การเลือกตั้ง 2562 กับปรากฏการณ์อนาคตใหม่ จากมุมมองของนักข่าวชาวไต้หวัน 

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ฉันได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากการได้ร่วมสังเกตพัฒนาการทางประชาธิปไตยของประเทศในกลุ่มอาเซียน มิใช่เพราะความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก้าวหน้ากว่าพวกเรา แต่เพราะตอนนี้พวกเขาอยู่ระหว่างการต่อสู้เพื่อเข้าถึงประชาธิปไตย ซึ่งเราก็เคยผ่านกระบวนการนี้มาก่อนเช่นกัน เจตนารมณ์อันบริสุทธิ์เบื้องหลังการต่อสู้ของพวกเขา ได้ทำให้เราหวนกลับมาตระหนักถึงประเทศของเราเอง”
“บางประเทศอาจเกิดความขัดแย้งและพบกับความเจ็บปวดขณะกำลังเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย แต่ฉันก็จะไม่ดูถูกสถานการณ์เหล่านี้ เพราะไต้หวันก็เคยประสบกับความเจ็บปวดนั้น และเราเข้าใจมันเป็นอย่างดี”

-แอมเบอร์ ลิน นักข่าวชาวไต้หวัน

คำนำ

แอมเบอร์ ลิน นักข่าวจากประเทศไต้หวัน ผู้ร่วมสังเกตการณ์กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยของประเทศอาเซียนมากว่า 6 ปี ได้ใช้เวลา 1 เดือนระหว่างการเลือกตั้งในประเทศไทย สัมภาษณ์และสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหลายพื้นที่ เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างเจาะลึก ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้งเธอได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์พิเศษกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการ และผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ และได้เข้าใจถึงแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่มากขึ้น

หลังการเลือกตั้ง แอมเบอร์จึงตัดสินใจจะวิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้ และแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่ผ่านมุมมองของนักข่าวชาวไต้หวัน โดยเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางการเมืองของไต้หวัน และถอดบทเรียนว่า ไต้หวันจะได้แรงบันดาลใจจากการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งนี้อย่างไรบ้าง แล้วพัฒนาการทางการเมืองของไต้หวันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะเป็นแรงบันดาลใจอย่างไรให้ประเทศไทยได้บ้าง ต่อไปนี้คือมุมมองของแอมเบอร์ต่อการเลือกตั้ง 2562 และปรากฏการณ์อนาคตใหม่

จากมุมมองไต้หวันเข้าสู่การเมืองไทย

ฉันเริ่มสนใจพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมีนาคม เพราะแม้การเมืองไทยจะมีความแตกต่างกับการเมืองไต้หวันในหลายบริบทและปัจจัย แต่การเมืองไทยในขณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการเมืองไต้หวันในแง่โครงสร้างทางการเมืองและปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา

ไต้หวันมีความขัดแย้งในสังคมระหว่างสองฝ่ายมาเป็นเวลานาน โดยเป็นความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายสีน้ำเงิน” ที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง (中國國民黨/KMT) กับ “ฝ่ายสีเขียว” ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨/DPP) ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกทางอัตลักษณ์ระหว่างความเป็นจีนกับความเป็นไต้หวันในสังคมไต้หวันมาโดยตลอด ช่วงปี ค.ศ. 2014 ได้เกิดความหวาดกลัวในสังคมไต้หวัน เมื่อรัฐบาลของไต้หวันขณะนั้นนำโดยพรรคก๊กมินตั๋งได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะเปิดช่องให้จีนเข้าแทรกแซงกิจการของไต้หวันได้มากขึ้น ทำให้เกิดขบวนการนักศึกษาทานตะวัน (太陽花學運) ต่อมา ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่เรียกว่าพรรคพลังใหม่ (時代力量) ขึ้น พรรคนี้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดก้าวหน้าในกลุ่มไต้หวันนิยม จึงเกิดเป็นความหวังว่าพรรคการเมืองใหม่นี้จะนำไต้หวันก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างสีน้ำเงินและสีเขียวได้

อย่างไรก็ดีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สังคมไต้หวันไม่ได้ก้าวออกจากความขัดแย้งแบบเดิม แต่กลับเกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มไต้หวันนิยม ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายหัวก้าวหน้าขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมของไต้หวันในวันที่ 24 พฤศจิกายน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมได้คะแนนนำกลับมาอย่างถล่มทลาย ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของฝ่ายหัวก้าวหน้าในไต้หวัน

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ภายหลังจากความขัดแย้งเสื้อแดง-เสื้อเหลืองในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดพรรคอนาคตใหม่ที่ “ไม่เหลือง ไม่แดง” ขึ้น และในการเลือกตั้งปีนี้ พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงมากกว่า 6.2 ล้านเสียง มี ส.ส. เข้ารัฐสภาเกิน 80 คน ได้ส่วนแบ่งคะแนนจากทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดงเป็นจำนวนมาก ถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะปลอดภัยจากการถูกสกัดกั้นผ่านกฎหมายของรัฐไทยในปัจจุบันหรือไม่ และพรรคการเมืองใหม่แบบนี้ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วผ่านการทำกิจกรรมทางการเมืองนอกระบบรัฐบาลจะต้องเดินหน้าอย่างไรจึงจะสามารถเข้าสู่ระบบได้ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราจะต้องสังเกตกันต่อไป แต่ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ฉันได้แรงบันดาลใจอย่างมาก

สังคมไทย: ความไม่หมดหวังในระบอบที่สิ้นหวัง

ในช่วงแรกที่ได้ศึกษาการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ ฉันคิดว่าระบอบการเมืองไทยนั้นดูสิ้นหวังอย่างมาก ซึ่งผู้เข้าสังเกตการณ์ต่างชาติส่วนใหญ่ก็คิดตรงกัน การเมืองไทยเต็มไปด้วยการก่อรัฐประหาร รัฐธรรมนูญของไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร สังคมไทยมีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจนและกลุ่มชนชั้นนำก็ยึดแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างเหนียวแน่น ซึ่งกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกออกแบบมาให้ล้มเหลว การเลือกตั้งครั้งนี้จึงดูเหมือนกับเป็นละครฉากหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ดีในระยะเวลา 1 เดือน ที่ฉันอยู่ในประเทศไทย สิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจอย่างมากคือ แม้ระบอบการเมืองไทยจะสิ้นหวัง แต่ประชาชนไทยก็มิได้นิ่งนอนใจยอมรับความสิ้นหวังนี้ ทุกฝ่ายในสังคมต่างก็ยังให้ความสนใจกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ความไม่สิ้นหวังเหล่านี้สามารถสร้างความเคลื่อนไหวต่อปัจเจกเล็กๆ ภายใต้ระบอบอันยิ่งใหญ่มหาศาลที่เปลี่ยนแปลงยาก ฉันจึงคิดว่าแม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกสกัดกั้นจากการปราบปรามของระบอบเผด็จการในปัจจุบัน แต่การปรากฏตัวของพรรคการเมืองนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากของสังคมไทย

พรรคการเมืองใหม่ที่ตรงกับอุดมคติสมัยใหม่

มีหลายเหตุปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้กับพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งฉันคิดว่ามีเฉพาะบางจุดที่พรรคการเมืองใหม่ในไต้หวันสามารถใช้เป็นแรงบันดาลใจได้

1. แผนการส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 

ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตให้ครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง ไม่ได้ต่อรองหรือแบ่งเขตกับพรรคการเมืองใหญ่ ๆ พรรคใดพรรคหนึ่งมาก่อน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในความเป็นกลางของพรรค

2. กลยุทธ์เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย

แม้จะเริ่มต้นจากกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่นอกระบบการเมืองของไทยมาโดยตลอด แต่พอตั้งพรรคการเมืองแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้คิดแบบนอกระบบ พวกเขาเจาะจงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน คือ ประชาชนทั่วไป กลุ่มชนชั้นกลางในเมือง และคนรุ่นใหม่ พวกเขารู้ว่าถ้าต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องค่อย ๆ สร้างแนวคิดใหม่ให้กับประชาชนทั่วไป แม้ว่าความคาดหวังจากกลุ่มหัวก้าวหน้าที่เป็นฐานเสียงของพวกเขาจะมีมาก แต่พวกเขาก็เชื่อว่าควรเริ่มทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใจร้อนมากเกินไป  

3. การตั้งประเด็นปัญหาที่ชัดเจน 

ปฏิรูปกองทัพ ขจัดผลพวงของรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล้วนเป็นเป้าหมายสูงสุดของพรรคอนาคตใหม่ พรรคจึงได้สื่อสารกับมวลชนในแนวคิดเหล่านี้มากที่สุด และได้ร่วมจับมือกับพรรคต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสื่อสารประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน และไม่ได้หวั่นว่าตนจะถูกมองเป็นฝ่ายเสื้อแดง เพราะยึดตามหลักการประชาธิปไตย

4. การถือแนวคิดก้าวหน้าแต่ไม่ซ้ายจัด

พรรคอนาคตใหม่มีจุดยืนแบบซ้ายกลาง ซึ่งปกตินักธรุกิจไม่ชอบแนวคิดลักษณะนี้ แต่ประสบการณ์ความสำเร็จด้านธุรกิจของนายธนาธร ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะบริษัท startup คนพวกนี้ได้ต่อสู้เคียงข้างกับนายธนาธร และกลายเป็นกลุ่มที่ช่วยเสนอนโยบายทางธุรกิจให้กับพรรค

5. การใช้โซเชียลมีเดียที่ทันสมัย

พรรคอนาคตใหม่เชื่อในพลังของโซเชียลมีเดีย ซึ่งสร้างปฏิกิริยาที่มีชื่อว่า snowball effect กระจายออกไปสู่สังคมในวงกว้าง ซึ่งแม้ว่าปฏิกิริยานี้จะส่งผลกระทบกลับมาสู่พรรคทั้งในทางที่ดีและไม่ดี แต่พรรคอนาคตใหม่นำโซเชียลมีเดียมาใช้อย่างถูกต้อง สิ่งที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน คือ การสร้างความนิยมผ่านสื่อออนไลน์ที่ทวีอิทธิพลในปัจจุบันนั้นจะนำมาสู่ผลคะแนนเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งจริง พรรคอนาคตใหม่ไม่มีเครือข่ายในระดับท้องถิ่นอย่างพรรคเก่า แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาเลือกจะเล่นในสนามด้วยวิธีที่แตกต่าง และนำเสนออุดมการณ์ของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย และทำงานอย่างสร้างสรรค์ผ่านการใช้กลยุทธ์นี้

พรรคอนาคตใหม่นั้นมีความสามารถในการจับกระแสสังคมใหม่ๆ มีการวางแผนที่ถูกต้อง และเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ดี เพราะการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งถูกมองว่าทำให้เสียงของพรรคนั้นไปอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ และความสามารถพิเศษส่วนตัวของธนาธร ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันได้สร้างความสำเร็จให้กับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในงานวิเคราะห์ทั่ว ๆ ไป อาจจะอ้างถึงปรากฏการณ์ “เน็ตไอดอล” ที่ถูกสร้างผ่านตัวบุคคลคือนายธนาธร แต่ฉันคิดว่าการสร้าง “เน็ตไอดอล” เป็นวิธีการที่ธรรมดามากในการตลาดออนไลน์ ไม่เพียงพอที่จะสร้างปาฏิหาริย์ทางการเมืองเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดล้วนอยู่ในคำพูดที่นายธนาธรได้ให้ไว้ ว่า

“ถ้าเราชนะในแง่แนวคิดไม่ได้ ก็จะชนะในแง่คะแนนเสียงไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อันนี้คือพลังของความคิด สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ คือความคิด ไม่ใช่คะแนนเสียง”

ธนาธรได้บอกกับฉันว่า พวกเขาตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาเพราะอยากจะดำเนิน “กิจกรรมทางการเมืองในรัฐสภา” ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี และการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่สำคัญ เพราะจะได้เอาคุณค่าของประชาธิปไตยมาปลูกฝังให้กับประชาชน กล่าวคือ เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับที่นั่งในรัฐสภาตั้งแต่แรก หากแต่พวกเขาตั้งใจจะสู้รบในทาง “เน็ตไอดอล” เพื่อนำมาสู่การตั้งประเด็นปัญหา และสร้างอำนาจให้เขาในการแสดงความคิดเห็น

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดียหรือการสร้าง “เน็ตไอดอล” ก็ล้วนทำขึ้นมาเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคซึ่งเป็นการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตย กลยุทธ์นี้ทั้งบริสุทธิ์และชี้ให้เห็นถึงแก่นแท้ได้ และตอนที่ฉันได้ฟังสิ่งนี้จากปากของเขาเอง ทำให้ฉันตื่นเต้นมาก เพราะเป็นความรู้สึกที่ฉันไม่มีมาก่อน แม้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ฉันเคยร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่สำคัญ ทั้งใน อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน หรือเคยมีส่วนในกิจกรรมทางสังคมอย่างขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ฉันก็ไม่เคยตื่นเต้นเท่านี้

การจับไอน้ำใส่เสื้อสูบในการเมืองปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีเหตุปัจจัยเหล่านี้ยังไม่พอจะอธิบายได้ว่าทำไมพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่สามารถได้คะแนนเสียงมากกว่า 6.2 ล้านเสียง และได้ที่นั่งในรัฐสถากว่า 80 ที่นั่ง จนกลายเป็นพรรคอันดับสองในฝ่ายประชาธิปไตยตามหลังพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้จะด้วยเสน่ห์ส่วนตัวหรือการตลาดออนไลน์ก็คงไม่พอจะสร้างปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ ฉันคิดว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้เกิดจากพลังเงียบที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ท่ามกลางบริบทการเมืองฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดง พลังเงียบนั้นเหมือนกับลาวาที่ไหลอยู่ใต้แผ่นเปลือกโลกสองแผ่น ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้กลายเป็นลาวาที่ปะทุขึ้นมาจากเบื้องล่าง ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าเมื่อได้คนที่ใช่และกลยุทธ์ที่ถูกต้องจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขี้นได้ 

ตอนเกิดการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ธนาธรเห็นว่ามวลชนนั้นปราศจากแกนนำที่จะมาช่วยต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ เขาคิดว่าสังคมต้องมีสถาบันที่จะเชื่อมเจนารมณ์ของประชาชนได้ ในระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนด้วยทฤษฎีประชาธิปไตยเสรีนิยม สถาบันนี้จะต้องเป็นพรรคการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่จะเชื่อมอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ควรจะใช้การชุมนุมในการต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ในเวลาสั้น ๆ เพราะหากไม่เข้าใจคุณค่าของแนวคิดประชาธิปไตยก็จะขาดทิศทาง เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจน 

คำพูดของธนาธรทำให้ฉันนึกถึงความตอนหนึ่ง ใน หนังสือเรื่องประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซียเล่มที่หนึ่ง (The history of the Russian revolution: Volume 1) ของเลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) ที่ว่า
“หากปราศจากองค์กรช่วยชี้นำ ความเคลื่อนไหวของมวลชนก็จะสลายหายไปเหมือนกับไอน้ำเดือดที่ไม่ได้อยู่ในเสื้อสูบ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรให้เดินหน้าไม่ใช่ตัวเสื้อสูบหรือลูกสูบ แต่คือไอน้ำที่เดือดพล่านนั้นเอง”

เมื่อเกิดพรรคการเมืองใหม่และแกนนำหน้าใหม่ที่พร้อมจะชี้นำ ไอน้ำเดือดคือประชาชนซึ่งซ่อนเร้นเป็นพลังเงียบในสังคมมายาวนาน จึงเริ่มมีตัวตน ความหมาย และปรากฏตัวมากขึ้น คนแรกที่ชี้พลังนี้ได้อย่างถูกต้องจะได้เป็นผู้กำหนดทิศทาง และแผ่นเปลือกโลกใหม่ทางการเมืองของไทยจะถือกำเนิดขึ้น โดยธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้จับอารมณ์อันคลุมเครือนี้ไว้ได้

สังคมไทยในปัจจุบันเหมือนอยู่ใน “สมัยนอกพรรค” ของไต้หวัน 

จากปรากฎการณ์ในสังคมปัจจุบันทำให้ฉันนึกถึงการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในไต้หวัน ในปี ค.ศ. 1949 เจียง ไคเช็ก พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองของจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ลี้ภัยไปยังไต้หวันและประกาศกฎอัยการศึก ในช่วงเผด็จการที่ยาวนานที่เรียกว่า “ความสะพรึงสีขาว” (白色恐怖) พรรคที่ถูกกฎหมายในไต้หวันมีแต่พรรคก๊กมินตั๋งพรรคเดียว ดังนั้นกิจกรรมฝ่ายค้านต่างๆ ในสมัยนั้นจึงถูกเรียกว่าเป็น “นอกพรรค” ทั้งหมด

ตอนช่วง ค.ศ. 1980 เพื่อต่อสู้กับเผด็จการก๊กมินตั๋งและคณะชาตินิยมจีน กิจกรรม “นอกพรรค” ในสังคมไต้หวัน ได้เกิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เกือบ 30 ปี วาทกรรมที่ว่าไต้หวันจะเดินก้าวหน้าไปด้วย การเป็นประชาธิปไตย การสร้างความเป็นไต้หวัน และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ได้ถูกเชื่อมผ่านองค์กรคือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨/DPP) แต่หลังจากเกิดระบอบประชาธิปไตยในไต้หวันแล้ว การเมืองไต้หวันกลายเป็นสิ่งที่ซ้ำซาก การวิเคราะห์ทางการเมืองในไต้หวันที่ผ่านมาจำกัดอยู่แค่วิธีการเชิงเทคนิค ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ฉันเห็นว่าไต้หวันขาดวาทกรรมใหม่ ขาดความคิดสร้างสรรค์ทางการเมืองที่สามารถนำสังคมเดินก้าวหน้าไปได้ 
เมื่อเทียบกับประเทศไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนระบอบสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2475 มีการจัดการเลือกตั้งอย่างประชาธิปไตยจนถึงวันนี้มากว่า 90 ปี แต่กระบวนการประชาธิปไตยไทยส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบล่างสู่บนนั้นมีน้อย จึงไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในความเป็นประชาธิปไตยแบบไทย

ทว่าในปัจจุบันประเทศไทยเหมือนกับไต้หวันในสมัย “นอกพรรค” คือได้มีการจัดการเลือกตั้งแบบ “โป๊ะแตก” มีศาลเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเผด็จการ มีกลุ่มอนุรักษนิยมฝังรากลึกในสังคม ดังนั้นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังพยายามทำอยู่เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง นั่นก็คือ การใช้ธนาธรเป็น “ไอคอน” เผยแพร่แนวคิดต่าง ๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเป็นธรรมทางกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ และปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้กับประชาชนทั่ว ๆ ไป อุดมการณ์เหล่านี้จะชี้นำสังคมไปเรื่อย ๆ สร้างทุก ๆ คนให้เป็น “ธนาธร” เหมือนกับประโยคภาษาจีนที่บอกว่า “จุดไฟเล็กน้อยสามารถเผาทุ่งได้” ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มจากพลังของบุคคลตัวเล็ก ๆ นั่นเอง 

หากแต่เราก็ต้องเข้าใจว่าไอน้ำเดือดหรือพลังของมวลชนในสมัยหนึ่งปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร มันไม่ใช่สิ่งที่คนใดคนหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่งกำหนดได้ ไอน้ำเหล่านี้มองหาเสื้อสูบที่เหมาะสม และชี้ทิศทางที่เป็นประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ได้มีเสื้อสูบที่เหมาะสมมาให้ไอน้ำเหล่านั้นเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์สองอย่างคือ ไอน้ำจะกระจายหายไปในเวลาชั่วคราว แต่บางทีก็อาจจะรวมกันและไปอยู่กับบุคคลหน้าใหม่ ๆ แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ไอน้ำอาจเข้าไปอยู่ในเสื้อสูบที่ไม่ใช่และชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด กรณีอย่างประชานิยมก็อาจสร้างความก้าวหน้าแบบล้าหลัง ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาหลายครั้งแล้ว 

วิถีคิดแบบหัวเก่าและวาทกรรมที่ล้าสมัย คงไม่สามารถจับไอน้ำให้มาอยู่ในเสื้อสูบของตนได้ สิ่งที่จำเป็นเพื่อจะเก็บไอน้ำเหล่านี้ให้นานแล้วให้มันผลิตพลังงานก็คือ “แนวคิดใหม่” ที่สามารถนำเข้าสู่สมัยใหม่ได้ ในบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน แนวคิดใหม่นี้ก็คือ “หลักประชาธิปไตย” ที่ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้เน้นย้ำมาตลอด

เมื่อหันกลับมามองไต้หวันอีกครั้ง สำหรับสังคมไต้หวัน ประชาธิปไตยเหมือนกับน้ำและอากาศ ซึ่งคนไต้หวันคุ้นเคยกับมันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สังคมเราขาดไปคือแนวคิดใหม่และแกนนำใหม่ที่สามารถรวมพลังต่าง ๆ ในสังคมเพื่อต่อสู้กับการคุกคามจากประเทศจีนและโต้กลับกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ เพราะฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญที่สุดของนักการเมืองไต้หวันในสมัยนี้ก็คือ ต้องนำแนวคิดใหม่มาให้สังคม ซึ่งต้องเป็นแนวคิดที่สามารถทำให้ประชาชนหวนกลับไปตื่นเต้นได้อีก และทำให้ประชาธิปไตยฝังรากลึกได้อีกในสังคม เพื่อพาสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้

ในฐานะคนไต้หวัน ที่สังคมได้ก้าวออกจากสมัย “นอกพรรค” แล้ว ฉันเข้าใจว่าการสร้างหลักประชาธิปไตยสำคัญอย่างยิ่งกับการทำงานของระบอบประชาธิปไตย และเมื่อได้มองกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยในปัจจุบัน ก็รู้สึกเข้าใจมันได้อย่างมาก สำหรับฉัน การติดแฮชแท็ก #savethanathorn เหมือนที่ธนาธรย้ำมาตลอดว่า อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของธนาธร ฉันไม่คิดว่ามันถูกใช้เพื่อธนาธรคนเดียว แต่เพื่อรวบรวมพลังใหม่ ๆ ในสังคมไทย เผนแพร่แนวคิดอย่างหลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และสิทธิมนุษยชนต่อไป จะทำให้ประชาสังคมไทยพัฒนาแข็งแรงมากขึ้น ในภาษาจีนมีคำว่า “น้ำหยดลงหินทุกวัน หินยังกร่อน” หากเชื่อมั่นในพลังของหยดน้ำ สักวันหยดน้ำนั้นจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ 

 

หมายเหตุ: แปลและปรับปรุงเป็นภาษาไทยจากงานของแอมเบอร์ ลิน โดย ถิง หวง นักศึกษาปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวไต้หวันที่สนในใจด้านการเมืองไทย และ ณัฎฐ์ ไตรภูมิ บัณฑิตจากภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจด้านไต้หวันศึกษา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท