Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เมื่อเซ็นสัญญาโควต้ากับฝ่ายส่งเสริมของโรงงาน ต้นทุน-ความเสี่ยง-ความรับผิดชอบทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไถเตรียมดิน ปลูก-ดูแลอ้อย และขนส่งไปถึงโรงงานเป็นของชาวไร่อ้อยทั้งหมด" สรุปใจความสำคัญจากวงเสวนาถอดบทเรียนชาวไร่อ้อย อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ในปี 2561

ช่วงปีที่ผ่านมาในสถานการณ์วิกฤตมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ในภาคการผลิตภาคอีสาน ชาวไร่อ้อยได้รับการกล่าวโทษมากที่สุดว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ

ในเวลานั้นกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เรียงหน้าออกมาให้ข่าว ชาวไร่อ้อยที่เผาอ้อยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท ในจังหวัดขอนแก่นมีข่าวว่าเจ้าหน้าตำรวจได้รับคำสั่งให้ไปยืนหน้าโรงงานน้ำตาล เพื่อตรวจสอบว่ารถบันทุกคันไหนมีอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงาน ถ้าพบให้ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแปลงอ้อยและเจ้าของแปลงเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และ เตรียมชง ครม.อนุมัติเงินกู้ให้เกษตรกรซื้อรถตัดอ้อย

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาเผาอ้อยของรัฐที่คิดค่าปรับอ้อยไฟไหม้แล้วนำเงินไปเฉลี่ยเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ขายอ้อยสด ซึ่งเป็นมาตรการที่มีมานานกว่า 30 ปี โดยปีการผลิตปัจจุบันคิดค่าปรับที่ 30 บาท/ตัน รวมถึงการกำหนดสัดส่วนให้โรงงานรับซื้ออ้อยสดไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 /วัน จากจำนวนอ้อยเข้าที่เข้าโรงงาน ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้เมื่อ 14 ก.พ. 2562 แต่สุดท้ายปริมาณอ้อยเข้าหีบต่อวันยังพบอ้อยไฟไหม้ ร้อยละ 60 โดยโรงงานไม่ได้ต้องรับผิดชอบต่อการเผาอ้อย ไม่มีการบังคับอย่างจริงจังหรือบทกำหนดโทษต่อโรงงานแต่อย่างใด

บทความชิ้นนี้เป็นการศึกษารายละเอียดเพื่อเปรียบเทียบในประเด็นแรงงานตัดอ้อยกับรถตัดอ้อย

ในปีการผลิต 2561/2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงงานน้ำตาล 22 โรงงาน อ้อยเข้าหีบรวม 56.250 ล้านตัน (ประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 57 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3 โรงงาน และมีโรงงานน้ำตาลเดิมในหลายพื้นที่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม รวมกำลังการหีบอ้อยทั้งประเทศปีนี้มากกว่า 130 ล้านตัน)

ฤดูหีบอ้อยมีช่วงเวลาประมาณ 5 เดือน (หลังฤดูเกี่ยวข้าว) หมายถึงเฉลี่ยแล้วจะมีอ้อยที่ต้องขนส่งเข้าโรงงานในภาคอีสาน โรงงานละ 2.556 ล้านต้น หรือ 511,363 ตัน/เดือน/โรงงาน

ถูกกว่า-แพงกว่า? กลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างค่าแรงคนกับรถตัดอ้อย

จากผลการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของแต่ละวิธีการเก็บเกี่ยวอ้อยของ สอน. ระบุว่า "การใช้รถตัดอ้อยต้นทุนต่ำที่สุด" ดังนี้

- แรงงานคน เสียค่าใช้จ่าย 186.68 บาท/ตัน

- แรงงานคนและรถคีบ (อ้อยไฟไหม้) เสียค่าใช้จ่าย 169.60 บาท/ตัน

- ใช้รถตัดอ้อย เสียค่าใช้จ่าย 162.39 บาท/ตัน

แต่การแสดงตัวเลขต้นทุนของชาวไร่อ้อยในกระดานกระทู้ของ สอน. กลับให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม โดยชาวไร่อ้อยระบุว่า "การใช้แรงงานคนตัดอ้อยสดมีต้นทุนต่ำกว่าทุกวิธี เมื่อนำไปเทียบกับราคาขายอ้อยที่ 950 บาท/ตัน" ดังนี้

- ค่าจ้าง รถตัดอ้อย (สด) 190 บาท/ตัน ขายได้ 950 บาท+ค่าอ้อยสด 70 บาท คงเหลือ 830 บาท/ตัน

- ค่าจ้าง คนตัดอ้อย (สด) 90 บาท/ตัน +ค่าคีบ+ค่าคนจัดบนรถบรรทุก 90 = 180 บาท/ตัน (หากเป็นรถคีบตัวเองไม่น่าเกิน 60 บาท) ขายได้ 950+ค่าอ้อยสด 70 บาท คงเหลือ 840 บาท/ตัน

- ค่าจ้าง คนตัดอ้อย (ไฟไหม้) ค่าตัด 45 บาท/ตัน +ค่าคีบ+ค่าคนจัดบนรถบรรทุก 90 บาท/ตัน = 135 บาท/ตัน ขายได้ 950 - โรงงานหักค่าอ้อยไฟไหม้ 20 บาท/ตัน - โรงงานหักค่าอ้อยปนเปื้อน (ทราย/ยอด) 20 บาท/ตัน คงเหลือ 775 บาท/ตัน

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์กลุ่มบริษัทน้ำตาล มีการโฆษณารับจ้างตัดอ้อยด้วยรถตัดอ้อยในราคา 200 บาท/ตัน (รถตัดอ้อยกำลังเครื่องยนต์ 200 และ 340 แรงม้า สามารถตัดอ้อยได้ 150-200 ตัน/วัน)


ชาวไร่อ้อยยืนยัน เผาอ้อยยังไงก็คุ้มกว่า!

เหตุผลที่ชาวไร่อ้อยเลือกใช้วิธีการเผาไร่อ้อยมากกว่าการตัดอ้อยสด สาเหตุใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยแรงงาน 1 คนจะตัดอ้อยสดได้ประมาณ 1-1.5 ตัน/วัน แต่ถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้จะตัดได้ประมาณ 2-3 ตัน/วัน

ทั้งนี้ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงายว่า แรงงานจะเลือกรับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้มากกว่า เพราะมีรายได้สูงกว่าการรับจ้างตัดอ้อยสดประมาณ 100 บาท/วัน ส่วนรถตัดอ้อยในปัจจุบันยังมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดและแรงงาน พบว่า การเช่ารถตัดอ้อยในปัจจุบันมีต้นทุนสูงกว่าการจ้างแรงงานประมาณ 1,000 – 1,400 บาท/ไร่ และสำหรับโรงงานน้ำตาลจะให้คิวอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานก่อนอ้อยสด เนื่องจากหากไม่รับซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด โดยหากทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ อ้อยไฟไหม้จะมีน้ำหนักลดลงร้อยละ 20 ขณัที่อ้อยสดน้ำหนักจะลดลงร้อยละ 14

อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของชาวไร่อ้อยในอำเภอหนองเรือ การที่โรงงานให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากอ้อยไฟไหม้ส่วนใหญ่เป็นของหัวหน้าโควหน้ารายใหญ่ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับโรงงานน้ำตาล และการลดลงของน้ำหนักอ้อยไฟไหม้ไม่ได้กระทบกับค่าความหวาน อีกทั้งโรงงานยังรับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ในราคาที่ถูกกว่าอ้อยสดด้วย

ทั้งนี้ สรุปจากการหาตัวเลขของแรงงานจากปริมาณอ้อยที่จะเข้าโรงงานน้ำตาลในอีสานในช่วงระยะเวลา 5 เดือน จำนวน 56.250 ล้านตัน การตัดอ้อยสดจะต้องใช้แรงงานทั้งหมด 37.5-56.25 ล้านแรง การตัดอ้อยไฟไหม้จะใช้แรงงาน 18.75-28.125 ล้านแรง แรงงานตัดอ้อยไฟไหม้จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าตัดอ้อยสด 2 เท่า ส่วนเจ้าของไร่อ้อยถึงจะจ่ายแพงกว่าต่อวัน แต่ก็ได้ผลผลิตไปขายได้มากและเร็วกว่า และหาแรงงานง่ายกว่า ทำให้ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ที่มีอัตราอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน ยังคงอยู่ที่ 60% ขึ้นไป


นโยบายให้กู้ซื้อรถตัดอ้อย ทางออกของปัญหาขาดแคลนแรงงาน จริงหรือ?

สมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยในแนวหน้า (23 เม.ย. 2562) ว่า ปัจจุบันในประเทศมีรถตัดอ้อย 1,802 คัน เพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่เกิดจากการเผาเก็บเกี่ยว จะเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000 คัน โดยออกเป็นมาตรการส่งเสริมสินเชื่อให้เกษตรกร 6,000 ล้านบาท (3 ปี) หมายถึงในปี 2565 จะมีรถตัดอ้อยรวม 5,802 คัน

ข้อมูลรถตัดอ้อยที่มีอยู่จำนวน 1,802 คันตามข่าว เกิดจากการอนุมัติวงเงินกู้ปีละ 3,000 ล้านบาท (3 ปี ในปี 2553-2555) ตามมติ ครม. วันที่ 20 ต.ค. 2552 เพื่อให้ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย หรือ โรงงานน้ำตาล และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. กู้เงินภายในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี นับแต่วันกู้

และ 24 ก.พ.2558 ครม. ได้อนุมัติเงินกู้ 9,000 ล้านบาท อีกครั้ง เพื่อดำเนินโครงการ “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุปกรณ์บริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย การจัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตร การจัดซื้อรถแทรกเตอร์ และการจัดซื้อรถบรรทุกอ้อย (ระยะเวลา 3 ปี)

ทั้งนี้ หากเทียบกับประมาณอ้อยทั้งประเทศในปี 2562 จำนวน 130 ล้านตัน เฉลี่ยรถตัดอ้อย 1 คัน มีกำลังการตัดอ้อย 22,406 ตัน หรือ ในระยะเวลา 5 เดือนรถ 1 คัน จะตัดอ้อยได้ 149 ตัน/วัน เพียงพอกับจำนวนอ้อยในปัจจุบัน โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่อ้อยขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวไร่อ้อยขนาดเล็กที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับ สอน. ที่ไม่ได้มีขนาดแปลงอ้อยใหญ่พอหรือเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้รถตัดอ้อยได้ จะถูกบีบให้ไม่สามารถเผาอ้อยได้อีกต่อไป ต้องใช้แรงงานตัดอ้อยสด หรือการจ้างแรงงานตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ชาวไร่อ้อยขนาดเล็ก ร้อยละ 80 ที่ไม่สามารถซื้อรถตัดอ้อยได้จะมีต้นทุนสูงขึ้นหากจ้างรถตัดอ้อย และอาจต้องเสียค่าจากความสูญเสียจากรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้น เช่น ตออ้อยเสียหาย อาจต้องจ้างรถระเบิดดินดานเพิ่ม และมีความเสี่ยงที่จะต้องรอคิวรถตัดอ้อยที่จะเลือกตัดอ้อยแปลงใหญ่ก่อนซึ่งอาจจะทำให้ตัดอ้อยไม่ทันในช่วงเวลาเปิดหีบ

ส่วนชาวไร่อ้อยขนาดใหญ่ ร้อยละ 5 และขนาดกลางร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่สามารถกู้เงินซื้อรถตัดอ้อยในราคา 8-13 ล้านบาท รถตัดอ้อยกำลังเครื่องยนต์ 200 และ 340 แรงม้า สามารถตัดอ้อยได้ 150-200 ตัน/วัน เมื่อตัดอ้อยได้ 4,7169 - 76,651 ตัน ใช้เวลาในการตัด 314 - 383 วันเท่านั้น ก็สามารถคืนทุนค่ารถตัดอ้อยได้แล้ว รวมถึงยังนำรถตัดอ้อยไปรับจ้างตัดอ้อยในราคาประมาณ 200/ตัน ได้ด้วย

การอนุมัติวงเงินสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อย ใครได้ประโยชน์จากรถตัดอ้อย และมีการศึกษาหรือไม่ว่ามลพิษจากฝุ่นควันจะลดลงอย่างไร?

รถตัดอ้อยผลิตในประเทศมีราคาอย่างต่ำคันละ 6- 8 ล้านบาทขึ้นไป รถตัดอ้อยนำเข้าที่มีราคา 11-13 ล้านบาท จ่ายคืนเงินกู้ในระยะเวลา 6 ปี

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีชาวไร่อ้อยที่ลงทะเบียนกับ สอน. จำนวน 3.4 แสนราย ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานทั้ง 54 โรงงาน ในรอบปีการผลิต 2561/2562

สอน. เคยแบ่งข้อมูลขนาดชาวไร่อ้อยไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

ชาวไร่อ้อย ร้อยละ 80 มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดเล็ก 1-59 ไร่ โควต้าอ้อย 1-1,000 ตัน

ชาวไร่อ้อย ร้อยละ 15 มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดกลาง 60-199 ไร่ โควต้าอ้อย 1,000-2,000

ชาวไร่อ้อย ร้อยละ 5 มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ มากกว่า 200 ไร่ โควต้าอ้อยมากกว่า 2,000 ตัน

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำต้นทุนผลผลิตและถ่ายทอดความรู้เพื่อลดต้นทุนการผลิตอ้อยของเกษตรกร ในปีเพาะปลูก 2557/58 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยในอีสาน 1,218.83 บาท/ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กที่ไม่มีเครื่องมือและเครื่องจักรกลเป็นของตนเอง เช่น รถไถ เครื่องปลูกอ้อย รถตัดอ้อย ตลอดจนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งอ้อยจากแปลงไปยังโรงงาน จึงจำเป็นต้องจ้างเครื่องจักรและแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และยังสูงกว่าชาวไร่อ้อยรายใหญ่ ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ ตามหลักทฤษฎีเรื่องการประหยัดต่อขนาด และยังได้เปรียบด้านการลงทุนทางเทคโนโลยีการผลิต อีกทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีไปรับจ้างจากชาวไร่อ้อยรายเล็กได้อีกทางหนึ่ง และยังมีอิทธิพลในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้เพราะส่วนใหญ่มักมีตำแหน่งอยู่ในสมาคมชาวไร่อ้อยด้วย

การที่โรงงานล่าลายเซ็นเกษตรกรมาเข้าเกษตรพันธสัญญาอ้อย โดยไม่ได้ดูว่าพื้นที่ของเกษตรกรมีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ ปลูกอ้อยแล้วจะคุ้มค่ากับการลงทุน ให้ผลิตดีหรือไม่ เกษตรกรมีศักยภาพและเศรฐกิจเพียงพอที่จะเข้าถึงเครื่องจักร-เทคโนโลยีได้หรือไม่ ทำให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กส่วนใหญ่ตกอยู่ในวงจรหนี้สินสะสมจากสัญญาโควต้า เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมากกว่า 10 ปี สภาพอากาศท่วม-แล้งที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร รวมทั้งแนวโน้มของราคาอ้อยที่คาดการณ์ไม่ได้จากการลอยตัวราคาน้ำตาลตามตลาดโลก การขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน และไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักร-เทคโนโลยี

นี่คือความไม่เป็นธรรมโดยมีเกษตรกรเป็นเหยื่อใช่หรือไม่

ปัญหาการเผาอ้อย ต้นทางของผู้ก่อมลพิษคือใคร ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ?


ที่มา:
http://www.ocsb.go.th/th/webboard/detail.php?ID=2178& 
https://www.bot.or.th/…/articl…/Pages/Article_27Mar2019.aspx
https://www.naewna.com/business/409439
http://www.erawangroup.com/index.php/en/logistics

หมายเหตุ: ขอสงวนสิทธิไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Fanpage ISAAN VOICE

รวม มติครม. ที่เกี่ยวข้อง

5 ก.ค. 2559 
เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร 
คณะรัฐมนตรีมีมติ

1. เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
1.1 ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เกี่ยวกับระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ตามโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร จาก “ให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่ปีที่กู้ยืม” โดยขอแก้ไขเป็น “การกำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นตามโครงการ แยกตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน คือ หากเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ปี และหากเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี” ในกรอบวงเงินสินเชื่อปีละ 3,000 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว) เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อยผู้กู้ชำระในอัตราร้อยละ 2 มีโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกัน
1.2 แนวทางปฏิบัติตามโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการปลูกอ้อยอย่างครบวงจร ซึ่งรวมถึงระยะเวลาโครงการ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้ตามโครงการ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 คุณสมบัติของผู้ขอกู้ พื้นที่ดำเนินการ รูปแบบการกู้เงินตามโครงการ หลักประกันเงินกู้ เอกสารประกอบการขออนุมัติโครงการ ขั้นตอนการเข้าร่วมและอนุมัติโครงการ การชำระหนี้เงินกู้ และการติดตามและรายงาน
1.3 ให้รัฐบาลรับภาระอัตราดอกเบี้ยส่วนเกินเพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปพัฒนาการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพครบวงจร ภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการปลูกอ้อยอย่างครบวงจร ในกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 922.50 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการ แบ่งเป็น
1.3.1 กรณีกลุ่มผู้กู้เป็นเกษตรกรรายบุคคล ดอกเบี้ยโครงการ=(MRR-2%) หรือ=5% โดยเกษตรกรจ่าย 2% และรัฐชดเชยส่วนต่าง 3%
1.3.2 กรณีผู้กู้เป็นกลุ่มเกษตรกร ดอกเบี้ยโครงการ=(MLR-1%) หรือ=4% โดยเกษตรกรจ่าย 2% และรัฐชดเชยส่วนต่าง 2%
1.3.3 กรณีการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ขยายการให้สินเชื่อเพิ่มเติมในการจัดซื้อรถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ และรถบรรทุกอ้อย เห็นควรให้ขยายสินเชื่อเฉพาะรถคีบอ้อย ส่วนรถแทรกเตอร์และรถบรรทุกอ้อย เห็นควรใช้อัตราดอกเบี้ย (MLR-1%) หรือ=4% และรัฐไม่ต้องชดเชยส่วนต่าง เนื่องจากรัฐได้จัดหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แล้ว
2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่เห็นควรจัดทำประมาณการกรอบวงเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่รัฐต้องจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้ชัดเจน รวมทั้งให้ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วควรจัดให้มีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการเพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ประกอบการจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอนาคต สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรับภาระอัตราดอกเบี้ยส่วนเกิน ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามค่าใช้จ่ายจริงเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป และเห็นควรมีการวางแผนด้านการตลาดรองรับผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงและมีความหลากหลายนอกเหนือจากผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาลทรายตกต่ำ และบูรณาการการดำเนินการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขยายพื้นที่การปลูกอ้อยเพิ่มเติม แต่สนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายเดิมเพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาลและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในปีงบประมาณต่อไป ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

8 มี.ค. 2559 
เรื่อง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี

3.3 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางในการสนับสนุนรถหรือเครื่องมือให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อใช้ในการกำจัดใบอ้อยและตออ้อย รวมทั้งประสานให้โรงงานที่จะรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรร่วมรับผิดชอบในการกำจัดใบอ้อยและตออ้อยด้วย
3.4 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด โดยให้มีกลไกการสนับสนุนเงินทุนให้แก่ชุมชนและให้มีการเชื่อมโยงด้านการผลิตและการตลาดในระยะต่อไป เพื่อให้การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ภายในปี 2560

27 มี.ค. 2558 
เรื่อง นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของไทย 
คณะรัฐมนตรีมีมติ

1. รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือเทียบเคียงได้กับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ทั้งนี้ คพน. ได้จัดทำบัญชีนวัตกรรมไทยและสิ่งประดิษฐ์ไทย ซึ่งนวัตกรรมที่สามารถบรรจุใน “บัญชีนวัตกรรมไทย” ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมในประเทศหรือมาตรฐานสากลและข้อกำหนดสำคัญอื่น ๆ และพร้อมใช้งานได้จริง รวมทั้งมีภาคเอกชนรับไปผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว สำหรับนวัตกรรมที่อยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐานจะบรรจุไว้ใน “บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” ซึ่งสำนักงบประมาณจะให้การสนับสนุนงบประมาณภายใต้ “โครงการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ และขึ้นบัญชีในบัญชีนวัตกรรมไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ นวัตกรรมไทยอาจไม่ได้พัฒนาในประเทศไทยทั้งหมด โดยอาจจะซื้อหรือนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศได้ ขณะนี้มีผลงานนวัตกรรมไทยที่ได้ขึ้นบัญชีแล้วกว่า 100 รายการ เช่น 
1.7 รถตัดอ้อย ใช้ทดแทนแรงงานในการตัดอ้อยและลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการแรงงานคนในการตัดอ้อย 
2. ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคเอกชนเร่งดำเนินการพัฒนาสนับสนุนให้นวัตกรรมของคนไทยได้รับการพัฒนาและได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

24 ก.พ. 2558 
เรื่อง โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร 
คณะรัฐมนตรีมีมติ

1. เห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
1.2 เห็นชอบ “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุปกรณ์บริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย การจัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตร การจัดซื้อรถแทรกเตอร์ และการจัดซื้อรถบรรทุกอ้อย
1.3 อนุมัติวงเงินกู้ปีละ 3,000 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว) เป็นระยะยาว 3 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อยผู้กู้ชำระในอัตราร้อยละ 2 และให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่ปีที่กู้ยืม โดยมีโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกัน และให้รัฐบาลช่วยรับภาระอัตราดอกเบี้ยส่วนเกิน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปพัฒนาการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพครบวงจร โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) ประสานกับกระทรวงการคลัง (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ในการตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยตามหลักการ ต่อไป
2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดรายละเอียด มาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการกู้ยืมเงินและการชำระเงินกู้ ตลอดจนประมาณการวงเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระดอกเบี้ยส่วนเกินในอัตราเดียวกับการชดเชยดอกเบี้ยสำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มอื่น ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการ
3. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรผู้กู้และโรงงานน้ำตาล ผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ ตลอดจนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการค้ำประกันให้ชัดเจน การให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นลำดับแรก การแยกพิจารณาการให้วงเงินสินเชื่อ ระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยของแต่ละกิจกรรมให้เหมาะสมกับความจำเป็น วัตถุประสงค์ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของการดำเนินโครงการฯ การให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น การติดตามประเมินผลโครงการและรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐบาล รวมทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่มีปัญหาและต้องการแหล่งน้ำ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

7 ก.ย. 2553 
เรื่อง โครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงาน 
คณะรัฐมนตรีมีมติ

1. เห็นชอบในหลักการและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1.1 เห็นชอบในหลักการตามโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1.1 ให้การสนับสนุนสินเชื่อโครงการฯ ปีละ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท
1.1.2 ให้เงินกู้ตามโครงการฯ แก่ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อยหรือโรงงานน้ำตาล และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยต่อรายหรือต่อกลุ่ม ภายในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี นับแต่วันกู้
1.1.3 กำหนดอัตราดอกเบี้ยโครงการฯ เท่ากับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ระยะที่ 2 คือ MRR-2.00 ต่อปี โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2.00 ต่อปี รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างร้อยละ 2.75 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยตามโครงการที่ MRR-2.00 ต่อปี ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.75 ต่อปี หักด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้ร้อยละ 2.00 ต่อปี เท่ากับ 2.75 ต่อปี) รวมเป็นเงินชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างตลอดระยะเวลาดำเนินงานตามโครงการฯ ทั้งสิ้นประมาณ 288.75 ล้านบาท
1.1.4 ผ่อนผันหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานสินเชื่อตามโครงการฯ โดยแยกวงเงินกู้ตามโครงการฯ ออกจากวงเงินกู้ปกติของผู้กู้แต่ละราย
1.1.5 ให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามโครงการฯ ของผู้กู้ทุกราย กรณีที่โรงงานน้ำตาลเป็นผู้กู้เงินตามโครงการฯ ต้องจัดให้มีกรรมการของโรงงานน้ำตาล และหรือบุคคลที่ ธ.ก.ส. พิจารณาเห็นสมควรเป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน
1.2 อนุมัติเงินงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างให้ ธ.ก.ส. ในการดำเนินการตามโครงการฯ วงเงินงบประมาณ 288.75 ล้านบาท โดยให้มีการชดเชยแก่ ธ.ก.ส. เป็นปี ๆ ไป ตามข้อเท็จจริง
2. ให้กระทรวงการคลัง โดย ธ.ก.ส. รับไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอุดหนุนสินเชื่อให้มีมาตรฐานโดยเฉพาะเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจำแนกเป็น กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกรรายใหญ่และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพื่อใช้ประโยชน์ในการอุดหนุนให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากยิ่งขั้นในโอกาสต่อไป

20 ต.ค. 2552 
เรื่อง โครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ และการขาดแคลนแรงงาน

คณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติวงเงินกู้ปีละ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (ปี พ.ศ. 2553-2555) เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงาน โดยใช้เงินกู้จากวงเงินสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ได้รับปีละ 10,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังประสาน ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่จะมาขอกู้ และดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม และ ธ.ก.ส. รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการให้สิทธิกลุ่มชาวไร่อ้อยเป็นลำดับแรก และการกำกับดูแลค่าบริการใช้รถตัดอ้อยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรม รวมทั้งความเห็นของสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการติดตามผลการดำเนินการและการสนับสนุนสินเชื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย ที่ควรให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของเกษตรกร การสำรวจความต้องการใช้รถ และการวางแผนปรับสภาพพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการทำงานของรถตัดอ้อย ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net