Skip to main content
sharethis

ชวนคุยกับ 2 นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย สะท้อนการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป “ไม่ว่าตัวเลือกไหนก็แย่ทั้งคู่” เมื่อทหารจะกลับมายุ่งการเมือง และปลุกกระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์อีกครั้ง

 

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งของอินโดนีเซียไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ประธานาธิบดี และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จัดขึ้นในวันเดียวกัน เป็นการแข่งขันกันระหว่างประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากสายพลเรือน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการเมินเฉยต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน และปราโบโว ซูบิอันโต อดีตนายพลของกองทัพที่เผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง ทั้งนี้ทั้งคู่เคยแข่งขันกันในการเลือกตั้งปี 2557

การประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ด้วยจำนวนประชากรกว่า 260 ล้านคน มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้ไม่มีศาสนาประจำชาติ แต่คนราว 80% นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการรณรงค์หาเสียงอยู่พอสมควร การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากเรื่องโครงสร้างทางการเมืองที่มีการขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเองก็ดูจะมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อผู้สมัครประธานาธิบดีทั้งสองคนต่างมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนักในเรื่องนี้ทั้งคู่

ประชาไทได้สัมภาษณ์ 2 เอ็นจีโอ 2 เจเนเรชั่นจากประเทศอินโดนีเซีย ถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ในมุมมองของพวกเขา และวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอินโดนีเซียที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้แบบคร่าวๆ

 

เมื่อทหารจะกลับมายุ่งการเมือง และปลุกกระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์อีกครั้ง

 


ไฟซัล ฮาดิ (Faisal Hadi)

 

ไฟซัล ฮาดิ (Faisal Hadi) ผู้จัดการโปรแกรมของเอ็นจีโอในอาเจะห์, คอนทราส อาเจะห์ (Aceh based NGO, KontraS Aceh) ผู้ทำงานเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในอาเจะห์มานาน 21 ปี และทำงานในองค์กรปัจจุบันมานาน 4 ปี เมื่อถามเขาว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้แล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในอาเจะห์หรือไม่ เขากล่าวว่าหากมองส่วนของชีวิตคนทั่วไป ไม่คิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง คนอาจถกเถียงกันบ้างแต่ไม่รุนแรง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากคือในโซเชียลมีเดีย เพราะคนจำนวนมากมีส่วนร่วมในการถกเถียงเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้

“การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งที่มีความรุนแรงน้อยกว่าครั้งก่อนๆ ในอาเจะห์ ไม่มีการเลือดตกยางออกแบบครั้งก่อนๆ หน้านี้ แต่ในโซเชียลมีเดียคนถกเถียงกันอย่างดุเดือดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และข่าวปลอมก็แพร่ระบาดมาก คนจำนวนมากก็เชื่อในข่าวเหล่านั้น” ฮาดิกล่าว

ฮาดิเล่าว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ 83% ในอาเจะห์นั้นโหวตให้กับปราโบโวซึ่งใกล้ชิดกับกองทัพและมีส่วนในการปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์ระหว่างช่วงที่มีความขัดแย้ง

ฮาดิยังเห็นว่า ปราโบโวควรมีส่วนในการรับผิดชอบเรื่องนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกบังคับให้สูญหายในการจลาจลช่วงปี 1998 ที่น่าสงสัยคือทำไมคนถึงยังเลือกปราโบโว มีคนพูดว่านี่เป็นการพิสูจน์ว่าคนในอาเจะห์นั้นให้อภัยคนได้ง่าย แต่ตนคิดว่านั่นไม่ใช่คำตอบ

ฮาดิวิเคราะห์ว่านักการเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนกลยุทธ์และแคมเปญในรูปแบบใหม่ในการสื่อสาร โดยเน้นการโปรโมทที่ตัวบุคคลมากขึ้น ใช้ศาสนาเข้ามาช่วย บอกว่าถ้าเลือกแล้วจะทำให้ศาสนาอิสลามเข้มแข็ง และใช้คำว่าคอมมิวนิสต์เพื่อป้ายสีฝ่ายตรงข้ามคือโจโควี ทั้งที่โจโควีเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์เลยด้วยซ้ำ และยังมีการสร้างข่าวลือว่าโจโควีนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน อีกส่วนคือเพราะคนอาเจะห์ส่วนใหญ่นั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เคร่งศาสนามากที่สุดในอินโดนีเซียและหวาดกลัวคอมมิวนิสต์

ไม่ใช่แค่คนอาเจะห์เท่านั้นที่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ฮาดิชี้ว่าคนจากหลายส่วนในอินโดนีเซียก็เช่นกัน ถ้าดูจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทุกเขตที่ปราโบโวชนะเป็นพื้นที่ของคนเคร่งศาสนา เมื่อใช้นโยบายเกี่ยวกับศาสนาจึงชักจูงคนที่เคร่งศาสนาได้ง่าย

เรื่องที่ฮาดิกังวลอีกเรื่องคือการเข้ามามีบทบาทของปราโบโว ซึ่งดูเหมือนจะมีเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ และก่อนหน้านี้เป็นพรรคฝ่ายค้านและได้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ทหารสามารถเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลได้ นั้นคือต่อจากนี้ทหารจะเข้ามาเล่นการเมืองแบบรัฐบาลพลเรือนได้ โดยให้เหตุผลว่าทหารมีความสามารถที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีเพียงนักกิจกรรมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไร

 

ไม่ว่าตัวเลือกไหนก็แย่ทั้งคู่

 


อนินดยา อแมนดา (Anindya Amanda)

 

อนินดยา อแมนดา (Anindya Amanda) ผู้ช่วยส่วนภูมิภาคองค์กรเอเชียจัสติสแอนด์ไรท์ (Asia Justice and Rights) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในประเด็นความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะประกาศผลในเดือนพฤษภานี้ แต่ตอนนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงระหว่างผู้สมัครเป็นประธานาธิบดี 2 คน ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะฝ่ายปราโบโวซึ่งเป็นอดีตนายพลที่ดูเหมือนจะได้คะแนนน้อยกว่าก็อ้างว่าเขาเป็นผู้ชนะเช่นกัน

สำหรับงานด้านความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่กำลังทำอยู่ อแมนดาไม่คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยอะไรได้ เพราะโจโควีซึ่งเป็นประธานาธิบดีมา 5 ปี ก็ไม่เคยทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเขายังเอาใจคนที่เคร่งศาสนา ละเลยเรื่องสิทธิมนุษยชน ครั้งนี้หากเขาได้เป็นก็คิดว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนปราโวก็เป็นฝ่ายที่มีทหารหนุนหลัง และยังนำเอาวาทกรรมความเป็นคอมมิวนิสต์มาใช้กับพวกนักสิทธิมนุษยชนด้วย จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด ดังนั้นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อจากนี้อีก 5 ปี นอกจากจะไม่เปลี่ยนแปลงแล้วอาจยังทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น

“คนรุ่นใหม่ในรุ่นเราลังเลที่จะโหวตเลือกใครจนกระทั่งวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าตัวเลือกในก็เป็นตัวเลือกที่แย่ทั้งคู่” อแมนดากล่าว

เมื่อถามว่าเธอเลือกใครเป็นประธานาธิบดี เธอกล่าวว่าขอเก็บเป็นความลับ

อแมนดายังเล่าถึงสถานการณ์ระหว่างนับคะแนนเลือกตั้ง ที่ทำให้เจ้าหน้าที่นับคะแนนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ไปหลายคนเนื่องมาจากการทำงานหนักเกินไปในการนับคะแนนที่ใช้ระยะเวลายาวนาน เมื่อถามอแมนดาว่าทำไมถึงไม่ใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่านี้ผลัดเวรกัน อแมนดากล่าวว่าเป็นเพราะกรรมการการเลือกตั้งเองประมาทเกี่ยวกับประเด็นนี้เกินไป เป็นเรื่องที่ต้องจัดการบริหารกำลังคนให้ได้ดีกว่านี้

อนึ่งเดอะการ์เดี้ยนได้รายงานว่า จำนวนประชากรในอินโดนีเซียทั้งหมด 260 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 80% หรือคิดเป็น 193 ล้านคน และเป็นการเลือกทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นควบคู่กันไปเพื่อประหยัดงบประมาณ ด้วยการเลือกตั้งที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 8 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ยังต้องอยู่เพื่อนับคะแนนด้วยมือ ยอดเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตมีจำนวน 272 คน จากการทำงานหนักมากเกินไป และป่วยอีก 1,878 คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net