Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 'มดงานกระทรวงสาธารณสุข' ควรได้รับความเป็นธรรม เพื่อส่งเสริม ความรัก ความปรองดอง ร่วมกันทํางานแบบสหสาขาวิชาชีพเปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน 'เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข' เรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกวิชาชีพในสายงาน ก.ทรวงสาธารณสุข ปฏิรูป 4 ประเด็นสำคัญ 'ขจัดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรตําแหน่ง-เงินเดือนค่าจ้าง-ค่าตอบแทน-โครงสร้างอัตรากําลัง'

1 พ.ค. 2562 เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา 'เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข' ได้ยื่น 'ข้อเรียกร้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค ต่อทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข' ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยเครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าสมาชิกจากทุกองค์กรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 33 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 83 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 780 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) 9,775 แห่ง ในสํานักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 76 แห่ง และสํานักงานสาธารณสุขอําเภอ (สสอ.) 878 แห่ง ได้ดําเนินการตามตัวชี้วัดและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดมา และเป็นฟันเฟืองในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”

โดยเครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯ ที่เป็นธรรม ขอเสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมใน 4 ประเด็น ดังนี้ 

1. ความไม่เป็นธรรมในเรื่องการจัดสรรตําแหน่งในแต่ละสายงาน

เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดสรรตําแหน่งข้าราชการให้กับลูกจ้าง พนักงาน ราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขทุกสายงาน ทุกวิชาชีพให้ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของ กรอบขั้นต่ำตามมติ ครม. โดยมีการพิจารณาการบรรจุข้าราชการทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ (ทั้งนี้มีลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่ทํางานมานานเกิน 10 ปี ยังไม่มีแนวโน้ม ที่จะได้บรรจุราชการ)

ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนการยุบเลิกการบรรจุข้าราชการของหลายสายงานในกระทรวงสาธารณสุข (กรณีสายงานสนับสนุนถูกยุบเลิกร้อยละ 100 และสายงานรองถูกยุบเลิกร้อยละ 20) ทั้งนี้กรณีมีอัตราว่างจากการเกษียณ/ลาออกของทุกสายงานทุกวิชาชีพ ควรจัดสรรคืนการบรรจุข้าราชการของสายงานนั้นๆ ในอัตราร้อยละ 100 เพื่อทดแทนตําแหน่งว่างให้แก่ส่วนราชการเดิม

ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการพิจารณาตำแหน่งว่างที่เหลืออีก 10,830 ตําแหน่ง ในกระทรวงสาธารณสุขมาใช้ในการบรรจุ ปรับตําแหน่ง แต่ละสายงาน แต่ละวิชาชีพในสํานักปลัดกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม

ขอให้พิจารณาจัดสรรตาแหน่งว่างเพิ่มเติม เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถนํามาใช้ในการบรรจุ ปรับตําแหน่งความก้าวหน้า ให้ครอบคลุมทุกสายงาน ทุกวิชาชีพ อย่างเป็นธรรม

ห้ามกระทรวงสาธารณสุขนำตําแหน่งว่างของสายงานหนึ่งไปปรับตําแหน่งอีกสายงานหนึ่ง โดยที่สายงานนั้นๆ ยังมีผู้รอบรรจุอยู่ เว้นแต่มีการหารือและยินยอมจากผู้แทนองค์กรของสายงานนั้น

ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการคืนตําแหน่งว่างที่เคยนําไปปรับไปให้สายงานอื่นๆ ปีละหลายร้อยตําแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ให้สายงานเติมได้นํามาใช้ในกรณี (1) การบรรจุผู้ที่รอบรรจุมานานในแต่ละสายงาน (2) การเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) สํานักปลัดกระทรวง อีกสามร้อยกว่าตําแหน่งในทุกเขต ก่อนจะหมดบัญชีในเดือน ก.ย. 2562 รวมถึงเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) ในกรมกองต่างๆ ด้วย (3) การปรับตําแหน่งตามหลักเกณฑ์หนังสือ กพ.ว.16 ปี 2558 การบริหารบุคคลชายแดนใต้ อย่างต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง (ตามมติคณะทํางาน ว.16 ชายแดนใต้ ) ซึ่งในปี 2562 มี อีกสองร้อยกว่าตําแหน่งที่รอปรับตําแหน่ง 

2.ความไม่เป็นธรรมในในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง

กรณีจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน (เฉลี่ย 4,500 - 6,000 บาท) ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขห้ามหน่วยงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ จ่ายค่าจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน ซึ่งถือว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้างในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก และในกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติงานที่หน่วยงานมานานหลายปี ห้ามใช้การจ้างรายวัน รายคาบ เพื่อเลี่ยงค่าจ้างรายเดือนตามกฎหมายแรงงาน

ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานในกระทรวง สาธารณสุข ให้สามารถจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าขั้นต่ําของกฎหมายแรงงาน และควรมีการดูแลสิทธิ สวัสดิการ ลูกจ้าง ทุกประเภทด้วย

กรณีปัญหาการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน จากปัญหาการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน พบว่าโดยส่วนใหญ่มาจากปัญหาการเยียวยาที่มีการตั้งต้นเงินเดือนผิดมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งจากการที่เยียวยาที่ไม่ครอบคลุมรอบด้าน จึงส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ เกิดความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

จึงขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการพิจารณาเยียวยากรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ของทุกกลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เช่น กลุ่มอดีตพนักงานของรัฐ ฯลฯ โดยพิจารณาให้รอบด้านและดําเนินการเยียวยาให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2562

นอกจากนี้ยังพบว่ากระทรวงสาธารณสุขมิได้ทําการหารือกับกระทรวงการคลังจริงตามที่ออกสื่อ และไม่มีหนังสือสั่งการให้หน่วยงานระดับพื้นที่ดําเนินการตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลต่อขวัญกําลังใจบุคลากรหลายร้อยคนที่ต้องคืนเงินที่มาจากการทํางานไม่รอบคอบของผู้เกี่ยวข้องด้วย 

3. ความไม่เป็นธรรมในในเรื่องค่าตอบแทน

กรณีความเหลื่อมล้ําค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ โดยให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกเลิกค่าตอบแทนฉบับ 10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม ใช้งบประมาณเงินบํารุงที่ทุกวิชาชีพช่วยกันทํางาน แต่เบิกจ่ายได้แค่ 4 วิชาชีพ เท่านั้น

โดยควรที่จะปรับค่าตอบแทนเพิ่ม ในเงินเสี่ยงภัยหรือค่าตอบแทนสําหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ (สปพ.) ให้ได้รับไม่น้อยกว่าข้าราชการในสังกัดอื่นแทน รวมทั้งควรปรับปรุงระเบียบเพิ่มค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ให้ครอบคลุมในกลุ่มลูกจ้าง ประเภทต่างๆ ในอัตราที่ลดหลั่นอย่างเหมาะสมด้วย

กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 และ 12 จากกรณีการตีความไม่เป็นคุณปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการร้องทุกข์มาโดยตลอดนั้น

จึงขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขทําการยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ลดและ 12 ขึ้นมาใหม่ ให้ชัดเจน เป็นธรรม อธิบายได้ ไม่ต้องตีความมาก ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างในปัจจุบัน เพราะบางสายงานได้ 0 บาท ในขณะที่บางวิชาชีพได้ค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือน (มากกว่าเงินเดือน 2-3 เท่า)

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่ที่ยกร่างควรลดฐานบนลงหนึ่งเท่าและปรับเพิ่มฐานล่างขึ้นอีกหนึ่งเท่า และพิจารณาให้ครอบคลุมทุกสายงาน (รวมถึงลูกจ้างและ back office) ทุกวิชาชีพ (รวมถึงเวชสถิติ และโสตทัศน ศึกษา :เวชสาธิต) และทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (รวมถึง สสอ. สสจ.) จะทําให้ใช้งบประมาณรัฐปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทได้อย่างคุ้มค่า มีความครอบคลุมทุกสายงานและทุกวิชาชีพมากขึ้น

นอกจากนี้ควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนค่าเวร ค่าหัตถการ ค่า พตส. ต่างๆ ให้ครอบคลุมเหมาะสมแทนเพราะเป็นค่าตอบแทนจากภาระงานจริงๆ ซึ่งอธิบายได้ง่ายกว่า ค่าตอบแทนฉบับ 10 - 11 - 12

4. ความไม่เป็นธรรมในกรณีโครงสร้างอัตรากําลัง

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรมีการบรรจุและจัดสรรบุคลากรให้ครอบคลุม ทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาค (รพ.สต. รพศ. รพท. รพช. สสอ. และ สสจ.) ให้มีอัตรากําลังครบถ้วนตามโครงสร้างใหม่ อันจะส่งผลทําให้มีการแบ่งเบาภาระงาน บุคลากรมีความก้าวหน้าตามโครงสร้างได้

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรมีการจัดสรรความก้าวหน้าในระดับอาวุโส (แท่งทั่วไป) ชํานาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ (แท่งวิชาการ) ให้ครอบคลุมทุกสายงานทุกวิชาชีพ อย่างเป็นธรรม รวมทั้งยกเลิกการจํากัดสิทธิวิชาชีพต่างๆ เข้าสู่ตําแหน่งบริหารในระดับต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ควรมีการศึกษาวิจัยโครงสร้างอัตรากําลังที่ครอบคลุมทุกกลุ่มสหวิชาชีพและกลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนเพื่อหาความคุ้มทุน ไม่ใช่ศึกษาวิจัยแบบเลือกปฏิบัติเฉพาะบางกลุ่มวิชาชีพ 

ความไม่เป็นธรรมในกรณีความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุข

ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งตัวแทนเครือข่าย 3-5 คน เป็นคณะทํางานปฏิรูปแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และความไม่เสมอภาค ปฏิรูปปัญหาต่างๆ ข้างต้นได้ ทั้งนี้การลดความเหลื่อมล้ำมิได้หมายถึงการเรียกร้องให้ทุกวิชาชีพทุกสายงานให้ได้รับสิทธิ์ที่เท่ากัน แต่คือการให้สิทธิ์ในอัตราและสัดส่วนที่ลดหลั่นกันอย่างเหมาะสม อธิบายได้ไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทุกคน

และเนื่องในวันที่ 1 พ.ค. 2562  ที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ จึงอยากให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ของทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม “มดงานกระทรวงสาธารณสุข” เป็นแรงงานสําคัญในหน่วยงาน ที่ควรได้รับความเป็นธรรมตามที่เสนอ เพื่อส่งเสริม ความรัก ความปรองดอง ร่วมกันทํางานแบบสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันต่อไป

อนึ่งเครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ประกอบด้วย 25 องค์กร ได้แก่ 1.สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย 2.ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) 3.สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ 4.สหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข 5.ชมรมว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน 6.ชมรมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ รพศ./รพท./รพช. 7. ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด 8. ชมรมลูกจ้างแพทย์แผนไทย(ประเทศไทย) 9. ชมรม ผอ.รพ.สต.ชำนาญงาน (แห่งประเทศไทย) 10. ชมรมแลป-รังสีสามัคคี เพื่อความเป็นธรรม 11. สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือเขต 1) 12. ชมรมกายภาพบำบัดชุมชน 13. ชมรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แห่งประเทศไทย 14. ชมรมเจ้าพนักงานเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย 15. สมาคมเวชสถิติแห่งประเทศไทย 16. ชมรมนายช่างสาธารณสุข 17. ชมรมโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์(เวชสาธิต) 18.เครือข่ายพยาบาลอนามัย 19. เครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุ 20. ชมรมพนักงานราชการ กระทรวงสาธารณสุข 21. ชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และ 22. ชมรมสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ รพศ. รพท. 23.ชมรมเทคนิคการแพทย์ชุมชนประเทศไทย 24.ชมรมอดีตพนักงานของรัฐ ปี 2543-2547 เรียกร้องเยียวยา ทวงคืนอายุราชการ และ 25. สมาคมลูกจ้างส่วนราชการสาธารณสุข

ทั้งงนี้กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรเป็นข้าราชการ 196,851 ราย ลูกจ้างประจํา 18,390 ราย พนักงานราชการ 9,637 ราย พนักงานกระทรวง 132,024 ราย ลูกจ้างชั่วคราว 39,161 ราย ซึ่งมาจาก 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงาน จึงพบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการดูแลสิทธิ์ ขวัญกําลังใจ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนต่างๆ ให้ครอบคลุม ทุกวิชาชีพ และทุกสายงาน ส่งผลให้เกิดความความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และความไม่เสมอภาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net