Skip to main content
sharethis

คณะจัดงานประชุมภาคประชาชนอาเซียนแถลงข่าวความคืบหน้าจัดงานประชุมอาเซียนภาคประชาชน จะจัดงาน 2-4 ก.ย. วางแผนเข้าพบผู้นำรัฐในเวทีซัมมิตเดือน มิ.ย. ทีมงานหวัง ไม่อยากให้พบกันแค่เป็นพิธี ขอให้รัฐไทยประกันความปลอดภัยและเสรีภาพการแสดงความเห็นในที่ประชุม ยังไม่มีมติว่าจะทำอย่างไรหากรัฐบาลยังเป็น คสช. แต่รัฐสมาชิกควรรับผิดชอบต่อความล้มเหลวด้านประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน

ผู้แทนคณะจัดงานระดับภูมิภาคแถลงข่าวร่วมกัน

3 พ.ค. 2562 ที่ห้องประชุมกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (บ้านราชวิถี) มีการแถลงข่าวจากทีมเตรียมงานประชุมภาคประชาสังคม/เวทีอาเซียนภาคประชาชน งานประชุมของภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระดับรัฐบาล โดยในปีนี้ภาคประชาสังคมประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน

ราเชล อารินี จูดิสทารี ตัวแทนจากกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค (Regional Caucus) กล่าวในส่วนกำหนดการของงานว่ามีการเลื่อนจากกำหนดการเดิมในเดือน มิ.ย. เป็นวันที่ 2-4 ก.ย. 2562 เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวกันมากขึ้น ซึ่งช่วงวันดังกล่าวจะคู่ขนานไปกับการประชุมของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (Senior Officials Meeting - SOM) คณะทำงานระดับภูมิภาคในเสาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักอาเซียน

ต่อประเด็นการพบปะระหว่างตัวแทนภาคประชาสังคมกับผู้นำรัฐสมาชิกอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวภายใต้กลไกของอาเซียนที่ภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงและนำเสนอข้อกังวลต่างๆ ต่อผู้นำประเทศของตนได้นั้น ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน (RSC) ของไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาตลอดสิบกว่าปีที่มีเวทีภาคประชาชนอาเซียนนั้นมีการเสนอให้พบปะกันทุกปี แต่ก็มีปัญหาตลอดว่าใครจะได้เป็นตัวแทน นอกจากนั้นผู้นำบางประเทศก็รังเกียจและไม่ยอมรับผู้แทนภาคประชาชนให้เข้าพบ โดยปีนี้การพบปะสามารถมีขึ้นได้ในการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะมีขึ้นระหว่าง 20-23 มิ.ย. แต่ในเมื่อเวทีภาคประชาชนจะจัดในเดือน ก.ย. จึงจะทำข้อเสนอผ่านทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้ตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าพบปะผู้นำรัฐในเดือน มิ.ย.

สุนทรี เซ่งกิ่ง อีกหนึ่ง RSC ของไทยระบุเพิ่มเติมว่า การพบปะกับผู้นำรัฐนั้นมีแผนว่าจะใช้แถลงการณ์ภาคประชาชนจากเวทีภาคประชาชนเมื่อปี 2561 ที่จัดในประเทศสิงคโปร์เป็นข้อเสนอหลัก และจะเพิ่มเติมประเด็นปัญหาอื่นที่ภาคประชาชนนำเสนอร่วมกัน ซึ่งมองว่าจะมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับ ที่ผ่านมานั้นภาคประชาสังคมได้พบน้อยกว่าการไม่ได้พบกับผู้นำรัฐ แต่สิ่งที่สำคัญคือภาคประชาสังคมต้องมีเสรีภาพในการเลือกผู้แทนไปเข้าพบกับผู้นำรัฐ

ราเชลหวังว่าการพบปะผู้นำรัฐจะไม่เป็นเพียงการพูดคุยกันเป็นพิธี หรือเป็นเวทีที่ประชาสังคมทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมแก่ผู้นำรัฐสมาชิก แต่อยากให้เป็นพื้นที่การสานเสวนาที่มีความหมายระหว่างภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นพื้นที่เพื่อแสดงออกซึ่งความกังวลในสิ่งที่รัฐสมาชิกกระทำผิด เช่นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แทบทุกประเทศในอาเซียนกระทำ

ต่อคำถามว่าภาคประชาชนอาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรหากรัฐบาลทหาร คสช. ยังคงมีอำนาจต่อไปจนถึงวันจัดงาน ราเชลตอบว่าคณะจัดงานยังไม่มีฉันทามติในเรื่องนี้แต่ต่างก็รับรู้ถึงสภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็อยากให้รัฐสมาชิกแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระบวนการประชาธิปไตยในภูมิภาค

ด้านกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล หนึ่งในทีมงานกล่าวว่า ในการประชุมวงย่อยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2562 มีการพูดคุยในประเด็นท่าทีต่อการเมืองไทย เชื่อว่าในเดือน ก.ย. คงเห็นความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น แต่หากในตอนนั้นรัฐบาล คสช. ยังคงมีอำนาจ ก็เห็นว่าอาจจะทบทวนปฏิสัมพันธ์กับตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้ ชลิดากล่าวว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวไม่ปรากฏในรายงานสรุปวงใหญ่

ด้านเซง เรซี ตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน (RSC) ประจำกัมพูชาจากองค์กรสีละกะ (SILAKA) จากกัมพูชากล่าวว่า ขอให้รัฐไทยประกันความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงานประชุม เพราะมีบางคนจากบางประเทศในอดีตที่เข้าร่วมงานแล้วติดบัญชีดำ ไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้ ผู้เข้าร่วมเวทีภาคประชาชนอาเซียนต้องแสดงความเห็นได้อย่างเสรีและปลอดภัย

เอกสารแถลงข่าวระบุว่า เวทีภาคประชาชนอาเซียนปีนี้จะดำเนินไปภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนเพื่อความยุติธรรม สันติสุข ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความยั่งยืน และประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยจะเน้นประเด็นปัญหาที่เป็นหลักเจ็ดประเด็นคือ 1) สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการเข้าถึงความยุติธรรม 2) การค้าการลงทุนและอำนาจของภาคธุรกิจ 3) สันติภาพและความมั่นคง 4) การอพยพย้ายถิ่น การค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัย 5) งานที่มีคุณค่า สุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคม 6) ความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา และ 7) นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสิทธิทางดิจิทัล เหล่านี้เป็นประเด็นที่รัฐสมาชิกอาเซียนล้มเหลวในการตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ แม้จะถูกบรรจุให้เป็นประเด็นระดับภูมิภาคในกรอบกลไกอาเซียนก็ตาม

ภาพบรรยากาศงานประชุมเพื่อเตรียมการเมื่อ 1 พ.ค. 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวมีขึ้นหลังการประชุมเตรียมงานระหว่างประชาสังคมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งติมอร์-เลสเต เมื่อ 1-2 พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นจึงมาเข้าพบกับปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. ในวันนี้ (3 พ.ค.) และปรเมธีได้รับปากว่าจะช่วยผลักดันในเรื่องการเข้าพบปะผู้นำรัฐและ SOM กับภาคประชาสังคม

เวทีภาคประชาชน หรือเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนได้รับการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น รมว.กต. เพราะมีข้อครหาว่าเวทีความร่วมมืออาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือของรัฐบาลเท่านั้น ในช่วงแรกเริ่มเป็นการประชุมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชน

ต่อมาในปี 2548 ในปีที่มาเลเซียเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งเวทีภาคประชาชนอาเซียนในลักษณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรกติ ในการประชุมทุกปี แต่ละชาติจะส่งตัวแทนภาคประชาชนไปกล่าวแถลงการณ์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ การพบปะของภาคประชาสังคมกับผู้นำรัฐครั้งสุดท้ายที่มีการทำเป็นกิจลักษณะมีขึ้นในปี 2558 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ สำหรับปีที่แล้วที่จัดขึ้นในสิงคโปร์ก็มีบรรยากาศการถูกจำกัดทั้งในด้านงบประมาณและสถานที่ และแถลงการณ์ของประชาสังคมก็ไม่ได้ถูกส่งไปที่เวทีสุดยอดผู้นำ แต่ถูกส่งไปยัง กต. ประเทศสิงคโปร์ที่รับปากว่าจะกระจายต่อให้กับ กต. ของรัฐสมาชิก ในการประชุมเมื่อ 1 พ.ค. ทางคณะจากสิงคโปร์ยังคงติดตามทาง กต. อยู่

อาเซียนภาคประชาชนหงอย สิงคโปร์ไม่ให้งบ-ปัดพบผู้นำ ไทยรับธงจัดต่อปีหน้า

ปีนี้ พม. เป็นสนับสนุนงบประมาณการจัดเวทีภาคประชาชนอาเซียน โดยให้การสนับสนุนค่าที่พักและค่าอาหาร และมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องการประสานงานระหว่างภาคประชาสังคมกับ พม.

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขพาดหัว "ภาค ปชช. อาเซียนแถลงคืบหน้า หวังพบผู้นำในซัมมิตครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี" เป็น "ภาค ปชช. อาเซียนแถลงคืบหน้า หวังพบผู้นำในซัมมิตครั้งแรกในรอบ 3 ปี" และแก้ไขเนื้อความการพบปะระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้นำรัฐสมาชิกอาเซียนครั้งสุดท้าย จากที่เขียนว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ เป็นเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ หลังได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมจึงแก้ไขให้ถูกต้อง แก้ไขเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 เวลา 21.57 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net