“มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” กำลังใจในยุคมืดมิดจาก ‘นักสู้’ ไม่ใช่ 'เหยื่อ'

หนังสือเล่มใหม่ของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง บันทึกประวัติศาสตร์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและศิลปินผู้ถูกขังคุกด้วย ม.112 ในยุครัฐบาล คสช. บอกเล่าเรื่องราวของตนเองและเพื่อนผู้ต้องขังทุกรูปแบบ ราวกับพาผู้อ่านเข้าไปอยู่ร่วมคุกด้วยตลอด 2 ปี พร้อมข้อความจากผู้เขียนถึงคอการเมือง “(การต่อสู้ทางการเมือง) มันเหมือนมวย สนามเขา กติกาเขา กรรมการเขา ต้องพร้อม อย่ามองโลกในแง่ดี อย่าคิดว่าใครจะโอบอุ้มค้ำชู มันไม่มีใครช่วยใครได้ ถ้าเลือกจะขึ้นชกก็ต้องพร้อม(ติดคุก) เรียนรู้ทุกเฉดแล้วจะได้พร้อม”

“มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ”

คือหนังสือเล่มแรกของ กร๊อฟ (เจ้าตัวระบุว่าเขียนเช่นนี้) ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หญิงสาวผู้มีความสามารถทางศิลปะหลากหลาย ปัจจุบันย้อมผ้าขายเป็นระยะ เธอทำละครเวทีมามากมายด้วยใจรักและติดคุก 2 ปี 16 วัน ก็เพราะละครชื่อ เจ้าสาวหมาป่า ที่กำกับ เป็นที่มาให้ผู้คนเรียกขานเธอว่า “กร๊อฟ เจ้าสาวหมาป่า” และนั่นเป็นสร้อยห้อยท้ายชื่อที่เธอฟังแล้วมักหัวเสียหน่อยๆ  

“เราเบื่อโลโก้เจ้าสาวหมาป่าชิบหายเลย อย่างแรกคือเราไม่ได้เป็นนางเอกเรื่องนั้น กูเล่น 5 นาที (หัวเราะ) ไปงานหนึ่งพอคนแนะนำว่านี่กร๊อฟ ก็ปกติดี พอบอกว่า กร๊อฟ เจ้าสาวหมาป่า ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด เราอยากเป็นกร๊อฟเฉยๆ แล้วเราก็ไม่ได้ชอบเจ้าสาวหมาป่าด้วย ไม่ได้เล่นเป็นเจ้าสาวหมาป่าด้วย ถ้าเรียกเราในสิ่งที่เราเล่น เช่น แม่พลอย อันนี้เราอาจจะชอบ” กร๊อฟเคยกล่าวไว้วันหนึ่งนานมาแล้ว พร้อมบอกด้วยว่า(ตอนนี้)ใฝ่ฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ วันหนึ่งคนอาจได้เรียกเธอว่า กร๊อฟ ดีไซเนอร์

ไม่ว่าเธอจะชอบหรือไม่ ‘เจ้าสาวหมาป่า’ คือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผูกโยงกับเธอและแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หนุ่มหมอลำอารมณ์ดีอีกคนที่เล่นละครนี้และต้องติดคุกเป็นคู่คดีกับเธอ นับผลงานศิลปะของกลุ่มคนหนุ่มสาวไฟแรง ความคิดก้าวหน้า และพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการทำละครแบบมีส่วนร่วม สด และไม่มีสคริปต์

หลังการรัฐประหาร 2557 คดี 112 ไม่ว่ามีมูลหรือไม่เพียงไหน ไม่ว่าจะค้างอยู่ตรงไหนนานเพียงใดก็ถูกนำขึ้นมาดำเนินคดี ดังจะเห็นได้ว่ามีคดีของผู้ต้องหาที่ป่วยจิตเวชหลายรายถูกรื้อขึ้นมาดำเนินการอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา (อ่าน. ‘คนบ้านในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท) และละครเวทีนี้ที่จัดแสดงในงาน 40 ปี 14 ตุลาในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลพลเรือนซึ่งมีบรรยากาศค่อนข้างเปิดต่อเสรีภาพการแสดงออก ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน เสรีภาพกลายเป็นสภาวะชั่วคราวของสังคมไทย เหมือนต้นกล้าที่ถูกปักดินไว้ลวกๆ และโดนกระชากทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่า

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ การส่งศิลปินเจ้าอารมณ์เข้าไปอยู่ในแดนสนธยาที่ผู้คนจินตนาการไม่ถึง ย่อมเป็นการเคี่ยวกรำงานศิลปะ และมันก็ได้ผลิดอกออกผลเป็นหนังสือเล่มหนา 800 กว่าหน้า

“(หนังสือ) มันไม่ได้เศร้าขนาดนั้น” เป็นคำที่กร๊อฟมักจะเขียนเป็นที่ระลึกในหนังสือหรือบอกกล่าวแก่ผู้ที่รู้จักเธอ

หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนและผลิตรวมกว่า 2 ปีนับจากเธอออกจากคุก ในช่วงออกจากคุกใหม่ๆ หลายองค์กร หลายผู้คน หลายสื่อ ติดต่อพูดคุยกับเธอ ผู้คนมากมายเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังปลอบประโลม ท่ามกลางสปอตไลท์ที่ส่องมาและดูท่าน่าจะอบอุ่น เราไม่รู้ว่าเธอเจอกับอะไรบ้าง

“มันจะมีแบบ วันนี้องค์กรโน่น นี่ นั่น จะเชิญเหยื่อเข้าไปพบปะพูดคุย แต่ขอบอกก่อนว่าไม่ได้มีคอมมิทเม้นท์อะไรนะ หนึ่ง เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเหยื่อ สอง เราเกลียดสายตาแบบที่มองเราเป็นเหยื่อ มันจะเต็มไปด้วยความเวทนา ความสงสาร เธอจะต้องฝันร้ายอยู่แน่ๆ ...ฮัลโหล ในคุกมันบันเทิงกว่าที่คุณคิด”  

เชื่อหรือยังว่า กร๊อฟ เด็กปีศาจ (ฉายาก่อนหน้า) นั้นไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย

ที่มาภาพ : Prontip Mankhong

“คนไม่น้อยเลยที่เขาไม่ได้เห็นใจ แต่เขาสมเพช เรารู้สึกแบบนั้นนะ เขาแค่ใช้เราเป็นเครื่องตอบสนองความเมตตาและเอื้ออารีของเขาเพื่อให้เขาได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ เราเจอแบบนี้เยอะเลย พอเวลาที่เขาถามว่า เป็นยังไงบ้างข้างใน เรารู้ว่าเขาคาดหวังความโศกเศร้า ลำบากลำเค็ญ พอเราตอบไปว่า สนุกดี เราจะเห็นสีหน้าความผิดหวังของเขา”

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะกร๊อฟคือศิลปินซึ่งสามารถเล่าเรื่องตัวเองได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านปาก(กา)ของใคร และสำคัญกว่านั้น คือ มุมมองต่อตัวเองและการกระทำของตนเอง

“เหยื่อคือคนที่เขาไม่ได้เลือกเอง บางคนเป็นอย่างนั้น แต่เราเลือกตั้งนานแล้วรึเปล่าวะ (หัวเราะ) หลายคนในคุก พี่แหวน พี่ออน ฯลฯ เขาก็เลือกแล้ว คุณจะเห็นความเข้มแข็งในลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่เรา คนที่เลือกอุดมการณ์แบบนี้แล้วเขาจะเข้มแข็ง เวลาที่ถูกทรีตว่าเป็นเหยื่อ เขาก็จะยิ้มอ่อน”

แล้วคนจะแสดงความเห็นใจคนที่ถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรมได้ยังไง – คือคำถาม

“ทำแบบนักมวย ไปชกไฟท์นี้ ฝ่ายแชมป์มีกติกาว่าห้ามใช้หมัดขวา ชกได้แค่มือซ้าย ถ้าเราคิดแล้วว่าจะเล่นแม้ว่าจะแพ้ เรายินดีลงสนามแม้รู้ว่าไม่แฟร์ หลังจากเราชกแพ้ ก็แค่แพ้ ก็แค่เอาใหม่ ซ้อมใหม่ ไม่เป็นไร ... กูไม่ได้ตาย (หัวเราะ)” 

“การที่คนทรีตเราแบบว่าฉันอ่อนแอเสียเต็มประดา นั่นทำให้เราอ่อนแอ เรารักษาความรู้สึกคนอื่น เราต้องยิ้ม อันนั้นทำให้เราไม่ชอบตัวเอง เราอยากบอกเขาแต่ก็กลัวเขาเสียใจ”

หากย้อนกลับไปดูประวัติของกร๊อฟก็อาจเข้าใจความหมายที่เธอพยายามอธิบาย

จากนักเรียนมัธยมที่กระตือรือร้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ นานา ชื่นชอบการแสดงละครเป็นพิเศษ จนเรียนมหาวิทยาลัย เข้าร่วมกลุ่มที่ทำงานความคิดอย่าง ‘ประกายไฟ’ อ่านหนังสือทฤษฎีการเมืองเคี่ยวกรำตัวเองให้คุยกับกลุ่มศึกษานี้รู้เรื่อง วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองสม่ำเสมอ ทำความเข้าใจการต่อสู้ทางชนชั้นในยุคสมัยใหม่ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เธอมีพื้นฐานความคิดและมุมมองต่อสังคมการเมืองที่ชัดเจน อีกทั้งยังนับรวมตัวเองไปอยู่กับชนชั้นล่าง แต่เนื่องจากเธอชอบงานวัฒนธรรมมากกว่าการถกเถียงทางปัญญา จึงแยกออกมาตั้งกลุ่ม ‘ประกายไฟการละคร’ ตระเวนทำละครสะท้อนการเมืองและสังคม ทำกิจกรรมสร้างสรรค์กับเด็กๆ  ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงในสามจังหวัดชายแดนใต้

“วัตถุประสงค์ของกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมการต่อสู้ทางชนชั้นให้แก่มวลชน ละครเวทีโดยส่วนใหญ่มักถูกสงวนให้เป็นเพียงศิลปะเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ประชาชนคนรากหญ้าไม่มีโอกาสได้เสพศิลปะเหล่านั้น เพราะราคาค่าเข้าชมที่สูง สามารถซื้อข้าวกินไปได้หลายวัน เรามองว่าศิลปะที่ดีควรเป็นศิลปะที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ เราจึงตั้งกลุ่มละครที่ใช้อาสาสมัคร แสดงในม็อบทั้งบนเวทีและบนท้องถนน หรือหมู่บ้านที่เราไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ละครเวทีมันต่ำลง ติดดิน บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของสังคมการเมือง ทัศนคติของผู้คน ผ่านการแสดงที่ง่าย สั้น ใช้คนแสดงไม่เยอะ พร็อพไม่มาก ไม่เสียเงินซื้อบัตรแค่หยอดกล่องรับบริจาค” ภรณ์ทิพย์เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2555 ตอนปิดตัวกลุ่ม (อ้าว) ทั้งที่ทำละครกันมากว่า 40 เรื่อง 

เหตุผลในการปิดตัวก็น่าสนใจและน่าประหลาดในคราวเดียวกัน “เพราะความล้มเหลวในการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ทฤษฎีการเมืองแก่สมาชิกในกลุ่มที่กำลังเติบโตจากการชื่นชมของมวลชน กลุ่มเราเป็นกลุ่มละครการเมือง ดังนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มจึงจำเป็นที่จะต้องมีทฤษฎีการเมืองรองรับ หากสมาชิกไม่มีหลักในการเคลื่อนไหวก็จะไม่มีทิศทาง สุดท้ายอาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ไม่อยากเป็นเพียงกลุ่มละครรับจ้าง หรือย้ายข้าง เปลี่ยนขั้ว ไร้ซึ่งจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจน”

ดังนี้แล้วจึงไม่แปลกที่การมองเห็นเธอในภาพลักษณ์ผู้หญิงตัวเล็ก อารมณ์ดี ยิ้มง่าย คุยเก่ง และน่าสงสารจึงค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อย่างไรก็ดี แม้กร๊อฟจะซีเรียส จริงจังและช่างวิพากษ์เพียงไหนก็ไม่ได้ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าขยาด เพราะเราสามารถอ่านมันได้หลากหลายแบบ อ่านแบบบันทึกเรื่องจริงทางการเมือง แบบวรรณกรรมเชิงมนุษยวิทยา แบบนวนิยายชวนหัว หรือจะจินตนาการมันเป็นซีรีส์อย่าง Orange is the New Black เวอร์ชันไทยๆ ก็ได้

สำหรับคอการเมือง ผู้รังเกียจการกดขี่ แทบทุกหน้าจะค้นพบประเด็นต่างๆ ให้สะอึก สะท้าน สะเทือน แต่ด้วยวิธีมองโลกแบบกร๊อฟๆ ประกอบกับที่เป็นการเล่าย้อนหลัง ทำให้เรื่องราวทิ่มแทงเราอย่างทะนุถนอมมากขึ้น คนอ่านบางคนอาจพบว่าตนเองมีสภาวะคล้ายคนบ้าระหว่างอ่าน คือ หัวเราะทั้งน้ำตา

อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ ไอดา อรุณวงศ์ แห่งสำนักพิมพ์อ่านที่ยังคงเก็บ ‘บันทึกจริง’ ที่กร๊อฟ(แอบ) เขียนด้วยลายมืออันสะท้อนอารมณ์ดิ่งลึก มืดดำ ในช่วงเวลานั้นอย่างแท้จริงรวมไว้ในเล่มด้วย เป็นการใส่ไว้ในแบบที่อ่านยากมาก ลายมือตัวเล็กกระจิดริดเบียดกันแน่น เรียลมาก เธอบอกว่า นั่นคือ “งานศิลปะ”  

เรื่องเล่าหลักๆ ภายในเล่มฉายให้เห็นชีวิตประจำวันตัวคนเขียนเองที่ต้องเผชิญ แล้วยังมีผู้คนมากมายหลากหลายที่รายล้อมตัวเธอ ประกอบสร้างเป็นโลกใบเล็กๆ ที่แสนอลหม่าน

“มันมีหมด ครบ ทำไมต้องฉายไฟให้กับสีเดียวของมัน จ่อมจมแต่กับสีนี้ ฮัลโหล ไปดูสีอื่นกันเถอะ เพื่อที่ตัวเองจะได้พร้อม”

“พร้อมสำหรับอะไร”

“การติดคุก”

“เอ่อ”

“จริงนะ เหมือนมวย สนามเขา กติกาเขา กรรมการเขา ต้องพร้อม อย่ามองโลกในแง่ดี อย่าคิดว่าใครจะโอบอุ้มค้ำชู มันไม่มีใครช่วยใครได้ ถ้าเลือกจะขึ้นชกก็ต้องพร้อม เรียนรู้ทุกเฉดแล้วจะได้พร้อม”

นั่นคือคำแนะนำของรุ่นพี่สำหรับผู้ต่อสู้ในเส้นทางสายเดียวกัน

หลังเขียนหนังสือและแสดงงานศิลปะต่างๆ แล้ว กร๊อฟดูอยาก “จบเรื่องคุก” แล้วพาชีวิตไปข้างหน้า เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลงเรียนออกแบบเสื้อผ้าแบบที่ตัวเองต้องการ แต่ในอีกด้านหนึ่งเธอก็ยังคงทำเพจ  Fairy Tell บอกเล่าเรื่องราวในเรือนจำและโครงการช่วยเหลือนักโทษที่เพิ่งพ้นโทษในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทั้งที่เป็นคดีการเมืองและไม่ใช่การเมือง เพราะเธอเห็นบางอย่างที่เราอาจไม่เห็นหรือละเลย

“บางครั้งเราก็เกลียดตัวเอง กร๊อฟเกลียดตัวเองที่ได้ขนาดนี้ ยิ่งไปเจอนักโทษการเมืองที่ออกจากคุก ก็ trauma หนักสักพักเลย เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่กร๊อฟได้รับ ดีเกินไป คนพวกนี้แม่งแลกทั้งชีวิต แล้วไม่ได้เหี้ยอะไรเลย นี่มันอะไรกัน มันมีความไม่แฟร์ในการทรีตนักโทษการเมือง นั่นแหละ สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก ตัวเราก็มีกำลังจำกัด สิ่งที่ทำได้คือการชดเชยให้คนให้มากที่สุด ป้าบีบอกว่า สิ่งที่กร๊อฟน่าจะทำได้ดีที่สุดคือ เอาไฟในตัวเองฉายไปที่คนอื่น”

“ตอนนี้ก็ได้เห็นได้เจอจนไม่รู้จะจัดการกับมันยังไง แล้วกร๊อฟก็แคร์มากกับการที่นักโทษถูกเอามาใช้ในการรณรงค์หรือทำอะไรก็ตาม เพราะมันไม่มีการย้อนกลับไปถามเขาว่ายังโอเคหรือเปล่า การอยู่ในเรือนจำมันเหมือนถูกจับเป็นตัวประกัน ถ้าคนข้างนอกทำอะไร ชีวิตในเรือนจำคุณก็จะไม่มีทางเป็นปกติ คุณจะอยู่ยากขึ้น ดังนั้นต้องคิดเยอะ พอมาเจอคนที่ออกมาแล้ว ทหารยังตาม บางคนต้องไปรายงานตัวทุกเดือน บางคนมีอีกคดีแขวนไว้ ชีวิตมันไม่มีความสุขเลยนะ งานก็ไม่มีทำ ตายทั้งเป็นน่ะ เราก็พยายามชดเชยให้มากที่สุด ส่วนหนึ่งไม่ได้ทำเพื่อพวกเขา ทำเพื่อลบความรู้สึกผิดของตัวเอง”

ผู้สนใจสามารถ 'เข้าคุก' ไปพร้อมกับกร๊อฟได้ผ่านการสั่งหนังสือเล่มนี้ที่สำนักพิมพ์อ่าน ราคา 550 บาท นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ Planet Krypton ซึ่งเป็นการนำเสนอประสบการณ์ของเธอในอีกรูปแบบหนึ่งที่ WTF แกลลอรี่ กรุงเทพ วันที่ 26 เม.ย. - 2 มิ.ย. 2562 รายละเอียดเพิ่มเติม ดู https://www.facebook.com/readjournal/posts/2394397750623793

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท