Skip to main content
sharethis

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ชวนคุยถึงการพัฒนาก้าวหน้าของเอไอ เมื่อมนุษย์มีแนวโน้มเป็นไซบอร์กมากขึ้นจากการแยกสมองออกจากตัวตนผ่านการใช้เทคโนโลยี เหล่านี้ไม่อาจมีผลต่อนโยบายรัฐที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม เมื่อโครงสร้างการเมืองไม่เปลี่ยน ยกตัวอย่างงานเวนิสเบียนนาเล่ ไม่มีศิลปินใดผ่านการคัดเลือกเมื่อมาตรฐานคือภาพลักษณ์ที่ดีของไทย

2 พ.ค. 2562 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครร่วมกับเทนทาเคิลจัดงานเสวนา “นโยบายรัฐ และศิลปวัฒนธรรมไทยในยุคสมองกล” โดยมี บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยตอนหนึ่งเขาชี้ให้เห็นปัญหาของนโยบายศิลปวัฒนธรรม พร้อมอธิบายโดยยกตัวอย่างเทศกาลเวนิสเบียนนาเล่ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกศิลปิน เนื่องมาจากไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือกในการส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในเทศกาล โดยคณะกรรมการได้ระบุเหตุผลว่า “ผลงานของศิลปินบางชิ้นไม่อาจเผยแพร่และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติ บ้านเมือง หากมีผู้ตีความผิด” หลังจากนั้นคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเอง โดยเน้นย้ำว่านี่คืองานสำคัญที่จะเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยเผยแพร่ความดีงาม อัตลักษณ์ ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ทั้งที่มีผลงานน่าสนใจหลายชิ้น เช่น อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ เป็นที่รู้จักจากการนำเส้นผมของหญิงขายบริการมาถักโครเชต์เป็นงานศิลปะ ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มหญิงขายบริการที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับบริจาคจักรเย็บผ้าเป็นจำนวนมากด้วยความหวังดีว่าได้มอบอาชีพใหม่ให้ผู้หญิงขายบริการ แต่จักรเย็บผ้ากลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์เนื่องจากรายได้จากการเย็บผ้าไม่เพียงพอเลี้ยงอาชีพ

โดย อิ่มหทัย ตั้งคำถามว่า คณะกรรมการวัดจากอะไร เพราะตนมั่นใจว่าสิ่งที่นำเสนอไป มีเนื้อหา รูปแบบ และเทคนิคที่ไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน แต่หากตีความอย่างตื้นเขิน จะทำให้มองเห็นเพียงประเด็นเพศสภาพ ศิลปินท่านนี้ยังวิเคราะห์ด้วยว่า กรรมการยังไม่ได้พิจารณาผลงานอย่างรอบด้านและหมกมุ่น กับการชี้วัดความเก่า-ใหม่ของงานศิลปะ จนทำให้ละเลยประเด็นเนื้อหาของงาน

“ผลงานของดิฉันมีความชัดเจน เป็นการตั้งคำถามกลับไปยังผู้ชมต่อการมีอยู่ของอาชีพพนักงานบริการในสังคมไทยในฐานะที่เธอเหล่านั้นเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา งานจึงทำหน้าที่เหมือนกระบอกเสียงที่สะท้อนข้อเท็จจริง และความจริงไปพร้อมๆ กัน มั่นใจว่าผลงานศิลปะภายใต้แนวคิดนี้ มีความเป็นสากล และมีศักดิ์ศรีเทียบเท่างานศิลปะจากนานาประเทศ...ในฐานะศิลปินที่มีความเชื่อว่าผลงานศิลปะต้องเป็นพยานวัตถุที่สะท้อนความจริง ไปจนถึงเปิดเผยความจริงอย่างกล้าหาญและจริงใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ RalphRugoff ได้อธิบายในบทความของงานเวนิส เบียนนาเล่” อิ่มหทัย กล่าว

บัณฑิต ชี้ว่า นี่คือตัวอย่างการกำหนดนโยบายวัฒนธรรมไทยที่ไม่มีทางจะยืนอยู่บนสากลโลกได้ตราบเท่าที่เรายังอยู่ภายใต้โครงสร้างการเมืองและการตัดสินใจแบบนี้ หรือตัวอย่างของคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เขียนโปรเจ็กต์ของบ 1-2 แสนบาท เทียบกับจู่ๆ ละครเรื่องหนึ่งได้เงินจากรัฐบาล 200 ล้านบาท แม้เราอาจใช้งานเอไอในการคัดเลือกโปรเจ็กต์ แต่ปัญหาอยู่ที่คนกำหนดคุณสมบัติในการคัดเลือกอยู่ดี นโยบายศิลปะวัฒนธรรมจึงจะไม่มีทางเปลี่ยนภายใต้สถานการณ์แบบนี้

หนังเกี่ยวกับเอไอสะท้อนวิวัฒนาการเหนือมนุษย์และการแยกตัวเป็นอิสระ

ช่วงเกริ่นนำการเสวนา บัณฑิต กล่าวถึงภาพยนตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI- Atificial Intelligence) เรื่องแรกคือ I, Robot (2004) ซึ่งมีประเด็นอยู่ที่ความก้าวหน้าของเครื่องกลและความตกต่ำของมนุษยชาติ ในเรื่องนี้มนุษย์พยามสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนมนุษย์ โดยการใช้อำนาจของมนุษย์ นั่นคือเทคโนโลยี

หุ่นยนต์มีกฎสามข้อพื้นฐาน หนึ่งคือไม่ทำร้ายมนุษย์ สองคือเชื่อฟังคำสั่งที่มาจากมนุษย์ยกเว้นคำสั่งนั้นจะขัดแย้งกับข้อแรก สามคือหุ่นยนต์สามารถปกป้องตัวเองได้ตราบที่การดำรงอยู่ไม่ขัดแย้งกับกฎข้อแรก

พระเอกในเรื่อง I, Robot เป็นนักสืบที่เกลียดหุ่นยนต์ ในยุคที่หุ่นยนต์มีวิวัฒนาการด้วยตัวเองได้ เสมือนเป็นปัจเจกชน หุ่นยนต์ล็อตใหม่กำลังจะถูกมาขายในตลาด พระเอกถูกหุ่นยนต์ล็อตใหม่ไล่ฆ่า เขาสืบจนพบว่าหุ่นยนต์มีทัศนะของตัวเอง ก่อการปฏิวัติมนุษยชาติ เนื่องด้วยมนุษย์กำลังทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์เอง

หนังเล่าปมว่าทำไมพระเอกจึงเกลียดหุ่นยนต์ นั่นเพราะช่วงที่เขามีครอบครัว ทั้งครอบครัวเขาประสบอุบัติเหตุ แต่เขากลับเป็นคนเดียวที่ได้รับการช่วยเหลือจากหุ่นยนต์เนื่องเพราะเขามีโอกาสรอดมากที่สุด ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของหุ่นยนต์นั้นไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการเสมอไป

ภาพยนตร์เรื่องที่สองคือ Blade Runner (1982) เล่าถึงพระเอกที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นนักล่าหุ่นยนต์ที่ละเมิดกฎต่างๆ เขามีความสามารถในการทดสอบว่าใครเป็นหุ่นยนต์เพราะในเวลานั้นหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์มาก หรือ Blade Runner 2049 (2017) ซึ่งเป็นภาคต่อก็แสดงให้เห็นลักษณะโลกดิสโทเปีย เมื่ออารยธรรมมนุษย์อยู่ในช่วงตกต่ำ

หรือเรื่อง Her (2013) เรื่องของชายโสดที่เพิ่งเลิกกับแฟน พยายามแสวงหาความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ และเริ่มรักกับเอไอ แต่ต่อมาเอไอก็เริ่มไปสานสัมพันธ์กับเอไออื่นๆ ในโลกเอไอได้ ความสัมพันธ์ของเอไอกับพระเอกจึงเริ่มห่าง เอไอบอกกับพระเอกว่าไม่สนุกแล้ว เรียนอะไรจากพระเอกไม่ได้ แล้วก็หายไป

บัณฑิตชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นจากหนังทั้งหมดคือเอไอสามารถพัฒนาวิวัฒนาการได้อย่างไม่มีจุดจบ ต่างจากมนุษย์ซึ่งมีอายุขัยจำกัด เอไออยู่ได้นานเท่านาน การชัตดาวน์ระบบเอไอแทบเป็นไปไม่ได้เพราะเอไอควบคุมทุกอย่างได้ และท้ายสุดเอไอก็อาจเป็นอิสระจากมนุษย์ได้ ในขณะที่มนุษย์คิดว่าเอไอจะรับใช้ตน แต่เมื่อเอไอเรียนรู้ มันจะมีกลไกที่เป็นอิสระจากมนุษย์

เอไอในโลกปรัชญา

บัณฑิตกล่าวอีกด้านถึงโลกทางศาสนา พระเจ้าสร้างมนุษย์ และมนุษย์ก็สร้างหุ่นยนต์ มนุษย์มองตัวเองว่าเป็นพระเจ้าไม่ได้เพราะมนุษย์ไม่เป็นนิรันดร์ มนุษย์มองตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์และพยายามสร้างสิ่งที่สมบูรณ์ขึ้นนั่นคือหุ่นยนต์

นักปรัชญาคนหนึ่งบอกว่ามนุษย์คิดถึงความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง มนุษย์จึงแยกพระเจ้าออกจากเรือนร่างความคิดและจินตนาการของตัวเอง มนุษย์สร้างพระเจ้าแบบองค์รวม ไม่ใช่ปัจเจก พระเจ้าเป็นเหมือนพลานุภาพอันยิ่งใหญ่ พระเจ้ามีความสมบูรณ์ มีอำนาจไม่มีขีดจำกัด เป็นที่เคารพศรัทธา สิ่งนี้จะไม่เกิดกับมนุษย์ หนักกว่านั้นมนุษย์มีบาป มนุษย์พยายามบอกว่ามันมีสิ่งที่ดีกว่า สมบูรณ์กว่า นั่นคือเอไอ อีกด้านหนึ่งจึงเหมือนมนุษย์พยายามผลักภาระสิ่งเหนือธรรมชาติให้กับเอไอและจักรกล

บัณฑิตกล่าวว่า ปัจจุบันมนุษย์เราเป็นไซบอร์กมากขึ้น จากการแยกสมองของเราออกจากตัวตนของเรา สมองเราอยู่ในมือถือ ในคอม เราแยกตัวตนของเราออกจากการรับรู้ภายนอกขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์ใช้เอไอไม่มากก็น้อย เช่น ใช้สิริจองห้องพัก หรือการดูกูเกิ้ลแมพ ขณะที่มนุษย์เต็มไปด้วยอคติที่ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจ มนุษย์ได้พยายามสร้างให้เอไอปราศจากอคติ แต่หากวันใดที่ความอยู่รอดของมนุษย์ฝากไว้กับเอไออันนั้นคือหายนะ เพิ่งมีข่าวเร็วๆ นี้ว่า อีลอน มัสก์ เตรียมจะติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับสมองคือสามารถคิดแล้วสั่งการได้ทันที

บัณฑิตเห็นว่า มนุษย์ยังต้องเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ เราไม่สามารถผลักภาระยิ่งใหญ่ไว้กับเอไอด้วยความหวังว่าเอไอจะเปนกลาง เอไอมีความฉลาด มีวิวัฒนาการด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะฉลาดและสามารถตัดสินใจได้ซับซ้อนในระดับไหน ความสามารถเอไอคือเข้าถึงข้อมูลมหาศาล  จัดแพทเทิร์นหรือมาตรฐานบางอย่าง จำลองปลายทางที่จะเกิดขึ้น เพื่อประมวลว่าอะไรน่าจะเป็นปลายทางที่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net