สุรพศ ทวีศักดิ์: ความยุติธรรมในกรงกรรมของผู้คุมกฎ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ https://prachatai.com/journal/2019/04/81993

ละครหลังข่าวโดยมากมักจงใจสอนศีลธรรมตามกรอบคิด “กฎแห่งกรรม” โดยเฉพาะละครเรื่อง “กรงกรรม” ที่เพิ่งอวสานไป ดูเหมือนจะจงใจสอนมากเป็นพิเศษว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เบื้องหลังของความจงใจดังกล่าวน่าจะมาจากความเชื่อที่ว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” ดังที่มักพูดกันว่า คนเลวต่อให้กฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่กฏแห่งกรรมจะไม่ละเว้น หรือความดีที่เราทำลงไป แม้ไม่มีใครเห็นในวันนี้ แต่ตามกฎแห่งกรรมแล้วการทำความดีใดๆ ย่อมไม่สูญเปล่า สักวันหนึ่งความดีที่เราทำจะส่งผลดีตอบแทนแน่นอน

แต่บทความชื่อ “กฎแห่งกรรมไม่ยุติธรรม: การลงโทษและการผูกอาฆาตที่ล้นเกินในหนังผีไทย” (https://prachatai.com/journal/2019/04/82172) ของเจษฎา บัวบาล เสนอมุมมองต่างออกไป ดังเขาเขียนว่า

การพูดว่า “กฎหมายอาจไม่ยุติธรรม แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” เป็นการพูดเพื่อเชิดชูศาสนาโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง บทความนี้เสนอว่า ในหลายกรณี ศาสนาไม่ได้สนใจความยุติธรรม เพราะหากจะยึดตามนิยามของอิมมานูเอล ค้านท์ ความยุติธรรมคือการได้รับผลในระดับหรือปริมาณที่เท่ากันกับการที่ตนได้กระทำ หลักกรรมในทางพุทธเองก็ให้ผลมากกว่านั้น ทั้งบุญและบาปมักให้ผลหลายเท่าตัว 
เช่น เมื่อฆ่าสัตว์ นอกจากต้องชดใช้กรรมในนรกเป็นต้นแล้ว แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็อาจมีผลทำให้เจ็บป่วยง่ายหรืออายุสั้น หรือถวายของเพียงนิดหน่อยกับพระอริยเจ้า แต่กลับได้รับผลตอบแทนหลายเท่า ทำนองเดียวกับศาสนาของพระเจ้า ที่แม้จะบอกว่ารักมนุษย์มาก แต่หากเขาทำความดีโดยปราศจากความเชื่อ เขาก็ต้องลงนรก เพราะความยุติธรรมของพระเจ้าจะวัดด้วยความศรัทธาเป็นประการสำคัญ

แปลว่าในทัศนะของเจษฎา ความยุติธรรมตามความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรมหรือตามกฎของพระเจ้าก็ตาม ไม่อาจถือเป็น “ความยุติธรรม” ตามกรอบคิดทางโลก (secular) ที่ใช้กันในสังคมสมัยใหม่ได้เลย เช่นตามกรอบคิดแบบคานท์ ถือว่าการกระทำความผิดกับบทลงโทษต้องได้สัดส่วนกัน แต่กฏแห่งกรรมและกฎของพระเจ้า ที่กำหนดโทษแก่การกระทำผิดบาปของมนุษย์ให้ต้องรับทุกข์ทรมานในนรกนั้น ยากจะจินตนาการได้ว่า เป็นการลงโทษที่ได้สัดส่วน หรือเหมาะสมกับความผิดที่แต่ละคนทำลงไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สมมติว่าเรายอมรับว่าความเชื่อทางศาสนาดังกล่าวคือ “ความยุติธรรมแบบหนึ่ง” เจาจะเห็น “หน้าตา” ของความยุติธรรมเช่นนั้นอย่างไร เริ่มจากการพิจารณาคำสอนในคัมภีร์เช่น ข้อความในพระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 475 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=6312&Z=6749)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการคือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ
...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่ร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง คนพาลนั้นจะเดือดเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

ความชั่วอะไรที่ทำให้รับทุกข์ทรมานในนรกเช่นนั้น ในไตรปิฎก (ข้อ 471) กล่าวไว้กว้างๆ ว่า “กรรมลามกที่คนพาลทำไว้ในก่อน คือ กายทุจริต(ทำชั่ว) วจีทุจริต(พูดชั่ว) มโนทุจริต(คิดชั่ว)” ข้อน่าสังเกตคือไตรปิฎกเล่มนี้อธิบาบเปรียบเทียบการลงโทษคนพาลโดยพระราชาในโลกมนุษย์ กับการลงโทษคนพาลหลังตายในนรก แปลว่าคนพาลที่ปกติทำชั่ว พูด ชั่ว คิดชั่วนั้น นอกจากสมควรรับโทษจากอำนาจรัฐในชีวิตปัจจุบันแล้วก็สมควรรับโทษซ้ำในอัตราที่รุนแรงกว่าในชีวิตหลังความตายอีกด้วย 

บางคนอาจคิดว่า การลงโทษดังกล่าวเป็น “คนละส่วน” ไม่เกี่ยวข้องเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน แต่ช้าก่อน เพราะมีข้อเท็จจริงที่ควรพิจารณา คือ

ประเด็นแรก เป็นเรื่องหลักคำสอนในไตรปิฎกที่สะท้อน “ทัศนะ” ของพุทธศาสนา คือไตรปฏิฎกบรรยายเปรียบเทียบ “การรับโทษตามกฎหมาย” กับ “การรับโทษตามกฎแห่งกรรม” ว่ามีความโหดร้ายสอดคล้องกัน เช่นโทษตามกฎหมายของพระราชา มีทั้ง “การโบยด้วยหวาย ตัดมือ ตัดเท้า ตัดทั้งมือทั้งเท้า ตัดหู ตัดจมูก...ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ ให้สุนัขทึ้ง ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ ตัดศีรษะด้วยดาบ” (ข้อ 470) แต่ยังไงๆ โทษตามกฎหมายก็ยังรุนแรงน้อยกว่าโทษในนรกดังกล่าวข้างบนมาก

แปลว่า ตามคำสอนพุทธศาสนาในไตรปิฎก นอกจากจะไม่มองว่าการลงโทษตามกฎหมายที่ทารุณเช่นนั้นขัดกับ “ความยุติธรรม” แล้ว ยังเสมือนรับรองความชอบธรรมของการลงโทษเช่นนั้นด้วยอ้างว่า “คนพาลที่ถูกลงโทษตามกฎหมายรุนแรงขนาดนี้แล้ว ตายไปเขายังต้องรับโทษทัณฑ์ที่สาหัสกว่าในนรกเป็นร้อยๆ เท่า” อีกด้วย

ประเด็นต่อมาคือ ความจริงทางประวัติศาสตร์ของรัฐพุทธศาสนา (Buddhist state) ตั้งแต่ยุคอโศกเป็นต้นมา มีการนำคำบรรยาบเกี่ยวกับวิธีการลงโทษสัตว์นรกในตรปิฎกมาออกแบบคุกและวิธีการลงโทษคนทำผิดในรัฐ สมัยอยุธยาก็มีบทลงโทษ 21 สถาน ที่ทารุณโหดร้ายน้องๆ วิธีการลงโทษในนรกเลยทีเดียว 

จากตัวอย่างที่ยกมา ทำให้เราเห็นว่าความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของ “ความยุติธรรมระหว่างการกระทำกับผลตอบแทน” เมื่อพิจารณาตามทัศนะในไตรปิฎกและประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่ามีความยุติธรรมสองระบบคู่ขนานกัน คือความยุติธรรมระหว่างการกระทำกับผลตอบแทนในรัฐ เป็นความยุติธรรมที่อิง “อำนาจธรรมราชา” ในการบัญญัติกฎและคุมกฎ ขณะที่ความยุติธรรมในการให้ผลของกรรมในนรกมี “นายนิรยบาล” เป็นผู้คุมกฎหรือทำหน้าที่ลงโทษให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรม 

นี่ไม่ใช่แนวคิดเรื่องความยุติธรรมและความจริงทางปฏิบัติในรัฐพุทธศาสนาเท่านั้น รัฐศาสนาแบบอื่นๆ ในเอเชียก็มีวิธีคิดและปฏิบัติทำนองเดียวกัน ขณะที่รัฐศาสนาที่นับถือพระเจ้า แม้จะสอนว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์ประดุจบิดารักบุตร แต่บทลงโทษ “คนนอกรีต” ก็โหดร้ายเหนือจินตนาการเช่นกัน แน่นอนว่าทุกศาสนาต่างมี “นรก” รองรับการ “ลงโทษซ้ำ” สำหรับคนเลวที่ปฏิบัติสวนทางกับคำสอนศาสนานั้นๆ อยู่แล้ว นี่ก็คือ “ความยุติธรรมแบบศาสนา” ที่ไม่อาจยอมรับได้เมื่อมองจากกรอบคิดแบบโลกวิสัย หรือหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ที่ต้องตราไว้เป็นพิเศษคือ ตามกรอบคิดความยุติธรรมแบบศาสนานั้น มีการกำหนดนิยามชุดความดี ความชั่วและผลตอบแทนขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น ความดีคือการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมของศาสนา ความชั่วคือละเมิดหลักศีลธรรมศาสนา ส่วนผลตอบแทนบางอย่าง เช่นถ้าทำผิดต่อพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ ย่อมได้รับผลตอบแทนเป็นบาปหนักกว่าทำผิดต่อคนทั่วไป หรือทำผิดต่อพระเจ้า ศาสนจักร นักบวช ผู้นำศาสนาก็สมควรได้รับโทษที่รุนแรงกว่า สอดคล้องกับการทำผิดต่อพระราชา พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางก็ย่อมต้องรับโทษที่รุนแรงกว่าทำผิดต่อคนธรรมดาทั่วไป 

สิ่งที่เรามองเห็นต่อมาคือ ในรัฐศาสนาสมัยใหม่นั้น กรอบคิดเรื่องความยุติธรรมและบทลงโทษตามความเชื่อแบบศาสนายังมีอิทธิพลสูงต่อการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งทัศนคติของสังคมที่สวนทางกับหลักสิทธิมนุษยชน

สังคมไทยปัจจุบันไม่ใช่รัฐศาสนา แต่ก็ไม่ใช่รัฐโลกวิสัย (secular state) เป็นสังคมที่มีการปะทะขัดแย้งระหว่าง “ความดีแบบพุทธศาสนาไทย” กับ “ความดีแบบโลกวิสัย” อย่างแรกคือความดีตามกรอบคิดเรื่องกรรมบวกกรอบคิดกตัญญูต่อแผ่นดิน อย่างหลังคือความดีสาธารณะตามกรอบคิดประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

แต่อำนาจนิยามความดี-ความชั่ว ตกอยู่ในมือชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมมายาวนาน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ผูกขาดอำนาจในการบัญญัติกฎ ฉีกกฎ และควบคุมกฎของการให้ผลตอบแทนความดีและความชั่วด้วย 

เมื่อมองจากกรอบคิดฝ่ายอนุรักษนิยม ความดีแบบกฎแห่งกรรมบวกความดีแบบตอบแทนคุณแผ่นดิน คือความดีที่แท้จริง เป็นรากฐานของความั่นของชาติบ้านเมือง ขณะที่ระแวงว่าความดีสาธารณะตามกรอบคิดโลกวิสัยมักจะเป็นปัญหา สร้างความแตกแยก และอาจเป็นภัยความมั่นคงของชาติบ้านเมือง

แต่เมื่อมองจากกรอบคิดฝ่ายเสรีนิยม ที่ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัย ร.5 จนกระทั่งปัจจุบันที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับฝ่ายเสรีนิยมถูกขจัดทิ้งคนแล้วคนเล่า แต่ก็ขยายปริมาณเพิ่มขึ้นตามบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก พวกเขากลับเห็นว่า ความดีและอำนาจควบคุมการให้ผลตอบแทนแบบฝ่ายอนุรักษนิยมใช้มาตลอดนั้น มันคือ “กรงกรรม” ที่ตรึงสังคมไทยไม่ให้สามารถวางรากฐานเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงได้จริงๆ เสียที

น่าคิดว่า เมื่อนักคิดตะวันตกมาศึกษาคำสอนพุทธศาสนา เขากลับตีความหลักคำสอนสำคัญๆ ในทางสนับสนุนเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนได้ แม้แต่ “ทะไลลามะ” ก็ยังนำหลักการพุทธศาสนาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลกได้อย่างมีเหตุผล นั่นเป็นเพราะคนเหล่านั้นตีความคำสอนพุทธศาสนาจากรอบมุมมองแบบโลกวิสัย หรือตีความในเชิงแลกเปลี่ยนกับความคิดสมัยใหม่ 

ขณะที่บ้านเราได้ผลิตสร้าง “พุทธศาสนาไทย” ขึ้นจากคัมภีร์เถรวาทและประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนายุคเก่า ทำให้พุทธศาสนาไทยยังผลิตสร้างสำนึกความดี ความชั่วในทิศทางที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจควบคุมกฎอยู่เช่นเดิม แม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เปลี่ยนไปบ้าง แต่สาระสำคัญก็ยังคงเอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ มากกว่าจะสนับสนุนสิทธิอำนาจของประชาชน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท