ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา: กับดัก 5G และบทเรียนของทีวีดิจิทัล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ธุรกิจทีวีดิจิทัลโดยรวมไม่ประสบความสำเร็จ และความนิยมดูรายการผ่านจอทีวีลดลงมาก อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีออนไลน์ที่ช่วยให้เราสามารถดูรายการผ่านหน้าจอมือถือ, แท็บเล็ต หรือแม้แต่สมาร์ททีวีได้ในเวลาที่เราต้องการ โดยสามารถกดข้ามโฆษณาที่ไม่อยากดูได้

หลายฝ่ายสรุปว่า ทีวีดิจิทัลในประเทศไทยคลอดมาในยุคขาลงของธุรกิจทีวี ยิ่งมีช่องรายการเพิ่มจากเดิม 6 สถานีมาเป็น 24 สถานี ทำให้รายได้ถูกหารเฉลี่ยลดลงกันถ้วนหน้า สิ่งที่ขาดหายไปในการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกมาเป็นทีวีดิจิทัลคือการประเมินสภาพตลาด ธุรกิจเป็นขาลงแต่จำนวนช่องรายการกลับเพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนไม่สอดคล้องกับสภาพตลาดที่แท้จริง สรุปแบบชาวบ้านคือ ทีวีดิจิทัลเกิดผิดเวลา

ขณะนี้เราก็กำลังเร่งรีบก้าวสู่ 5G จนใช้ ม. 44 ทำคลอดการจัดสรรคลื่น 700 MHz แต่เราประเมินสภาพตลาดดีแล้วจริงหรือ การประเมินที่ผิดพลาดจะทำให้ธุรกิจ 5G เกิดผิดเวลาและอาจประสบชะตากรรมไม่ต่างจากทีวีดิจิทัลก็เป็นได้

การพยายามปั้นตัวเลขว่า ไทยจะได้ประโยชน์จาก 5G เป็นมูลค่า 2.33 ล้านล้านบาทใน 15 ปีข้างหน้า ทำให้ 5G หอมหวานจนลืมพิจารณาสภาพความจริงในปัจจุบันไปหรือไม่

เมื่อเดือนกันยายน 2018 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU ได้เผยแพร่เอกสารในช่วงการประชุม ITU Telecom World เตือนว่า “The Needs for 5G is not immediate” - ความจำเป็นของ 5G ไม่ใช่ในขณะนี้ หากจะทำคลอด 5G ควรมี Spectrum Roadmap ที่ชัดเจน ควรมีการทดลองทดสอบการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมให้เกิดความต้องการใช้งาน และรายได้หลักของ 5G นั้นเกิดในเขตเมือง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล คุณภาพบริการในเขตชนบทจึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง และที่สำคัญ 4G ยังเป็นบริการที่ต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านความครอบคลุมและคุณภาพบริการ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ GSMA ที่ประมาณว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า 4G ยังมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40% และจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า 4G ในปัจจุบันยิ่งขึ้นไปอีก

GSMA ยังได้เผยแพร่รายงานในเดือนธันวาคม 2018 ว่า เมื่อประมาณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับจาก 5G ในอีก 15 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และ 25% เกิดจากการใช้งานคลื่นความถี่สูงมากหรือ mmWave เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคลื่นย่านต่างๆ ของเทคโนโลยี 5G อย่างครบถ้วน มิเช่นนั้น 5G อาจล้มเหลว

การพยายามเร่งจัดสรรคลื่น 700 MHz สำหรับ 5G ในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำให้เกิดสภาพการเกิดผิดเวลา เพราะคลื่น 700 MHz เหมาะกับการเพิ่มความครอบคลุมสัญญาณ ไม่ใช่การเพิ่มความเร็วระดับกิกะบิตหรือการตอบสนองที่ฉับไว จึงไม่ทำให้ไทยก้าวสู่ยุค 5G และปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์หรือบริการ 5G บนคลื่นนี้อย่างแท้จริง แต่กลับทำให้ค่ายมือถือแบกต้นทุนค่าคลื่นล่วงหน้าหลายปี นอกจากนี้ ไทยยังไม่เคยมีการทดลองทดสอบ 5G บนคลื่น 700 MHz เลย

ความเร็วและการตอบสนองที่ฉับไวของ 5G จะเกิดจากคลื่นย่าน C-band และ mmWave เป็นหลัก เพราะมีปริมาณคลื่นความถี่มากกว่า โดยปริมาณคลื่นที่เหมาะแก่การให้บริการ 5G ในช่วง C-band อยู่ที่ 80-100 MHz และในช่วง mmWave อยู่ที่ 800-1000 MHz ต่อผู้ให้บริการ 1 ราย ซึ่งเทียบกับย่าน 700 MHz ที่ไทยจะจัดสรรนั้นจะได้กันไม่เกินรายละ 2 X 15 MHz

การจะนำประเทศไทยก้าวสู่ 5G โดยเป็นที่หนึ่งในอาเซียนอย่างแท้จริง คือการเตรียมคลื่น C-band และ mmWave และจัดทำ Roadmap 5G ให้พร้อมจัดสรรภายในปี 2021 และต้องประเมินสภาพตลาดที่แท้จริงว่า ความต้องการใช้งาน 5G มีเพียงพอและคุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อใด เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนจมก่อนเวลา จนนำไปสู่ปัญหาการประกอบธุรกิจ

การทยอยปล่อยคลื่นทีละย่านความถี่สู่ตลาดอย่างสะเปะสะปะ จะทำให้อุตสาหกรรมพิกลพิการ และได้ 5G เทียมที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เมื่ออุตสาหกรรมแบกต้นทุนจากการจัดสรรคลื่นโดยขาดการวางแผน ในอนาคตก็จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือไม่มีวันจบสิ้น เราจึงต้องประเมินสภาพตลาดและออกแบบตลาด 5G ให้เหมาะสมก่อนลงมืออย่างรีบเร่ง

ม. 44 ที่ออกมาจึงไม่ได้แก้ปัญหาการติดกระดุมผิดเม็ด แต่อาจทำให้กระดุมติดผิดเม็ดมากขึ้นไปอีก และเพื่อรักษาหน้าผู้ออกคำสั่ง เราอาจจะได้ 5G เทียมๆ บนคลื่น 700 MHz ใช้งานไปพลางๆ ก่อน โดยที่คุณภาพไม่ได้แตกต่างจากเดิมเลย เพื่อที่จะประกาศได้ว่า เราเป็น 5G ก่อนใครในอาเซียน

ทั้งหมดนี้คือกับดักที่เราสร้างขึ้นมาเอง และจะติดกับดักนั้นเองอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ถ้ายังไม่เร่งแก้ไข

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท