ถนนทุกสายมุ่งสู่บ้านไผ่ Bio Hub การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บ้านเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น กำลังจะประกาศเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นมาก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเมืองแห่งมรดกทางโบราณคดีที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของคนรุ่นหลัง โดยปัจจุบัน วัฒนธรรม การดำรงชีวิตยังสืบทอดต่อกันมาจากคนรุ่นก่อน รวมทั้งยังมีภูมินิเวศที่โดดเด่น คือ แก่งละว้า ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตคนอำเภอบ้านไผ่ อำเภอชนบท และคนในเมืองขอนแก่น แต่ปัจจุบันอำเภอบ้านไผ่ กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Hub ซึ่งจะมีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรม สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อก๊าซ คลังน้ำมันและท่อน้ำมัน การผันน้ำโขงมาลงลุ่มน้ำชี ระบบการคมนาคม เช่น สถานีใหญ่ของทางรถไฟรางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูง การขยายถนนและมอเตอร์เวย์ เพื่อการขนส่งสินค้าต่างๆ ในนาม "ศูนย์กลางโลจิสติกส์"

ที่ผ่านมาการผลักดันโครงการพัฒนาเหล่านี้เข้ามาในพื้นที่ยังไม่มีส่วนร่วมใดๆ จากประชาชน และอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ระบบนิเวศ แก่งละว้า และป่าชุมชนที่ประชาชนในพื้นที่ได้อาศัยใช้ประโยชน์ทำมาหากินอยู่

ทั้งนี้ การกว้านซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาไบโอฮับ เริ่มชัดเจนประมาณปี 2558 นายหน้าซื้อที่ดินอ้างกับชาวบ้านว่าจะซื้อที่ดินสำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งออกไปขายยุโรป ชาวบ้านเพิ่มทราบข่าวจัดเจนว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมานี้เอง หลังผู้ประกอบการเข้ามาจัดเวทีชี้แจงในหมู่บ้านในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโครงการ ข้อมูลที่นำมาชี้แจง คือ บริษัทเตรียมขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาล กำลังผลิต 20,000 ตันต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิต 32 เมกะวัตต์ พื้นที่โครงการ 18,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านเมืองเพีย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยแจ้งกำหนดเวลาในที่ประชุมว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) ที่บ้านเมืองเพียในช่วงเดือนมีนาคม 2562 แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหว นอกเหนือจากการรุกหนักของฝ่ายมวลชนสัมพันธ์และการหาเกษตรกรทำสัญญาปลูกไร่อ้อยในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การจัดเวทีชี้แจงที่เกิดขึ้นในแต่ละหมู่บ้านซึ่งผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญของการกระจายข่าวสารให้ทั่วถึง ทำให้มีชาวบ้านจำนวนน้อยที่ได้รับรู้ข้อมูล และยังเป็นรูปแบบเดิมๆ ในการเปิดข้อมูลด้านบวกด้านเดียว ไม่ชัดเจน เปิดข้อมูลเป็นส่วนๆ ไม่รอบด้าน สุดท้ายแล้วก็เป็นแค่การจัดชี้แจงข้อมูลเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อกระบวนการที่ผู้ประกอบการถูกบัคับให้ทำตามกฎหมาย

ความกังวลของผู้คนจำนวนมากที่อยู่รายรอบพื้นที่โครงการแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่รู้ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอน จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ฐานทรัพยากร ลุ่มน้ำชี แก่งละว้า ป่าชุมชน และสังคมเมืองโบราณที่มีมรดกทางวัฒนธรรมมาช้านานจะได้รับผลกระทบอย่างไร

เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้าให้ข้อมูลว่า หลังจากมีการกว้านซื้อที่ดินและเริ่มมีการนำเสนอข่าวไบโอฮับบ้านไผ่ เครือข่ายฯ เคยยื่นหนังสือขอข้อมูลโครงการจากหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในพื้นที่หลายครั้ง รวมถึงยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ทุกหน่วยงานปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่มีข้อมูลโครงการ และอยู่นอกเหนืออำนาจที่จะเรียกข้อมูลจากผู้ประกอบการได้ ทั้งๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลแก่ผู้ประกอบการมาตั้งแต่ปี 2558 และ คณะทำงาน Bioeconomy ประชารัฐ เตรียมเสนอ ครม. ประกาศให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเขตนำร่องเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร เพื่อให้จัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ” บนที่ดิน 4,000 ไร่ ในอำเภอบ้านไผ่ มาตั้งแต่ปี 2560 และตามข่าวเศรษฐกิจก็ได้รายงานความคืบหน้าการลงทุนต่างๆ ของผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น

3 ก.ค. 2561 มิตรผลเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้เตรียมที่ดินประมาณ 4,000 ไร่ บริเวณอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว 

ประชาชาติธุรกิจ: มิตรผลชง4พันไร่ตั้งนิคมบ้านไผ่ BOI เล็งเว้นภาษีไบโอเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า10ปี

12 ธ.ค. 2561 อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ที่สมาคมชาวไร่อ้อย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร และอุดรธานี โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจากอ้อยเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Hub ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy โครงการผลิตเอ็นไซม์น้ำ YeastProbiotics และ Beta-glucan โครงการ DriedYeast-เอมไซม์ไฟเตส สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอาง มีเอกชนผู้ลงทุนหลัก ได้แก่

- บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

- บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG)

- กลุ่มบริษัท เอเชียสตาร์เทรด จำกัด (AST) และ บริษัท เอเชียสตาร์แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH)

- บริษัท ดีเอสเอ็มนิวทริชั่นแนลโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM)

- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ (CPF)

- บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

- บริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด (UENO)

ดังนั้น การจัดเวทีชี้แจงข้อมูลที่ผู้ประกอบการเปิดเผยแค่จะมีโครงการโรงงานน้ำตาล 20,000 ตัน/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล 32 เมกกะวัตต์ พื้นที่โครงการ 1,800 ไร่ จึงเป็นการโกหกปิดเบือนข้อมูลที่แท้จริงกับชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ กระบวนการมีส่วนร่วมที่เริ่มนับหนึ่งโดยไม่ให้คุณค่าความสำคัญกับสิทธิของชุมชน ซึ่งปลุกกระแสความไม่พอใจให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่กำลังกังวลถึงผลกระทบต่างๆ หากมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่

การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ และความเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

พื้นที่ 4,000 ไร่ ที่ผู้ประกอบการจะใช้สร้างนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพอยู่ห่างจากบ้านเมืองเพียไม่ถึง 2 กิโลเมตร และไม่ใช่มีแค่หมู่บ้านของชาวบ้านที่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองเก่ามาแต่โบราณเท่านั้น แต่ยังมี แก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 15 พื้นที่ประมาณ 17,500 ไร่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ในลุ่มน้ำชี พื้นที่รับน้ำลงแก่งละว้าประมาณ 591,406 ไร่ รวมถึง แก่งละว้า ยังเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้คนเมืองในอำเภอบ้านไผ่ และมีชาวบ้านไม่น้อยกว่า 40 หมู่บ้าน จาก 4 ตำบล ที่ใช้แก่งละว้าเป็นพื้นที่ทำมาหากิน

คำนวณจากโรงงานมีกำลังผลิตอ้อย 20,000 ตัน/วัน x 1 ปี จะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยไม่น้อยกว่า 696,564 ไร่ โดยในรัศมีรอบโรงงานน้ำตาล 50 กิโลเมตร จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยที่คลอบคลุมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชี แก่งละว้า พื้นที่รับน้ำลงแก่งละว้า และพื้นที่การเกษตรใน 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านไผ่ ชนบท บ้านแฮด โนนศิลา มัญจาคีรี แวงใหญ่ แวงน้อย พล พระยืน หนองสองห้อง เปือยน้อย โคกโพธิ์ไชย โดยพื้นที่ไข่แดงที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยแบบเข้มข้นอยู่ในรัศมีรอบโครงการ 30 กิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ บ้านไผ่ ชนบท บ้านแฮด โนนศิลา และ มัญจาคีรี

จากข้อมูล แผนที่ Agri-Map-Online ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุความเหมาะสมของพื้นที่ในการปลูกอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น 1,008,224 ไร่ ปัจจุบัน 2560/61 ในพื้นที่ 12 อำเภอ ระยะรัศมี 50 กม. รอบโครงการ มีพื้นที่ปลูกอ้อย 210,097 ไร่ หมายความว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 48,6467 ไร่ โดยการศึกษาที่ผ่านมาระบุว่า การปลูกอ้อยจะใช้พาราควอตมากกว่าการทำนากว่า 5 เท่าตัว หากนิคมอุตสาหกรรมก่อมลพิษ รวมทั้งสารเคมีอันตรายทางการเกษตรที่จะเพิ่มขึ้นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีและปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มในฤดูแล้ง และไหลลงสู่ลุ่มน้ำชีและแก่งละว้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

ความเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ปศุสัตว์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น

พื้นที่โดยรอบแก่งละว้าเป็นแหล่งเลี้ยงวัว-ควายใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น โดยมีควายที่เกษตรกรเลี้ยงหมุนเวียนประมาณ 3,000 ตัว และวัว ประมาณ 700 ตัว ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นไร่อ้อยจะเป็นการลดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และลดอาหารตามธรรมชาติของสัตว์เลี้ยง รวมถึงการใช้สารเคมีสูงจะส่งผลกระทบต่อวัว-ควายซึ่งเป็นรายได้หลักของเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ในพื้นที่รอบแก่งละว้า

ทั้งนี้ จากการประมาณการอย่างหยาบ มูลค่าทางเศรษฐกิจของปศุสัตว์ในพื้นที่จะเท่ากับ 331 ล้านบาท – 485 ล้านบาท เป็นรายได้หมุนเวียนต่อปีของเกษตรกรประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่ารวม

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการจัดทำเขตการใช้ที่ดิน (Zoning) และการขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจระดังจังหวัด โดย นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2556 ระบุข้อมูลว่า อำเภอบ้านไผ่ทั้งอำเภอ เป็นเขตเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ

ส่วนประมาณการการใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ พื้นที่ 4,000 ไร่ เทียบกับ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พื้นที่ 3,556 ไร่ ที่ใช้น้ำวันละ 26,000 ลบ.ม./วัน (กอน.2558) นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ ในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ จะใช้น้ำไม่น้อยกว่า 95 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งมากกว่าการใช้น้ำประปาของอำเภอบ้านไผ่ที่ใช้อยู่เพียง 5.621 ล้าน ลบ.ม./ปี เท่านั้น (ที่มา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบ้านไผ่)

รวมถึง การที่ผู้ประกอบการจะสร้างแก้มลิงบริเวณแม่น้ำชีที่ซื้อที่ดินไว้แล้ว 200 ไร่ ระยะห่างจากแก่งละว้า 1.3 กิโลเมตร โดยอ้างว่าจะผันน้ำเข้าแก้มลิงเฉพาะฤดูฝน ซึ่งการส่งน้ำเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะมีการสร้างท่อ ขนาด 2.4x2.4 เมตร ระยะทาง 10 กิโลเมตร ก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำและการไหลตามธรรมชาติของน้ำชี พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า รวมถึงพื้นที่รับน้ำลงแก่งละว้าประมาณ 591,406 ไร่ โดยตรง

การใช้น้ำปริมาณ 95 ล้าน ลบ.ม./ปี ของนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การเกษตร การประมงในแก่งละว้าและลุ่มน้ำชี และการใช้น้ำอุปโภค บริโภคของชาวบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะชาวบ้านรอบแก่งละว้า 40 หมู่บ้านที่มีอาชีพเกษตรกร ทำนาเป็นหลัก วิถีชีวิตมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการหาของป่า พืชผัก หาปู หาปลา ตามท้องทุ่งนา หรือคลองน้ำบริเวณหมู่บ้าน น้ำชี และ แก่งละว้า ใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภค บริโภค และประกอบอาชีพ

ความเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าชุมชน

พิจารณาที่ดินที่ผู้ประกอบการกว้านซื้อนั้น เป็นการกว้านซื้อที่ดินล้อมรอบพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการหาอยู่หากิน เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนรายรอบ จึงมีความกังวลว่าหากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่จะส่งผลกระทบทำให้ป่าชุมชนเสื่อมสภาพ ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ป่าชุมชนได้อีก หรือผู้ประกอบการอาจยึดพื้นที่ป่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการได้ผ่านการขออนุญาตหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ หรือการประกาศพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถเช่าพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของรัฐได้

พื้นที่ป่าชุมชนที่มีความเสี่ยงจะได้ได้รับผลกระทบ ได้แก่

- ป่าชุมชนบ้านเมืองเพีย หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองเพีย เนื้อที่ 132-3-3 ไร่

- ป่าชุมชนขามเรียน หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเพีย เนื้อที่ 447-1-73 ไร่

- ป่าชุมชนบ้านหนองร้านหญ้า หมู่ที่ 5 ตำบลหัวหนอง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 23-3-70 ไร่ และ แปลงที่ 2 เนื้อที่ 62-1-35 ไร่

ผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม และการสูญเสียโอกาส

บ้านเมืองเพียเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่เกิดขึ้นก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเมืองแห่งมรดกทางโบราณคดี มีวัฒนธรรมยาวนาน และยังคงรักษาวัฒนธรรมเก่า ๆ ไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง เช่น งานบุญเดือน 5 ที่เป็นงานบุญประเพณีท้องถิ่นที่มีเฉพาะที่บ้านเมืองเพียเท่านั้น รวมถึง วัตถุโบราณต่าง ๆ ก็ได้นำมาเก็บไว้ที่วัด เช่น ถ้วยชามดินเผา ใบเสมา เป็นต้น คนในชุมชนยังคงใช้ชีวิตแบบไปมาหาสู่กัน ยังคงรวมกลุ่มกันคุยเป็นคุ้มๆ เรือนบ้านไม่มีรั้วกันระหว่างตัวบ้าน ยังคงกินข้าวกันเป็นกลุ่มซึ่งแตกต่างจากสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ ชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ หรือส่งเสริมให้มีคุณค่ามากขึ้น เป็นสิทธิของชุมชนที่สามารถทำได้และถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43

สรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านบ้านเมืองเพีย ที่แสดงถึงความห่วงกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“ถ้าโรงงานมาตั้ง คนก็จะทยอยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ แต่ละคนก็ต่างพ่อต่างแม่ ใช้ชีวิตไม่เหมือนกันอาจจะทำให้วัฒนธรรมของที่นี่หายตามไปด้วย”

"สภาพพื้นที่บริเวณรอบบ้านเมืองเพีย ทางทิศตะวันออกเป็นดินเค็ม ปลูกข้าวไม่ค่อยได้ผลผลิตนัก แต่ยังเพียงพอสำหรับริโภคในครัวเรือนได้ตลอดปี” โดยบริเวณแถบนั้นมี “โพนใหญ่” เป็นที่ต้มเกลือในอดีตของชาวบ้านบ้านเมืองเพียมาก่อน พื้นที่ทำเกษตรจึงถูกจำกัดเฉพาะในบริเวณที่ดินไม่เค็ม และในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขังเท่านั้น ส่วนสภาพปัญหาอื่น ๆ ในพื้นที่ ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกลิ่นและน้ำเสียจากโรงเลี้ยงหมูในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงไม่ต้องการเผชิญกับมลพิษต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตร ฐานทรัพยากร และแหล่งอาหารตามธรรมชาติลดลงกว่าเดิม

บ้านเมืองเพีย ไม่เคยมีประวัติว่าเคยปลูกอ้อยมาก่อน เกษตรกรไม่มีประสบการณ์ในการปลูกอ้อย ไม่มีองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา ไม่เหมือนกับการทำนาที่ทำกันมาตั้งแต่ในอดีต สืบทอดกันมา มีองค์ความรู้มากมาย เช่น การใช้น้ำ การดูแลเมื่อน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง การกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยว ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากมีการผลักดันส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกอ้อย คือการขาดทุนจากการลงทุนปลูกอ้อยที่ต้นทุนสูง แต่รายได้หรือผลตอบแทนต่ำ ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน เกิดการจำนองที่ดิน และอาจจะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน รวมถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยต่าง ๆ จากสารเคมีการเกษตร ยกตัวอย่างเช่นโรคเนื้อเน่าที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่จังหวัดหนองบัวลำภู หรือ ข้อมูลหนี้สินของชาวไร่อ้อย จากงบการเงินวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ของผู้ประกอบการมีลูกหนี้ชาวไร่ เป็นเงิน 55,283,214 บาท

ชาวบ้านที่เคยเป็นแรงงานในเมืองมาก่อน สะท้อนความรู้สึกว่า วิถีชีวิตการเป็นเกษตรกรที่บ้านมีความสุขกว่า คุณภาพชีวิตดีกว่า การเป็นแรงงานในเมืองต้องประสบกับค่าครองชีพสูง ทำงานในสถานการณ์บีบคั้นทั้งเวลาและการแข่งขัน หากมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ ชาวบ้านเกษตรกรอาจจะต้องถูกผลักเข้าสู่โรงงานเพื่อหารายได้แทนการทำเกษตร เพราะทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจนไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป

การมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่จะทำให้โอกาสในการพัฒนาพื้นที่ในด้านอื่น ๆ เช่น เมืองแห่งเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม -โบราณคดี การสร้างพื้นที่แหล่งอาหารปลอดภัยทำเกษตรปลอดสารหรือเกษตรอินทรีย์ ไม่สามารถเติบโตได้ทั้งๆ ที่เป็นทิศทางที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่มากกว่า

สุดท้าย หากพิจารณาจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีอยู่ในอำเภอบ้านไผ่ในปัจจุบัน จำนวน 326 โรงงาน มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,531.067 ล้านบาท รองรับแรงงาน จำนวน 3,748 คน ก็นับเป็นการกระจายรายได้ให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากกว่าการทุ่มนโยบายจากส่วนกลางเพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบสูง และมีผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นนายทุนรายใหญ่ไม่กี่ราย

ซึ่งหากเทียบกับโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานเอทานอล ในจังหวัดขอนแก่นรวม 12 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 9,047.488 ล้านบาท มีการจ้างงานแค่ 1,441 คน เท่านั้น (2/12/2018)

ข้อมูลโรงงานแยกตามพื้นที่

 ปัญหาการจราจร โรงงานน้ำตาล กำลังการผลิต 20,000 ตัน/วัน หากนำมาคำนวณตามที่กฎหมายกำหนด ให้รถบรรทุก 10 ล้อบรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 25 ตัน จะต้องมีรถบรรทุกอ้อยสัญจรบนถนนบ้านไผ่-เมืองเพีย ไม่ต่ำกว่า 864 คันต่อ/วัน หรือ วันละ 1,728 เที่ยวทั้งขาเข้า-ขาออก สิ่งที่จะตามมาคือผลกระทบในการเดินทางของชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากถนน การจราจรจะแออัดไปด้วยรถบรรทุกอ้อย อุบัติเหตุทางถนน อีกทั้งยังทำให้ถนนสาธารณะเสื่อมโทรมเร็วซึ่งจะทำให้เปลืองงบประมาณแผ่นดินในการทำนุบำรุงถนนด้วย

และหากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาควันจากการเผาไหม้ประกอบด้วยฝุ่นซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 PM. และ เล็กกว่า 10 ไมครอน ทั้งจากโรงงานและการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย จะยิ่งทำให้วิกฤตปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดขอนแก่นที่มีค่าอากาศพิษ PM2.5 ขึ้นถึง 102 สูงสุดในประเทศในช่วงต้นปี 2562 หนักขึ้นมากกว่าเดิมอีกมาก

ข้อเสนอของชาวบ้านบ้านเมืองเพียที่ยื่นไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ผ่านมา

1. ให้ระงับกระบวนการในการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ก่อน จากสภาพปัญหาที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลในทุกๆ ด้าน ทั้งข่าวสารของตัวโรงงาน ผลกระทบต่างๆ ของโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการการทำโรงงาน หรือสิทธิต่างๆ ที่ชาวบ้านสามารถทำได้ และยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ อย่างเป็นกลางเพื่อนำมากระจายข้อมูลให้ชาวบ้านได้รับรู้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวบ้าน

2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับต้องระงับกระบวนการการจัดตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม จัดให้มีการศึกษาผลกระทบต่างๆ ในทุกๆ ด้านเสียก่อน และเผยแพร่ข้อมูลให้ชาวบ้านประกอบการตัดสินใจในการจะยอมรับหรือไม่ยอมรับโครงการที่จะเข้ามาในพื้นที่บ้านเมืองเพีย เพื่อสร้างการพัฒนาที่มีส่วนร่วมของชาวบ้านในระดับนโยบาย เป็นการพัฒนาที่ชาวบ้านจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากการศึกษาเรื่อง "อุตสาหกรรมชีวภาพ บ้านเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น" 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Fanpage ISAAN VOICE

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท