อ้างอย่างไรก็ไม่น่ามอง: “สิทธิและเสรีภาพใน ยุค คสช.”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับตั้งแต่การยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ทหารมีบทบาทอย่างมากในทางสังคมการเมืองของไทย โดยการนำของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา สังคมไทยถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพไปมากเมื่อเทียบกับยุคของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ข้ออ้างในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะก็คือเพื่อที่จะจัดระเบียบสังคมไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะทางกลุ่มรัฐบาลทหารเองเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่างก็ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นรัฐบาลที่ทำให้สังคมไทยเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพอย่างที่สุดก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ใครอยากทำอะไรก็ทำ จนทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย จากข้ออ้างลักษณะเช่นนี้นำไปสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางอย่างของประชาชนคนไทยผ่าน “กฎหมายฉบับ คสช.” ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อให้คนไทยมุ่งทำตามหน้าที่ และหน้าที่ที่ว่านี้ คสช. เอง ก็อ้างว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่คนไทยทุกคนพึงทำ 

อย่างไรก็ตามการกระทำตามกฎหมายที่ว่านั้นก็เปิดกฎหมายของ คสช. เขียนขึ้นเอง หาใช่กฎหมายที่มาจากอำนาจของประชาชนไม่ เพราะในยุค คสช. นี้ เป็นยุคที่รูปแบบของการปกครองเป็นไปในทิศทางที่เรียกว่าเป็นระบอบเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแสดงถึงบทบาทสำคัญของ คสช. ที่ใช้อำนาจในการปราบปรามแนวคิดต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เช่น การใช้อำนาจตามกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ที่แสดงทัศนะต่อสถาบันกษัตริย์ และการใช้อำนาจในการปราบปรามธรรมกาย ปราบปรามผู้เห็นต่าง ผู้แสดงออกทางการเมือง ผ่านกฎหมายมาตรา 44 นอกจากนี้ในยุคของ คสช. ยังมีการบัญญัติกฎหมายหลายฉบับด้วยกันเพื่อเป็นไปในการควบคุมสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนเสมอมา ทำให้ คสช. เอง พยายามอ้างถึงการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อควบคุมการแสดงออกของปัจเจกบุคคลในรัฐ ในขณะที่ประชาชนในรัฐก็อ้างสิทธิตามธรรมชาติเพื่อให้ตนเองสามารถมีสิทธิและเสรีภาพได้ตามสมควร แต่อย่างไรก็ตามการควบคุมประชาชนภายใต้กฎหมายของ คสช. เราต้องพิจารณาเสียก่อนว่าเป็นไปตามหลักของสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ 

ในเบื้องต้นเราควรพิจารณากันก่อนในเรื่องของสิทธิตามธรรมชาติ สำนักสิทธิตามธรรม เป็นแนวคิดหลักของนักปรัชญาสายเสรีนิยม เช่น โทมัส ฮ็อบ, จอห์น ล็อก, และ ฌอง ชาร์ค รุสโซ่ เป็นต้น นักปรัชญาในสายเสรีนิยมชี้ให้เราเห็นว่า มนุษย์มีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดเรียกว่า สิทธิโดยธรรมชาติ เดิมทีเดียวก่อนมนุษย์อยู่นอกสังคมการเมือง มนุษย์สามารถที่จะอ้างได้ว่าตนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของในการครอบครองสิ่งต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราย่อมมีสิทธิในธรรมชาติได้ทุกอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อมนุษย์เข้ามาอยู่ในสังคมการเมือง มนุษย์ก็ต้องยอมถูกจำกัดสิทธิบางอย่างของตนลงไป แต่ไม่ใช่ว่าจะถูกจำกัดอย่างไร้ขอบเขต ขอบเขตที่ว่านี้ก็คือการตกลงร่วมกันว่าเราจะไม่ใช้สิทธิของเราไปล่วงเกินสิทธิของคนอื่น ถามว่ามนุษย์มีสิทธิอะไรได้บ้างในสังคมการเมืองเช่นนี้ นักปรัชญาสายนี้อธิบายว่า มนุษย์เราเป็นเจ้าของแรงงานของตนอยู่แล้วและแรงงานทุกคนก็มีอยู่เหมือนกัน แต่จะต่างกันก็คือใครจะใช้แรงงานของตนในการให้ได้มาซึ่งการเป็นเจ้าของแห่งทรัพย์สิน ดังนั้นสิทธิที่จะตามมาอีกอย่างหนึ่งคือสิทธิในทรัพย์สินที่เราเองเป็นเจ้าของและมีสิทธิที่จะปกป้องทรัพย์สินของเรา เนื่องจากนักปรัชญาสายนี้มองว่าการเข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองทำให้เราต้องถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางอย่างไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียซึ่งสิทธิตามธรรมชาติของเราไป เพราะสิทธิตามธรรมชาติได้แปรสภาพมาเป็นสิทธิในชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินของเราแล้ว นอกจากนี้นักปรัชญาสายเสรีนิยมยังมองว่าการที่เข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองสิทธิและเสรีภาพของเราย่อมจะได้รับการปกป้องจากรัฐ ซึ่งถือเป็นหลักประกันสำคัญที่ทำให้มนุษย์ทุกคนมุ่งเข้ามาสู่การสร้างสังคมการเมืองร่วมกัน

การที่รัฐหรือประเทศให้ความคุ้มครองก็คือการที่รัฐหรือประเทศรับรองว่าเรามีสิทธิในสิ่งต่างๆ ผู้ใดจะละเมิดสิทธิดังกล่าวนี้ไม่ได้ พร้อมกับที่เราได้รับการคุ้มครอง เราก็ต้องยอมรับว่าตัวเองจะใช้เสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดอย่างสมัยที่อยู่นอกสังคมการเมืองไม่ได้ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ เราจะใช้เสรีภาพไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นไม่ได้[1]  นี่คือใจความสำคัญของสำนักสิทธิตามธรรมชาติ

ส่วนอีกสำนักหนึ่งที่มีแนวคิดตรงข้ามกับแนวคิดของสำนักสิทธตามชาตินั้น ก็คือ “สำนักสิทธิตามกฎหมาย” สำนักนี้เกิดขึ้นมาจากแนวคิดแบบ “ประโยชน์นิยม” ของ เจเรมี แบนธัม หลักจริยศาสตร์ของประโยชน์นิยมมีไว้สำหรับเป็นเกณฑ์ตัดสิน “การกระทำ” มิใช่ตัดสินคน[2] ตามหลักแล้วประโยชน์นิยมมุ่งไปที่การคำนวณประโยชน์สุขเป็นสำคัญ นั่นหมายความว่าเป็นประโยชน์สุขของทุกคนที่ควรได้รับร่วมกัน แบนธัมอธิบายว่าการที่คนเราอ้างถึงสิทธิตามธรรมชาตินั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่ต้องการปกป้องตนเอง และเป็นข้ออ้างที่เห็นแก่ตัว เพราะทั้งนี้แบนธัมเห็นว่า การกระทำที่ดีทีี่สุดคือการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด นั่นก็หมายความว่าเขาได้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่มีอยู่ของแต่ละคน เพราะแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติตามทัศนะของแบนธัมเป็นการที่คนกระทำเพื่อตนเองไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อคนส่วนมาก ดังนั้นจึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องในการบัญญัติกฎหมายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนมาก แบนธัมอธิบายไว้ว่า “การออกกฎหมายใดก็ตามย่อมมีนัยยะว่าจะต้องรุกล้ำหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม มันอาจจะเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่ดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า หากว่าสิ่งที่ดีเกินกว่าความเสียหายหรือภัยอันตรายก็ถือว่ายอมรับได้”[3]

หากมองตามทัศนะของประโยชน์นิยมอันเป็นที่มาของสำนักสิทธิตามกฎหมาย ที่มองว่าสิทธิอันชอบธรรมต่างๆ นั้น เป็นไปตามกฎหมายของรัฐที่บัญญัติไว้เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แต่ถ้าสิทธิและเสรีภาพใดที่เป็นไปในทิศทางอันขัดขวางต่อประโยชน์สุขส่วนรวมแล้วเราก็สามารถที่จะลดทอนสิทธิ และเสรีภาพนั้นลงไปได้ ดูเหมือนว่านี่คือข้ออ้างสำคัญของรัฐบาล คสช. เช่นกัน ที่มองว่าเรื่องของสิทธิควรเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าทัศนะของสำนักสิทธิตามธรรมชาติก็มีข้อถกเถียงต่อเรื่องนี้อยู่เช่นกัน เพราะสิทธิตามธรรมชาติไม่ได้กล่าวถึงนอกสังคมการเมือง แต่หมายรวมถึงสิทธิในสังคมการเมืองที่ประชาชนร่วมกันสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ตามแบนธัมก็มองว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นเมื่อคำนวณดูประโยชน์สุขแล้วมันมีประโยชน์มากหรือน้อย ถ้ามากก็ถือว่าควรที่จะเป็นข้อบังคับของสังคมการเมืองนั้น ซึ่งในยุค คสช. กฎหมายส่วนมากไม่ปรากฏให้เราได้เห็นเลยว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนมาก

นอกจากนี้ ในแง่มุมของสำนักสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุค คสช. นั้น การให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพในสังคมไทยได้ลดทอนลงไปอย่างมาก รัฐบาล คสช. มีข้ออ้างสำคัญที่จะลดทอนบทบาทในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคมไทยก็คือว่า เพื่อที่จะให้สังคมเกิดความสงบสุขที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในยุค คสช. นั้น ถูกบดบังไปด้วยข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลเขียนขึ้นเองบนข้ออ้างเรื่องความสงบสุขของสังคมและประโยชน์สุขของประเทศชาติ หากเรานำเอาข้ออ้างนั้นมาพิจารณาบนฐานคติของสำนักสิทธิตามธรรมชาติเราก็จะพบว่า รัฐบาล คสช. ได้ลิดรอนสิทธิตามธรรมชาติของเราลงไป ถามว่าลดทอนอย่างไร ขอให้เราสังเกตว่า ในความหมายของสำนักสิทธิตามธรรมชาติซึ่งถือว่าสังคมการเมืองเกิดขึ้นมาตามพันธะสัญญา ดังนั้นเราจะไม่สามารถก้าวล้ำเขตแดนสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นได้เลยแม้แต่น้อย เพราะเราได้ทำสัญญาและตกลงกันไว้แล้วว่า เราจะใช้เสรีภาพของตนเองไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นไม่ได้ แต่รัฐบาลในยุค คสช. ไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามทฤษฎีพันธะสัญญาซึ่งก็เป็นหลักสำคัญที่เราสามารถอ้างได้ว่าขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล 

รัฐบาล คสช. อาจมีข้ออ้างได้ว่า ตนเองนั้นได้กระทำตามแนวคิดแบบประโยชน์นิยม คือ บัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ใจในสิทธิตามธรรมชาติเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมละเลยประโยชน์สุขส่วนรวม แต่ที่จริงแล้วการปฏิเสธสำนักสิทธิตามธรรมชาติของ คสช. อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะ รัฐบาล คสช. ได้ละเลยบทบาทหน้าที่ของรัฐที่พึงมีต่อปัจเจกบุคคลไป เพราะตามแนวคิดของสิทธิตามธรรมชาตินั้น ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายไม่มีความสำคัญ ตามความคิดของสิทธิตามชาติกฎกติกาย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะเราต้องเคารพกติกาที่เราสร้างมาร่วมกันตามพันธะสัญญา ความไม่สมเหตุสมผลของ คสช. จึงอาจแสดงได้ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก คสช. เองไม่ได้เขียนกฎหมายขึ้นมาจากพันธะสัญญาของคนในสังคม และลักษณะที่สองก็คือ รัฐบาลเองถือว่ารัฐหรืออำนาจของตนเหนือกว่าประชาชน ประชาชนต้องเชื่อฟังรัฐอย่างที่สุด ซึ่งก็ขัดกับหลักการของสิทธิตามธรรมชาติทั้งสิ้น ในแง่นี้สำนักสิทธิตามธรรมชาติจะโต้ตอบรัฐบาล คสช. อย่างไร คำตอบก็คือเราอาจย้อนไปหาคำอธิบายของโทมัส ฮ็อบที่อธิบายไว้ว่า 

อำนาจรัฐหรืออำนาจของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ประชาชนจะละเมิดไม่ได้ ประชาชนมีหน้าที่ต้องเคารพเชื่อฟังผู้ปกครอง แต่การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลสำคัญกว่าประชาชน ที่ฮ็อบกล่าวเช่นนี้มีความหมายว่า เมื่อรัฐบาลคือผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องกฎระเบียบของสังคม การที่ประชาชนไม่ปฏิบัติตามคำสังของรัฐบาล ย่อมเท่ากับการไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ตนสร้างขึ้น"[4]

ฮ็อบแสดงให้เราได้เห็นว่าคำอธิบายของเขานั้นประชาชนมีความสำคัญมากกว่ารัฐบาลเพราะประชาชนเลือกรัฐบาลมาทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของเขาเอง แต่สำหรับรัฐบาล คสช. แล้ว ผิดไปจากแนวคิดของฮ็อบตั้งแต่ข้อแรกแล้ว นั่นก็คือรัฐบาล คสช. ไม่ได้เข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชนเลยแม้แต่น้อยเพราะรัฐบาลที่เข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชนต้องมาจากการที่ประชาชนเลือกให้มาทำหน้าที่ แต่ คสช. ไม่ใช่เช่นนั้น (ประชาชนไม่ได้ต้องการให้ คสช. เข้ามา) จึงทำให้เราเห็นได้ว่ารัฐบาล คสช. ไม่ได้ดำเนินการตามแนวคิดของสำนักสิทธิตามธรรมชาติเลย นอกจากคำอธิบายของฮ็อบแล้วยังมีคำอธิบายของรุสโซ่ด้วย รุสโซ่อธิบายว่า 

“ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปกป้องกฎระเบียบ ประชาชนจะร่วมกันออกกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นนี้รุสโซ่ถือว่าไม่ได้มีฐานะเป็นคู่สัญญากับประชาชน รัฐบาลจึงมีฐานะเป็นเพียงผู้รับใช้ประชาชน รุสโซ่ถือว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิออกกฎหมาย การตราระเบียบข้อบังคับเป็นหน้าที่ของประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่เพียงคอยรักษากฎหมายเท่านั้น”[5]

จะเห็นว่ารัฐบาล คสช. ไม่ได้มีหน้าที่รับใช้ประชาชนตามทัศนะของรุสโซ่เลย การที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า สำนักสิทธิตามธรรมชาติ (ตามทัศนะของรุสโซ) มองว่า หน้าที่ของรัฐบาลคือการรับใช้ประชาชนในเรื่องของการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ในยุครัฐบาลของ คสช. รัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเพราะรัฐบาลไม่ได้ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐบาลใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมเข้ามาทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และในขณะเดียวกันรัฐบาลยังไม่ได้รักษากฎหมายที่ประชาชนร่วมกันตราขึ้นเลย หากแต่รัฐบาลกลับทำลายมันลงไปแล้วบัญญัติขึ้นมา

ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาล คสช. อ้างเรื่องการยึดถือกฎหมายเป็นสำคัญก็ยังเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่ และผู้เขียนเองก็มีทัศนะที่เห็นด้วยกับสิทธิตามธรรมชาติ เพราะถือเป็นแนวคิดพื้นฐานของเสรีนิยม อันจะนำไปสู่การพัฒนาวิถีแห่งประชาธิปไตยต่อไป 

 

อ้างอิง

[1] สมภาร พรมทา, ปรัชญาสังคมและการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), หน้า 19.

[2] วิทย์ วิศทเวทย์, จริยศาสตร์เบื้องต้น มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 2526), หน้า 91.

[3] “No law can ever be made but what trenches upon liberty: if it stops there, it is so much pure evil: if it is good upon the whole, it must be in virtue of something that comes after. It may be a necessary evil: but still at any rate it is an evil. To make a law is to do evil that good may come.” อ้างถึงใน อัครยา สังขจันทร์, เอกสารประกอบการสอน ปรัชญาสังคม เรื่อง แนวคิดอรรถประโยชน์นิยม. (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2561)

[4] สมภาร พรมทา, ปรัชญาสังคมและการเมือง, หน้า 20.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 21.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท