Skip to main content
sharethis

1 พ.ค. 2562 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองและยืนหยัดอุดมการณ์วันกรรมกรสากล ที่โกดังเสเตเดียมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตย กรุงเทพฯ โดยชูคำขวัญเช่นทุกปีที่ยังคงเหมาะสมกับยุคสมัย เข้ากับสถานการณ์ประเทศไทย คือ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน”

ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ย้ำข้อเรียกร้องเดิม 10 ข้อ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติเมื่อปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปัญหาตามที่ยื่นข้อเสนอไว้ เช่น ต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมครอบคลุมทุกภาคส่วน ต้องมีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี ต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังไม่มีความชัดเจน  

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ระบุว่าไม่มีข้อเสนอวันกรรมกรสากล 2562 (2019)  ข้อเสนอยังเป็นข้อเสนอเดิมเมื่อปี 2561 (2018)และได้ไปทวงถามต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและต้องเท่ากันทั้งประเทศ
2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้
4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ     
4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ 

5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้
6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน
6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 
6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย
6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ
ที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ.2558
6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทนจนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ 

9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 

10. รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยังระบว่า พี่น้องกรรมกรที่รักทั้งหลาย รวมทั้งความสำเร็จทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพลังของพวกเราในวันนี้ และวันนี้เช่นกัน ระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก กลไกของมัน และรัฐบาลแต่ละประเทศที่คลั่งไคล้ หลงใหล สมคบคิดกับระบบเศรษฐกิจเช่นที่ว่านี้ ปล่อยให้กลไกของมัน บดขยี้ ขูดรีดพี่น้องคนงานทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้นอำพราง จนพี่น้องคนงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในอดีตหลายเท่าทวีคูณ ดังนั้นพี่น้องกรรมกร คนงานและขบวนการแรงงานทั้งหลายต้องเร่งศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ต่อสถานการณ์ให้ถ่องแท้แจ่มชัดและต้องเร่งขยายการจัดตั้งให้กว้างขวาง พร้อม ๆ กับการสร้างแนวร่วมและขบวนการทางสังคม สามัคคีกับประชาชนเพื่อสร้างโอกาส แสวงหาแนวทางเพื่อบรรลุถึงความต้องการ คือ ความกินดี อยู่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน และการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามแม้เราจะสามัคคีกับใครส่วนไหนก็ตามแต่ตราบที่ภายในเราอ่อนแอ แตกความสามัคคี ก็เป็นเรื่องยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยที่ความต้องการจะถึงฝั่งฝันบรรลุสู่เป้าหมายได้ดั่งคำที่ว่า “ภายนอกเป็นเงื่อนไข ภายในชี้ขาด” ความสัมพันธ์ภายในภายนอกจึงต้องจัดวางอย่างเหมาะสม ต้องลงมือปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ ยืนหยัด สอดคล้องและเป็นจริง ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net