Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐสมัยใหม่ ในการบริหารและการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งการปกครองให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม ทำให้กฎหมายมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างมาก จริงอยู่ที่ลำพังการมีกฎหมายที่ดีโดยไม่พิจารณาถึงองคาพยพอื่นๆ อาจไม่สามารถทำให้สังคมมีความเป็นธรรมหรือสงบเรียบร้อยอย่างที่คาดหวังได้ แต่การมีกฎหมายที่มีความเป็นธรรม จะช่วยเปิดพื้นที่และสร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะคนชายขอบของสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ สำหรับสังคมไทย ปัญหาความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เป็นปัญหาสังคมที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อ อำนาจการจัดสรรทรัพยากร บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนข้อเสนอการแก้ไขปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ที่เสนอต่อพรรคการเมืองหรือรัฐบาล เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาของประชาชนต่อไป

เนื้อหาของบทความมีสามส่วน โดยส่วนที่หนึ่งการเท้าความให้เห็นถึงโครงสร้างปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่สองจะกล่าวถึงปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทางปฏิบัติ (สำหรับคนจน) ซึ่งเป็นปัญหาที่สมาชิกเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) รวมทั้งสังคมไทยโดยทั่วไปเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และส่วนที่สามเป็นข้อเสนอในเชิงหลักการ ต่อการปฏิรูปสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

 

1. โครงสร้างปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรม (สำหรับคนจน)

1.1 การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมกับบทบาทของกระบวนการยุติธรรม

คดีที่คนจนเผชิญไม่ว่าจะเป็นในฐานะโจทก์หรือจำเลย มีสาเหตุพื้นฐานมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการทรัพยากรของรัฐไทย กล่าวคือ ชนชั้นนำและทุนกุมอำนาจและมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาของประเทศให้มุ่งเน้นไปที่การใช้ที่ดินและทรัพยากร ที่สนับสนุนการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม[1] แนวคิดนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชการที่ 5 เป็นต้นมา และพัฒนาจนกลายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ 4 ฉบับในปัจจุบัน[2] ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วมีเป้าหมายในการผูกขาดอำนาจใจการบริหารจัดการพื้นที่ป่า รวมทั้งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ที่มีลักษณะสร้างรูปแบบและโครงสร้างการบริหารจัดการที่ดินแบบรวมศูนย์อำนาจ ภายใต้แนวคิดทุนนิยมที่มุ่งแปลงที่ดินให้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาด ซึ่งในท้ายที่สุดทั้งพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมายป่าไม้หรือที่ดินภายใต้กฎหมายที่ดิน กลายเป็นทรัพยากรที่ชนชั้นนำและทุนผูกขาดผลประโยชน์อย่างมหาศาล โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม พร้อมกับใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกจัดการกับคนที่รบกวนหรือขัดขวางต่อผลประโยชน์ดังกล่าว หรือแม้กระทั่งใช้เป็นเครื่องมือจัดสรรหรือกีดกันคนอื่นออกจากพื้นที่ผลประโยชน์เหล่านั้น   

ดังนั้น เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจผูกขาดการจัดการหรือผลประโยชน์ รัฐจึงปฏิเสธระบบการถือครองหรือสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรตามวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชนในท้องถิ่น ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาแสวงหาผลประโยชน์ในระบบทุนนิยม เช่น สิทธิชุมชนในการใช้ที่ดินและทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เป็นต้น

คดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากเป็นกรณีที่รัฐกล่าวหาว่าประชาชนละเมิดต่อกฎหมาย ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เพียงใช้ที่ดินสำหรับการเกษตร หรือใช้ไม้สำหรับการสร้างบ้านอยู่อาศัย อันเป็นการกระทำเพื่อดำรงชีวิตปกติเท่านั้น โดยมีสถิติและข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่น่าสนใจ คือ  จากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน สภาผู้แทนราษฎร พบว่าเมื่อถึงปี พ.ศ. 2553 มีประชาชนจำนวนมากอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในเขตจำนวนประมาณ 635,916 ราย เนื้อที่ประมาณ 11.6[3] โดยระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2559 มีคดีสถิติการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและทำไม้ทั้งหมด จำนวน 57,947 คดี เฉลี่ยปีละ 7,243.38 คดี[4] แต่หลังจากรัฐประหารสถิติคดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ นับตั้งเดือนพฤษภาคม พ.ศ.  2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด จำนวน 44,610 คดี ได้ผู้ต้องหาจำนวน 16,515 คน เฉลี่ยปีละ 14,870 คดี[5]

นอกจากนี้นักวิชาการได้วิเคราะห์พื้นฐานของปัญหาความไม่เป็นธรรมของคนจนเอาไว้ว่า โดยธรรมดาแล้วทุกคนต้องการได้รับความยุติธรรม หากแต่การเข้าถึงความยุติธรรมที่เป็นทางการในความเป็นจริงนั้น ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นแบบแผนพิธีการ ที่มีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ “ความยากจน” กับ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นปรากฏการณ์ของคู่ความสัมพันธ์ต่อกันในรูปของ “ปัญหาอาชญากรรม” ที่ผู้คนเชื่อกันว่า “ความยากจน” ก่อให้เกิด “อาชญากรรม” ในลักษณะเป็นวงจรความสัมพันธ์ระหว่างความยากจน การเข้าถึงความยุติธรรม กับ กระบวนการยุติธรรม โดยที่กระบวนการยุติธรรมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้[6]  

ดังนั้น ความยุติธรรมตามความคิดความรู้สึกของในสังคมอาจแตกต่างกัน สำหรับคนยากจนที่มีสถานะภาพในสังคมต่ำกว่าคนกลุ่มอื่นๆ นั้น ความยุติธรรมในความหมายของเขาบางครั้งก็ขัดแย้งกับกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายมุ่งปกป้องบรรทัดฐานของสังคมและนโยบายแห่งรัฐ ที่กดทับคนจนแต่เอื้อประโยชน์คนรวยหรือชนชั้นกลาง ดังนั้น การเดินทางเข้าสู่ความยุติธรรมของคนยากจน (ที่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมพยายามบอกว่าเป็นสถานบันทางสังคม และเป็นงานบริการประชาชน) มีลักษณะที่ทำให้ผู้รับบริการส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ และมีราคาแพงอย่างยิ่ง ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกตัดสินไปในทางใดทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ตกเป็นจำเลยจะมีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะเลยบริสุทธิ์ แต่มีบ่อยครั้งที่จำเลยถูกพิพากษาหรือตราหน้าไปก่อนแล้วว่าผิด[7]   

 

1.2 ลักษณะความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของระบบกฎหมายไทย ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของการให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมของสังคมอย่างจริงจัง ดังนั้น ในทางนิติศาสตร์ของไทย จึงไม่ค่อยจะมีการตั้งคำถามต่อมโนทัศน์ความเป็นธรรมภายใต้ระบบกฎหมาย โดยเฉพาะภายใต้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ซึ่งเราพบว่าในทางกฎหมายแล้วเมื่อเราพูดถึงความยุติธรรมตามกฎหมาย จึงมีลักษณะที่ยอมรับได้ว่า อาจจะไม่จำเป็นต้องสอดรับกันกับความเป็นธรรมทางสังคม หรือความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับบุคคลในระดับปัจเจกได้ กล่าวคือ

" …กฎหมายคือความยุติธรรม ดังนั้น จะต้องทำตามกฎหมายที่กฎหมายบัญญัติ จึงจะได้รับความเป็นธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ……และจะต้องเคารพและ รักษากฎหมายเอาไว้เพราะ มันเป็นสิ่งที่ผ่านกระบวนการตรากฎหมายที่ตัวแทนของ ประชาชนเป็นผู้ตรา……ความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะกฎหมาย แต่เป็นเคราะห์กรรม โชคชะตาที่จำต้องมาชดใช้…"[8]

 

เมื่อกลไกกระบวนการยุติธรรมมีความเชื่อเช่นนี้ คำถามหรือข้อโต้แย้งอื่นๆ ต่อ "ความเป็นธรรม" จะถูกกีดกันโดยตัวของระบบกฎหมายเอง นอกจากนี้ ระบบกฎหมายของไทยเริ่มต้นจากการมีองค์กรมากมายภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์ ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือ ทำให้กรต่างๆ พยายามที่จะอ้างความชอบด้วยกฎหมาย หรืออ้างความมีอำนาจตามกฎหมายของแต่ละองค์กร ว่าสามารถที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายได้ ดังนั้น บรรดาการกระทำทั้งหลายตามอำนาจที่องค์กรต่างๆ เหล่านั้นมี ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายโดยกระบวนการนิติบัญญัติ การตัดสินใจหรือใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร การชี้ขาดตัดสินคดี จึงถูกทำให้ต้องยอมรับแบบเป็นทางการว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเสมอ[9] แม้ว่าในทางข้อเท็จจริงหรือปฏิบัติการที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล จะไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม

นักวิชาการพบว่า โครงสร้างและแนวความคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่ออำนวยการให้ประชาชนทุกคนได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมจริง โดยได้สร้างข้อถกเถียงว่าด้วยความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยหลากหลายมุมมองว่า แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของไทย จะมีเนื้อหาที่รองรับหลักความเสมอภาคและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะภายใต้ระบบการค้นหาความจริงแบบต่อสู้ ที่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ความผิดจนสิ้นสงสัย โดยให้สิทธิและโอกาสแก่ผู้ที่ถูกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิประการอื่นๆ ของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้อย่างครบถ้วน แต่กลับพบว่ารูปแบบและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้นั้น มีปัญหาในทางปฏิบัติและไม่สามรถคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกันจริง โดยมีข้อเสนอทางวิชาการต่อประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยที่สำคัญ 2 ปาระการ กล่าวคือ

ประการแรก มโนทัศน์ว่าด้วยความเป็นธรรมตามกฎหมาย

โดย สายชล สัตยานุรักษ์ กล่าวไว้ว่า แนวความคิดแบบจารีตเดิมที่ยึดถือวัฒนธรรมที่มีโครงสร้างสังคมที่เป็นลำดับชั้น คือ เชื่อว่าคนในสังคมไทยไม่เท่าเทียมกัน ผู้คนในสังคมดำรงความสัมพันธ์กันแบบมีชนชั้นสูงต่ำ ยังคงฝังตัวอยู่ในวัฒนธรรมไทย ทำให้ความเสมอภาคในทางปฏิบัติยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ โดยเสนอว่า วัฒนธรรมไทยนั้นถือว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องของความไม่เสมอภาค กล่าวคือ

“ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "ความยุติธรรม" เป็นความคิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นต่าง ๆ ที่มีสถานภาพ อำนาจ และสิทธิไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้ชัดจากชนชั้นเจ้าเองที่แบ่งสถานภาพอำนาจ และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างซับซ้อน และนักปราชญ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้สร้างอัตลักษณ์ให้แก่คนชั้นต่าง ๆ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้า ข้าราชการ พระสงฆ์ ราษฎร และผู้หญิง ให้คนแต่ละชั้นรับรู้ว่าตนมีมีสถานภาพและหน้าที่อย่างไรบ้าง โดยใช้อำนาจรัฐในการสร้างระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรม และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ให้คนยอมรับแบบแผนของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือยอมรับว่าความไม่เสมอภาคเป็นความยุติธรรมนั่นเอง”[10]

           

สายชล ยังได้เสนอต่อว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 แล้วก็ตาม หากแต่ชนชั้นนำของไทยยังคงพยายามรักษาระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ ทำให้ความหมายของ "ความยุติธรรม" ในวัฒนธรรมไทยกระแสหลักจึงแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง “มีอิทธิต่อการบัญญัติ การใช้และการตีความกฎหมาย รวมทั้งมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติด้วย”

อุดม รัฐอมฤต และคณะ ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกับข้อเสนอของสายชลว่า ตั้งแต่อดีตมา สังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับในความไม่เท่าเทียม โดยอุดมการณ์ทางการเมืองได้รับอิทธิพลจากคำสอนในพุทธศาสนาเรื่อง “กรรม” ทำให้เกิดการยอมรับอำนาจปกครองของชนชั้นปกครอง และยอมรับถึงสถานะที่แตกต่างกันของบุคคล เนื่องจากทำกรรมมาต่างกัน[11] แต่เมื่อประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการแลกเปลี่ยนค้าขาย การศึกษา ตลอดจนการพยายามพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยตามอย่างตะวันตก ทำให้มีการรับแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพเข้ามาด้วย แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วปรากฏว่าประเทศไทยมีการยอมรับและเปลี่ยนแปลงในด้านรูปแบบมากกว่าการยอมรับและเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานความคิด[12] นอกจากนี้ การบัญญัติเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยนั้น มักจะไม่ได้มีที่มาจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน หากแต่ผู้มีอำนาจนำมาบัญญัติไว้เพื่ออ้างความชอบธรรมของผู้มีอำนาจผู้ปกครอง[13]

สำหรับ จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย มีความเห็นว่า ระบบกฎหมายมุ่งปกป้องบรรทัดฐานของสังคมและนโยบายแห่งรัฐที่กดทับคนจน แต่เอื้อประโยชน์คนรวยหรือชนชั้นกลาง ดังนั้น การเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของคนยากจน ก็คือการตกเป็นผู้ถูกกระทำ เนื่องจากมีราคาแพง ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกตัดสินให้แพ้ แม้ว่าจะมีกฎหมายหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะเลยบริสุทธิ์ แต่มีบ่อยครั้งที่จำเลยถูกพิพากษาหรือตราหน้าไปก่อนแล้วว่าผิด[14]

ประการที่สอง บทวิพากษ์ต่อปัญหาความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทย

นักวิชาการได้วิพากษ์ประเด็นความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า ระบบกฎหมายไทยยังไม่สามารถอำนวยการให้การพิจารณาคดีเกิดความเป็นธรรมได้ในทางปฏิบัติ โดย ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา (2561)  มองว่ากฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในระบบกฎหมายไทย มีลักษณะเป็น “แบบแผนทางการ” (Formal) ซึ่งทำให้คนชายขอบไม่ได้รับประโยชน์จริงๆ โดยกล่าวว่า

“หากแต่กระบวนการยุติธรรมแต่ละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน จนถึงชั้นพิจารณาคดีที่มีลักษณะเป็นแบบแผนพิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องอาศัยความรู้ด้านกฎหมายโดยเฉพาะ การดำเนินการแต่ละขั้นตอนก็มีค่าใช้จ่าย จึงทำให้คนบางกลุ่มในสังคมที่เป็นคนยากจนและขาดความรู้ต้องตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการต่อสู้คดี หรือถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้น การต่อสู้คดีในสภาพที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้ ก็ยากที่จะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง”[15]

 

อีกทั้ง กมลวรรณ ชื่นชูใจ มีความเห็นว่า แม้หลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงในระบบกฎหมายแล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่าหลักการของกฎหมายเหล่านั้น จะสามารถคุ้มครองคนจากการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบจริง เนื่องจากการใช้กฎหมายยังต้องผ่านการตีความโดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ที่มีความคิดความเชื่อในทางการเมือง และอาจตีความไปในทางตรงข้ามกับหลักการก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีความเชื่อว่าจะเป็นภัยต่อสังคม ดังนั้น การเชื่อว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนให้รอดพ้นจากการใช้อำนาจไม่ชอบของรัฐนั้น เป็นเรื่องไร้เหตุผล สิทธิที่กฎหมายบัญญัติไม่อาจยับยั้งการใช้อำนาจเกินเลยของรัฐได้จริง[16]

รวมทั้ง สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ พบว่ามาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมด้านป่าไม้และที่ดิน นั้น เจ้าหน้าที่รัฐมีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน โดยไม่กล้าดำเนินคดีกับผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพล แต่กลับจับกุมและฟ้องร้องคนยากคนจนคนอย่างเด็ดขาด อีกทั้งเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลแล้ว ศาลก็เพียงแต่รับฟังพยานหลักฐานจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แม้จะรู้ว่าในบางคดีมีปัญหา แต่ก็ไม่มีวิธีการรับมือกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ในบางครั้งกลับลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งอย่างไม่เหมาะสมต่อคนจน[17]

ในขณะที่ สุมิตรชัยและสุรชัย ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการเป็นทนายว่าความช่วยเหลือคนจนว่า ในทางปฏิบัตินั้น ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับประโยชน์จากหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายเสมอไป โดยเฉพาะคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นกลุ่มคนชายขอบ เช่น 1) ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายเป็นค่าทนายความ ค่าเดินทางไปศาล ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าประกันตัว 2) ปัญหาการเข้าถึงเอกสารและพยานหลักฐาน ที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ 3) ปัญหาความไม่รู้และไม่เข้าใจภาษาไทย ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด 4) ปัญหาการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ซึ่งศาลจะให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานของทางราชการเป็นหลักเป็นต้น[18]

อคิน รพีพัฒน์ และคณะ ในงานวิจัยเรื่อง คลายปม “คดีที่ดินคนจน” พบว่าปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจนสูญเสียที่ดินหรืออิสรภาพ โดยต้นเหตุใหญ่คือความไม่เท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคดีพิพาทเกี่ยวกับการแย่งชิงที่ดินระหว่างนายทุนกับคนชายขอบนั้น พบว่าในทางข้อเท็จจริงชาวบ้านถูกทนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลเอาเปรียบ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญา[19] 

2. ปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทางปฏิบัติ (สำหรับคนจน)

2.1 เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นในฐานะโจทก์หรือจำเลย คดีแพ่งหรือคดีอาญา ชาวบ้านธรรมดาจะประสบกับปัญหาในทางปฏิบัติต่างๆ ทำให้โอกาสน้อยที่จะได้รับการความเป็นธรรมในระดับปฏิบัติหรือต่อปัจเจกบุคคลจริงๆ โดยจากรายงานการวิจัย “การพิสูจน์สิทธิในคดีป่าไม้และที่ดิน” (ศึกษาจากมุมมองของทนายความ นักพัฒนาและชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับคดีป่าไม้และที่ดิน)” ของสุมิตรชัย หัตถสาร และคณะ[20] พบว่าปัญหาในระบบการค้นหาความจริงในการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งตัวบทกฎหมายและการปฏิบัติจริง โดยพบว่าในทางปฏิบัตินั้นโจทก์หรือจำเลยที่เป็นคนจนประสบปัญหาที่สำคัญ คือ

1. ปัญหาค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นจริงมีสูง เช่น ค่าเดินทางไปศาล  ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาพยานหลักฐาน ค่าประกันตัว

2. ปัญหาการเข้าถึงเอกสารและพยานหลักฐาน โดยเฉพาะเอกสารสำคัญที่จำเป็นในการพิสูจน์ความจริง ที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้ยาก แม้จะมีสิทธิขอได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ก็ตาม

3. ปัญหาความไม่รู้และไม่เข้าใจของชาวบ้านในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คือ การรู้และเข้าใจสิทธิและขั้นตอนในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่รู้และไม่เข้าใจภาษาไทย ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด

4. ปัญหาภาระการพิสูจน์ คือ ในขณะที่กระบวนการพิจารณาคดีใช้ระบบกล่าวหา แต่พยานหลักฐานส่วนใหญ่กลับอยู่ในความครองครองของหน่วยงานรัฐ และทั้งหน่วยงานรัฐดังกล่าวยังอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า จึงเป็นการยากที่ประชาชนจะหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาของรัฐได้

5. ปัญหาการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ซึ่งศาลจะให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานของทางราชการเป็นหลัก และไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายประชาชนสืบพยานหักล้างความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายของพยานหลักฐานดังกล่าวได้  นอกจากนี้ศาลยังไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

6. ปัญหาในการแจ้งสิทธิจำเลยในการรับสารภาพในคดีอาญา ซึ่งมีคดีที่พบว่าจำเลยรับสารภาพบนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะผลเสียหายจากการรับสารภาพ ซึ่งในบางคดีจำเลยอาจไม่ได้กระทำความผิดจริง

7. ปัญหาการรับรู้เกี่ยวกับโครงสร้างปัญหาป่าไม้ที่ดินของบุคคลกรในกระบวนการยุติธรรม ว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ส่งผลให้มุ่งแต่ใช้วิธีการแบบคดีอาญาทั่วไป จนละเลยต่อประเด็นสำคัญไป โดยเฉพาะสิทธิในความชอบธรรมของจำเลย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ อคิน รพีพัฒน์ และคณะ ในงานวิจัยเรื่อง คลายปม “คดีที่ดินคนจน” พบว่าในทางข้อเท็จจริงคนถูกทนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลเอาเปรียบ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญา ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของแล้วพบว่ามีปัญหาสำคัญ คือ ภาระการนำสืบ (Burden of Proof) และการชั่งน้ำหลักพยานหลักฐาน โดยในการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์นั้น คนจนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและเอกสารของทางราชการ จึงไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ได้ ในขณะที่ศาลเองก็ไม่เรียกเข้ามาเองด้วย นอกจากนี้ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ศาลจะให้น้ำหนักแก่พยานหรือเอกสารของทางราชการมากกว่าพยานหลักฐานประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่นายทุนสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ยังพบว่าศาลยุติธรรมไม่ได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการแสวงหาความจริง เพื่ออำนวยการให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง[21] 

2.2 ในทางหลักการแล้ว ระบบกฎหมายตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า การฟ้องคดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหาย และประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้ที่กระทำความผิดได้ แต่ในบางกรณีพบว่าหน่วยงานรัฐหรือนายทุนทำการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP)  มีผลทำให้กระบวนการฟ้องคดีถูกใช้เป็นเครื่องมือหยุดหรือคุกคามต่อกลุ่มคนหรือบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ ต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้มีภาระทางกฎหมายซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่นค่าใช้จ่าย การเดินทาง การเสียเวลาดำเนินการ และการถูกกดดันจากบุคคลากรเป็นที่เป็นกลไกในกระบวนกรยุติธรรม ที่สำคัญคือ ผลกระทบของการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่คนถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมถึงประชาชนคนทั่วไปที่ถูกปิดกันข้อมูลที่มีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียหรือสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไป หรือข้อมูลบางอย่างที่ผู้มีอำนาจไม่อยากเปิดเผย 

การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) มีความแตกต่างจากการฟ้องธรรมดาตรงที่ SLAPP มักจะเป็นการฟ้องส่งเดช โดยโจทก์ไม่หวังว่าจะต้องชนะ ขอเพียงมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ พอให้ฟ้องได้ก็ฟ้องเลย โดยปกติโจทก์จะเลือกฟ้องโดยทำให้จำเลยเผชิญกับความลำบากมากที่สุด เช่น ตอนที่รู้ว่าอีกฝ่ายกำลังไม่ค่อยมีเวลาหรือกำลังขาดเงิน ฟ้องจำเลยทีละหลายๆ คน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นมากหรือน้อย ฟ้องในหลายๆ ท้องที่ ฟ้องในศาลที่อยู่ไกลออกไปจากภูมิลำเนาของจำเลย ทั้งนี้ก็เพื่อดึงให้คดียืดเยื้อและสิ้นเปลืองเงินที่สุด แม้ในที่สุดโจทก์จะแพ้ความในศาล แต่นอกศาลก็เรียกได้ว่าโจทก์ชนะแล้ว เพราะอย่างน้อยๆ ประเด็นที่โจทก์เคยถูกโจมตีก็จะหายไปเองท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมอันยาวนาน ซึ่งสิ่งที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมจะต้องตระหนักคือ ลักษณะของ SLAPP ที่เป็นการเอาทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมของรัฐมาใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองของรัฐ

2.3 แม้ว่ารัฐจะมีกองทุนให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกว่า “กองทุนยุติธรรม” มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชน ในการดำเนินคดี การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงกองทุนดังกล่าวนี้ได้จริง อันเนื่องมาจาการสร้างเงื่อนไขที่เกินสมควรและใช้ระบบการทำงาน การอนุมัติตามแบบแผนของทางราชการ ทำให้กองทุนดังกล่าวนี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนจนได้จริง

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวมาในข้อ 1 และ 2 ข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าคดีที่คนจนเผชิญไม่ว่าในฐานะโจทก์หรือจำเลย เป็นคดีที่ชาวบ้านขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐหรือนายทุน ในประเด็นการโต้แย้งกันเรื่องสิทธิในทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นการแย่งชิงทรัพยากรโดยรัฐหรือทุนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน เป็นความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ที่รัฐและทุนร่วมมือกันผูกขาดอำนาจการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผลประโยชน์ของทุนในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด โดยรัฐและทุนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกีดกัน กำจัดรวมทั้งทำลายความชอบธรรมของคนอื่น ที่โต้แย้งต่อระบบที่รัฐและทุนวางไว้

3. ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ในคดีคนจน)

ที่ผ่านมามีการเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมให้มีความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเสนอโดยภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรในกระบวนการยุติธรรม และภาควิชาการ สำหรับในที่นี้จะนำเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากมุมมองของคนจนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ไม่มีความเป็นธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน และได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ดังต่อไปนี้

3.1 ประเด็นปัญหาคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ เสนอให้จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินและป่าไม้ ตามข้อเสนอของ สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการพิจารณาคดีป่าไม้และที่ดินมีมาตรฐาน มีความถูกต้อง เป็นธรรม ประหยัด ซึ่งในกรณีเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้ที่ดินหรือป่าไม้ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะต้องคำนึ่งถึงความเชื่อมโยงกับข้อมูลทางสังคมศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา และชาติพันธุ์วิทยาต่างๆ การพิสูจน์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีที่เชื่อมโยงกับเรื่องการใช้ที่ดินที่ป่า เนื่องจากบางครั้ง การพิสูจน์ทางวัฒนธรรมประเพณีบางประการอาจนำไปสู่การได้สิทธิ การมีความผิด หรือการพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งการที่ศาลมักห้ามนำสืบบริบทของคดี แต่มุ่งพิจารณาเพียงหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยไม่นำพาต่อเบื้องหลังของเหตุการณ์ความขัดแย้ง ทำให้ขาดการมองภาพความขัดแย้งอย่างเป็นองค์รวม และทำให้ปิดโอกาสของฝ่ายประชาชนหรือชุมชนในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดตั้งศาลพิเศษด้านที่ดินและป่า โดยมองว่าในกรณีที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น อาจจำเป็นต้องสร้างระบบผู้พิพากษาสมทบด้านที่ดินและป่าไม้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ดังตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย มีการจัดตั้งศาลชนพื้นเมือง (Native Court) ที่ให้ชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมตัดสินคดีด้านที่ดินศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Land) และป่าไม้ของชุมชน (Native Forest) ขึ้นเป็นพิเศษ[22]

3.2 ประเด็นปัญหาการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เสนอให้ปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของกองทุนยุติธรรม ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 จากลักษณะที่มีรูปแบบการสงเคราะห์ภายใต้การทำงานในระบบราชการ ให้เป็นรูปแบบสวัสดิการรัฐ ที่รัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิและโอกาสเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความยากจนให้ได้ระดับ

3.3 ประเด็นปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) เสนอให้แก้ไขเพิ่มกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่มีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับตรวจสอบและกลั่นกรองการแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กลไกทางกฎหมายในการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ชาวบ้านหรือผู้มีที่มีเจตนาโดยสุจริต

3.4 ประเด็นปัญหาการสอบสวนและฟ้องคดี เสนอให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนและฟ้องคดีให้เป็นไปตามแบบสากล โดยให้การสอบสวนและฟ้องคดีโดยรัฐอยู่ในขั้นตอนเดียวกัน ไม่แยกออกจากกันเหมือนในปัจจุบัน โดยให้พนักงานอัยการทำหน้าที่ควบคุมการสอบสวนและฟ้องคดี เพื่อให้กระบวนการสอบสวน ค้นหาพยานหลักฐานและฟ้องคดีเป็นขั้นตอนเดียวกันและควบคุมโดยพนักงานอัยการ จะทำให้การสอบสวนและฟ้องคดีมีประสิทธิภาพและสามารถกลั่นกรองคดีที่สมควรฟ้องหรือไม่สมควรฟ้อง[23] 

 

บทสรุป

ปัญหาการเข้าถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย มีปัญหาทั้งในระดับโครงสร้างและการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี กล่าวคือ ในระดับโครงสร้างนั้นจะเห็นว่าคนจนมักจะถูกผลักเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อันเนื่องมาจากความขัดแย้งท่ามกลางปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ที่ระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐมุ่งสนับสนุนการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม ที่ชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจในสังคมผูกขาดผลประโยชน์ ในขณะที่พยายามกีดกันคนชายขอบที่ดำรงวิถีชีวิตที่รบกวนหรือกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจออกไปโดยใช้มาตรการและกลไกกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนชายขอบถูกจับกุมหรือฟ้องร้องดำเนินจำนวนมาก

สำหรับปัญหาในกระบวนการพิจารณาคดีนั้น ท่ามกลางการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับคนชายขอบ การทำงานของกลไกกระบวนการยุติธรรมของไทยถูกมองว่าไม่สามารถอำนวยการให้เกิดความเป็นธรรมได้จริง เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามแบบแผนพิธีการและมีค่าใช้จ่ายสูงที่คนจนไม่สามารถเข้าถึงได้จริง จึงทำให้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบในการต่อสู้คดีในทุกรูปแบบ ซึ่งสถานเช่นนี้เปิดโอกาสให้รัฐหรือนายทุนใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเล่นงานหรือกลั่นแล้งคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของเขาเหล่านั้น

ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนหรือคนชายขอบสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทีเป็นจริงได้ จึงจำเป็นต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อยใน 4 ประเด็น คือ ประเด็นปัญหาคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ เสนอให้จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินและป่าไม้ เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการพิจารณาคดีป่าไม้และที่ดินมีมาตรฐาน มีความถูกต้อง เป็นธรรม ประหยัด และเกิดวิธีการพิจารณาคดีที่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง ประเด็นปัญหาการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม ปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นรูปแบบสวัสดิการรัฐ ที่ทำหน้าที่อำนวยการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิและโอกาสเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความยากจนให้ได้ระดับ ประเด็นปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) ต้องสร้างมาตรการตรวจสอบและกลั่นกรองการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเรียกร้องสิทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กลไกทางกฎหมายดำเนินคดีแก่ชาวบ้านหรือผู้มีที่มีเจตนาโดยสุจริต และประเด็นปัญหาการสอบสวนและฟ้องคดี ต้องทำการปฏิรูประบบการสอบสวนและฟ้องคดีโดยให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญกว่าทำหน้าที่สอบสวนคดีและพิจารณาสั่งคดี

 

อ้างอิง

[1] อคิน รพีพัฒน์, เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์, กิตติศักดิ์ ปรกติ, คลายปม “คดีที่ดินคนจน”, รายงานวิจัย,  (กรุงเทพฯ : บริษัทอัพทูยู ครีเอทนิว จำกัด).

[2] พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 , พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 , พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 , พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535.

[3] ศยามล ไกรยูรวงศ์. ร่างกฎหมายสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร : ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม, สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, สืบค้นจาก http://www.lrct.go.th/th/?p=17044 , สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2560.

[4] ข้อมูลสาระสนเทศน์กรมป่าไม้, สถิติคดีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้. สืบค้นจาก

http://forestinfo.forest.go.th/Content.aspx?id=88 สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2561.

[5] รัฐบาลไทย, ทส. เดินหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อบูรณาการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้, วันที่ 19 พฤษภาคม 2560. สืบค้นจาก

 http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/3844 สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561.

[6] จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม, บทความทางวิชาการ นำเสนอในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมกับปัญหาความยากจนในสังคมไทย" จัดโดย โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2545.

[7] จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, อ้างแล้ว.

[8] ไพสิฐ พาณิชย์กุล, การเมืองภาคประชาชน ความเป็นธรรมทางสังคม กับความเป็นธรรมทางกฎหมาย, บทความวิชาการ, สืบค้นจาก

https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=15999&filename=index

[9] ไพสิฐ พาณิชย์กุล, อ้างแล้ว.

[10] สายชล สัตยานุรักษ์, สองร้อยปีวัฒนธรรมไทยและความยุติธรรม, บทความวิชาการ, สืบค้นจาก

[11] อุดม รัฐอมฤต และคณะ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2544, หน้า 3.

[12] อุดม รัฐอมฤต และคณะ, อ้างแล้ว , หน้า 4.

[13] อุดม รัฐอมฤต และคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 12.

[14] จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม, บทความทางวิชาการ นำเสนอในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมกับปัญหาความยากจนในสังคมไทย" จัดโดย โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2545.

[15] ชีพ จุลมนต์. สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีสิทธิของผู้ต้องหาและจาเลยในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐโดยการจัดหาทนายความช่วยเหลือทางคดี,  (รายงานการฝึกอบรมหลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 1 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ, สานักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2556), หน้า 17.

[16] กมลวรรณ ชื่นชูใจ. การจับกุม "ชาวเขา" บ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549.

[17] สุนทรียา เหมือนพะวงศ์. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านป่าไม้และที่ดินเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย : คดีความคนจน, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, 2554.

[18] สุมิตรชัย หัตถสาร และ สุรชัยตรงงาม, “การพิสูจน์สิทธิในคดีป่าไม้และที่ดิน” (ศึกษาจากมุมมองของทนายความ นักพัฒนาและชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับคดีป่าไม้และที่ดิน), รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, 2553.

[19] อคิน รพีพัฒน์, เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์, กิตติศักดิ์ ปรกติ, คลายปม “คดีที่ดินคนจน”, รายงานวิจัย,  (กรุงเทพฯ : บริษัทอัพทูยู ครีเอทนิว จำกัด).

[20] สุมิตรชัย หัตถสาร และ สุรชัยตรงงาม, อ้างแล้ว.

[21] อคิน รพีพัฒน์, เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์, กิตติศักดิ์ ปรกติ, คลายปม “คดีที่ดินคนจน”, รายงานวิจัย,  (กรุงเทพฯ : บริษัทอัพทูยู ครีเอทนิว จำกัด).

22] สุนทรียา เหมือนพะวงศ์. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านป่าไม้และที่ดินเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย : คดีความคนจน, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, 2554.

[23] น้ำแท้ บุญมีสล้าง, การปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญาตามแนวทางสากล, สืบค้นจาก https://waymagazine.org/inquiry_reform/ , สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2562.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net