Skip to main content
sharethis

พบผู้มาขอนิรโทษฯ ไม่มากเท่าที่ควร-เร่งจัดอบรมแพทย์ใช้กัญชา 13 จังหวัด ขณะที่ อย. จับคู่ความร่วมมือวิจัยกัญชาระหว่างหน่วยงานวิจัยและกลุ่มใต้ดิน ด้าน ‘เดชา’ ได้รับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว แต่น้ำมันกัญชายังไม่ได้ขึ้นทะเบียน คาด มิ.ย.นี้ แจกยาได้

ยังอยู่ในช่วงนิรโทษกรรมกัญชา แต่มีคนถูกจับ

นอกจากกรณีของพรชัย ชูเลิศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญแล้ว ยังมีกรณีที่มีผู้ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาผลิตกัญชา และมีกัญชาไว้ในครอบครองอีกเช่นกัน โดยเว็บไซต์ News1live ได้รายงานว่า โสภา ปาคำ ผู้ป่วยโรคมะเร็งถุงน้ำดีตับ อายุ 65 อ.เมืองแพร่ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ว่า หลานชายของตนชื่อพลกฤษณ์ คนชม อายุ 34 ปี ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีข้อหาผลิตกัญชา และมีกัญชาไว้ในครอบครองจำนวน 40 ต้น

โสภาบอกว่า กัญชาทั้ง 40 ต้นที่กำลังปลูกอยู่นั้นเป็นของตน เนื่องจากแพทย์โรงพยาบาลลำปางตรวจพบว่าตนเป็นมะเร็งถุงน้ำดีและตับ ระยะ 4 เมื่อปี 2561 นำเข้าฉายแสงคีโมหลายรอบ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ปรากฏว่าร่างกายทรุดหนัก ผมร่วง มีอาการบวม

ต่อมาตนได้ลองนำกัญชาแห้งมาต้มน้ำร้อนดื่มทุกเช้า-เย็น วันละ 2 ครั้งๆ ละ 1 แก้ว ปรากฏว่าอาการดีขึ้น อาการบวมหายไป สุขภาพแข็งแรงขึ้น 1 ปีที่ผ่านมา อาการป่วยทุเลาอย่างเห็นได้ชัด แต่กัญชาหาซื้อยากและผิดกฎหมาย รวมทั้งมีราคาสูงมากเมื่อทราบข่าวว่า ทางราชการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดจึงได้ไปติดต่อที่สาธารณสุขฯเมื่อต้นเดือนเมษายน เพื่อขออนุญาตใช้กัญชาเพื่อการรักษา แต่ทางสาธารณสุขจังหวัดแพร่กล่าวว่ายังไม่มีมาตรการอนุญาต ขณะนี้ตำรวจ สภ.เมืองแพร่ ยังไม่ให้ประกันตัว จึงอยากวิงวอนขอให้ทางการเห็นใจผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ไม่มีทางออก เห็นว่ากัญชาทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับทางการเปิดให้ใช้เป็นยาได้ จึงขอให้ปล่อยตัวหลานชาย ถ้าจะเอาผิดก็มาเอาตนไปดำเนินคดีแทนก็ได้เพราะกัญชาเหล่านั้นเป็นของตน

พบผู้มาขอนิรโทษไม่มากเท่าที่ควร-เร่งจัดอบรมแพทย์ใช้กัญชา 13 จังหวัด

มติชนออนไลน์รายงานว่าข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ครอบครองกัญชาในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย ฯลฯ มีจำนวน 19 ราย กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ป่วย มี 6,395 ราย และกลุ่มที่ 3 บุคคลอื่นๆ ที่ต้องส่งมอบของกลางมีเพียง 1 ราย จนนักวิชาการและแพทย์ต่างกังวลว่าจำนวนที่มาแจ้งไม่ใช่จำนวนทั้งหมด ยังมีอยู่ใต้ดินอีกมาก และหากพ้นกำหนดนิรโทษ ผู้ป่วยจะขาดแคลนสารสกัด หรือน้ำมันกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์หรือไม่

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ตามกฎหมายได้ให้ผู้ป่วยที่มาแจ้งการครอบครองมีสิทธิที่จะขอใช้น้ำมันกัญชา หรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ออกไปได้จนกว่าจะได้พบแพทย์ที่ผ่านการอบรมและได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะมีทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่ผ่านการรับรองคือ กรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการอยู่ โดยผู้ป่วยสามารถมาแจ้งขอการครอบครองว่าจะใช้ไปอีก 90 หรือ 180 วัน โดยในวันที่ 29-30 เม.ย. 2562 จะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์โดยกรมการแพทย์ ประมาณ 200 คน ออกมารุ่นแรก

นอกจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ยังมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมมือกันกับทางเครือข่ายจิตอาสาและหน่วยงานรัฐ ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำสารสกัดกัญชามาใช้ในผู้ป่วย ซึ่งการใช้ก็จะมีการติดตาม มีแนวทางการใช้ตามที่กรมการแพทย์ ซึ่งมีคณะกรรมการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา ขณะที่วัตถุดิบก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากมีหลายวิธีจะได้มา ไม่ใช่แค่การเริ่มปลูกใหม่เท่านั้น เราสามารถใช้ของกลาง ซึ่ง ป.ป.ส.เคยแจ้งว่ามีคุณภาพหลายเกรด บางเกรดก็ค่อนข้างดี โดยของที่มีคุณภาพดีและผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนก็จะสามารถนำมาใช้ได้

นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า หลังจากนั้นจะจัดให้มีอบรมความรู้การใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านใน 13 จังหวัด ทุกภาคทั่วประเทศในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ต่อไป โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับใบรับรองการผ่านหลักสูตรดังกล่าวจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

สำหรับการอบรมที่มีสมาคม ชมรมต่างๆ จัดขึ้นและเก็บค่าลงทะเบียนนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น และไม่ได้รับรองใบผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวแต่อย่างใด

‘เดชา’ ได้รับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว แต่น้ำมันกัญชายังไม่ได้ขึ้นทะเบียน คาด มิ.ย.นี้ แจกยาได้

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่งานอบรมกัญชาทางการแพทย์ เดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน และประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตนเพิ่งได้รับการรับรองให้เป็นหมอพื้นบ้าน แต่จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะที่กรมการแพทย์แผนไทยฯจัดอบรม หากผ่านแล้วจะมีสิทธิไปยื่นขอใบรับรองจาก อย.ว่าสามารถปรุงยาและใช้ยาที่มีกัญชาผสมได้ ซึ่งขณะนี้กฎหมายเปิดช่องไว้ 16 ตำรับ ส่วนน้ำมันกัญชาสูตรของตนยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงต้องรอโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจะสามารถแจกน้ำมันกัญชาสูตรของตนให้แก่ผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ จากกระบวนการต่างๆ คาดว่าประมาณเดือน มิ.ย.จะสามารถแจกยาได้จริง

ส่วนการเข้ามาอยู่ในระบบเช่นนี้ มีทั้งผลดีผลเสีย ผลดีคือ จะได้ทำให้ถูกกฎหมาย ส่วนผลเสียคือคนไข้ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งต่อให้ตนทำโครงการวิจัยได้เต็มศักยภาพก็ได้คนไข้ไม่เกิน 10,000 คน ทั้งที่เรารู้ว่า คนป่วยกำลังต้องการยาหรือใช้ยากัญชาอยู่ 8 แสน-2 ล้านคน เรียกว่าแทบไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมเลย แม้ อย.กำลังจับคู่กลุ่มที่มีกำลังการผลิต มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล เพื่อทำวิจัยแจกยาผู้ป่วยแบบตน ก็ได้คนไม่ถึงครึ่งอยู่ดี จะให้ดีจริงต้องปรับกฎหมายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชามากที่สุด ซึ่งถือเป็นก้าวต่อไปที่ตนจะทำ มิเช่นนั้นคนอื่นต้องไปหาของใต้ดินผิดกฎหมาย

อย.จับคู่ความร่วมมือวิจัยกัญชาระหว่างหน่วยงานวิจัยและกลุ่มใต้ดิน

มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ภายหลังการประชุมประสานความร่วมมือดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตกัญชาทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาคการผลิต การวิจัย และการใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการผลิตและการนำไปใช้ประโยชน์โดยเร็วอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย หรือการจับคู่ (Matching) ระหว่างมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และกลุ่มที่คาดว่ามีกำลังการผลิตกัญชา นั้น แนวทางดังกล่าวเพื่อให้เกิดความร่วมมือภายในพื้นที่ โดยมี องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต สภาเกษตรกรแห่งชาติ และหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย เป็นต้น เข้าร่วม โดยลักษณะของการจับคู่จะเป็นการจับกันในพื้นที่ระหว่างสถาบันการศึกษา กลุ่มที่คาดว่ามีกำลังการผลิต และภาคบริการ คือ โรงพยาบาล

ซึ่งขณะนี้มีรูปแบบหรือโมเดลของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ทำร่วมกับ เดชา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เป็นรูปแบบกลาง ซึ่งจะส่งให้แต่ละแห่งดูเป็นตัวอย่างในการจับคู่ แต่หากจะจับคู่ในรูปแบบอื่นก็สามารถดำเนินการได้ หากจับคู่ออกมาในรูปแบบคล้ายๆ กันในลักษณะของการวิจัย ก็จะได้ข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้อยู่ทั้งประเทศในภาพรวม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำโครงการต่อไป รวมถึงเป็นวิธีช่วยให้ผู้ป่วยที่มีการใช้ยากัญชาอยู่แล้ว ได้ใช้ยาต่อไปในรูปแบบของการมาร่วมวิจัยโดยไม่ต้องขาดยา นอกจากนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติแจ้งว่า กลุ่มสภาเกษตรกร รวมถึงวิสาหกิจชุมชนย่อยที่มีกำลังการผลิต 10 กว่าแห่ง ยินดีที่จะร่วมจับคู่ด้วย ซึ่งหากเกิดการจับคู่กับหน่วยงานภาครัฐที่ขออนุญาตไปแล้ว ก็สามารถร่วมมือกันได้ทันที โดย อย. ยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net