Skip to main content
sharethis

ประกาศใช้ พ.ร.บ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เปลี่ยน 'สวทน.' เป็น 'สอวช.' ตั้งแต่ 2 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป ด้าน 'สกว.' ระดมสมองผู้ประสานงานขับเคลื่อนสู่ 'สกสว.'

1 พ.ค. 2562 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รายงานว่าตามที่ รัฐบาลได้ริเริ่มการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยรวมหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยการปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การปฏิรูปการบริหารราชการ เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานด้านวิจัยและการสร้างบุคลากร 2. การปฏิรูปกฎระเบียบ เพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถสร้างประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน และ 3. ปฏิรูประบบงบประมาณ ด้วยการปรับรูปแบบและวิธีการทางงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศ พ.ร.บ. ดังกล่าว   มีผลทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปลี่ยนเป็น “สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ สอวช. ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป ด้าน กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เผย เป็นภารกิจที่มีความท้าทาย และพร้อมนำทีมสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทย โดยเน้นย้ำจะดูแลนโยบายครอบคลุมทั้งมิติการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.)

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เปิดเผยในฐานะผู้อำนวยการ สอวช. ว่า ระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งกระทรวงใหม่ เพื่อให้องค์กรสามารถรองรับภารกิจใหม่ได้อย่างไร้รอยต่อและสามารถตอบสนองนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ภายใต้กระทรวงใหม่นี้ มีความสำคัญและมีความท้าทายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน โดยสภานโยบายฯ มีหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการ อววน. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรี และพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน.  ของประเทศ ก่อนที่สำนักงบประมาณจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี ส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์จากสภานโยบายฯ จะส่งต่อให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา นำไปแปลงสู่การปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เชื่อมโยงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ และสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
 
“สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะทำหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด และมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภานโยบายเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่สำเร็จแล้วไปสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ” ดร.กิติพงค์ กล่าว
 
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สอวช. ตาม พ.ร.บ. สภานโยบาย ฯ ประกอบด้วย
1. รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการ สนับสนุนสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ
2. เสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ
3. เสนอความเห็นเกี่ยวกับกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน. ของประเทศ รวมทั้งระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการ
4. เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเร่งรัดและติดตามให้มีการเสนอหรือการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับ อววน.
5. สนับสนุนการดำเนินการ การติดตามและประเมินผลของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง
6. ประสานงานให้มีการจัดทำ บูรณาการ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลการอุดมศึกษาฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา และฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าว
7. ประสานงานและให้ความร่วมมือกับส่วนราชการหน่วยงานอื่นของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับด้าน อววน.
 
อย่างไรก็ตาม การทำงานของ สอวช. ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการอุดมศึกษา ภาคสังคมและชุมชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) และเพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยนโยบายที่ขับเคลื่อนจะไม่ใช่แค่เพียงนโยบายที่ตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย หรือนวัตกรรมเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ควบคู่ไปด้วย
 
สำหรับภารกิจที่มีความท้าทาย และมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ การเซทระบบบริหารการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ สอวช. จะต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนงานวิชาการก่อนเสนอต่อสภานโยบายฯ คณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ รวมทั้งประสานงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทำหน้าที่ออกแบบระบบการทำงานและกระบวนการที่สำคัญของกระทรวงฯ รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอนโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกเพื่อส่งเสริมการพัฒนา อววน. รวมทั้งจัดทำข้อเสนอกรอบงบประมาณด้าน อววน. ของประเทศ และระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณในด้านดังกล่าว ตลอดจนออกแบบระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ
 
นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการอุดมศึกษา ต้องมีการทำงานบูรณาการ และเชื่อมโยงการอุดมศึกษาเข้ากับ วทน. ซึ่งจะทำให้มีพลังมากขึ้น โดยบทบาทของงานด้านนโยบายการพัฒนากำลังคนและการอุดมศึกษา ของ สอวช. จะดำเนินการจัดทำนโยบายพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครอบคลุมทั้งการผลิตบัณฑิตและบุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำข้อเสนอนโยบาย มาตรการหรือสิทธิประโยชน์สำหรับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามนโยบายที่สำคัญของประเทศ พัฒนาระบบกลไกการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาในด้านการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาระบบสร้างความร่วมมือการผลิตและการใช้ประโยชน์บุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรม มีการวิจัยเชิงนโยบายผ่านการทดลองในโครงการนำร่อง ตลอดจนมีการประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตงานที่กว้างขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายของกระทรวงต่อไป
 
สำหรับงานสำคัญด้านยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะดำเนินการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะวาระการพัฒนาด้าน อววน. ของประเทศ พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พัฒนามาตรการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และความร่วมมือกับต่างประเทศด้าน อววน. รวมถึงภารกิจในการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการกำหนดนโยบาย เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ สอวช. ในวันนี้ สวทน. ได้สร้างสรรค์ผลงาน และส่งมอบนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 11 ปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่ได้ดำเนินการในหลากหลายด้าน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ทั้งการให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ในรูปแบบการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยเข้าถึงแหล่งทรัพยากร บุคลากรการวิจัย การบริการ แหล่งเงินทุน สิทธิประโยชน์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และภาคมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมอาหารออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว มีคุณภาพตามมาตรฐาน และตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย ทั้งนี้ สวทน. ได้ส่งต่อเมืองนวัตกรรมอาหารให้ทาง สวทช. รับช่วงต่อเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ สวทน. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... เพื่อให้มีพื้นที่ทดลองให้สามารถเกิดการทดสอบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัยก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการยกเว้น ผ่อนปรน กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เป็นการชั่วคราวภายใต้ขอบเขตที่จำกัดเพื่อทำการพิสูจน์ โดยเป็นกลไกรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ หรือกรณีกฎหมายที่มีอยู่มีความล้าสมัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบ
 
อีกหนึ่งผลงานสำคัญของ สวทน. คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... หรือ Bayh - Dole Act ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 อนุมัติและรับทราบหลักการ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีหลักการสำคัญเพื่อขจัดอุปสรรคในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการมอบสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานให้ทุนของรัฐ ให้แก่ผู้รับทุนซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัย จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไปยังภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า บริการ และออกขายในตลาดต่อไปได้อย่างคล่องตัว โดยมีนักวิจัยในสังกัดสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปยังภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้รับเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นได้โดยตรง และไม่ติดกับกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุนในเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยจะได้รับรายได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และจะต้องจัดสรรรายได้ให้กับนักวิจัยในสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อนักวิจัยได้รับส่วนแบ่งรายได้ก็จะเกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ ยิ่งไปกว่านั้น หากนักวิจัยจะนำเอาผลงานวิจัยนั้นไปต่อยอดและทำธุรกิจเองโดยตั้งเป็นบริษัทก็สามารถทำได้ หรือหากผู้ประกอบการ Startup สนใจทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นก็สามารถทำได้รวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
 
Link พ.ร.บ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/057/T_0008.PDF

สกว.ระดมสมองผู้ประสานงานขับเคลื่อนสู่ สกสว.

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานการประชุมสำนักประสานงานและภาคีเครือข่าย สกว. “ภารกิจใหม่ของ สกว. และบทบาทของภาคีเครือข่าย” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค เพื่อรายงานสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับโครงสร้าง หน่วยงาน บทบาทหน้าที่ และกลไกการทำงานของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงบทบาทของภาคีเครือข่ายกับภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยระดมสมองข้อเสนอแนะของผู้ประสานงานที่มาจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับบทบาทในการพัฒนาระบบวิจัยของ สกสว. จากประสบการณ์ยาวนาน 27 ปีนับแต่ก่อตั้ง สกว. เพื่อทำให้การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคีอื่น ๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
    
ภารกิจใหม่ของ สกสว. คือ การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จัดสรรเงินทุน และเป็นกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับบทบาทของภาคีเครือข่ายกับภารกิจใหม่ของ สกว. ในนามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีงานใหญ่ที่จะต้องดำเนินการ คือ ระบบ กลไกการพัฒนาระบบนิเวศของระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ภารกิจขบองแต่ละภาคีในระบบสอดคล้องหรือไม่อย่างไร การบูรณาการการทำงานร่วมกัน และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ขณะที่งานใหม่ของ สกสว. และสำนักประสานงาน คือ ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่จะรับงานนี้อย่างไร จุดแข็งที่มีและจุดอ่อนที่ผ่านมาจะแก้ไขอย่างไร รวมทั้งระบบ กลไกการทำงานในอนาคตที่เอื้อต่อความคล่องตัว และข้อเสนอแนะ ส่วนงานเก่าจะปิดโครงการเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เชื่อมต่อการทำงานกับกลไกระบบใหม่อย่างไร จะถอดบทเรียนงานเดิมส่งมอบต่ออย่างไร และข้อเสนอแนะอื่นๆ 

ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่าบทบาทใหม่ของเรา คือ การสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการดูแลเชิงระบบ โดยจัดสรรงบประมาณจากกองทุนไปสู่หน่วยงานวิจัย รวมถึงยกร่างยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบครั้งสำคัญผ่านประสบการณ์การบริหารจัดการทุนวิจัยของ สกว. ออกแบบการทำแผนเพื่อให้เกิดผลกระทบในระบบของประเทศเพื่อให้สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอนาคต สิ่งที่เราอยากทำในขณะนี้ คือ การบริหารงบวิจัยโดยจัดสรรงบประมาณไปที่มหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ รวมถึงการริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ จึงหวังว่าจากนี้ไปทุกคนจะอดทนและช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ใกล้ชิดเสมือนเป็นเพื่อนกัน ทั้งนี้ การรับงบประมาณตรงจากสำนักงบประมาณในปี 2564 ทั้งหมดจะจัดสรรมาที่กองทุนเพื่อส่งต่อไปที่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลา 

สำหรับการระดมสมองจากผู้ประสานงานและภาคีเครือข่าย สกว. สรุปบทเรียนสำคัญได้ว่า จะต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและบุคลากร มีตัวเชื่อมโยงที่สอดรับกับเป้าหมายเพื่อให้ตอบโจทย์และเกิดผลกระทบที่แท้จริง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ วช. ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่นักวิจัย โดยผู้ประสานงานส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะมีกลไก กระบวนการทำงาน และเชื่อมโยงอย่างไรให้งานดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งงานที่ยังทำอยู่และงานในอนาคต เพราะวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องมีการสื่อสารสังคมถึงการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้น และการเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคเอกชน เครือข่ายวิจัยในพื้นที่ เป็นต้น รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับระบบสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยที่มีประเด็นสำคัญคือ ระบบมหาวิทยาลัยไม่เอื้ออำนวยต่อการทำวิจัย นักวิจัยยังไม่พัฒนาตัวเองเพื่อเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยและบันไดอาชีพของนักวิจัย กระบวนการบริหารจัดการงานวิจัย หารือทิศทางการให้ทุนที่ชัดเจน และถอดบทเรียนเพื่อยกระดับการสร้างคนสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งระบบ

ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก งานชุมชนท้องถิ่นและพื้นที่ ซึ่ง สกว.มีเครือข่ายพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ผู้ประสานงานมุ่งหมายให้งานวิจัยท้องถิ่นยังต้องคงอยู่ในระบบการบริหารทุนวิจัย เพราะเป็นพลังในการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในพื้นที่ จึงมีข้อเสนอระยะสั้นว่าจะต้องมีการจัดตั้งกลไก 2 ระดับ คือ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการกำหนดกรอบทิศทาง และคณะทำงานซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ มาร่วมทำงานเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานเดิมในการทำงานร่วมกับพื้นที่ ส่วนการเตรียมความพร้อมระยะยาว น่าจะเป็นองค์กรวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีรูปแบบชัดเจน อิสระคล่องตัว โดยจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระหรือองค์การมหาชน ซึ่งจะต้องมีการวิจัยเพื่อศึกษากลไกและความเป็นไปได้ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net