นในปี 2475 เมื่ออำนาจอธิปไตยย้ายจากกษัตริย์มาสู่ชาติหรือประชาชน เหมือนที่อำนาจอธิปไตยย้ายจากเจ้าอาณานิคมสู่ประชาชนที่ได้รับเอกราชในรัฐชาติ ยังไม่มีการถกเถียงในเรื่องนี้ ดิฉันเสนอว่าเราควรเรียกรัฐชาติหลังปี 2475 ถ้าเราให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตย

แต่ถ้าเราดูวิถีการผลิต 2475 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Capitalist State หรือรัฐทุนนิยม เมื่อตอนที่ทำวิจัยมองไม่เห็น แต่เมื่อ 20 ปีให้หลัง ดิฉันมีความมั่นใจว่าเราสามารถเรียก 2475 ว่าเป็นจุดเปลี่ยนจากการหลุดออกจากความเป็นรัฐศักดินาสู่รัฐทุนนิยมได้

ที่มาของ 2475

เมื่อสักครู่พูดไปแล้วว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างความขัดแย้งในหมู่ผู้นำต่างๆ แล้วกษัตริย์เป็นผู้ที่ชนะในความขัดแย้งสามารถจัดระบบสังคมเสียใหม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างรัฐสมัยใหม่ก็คือการสร้างอุดมการณ์รัฐโดยผู้นำ ซึ่งอุดมการณ์รัฐที่สร้างโดยผู้นำนี้ Benedict Anderson เรียกว่า Official Nationalism หรือชาตินิยมที่เป็นทางการ ทำไมต้องสร้างหน่วยของความเป็นรัฐที่เกิดขึ้นมาใหม่ สิ่งที่เรียกว่าชาติเกิดจากการสร้างสรรค์โดยฝ่ายรัฐขนานไปกับกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเน้นการรับรู้การเกิดรูปแบบรัฐใหม่ขึ้นมา การรับรู้ว่าคนในรัฐนั้นมีหน้าที่อะไรภายในรัฐใหม่นี้ และก็เน้นเรื่องความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมองว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติ นี่เป็นชาตินิยมที่เป็นทางการที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คนมักจะเข้าใจว่าชาตินิยมที่เป็นทางการเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 แต่ถ้าไปอ่านบทเรียน มันมีการปลูกฝังความเข้าใจเรื่องชาตินิยมที่เป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

มันยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งเป็นปัญหาที่ดิฉันขบคิดตอนเริ่มต้นทำการศึกษาเรื่องนี้ ขบคิดมานานมากว่า เหตุใดรัชกาลที่ 6 จึงต้องเน้นกับการจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกันก็จะเห็นการวิพากษ์การคงอยู่ของชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ดิฉันเรียกว่ากระฎุมพีข้าราชการ คือคนที่ได้รับการศึกษาและมาอยู่ในระบบราชการสมัยใหม่

ทำไมรัชกาลที่ 6 จึงจำเป็นต้องสร้างคำอธิบายใหม่ เน้นความจงรักภักดีที่มีต่อกษัตริย์มากกว่าที่ผ่านมาในสมัยรัชกาลที่ 5 คำตอบที่พบคือภายในระบบราชการสมัยใหม่ คนที่อยู่ในระบบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับกษัตริย์โดยตรง อย่าลืมว่าระบบศักดินาเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว กษัตริย์รู้จักขุนนางทั้งหมด แต่พอคนที่เข้ามาโดยไม่ได้ผ่านการถวายตัว แต่เข้ามาโดยระบบการศึกษาสมัยใหม่ ความสัมพันธ์นี้มันห่างไป มันเกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างขุนนางที่อยู่ภายใต้เสนาบดีที่เป็นเจ้ากระทรวงมากกว่ากษัตริย์ กษัตริย์มองว่าตนเองถูกยกขึ้นไป แต่ไม่สามารถสร้างความสำคัญ ไม่สามารถวางใจข้าราชการได้ ในหลายกรณีก็พบว่าถ้าเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องความจงรักภักดีระหว่างกษัตริย์กับเสนาบดีเจ้ากระทรวง กษัตริย์ก็พบว่าความจงรักภักดีนั้นไปอยู่กับเจ้ากระทรวงมากกว่ากษัตริย์ นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลัทธิชาตินิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 เข้มข้นมากขึ้น

คำถามต่อมาก็คือการสร้างลัทธิชาตินิยมโดยรัฐ ขณะเดียวกันก็มีการฟักตัวของความคิดอีกชุดหนึ่ง คือการสร้างความจงรักภักดีต่อชาติ มีข้อถกเถียงที่สำคัญว่าใครคือผู้รักษาผลประโยชน์ของชาติได้ดีกว่า สถาบันกษัตริย์หรือข้าราชการรุ่นใหม่ ตรงนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างลัทธิชาตินิยม 2 ชุด แล้วนำมาซึ่งการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475

สิ่งที่อยากจะเน้นก็คือคนมักอธิบายว่าคนก่อการ 2475 ได้รับอิทธิพลจากความคิดตะวันตก ดิฉันขออธิบายใหม่ว่าจุดกำเนิดของกลุ่มคนที่ท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จริงๆ แล้วเกิดจากความไม่พอใจที่เขามีต่อระบบที่เขาทำงานอยู่ ระบบเส้นสายยังมีความสำคัญอยู่ คำที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ปลายรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 จะเห็นคำว่า ประจบ นั่นคือการแสดงความไม่พอใจต่อความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) ต้องเข้าใจว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เป็นการจัดระเบียบสังคมของระบบศักดินาไทย และโดยหลักการแล้ว เมื่อเราเลิกรับคนจากการถวายตัว มาเป็นการรับคนจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ มันก็มีความคาดหวังว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์จะต้องเลิก แต่มันก็ยังทำงานอยู่ นี่ก็เป็นสาเหตุของความไม่พอใจส่วนหนึ่ง เมื่อความไม่พอใจนี้เกิดขึ้น คนเหล่านี้ก็จะดูว่าแล้วมีทางเลือกอะไร แล้วจึงไปหารูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้ดีกว่า สิ่งที่เขาเรียกร้องก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองแทนที่จะเป็นระบอบกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดที่อยู่ที่ยอด นี่คือที่มาของการเกิด 2475

นักวิชาการส่วนใหญ่บอกว่าเมืองไทยไม่มีขบวนการชาตินิยม เพราะเราไม่ได้เป็นอาณานิคม ดิฉันขออธิบายใหม่ว่าถ้าเราดูจะเห็นว่าขบวนการชาตินิยมมีคนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้นำของขบวนการชาตินิยม คือคนที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ อาจเป็นคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐสมัยใหม่หรือคนมีการศึกษาที่อยู่ในระบบราชการ ในขณะที่ประเทศอาณานิคมบางประเทศ อย่างพม่า ชวา ฟิลิปปินส์ พบว่ามีส่วนที่เป็น Body ของขบวนการชาตินิยมด้วย ประกอบด้วยชาวนาเป็นส่วนใหญ่

ถามว่าชาวนาเหล่านี้มาจากไหน ชาวนาเหล่านี้ก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิถีการผลิตแบบทุนนิยมที่เข้าไปในสังคมเขา จะพบว่าในสังคมที่ทุนนิยมไม่ได้เข้าไปอย่างเคร่งครัด เช่น ในลาวหรือเขมร เราจะไม่เห็นขบวนการชาตินิยมนี้ แต่สังคมอาณานิคมที่เปิดรับวิถีการผลิตแบบทุนนิยม เช่น การใช้ทุนขนาดใหญ่เพื่อเปิดพื้นที่ทำกิน การใช้แรงงานรับจ้างอย่างในพม่า เรามีการเปลี่ยนวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับระบบทุนนิยมมากกว่าที่เราพบได้ในที่อื่น เราเข้าสู่ทุนนิยมก็จริง แต่เป็นทุนนิยมที่ยังมีการผลิตวิถีดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการเปิดพื้นที่ทำกิน ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยชาวนาไทย อีกส่วนเกิดจากการขุดคลองเพื่อให้มีที่ทำนาได้ กระบวนการที่ลงทุนขนานใหญ่มีเพียงโครงการเดียวคือโครงการรังสิต หลังจากนั้นรัชกาลที่ 5 ก็ไม่อนุญาตให้มีโครงการขนาดใหญ่อีกต่อไป ดิฉันคิดว่าท่านอาจมองเห็นปัญหาที่จะเกิดถ้ามีการผลิตมาก

มันก็เลยทำให้ชาวนาไทย เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทศวรรษ 1930 ไม่ทุกข์ยากเท่ากับในที่อื่นๆ อย่างพม่า ฟิลิปปินส์ ชวา นี่คือเหตุผลที่ทำไมจึงเกิดขบวนการชาตินิยมเป็นรูปเป็นร่าง โดยที่เราไม่พบในไทย สรุปว่าในสังคมอาณานิคมที่ทุนนิยมเข้าไปทำงานมาก คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นได้เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา อยากให้ถามว่าแล้วคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองเมื่อไหร่ เราอาจเห็นภาพว่าทำไมพัฒนาการของรัฐไทยยังเหมือนกับขั้นตอนที่เกิดขึ้นในเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษ 1960

ความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมรุ่นแรกกับทุนนิยมรุ่นสอง

สังคมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนจะผ่านกระบวนความขัดแย้งที่มีที่มาจากทุนนิยมตั้งแต่ทศวรรษ 1960 การที่ดิฉันมองภาพเปรียบเทียบนี้ดิฉันก็ลำพองใจว่า เราไม่ได้ผ่านตรงนี้มา แล้วเราก็ก้าวหน้ากว่าใครทั้งหมด บางทีเราต้องมองความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ว่า เราอาจเป็น Less Developer แทนที่จะเป็น Early Developer เพราะที่มาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันอาจเกิดขึ้นจากพัฒนาการของระบบทุนนิยมเป็นสำคัญ อย่าพูดว่ารัฐไทยมีหรือไม่มีเลือกตั้ง เรามองว่าทุนนิยมภายในของไทยพัฒนาอย่างไร

ก็อยากจะแบ่งพัฒนาการทุนนิยมในรัฐไทยเป็น 2 กลุ่ม ช่วงแรกเป็นการยัดเยียดแนวคิดการพัฒนาให้กับสังคมไทย ซึ่งก็คือการเปิดรัฐไทยเพื่อรองรับการลงทุน แต่ระบบที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ให้ประโยชน์กับทุนภายนอกเท่าไหร่ แต่กลับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดพัฒนาการของทุนนิยมไทยรุ่นแรก เป็นไปตามยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ตอนนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทุนนิยมในสังคมไทย มีทั้งทุนนิยมอุตสาหกรรม ทุนนิยมการค้า ทุนนิยมที่พัฒนาช่วงนั้นเกิดขึ้นภายใต้รัฐราชการ รัฐบาลทหาร และที่มีบทบาทสำคัญคือชนชั้นเทคโนแครต คนเหล่านี้คือคนที่กำหนดทิศทางการพัฒนาทุนนิยมในสมัยนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นภายในรัฐราชการ ทุนนิยมเหล่านี้ก็ไม่ได้พัฒนาด้วยลำแข้งตัวเอง แต่ด้วยความช่วยเหลือของรัฐไทย

พอมาถึงยุคใหม่ ยุค Neoliberal เราเริ่มเห็นการก่อตัวของทุนนิยมอีกประเภทหนึ่ง ทุนนิยมเหล่านี้คือคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการใหม่ๆ เช่น โทรคมนาคม โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานรถยนต์ ทุนเหล่านี้ไม่ใช่ไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐ แต่พึ่งน้อยลง มีความเป็นอิสระจากรัฐมากกว่า ไม่ต้องการการอุปถัมภ์ดูแลจากรัฐเท่ากับทุนรุ่นแรก ตัวอย่างความสำเร็จหรือทุนประเภทที่ 2 ก็คือการยึดอำนาจรัฐในนามของรัฐบาลทักษิณ ในกระบวนการดังกล่าวก็เกิดการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนของพวกตน ภาพนี้ไม่เห็นชัดเจนกระทั่งยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เมื่อเห็นว่าการยึดอำนาจจากผู้นำที่เป็นตัวแทนของทุนรุ่นที่ 2 เอื้อประโยชน์อย่างไรต่อผลประโยชน์ของทุนรุ่นที่ 1

เพราะฉะนั้นเราอาจมองที่มาความขัดแย้งในไทยในแง่ของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนรุ่นแรกกับกลุ่มทุนรุ่นที่  2 เราอาจต้องเปลี่ยนภาพการมองใหม่ว่าความไม่พอใจต่อรัฐบาลทักษิณอาจเกิดจากความไม่พอใจของผู้นำทางเศรษฐกิจในสังคม แล้วก็มีส่วนทำให้เกิดความไม่พอใจที่มีลักษณะเป็นความรู้สึกต่อต้านในสังคม หรือจริงๆ เป็นความรู้สึกต่อต้านในสังคมโดยที่ทุนไม่ทำอะไร อันนี้เป็นคำถามที่ต้องไปคิดเอง
เรามาถึงจุดที่ดิฉันคิดว่าความขัดแย้งในระบบทุนนิยมกำลังเป็นต้นตอที่สำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท