Skip to main content
sharethis

หลังจากกองทัพอินเดียที่ไปปฏิบัติการในเนปาลอ้างว่าพวกเขาพบเห็นรอยเท้าของ 'เยติ' สัตว์ประหลาดที่เล่าขานกันมานานแต่ไม่เคยมีใครเห็นว่ามีอยู่จริง ชาวเน็ตอินเดียต่างก็พากันพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงขำขันและตั้งคำถามต่อหลักฐานของฝ่ายกองทัพ

ภาพภูเขาหิมาลัย (ที่มา:pixabay)

2 พ.ค. 2562 กองทัพอินเดียเปิดเผยว่าทีมนักปีนเขาของกองทัพอินเดียที่กำลังปฏิบัติการในประเทศเนปาลค้นพบรอยเท้าปริศนาขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นของสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า "มนุษย์หิมะ" หรือ "เยติ" แวดวงวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงบอกว่าเยติเป็นแค่เรื่องที่ถูกแต่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในคติความเชื่อจากเรื่องเล่าท้องถิ่นของเนปาลก็ระบุถึงเยติว่าเป็นสัตว์ประหลาดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะของเทือกเขาหิมาลัย

กองทัพอินเดียเผยแพร่เรื่องเยติผ่านทางทวิตเตอร์ด้วยข้อความและรูปถ่าย ระบุว่าพวกเขาค้นพบรอยเท้าขนาดใหญ่ประมาณ 81 x 38 ซม. ใกล้ค่ายทหารแถบภูเขามากาลู เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 พวกเขาระบุในทวิตเตอร์อีกว่ารอยเท้าปริศนาดังกล่าวนี้เป็นของสัตว์ประหลาดในตำนานที่เรียกว่า "เยติ" แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าสัตว์ประหลาดตนนี้ทิ้งรอยเท้าเอาไว้ได้อย่างไร

 

 

การนำเสนอเรื่องเยติของกองทัพอินเดียกลายเป็นเรื่องที่ชาวอินเดียพูดถึงในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะทั้งในเชิงสงสัยในข้อเท็จจริงไปจนถึงการโต้ตอบในเชิงขำขันกับข่าวนี้ ทำให้แฮชแท็กเยติ #Yeti กลายเป็นเรื่องยอดนิยมอันดับที่ 2 ในอินเดีย ชาวเน็ตรายหนึ่งชื่อ Rakesh Sharma ระบุถึงเรื่องนี้ในเชิงขำขันและตั้งคำถามว่าทำไมรอยเท้าของเยติถึงมีแค่เท้าเดียว

รูปภาพดังกล่าวมาจากพื้นที่ภูเขามากาลูซึ่งตั้งอยู่ระหว่างชายแดนเนปาลกับจีน มากาลูเป็นหนึ่งในภูเขาที่สูงที่สุดในโลก ตั้งอยู่ใกล้กับหุบเขามากาลู-บารุน ในพื้นที่ป่าละแวกนั้นยังเคยเป็นแหล่งสำรวจของนักสำรวจที่พยายามค้นหาเยติด้วย

เรื่องราวเล่าลือเกี่ยวกับเยติได้รับการพูดถึงโดยนักปีนเขาที่เข้าไปในเนปาลตั้งแต่ราวเกือบ 100 ปีที่แล้ว หนึ่งในนั้นคือเอ็ดมันด์ ฮิลลารี นักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์ผู้เคยขึ้นไปถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ต่อมาในปี 2551 นักปีนเขาชาวญี่ปุ่นที่กลับมาจากการปีนเขาในตะวันตกของเนปาลก็บอกว่าเขาพบเห็นรอยเท้าที่น่าจะเป็นของเยติ แต่ถึงแม้พวกเขาจะมีอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ พวกเขาก็ไม่เคยถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอสัตว์ประหลาดดังกล่าวได้เลย

นักวิทยาศาสตร์ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเยติมีตัวตนจริงอยู่น้อย ในปี 2560 มีกลุ่มนักวิจัยไปลงพื้นที่เก็บตัวอย่างหลักฐานของสิ่งที่น่าจะบ่งชี้ถึงเยติทั่วเขตหิมาลายัน แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าตัวอย่างเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มาจากหมี ในปี 2551 ก็เคยมีชาวสหรัฐฯ สองรายอ้างว่าค้นพบครึ่งคนครึ่งลิงไม่มีหาง ซึ่งต่อมาก็มีคนเปิดเผยว่าเป็นชุดยางรูปกอริลา

เรียบเรียงจาก

Beast from the east: Indian army tweets 'Yeti footprints' photos, Aljazeera, May 30, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net