Skip to main content
sharethis

กรมประมงเปิดอบรมผู้สังเกตการณ์บนเรือ

กรมประมง เปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจ จำนวน 30 อัตรา เข้ารับการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้สังเกตการณ์บนเรือ” (Observer on Board) เพื่อไปทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงและเรือขนถ่ายของไทยที่ไปทำประมงในเขตทะเลหลวง และที่ออกไปทำประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งอื่น รวมถึงเรือประมงที่ขนถ่ายสัตว์น้ำนอกน่านน้ำ ตามหลักมาตรฐานสากลสำหรับควบคุมการทำประมงให้เป็นไปอย่างถูกกฎหมาย มีความรับผิดชอบ และนำไปสู่การบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง

สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็น Observer on Board เมื่อได้ไปปฏิบัติงาน จะได้รับค่าจ้างวันละ 2,100 บาท ทั้งนี้ ผู้ได้บรรจุเป็น Observer on Board จะต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาประกันในการปฏิบัติงาน (ระยะเวลา 2 ปี) หรือสัญญาชดใช้เงินคืนตามที่กรมประมงกำหนด โดยในระหว่างสัญญาการปฏิบัติงานนั้น สามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้จนกว่ากรมประมงจะเรียกตัวมาปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 8 พฤษภาคม 2562 ณ กองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ อาคารเชิดชายอมาตยกุล ชั้น 1 กรมประมง

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 4/5/2562

ประกันสังคม แจงสิทธิผู้ประกันตนกรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสิทธิผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ว่าผู้ประกันตนเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็ง และมีต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต จากสาเหตุดังนี้ ผู้ประกันตนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีลอยด์ชนิดเรื้อรัง/มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลอีลอยด์ ชนิดเฉียบพลัน/มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟบลาสชนิดเฉียบพลัน/มะเร็งต่อมน้ำเหลือง/ไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง/ ไขกระดูกผิดปกติ ระยะก่อนเป็นมะเร็ง/ มะเร็งไขกระดูกชนิดมัยอีโลม่า และไขกระดูกผิดปกติชนิดเป็นพังผืด ซึ่งในการขอรับสิทธิผู้ประกันตนสามารถยื่นเรื่องได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก พร้อมเอกสารการพิจารณา คือ ประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และความเห็นแพทย์ผู้รักษาให้ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ประกันตนได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ได้รับสิทธิ สำนักงานประกันสังคมจะส่งตัวผู้ประกันตนไปยังสถานพยาบาลที่ทำความตกลงเพื่อทำการรักษาผู้ประกันตนกรณีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมได้เหมาจ่ายค่าบริการค่าบริการทางการแพทย์จากสำนักงานประกันสังคมโดยตรง ถ้าเป็นเนื้อเยื่อของตนเองจ่ายให้ในอัตรา 750,000 บาทต่อราย แต่ถ้าเป็นเนื้อเยื่อผู้อื่นที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเหมาจ่ายให้ในอัตรา 1,300,000 บาทต่อราย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: บ้านเมือง, 4/5/2562

เผยยอดแรงงาน 3 สัญชาติ เข้า-ออก ช่วงสงกรานต์กว่า 5.3 แสนคน

เมื่อวันที่ วันที่ 2 พ.ค. 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนที่ร่วมกันดูแล อำนวยความสะดวก รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และทำความเข้าใจในระเบียบและขั้นตอนการเดินทางเข้า-ออกของแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้านกรมการจัดหางานเผยช่วง 5 - 30 เมษายนที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เดินทางเข้า-ออกทั้งสิ้น 532,677 คน เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด พร้อมเน้นย้ำแรงงานต่างด้าวกลับช่วง 1-31 พฤษภาคม 2562 ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,000 บาท และหลัง 31 พฤษภาคม 2562 หากนายจ้างจะจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศไทย ต้องนำเข้ามาทำงานตามระบบ MOU เท่านั้น

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนที่ช่วยกันดูแล อำนวยความสะดวกรวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และทำความเข้าใจในระเบียบและขั้นตอนการเดินทางเข้า-ออกของแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ถือหนังสือเดินทาง เอกสารแทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และทำงานในประเทศไทยในตำแหน่งกรรมกร คนรับใช้ในบ้าน ผู้ประสานงานด้านภาษา และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล รวมถึงผู้ติดตามซึ่งอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับการตรวจลงตราวีซ่าประเภทผู้ติดตาม เดินทางเข้า-ออกประเทศเพื่อกลับบ้านไปร่วมประเพณีสงกรานต์ระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน 2562 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม Re-Entry จำนวน 1,000 บาท ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 - 30 เมษายน 2562 มีแรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรไทย จำนวนทั้งสิ้น 532,677 คน โดยเดินทางออกจำนวน 241,521 คน และเดินทางเข้าจำนวน 291,156 คน เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 330,604 คน รองลงมาเป็นสัญชาติกัมพูชา จำนวน 106,883 คน และสัญชาติลาว จำนวน 95,190 คน โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาจะมีทั้งกลุ่มแรงงานกลับบ้านช่วงสงกรานต์ กลุ่มที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย และกลุ่มนำเข้าตามระบบ MOU ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 33,000 คนต่อเดือน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมามีแรงงานต่างด้าวเข้า-ออก จำนวน 240,251 คน ซึ่งพบว่าในปี 2562 มีแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 292,426 คน คิดเป็น 121.72 % ขณะที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่มีสถิติเข้า-ออก สูงสุด 10 ลำดับแรก คือ 1. ตม.จว.ตาก 2. ตม.จว.สระแก้ว 3. ตม.จว.อุบลราชธานี 4. ตม.จว.มุกดาหาร 5. ตม.จว.จันทบุรี 6. ตม.จว.ระนอง 7. ตม.จว.กาญจนบุรี 8. ตม.จว.ประจวบคีรีขันธ์ 9. ตม.จว.เชียงราย และ 10. ตม.จว.นครพนม

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวย้ำเตือนว่า ขณะนี้พ้นกำหนดระยะเวลายกเว้นค่าธรรมเนียม Re-Entry จำนวน 1,000 บาท แล้ว ดังนั้น หากแรงงานต่างด้าวกลับช่วง 1-31 พฤษภาคม 2562 ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,000 บาท และต้องขอรับวีซ่าใหม่ โดยอยู่ได้เท่าสิทธิเดิมที่ได้รับอนุญาต แต่หากหลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 จะเข้ามาทำงานอีกไม่ได้ หากนายจ้างประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวคนเดิมทำงานในประเทศไทยต่อไป จะต้องนำแรงงานคนเดิมกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU เท่านั้น โดยในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61 – เม.ย.62) มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย จำนวน 230,400 คน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สยามรัฐ, 3/5/2562

เปิดรับสมัคร 'นักเรียนการไปรษณีย์' เรียน 1 ปี ได้บรรจุเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ

รายงานข่าวจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งว่า ได้เปิดรับสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ ประจำปีการศึกษา 2562 ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 พ.ค. นี้

โดยเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะการทำงานด้านต่างๆ ในระบบงานไปรษณีย์ ตลอดจนให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการทรัพยากร การขนส่งและโลจิสติกส์ การตลาด กฎหมาย ภาษีอากร ฯลฯ ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา 1 ปี

ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการไปรษณีย์จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์ ระดับ 2 ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรนี้ คือจะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในสายสามัญ หรือ กศน. และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อายุไม่ต่ำกว่า 17 ปี ถึง 25 ปีบริบูรณ์ (เกิดระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 – วันที่ 9 พฤษภาคม 2545)

ผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมบันทึกข้อมูลการสมัครได้ที่เว็บไซต์www.thailandpost.co.th ตั้งแต่วันนี้ – 9 พฤษภาคม 2562 โดยชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบได้ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/5/2562

ปธ.สภาองค์การนายจ้างอาเซียนเชื่อ AI ไม่กระทบแรงงานคน

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างอาเซียน มองว่า การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ น่าจะไม่มีปัญหาเรื่องตกงานตามมา เพราะการใช้ AI สามารถใช้ได้เฉพาะงานบางประเภท ขณะเดียวกัน แรงงานมนุษย์ต้องปรับตัวให้ทันสมัย มีศักยภาพ และพร้อมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สำหรับสาขาแรงงานที่อาเซียนกำลังขาดแคลนในขณะนี้คือ แพทย์ วิศวกร และสถาปนิก

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1/5/2562

ได้ข้อสรุป "พยาบาล" เจาะเลือดได้ แต่ต้องสอดคล้อง กม.เทคนิคการแพทย์

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสภาการพยาบาลยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ “ร่างข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยการเจาะเก็บตัวอย่างเลือด พ.ศ. ...” เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์สามารถเจาะเก็บตัวอย่างเลือดที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นจากสภาเทคนิคการแพทย์ ว่า สบส.ได้จัดการประชุมหารือการเจาะเลือดโดยผู้ประกอบวิชาชีพอื่นขึ้น เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากสภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สบส. และสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ มาร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกัน ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเบื้องต้น สมควรให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถเจาะเก็บตัวอย่างเลือดได้ แต่ควรพิจารณารายละเอียดเนื้อหาข้อบังคับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อยกเว้นของการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.เทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งจะต้องมีการแก้ไขข้อจำกัดและเงื่อนไขของวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมก่อน ซึ่งที่ประชุมจะนำข้อสรุปดังกล่าวนำเรียน รมว.สาธารณสุขพิจารณาต่อไป

“เชื่อว่าผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขประเทศให้ก้าวไปอย่างมั่นคง จากการระดมความคิด หาข้อสรุปที่เหมาะสมระหว่างหน่วยงานและบุคลากรในแวดวงสาธารณสุข ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการสาธารณสุข อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมุ่งผลสุดท้ายเพื่อประชาชนสุขภาพดี ตามภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข” นพ.ณัฐวุฒิกล่าว

รศ.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวสั้นๆ ว่า จากการหารือทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพยาบาลสามารถเจาะเลือดได้ ครอบคลุมถึงสถานพยาบาลเอกชนที่ออกให้บริการตรวจสุขภาพพนักงาน อย่างไรก็ตาม จากนี้ยังต้องไปออกข้อบังคับสภาการพยาบาลเพิ่มเติมอีก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/4/2562

วัยแรงงานผจญอุบัติเหตุยานยนต์มากที่สุด

สพฉ.เปิด 3 อันดับสถิติการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินของวัยแรงงานผ่านสายฉุกเฉิน 1669 พบอุบัติเหตุยานยนต์ยังครองแชมป์ รองลงมาคือป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง และ ปวดท้อง หลัง เชิงกราน พร้อมระบุปี 61 จนถึงปัจจุบันมีแรงงานพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด มากถึง 42,127 คน วอนสถานประกอบการดูแลสวัสดิภาพแรงงานให้ปลอดภัยจากการทำงาน พร้อมเตือนแรงงานดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดหลังพบตัวเลขการแจ้งเหตุอาการหายใจลำบากติดขัดที่มีมากถึง 24,354 คนเช่นกัน

สืบเนื่องจากวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงาน โดยที่ผ่านมาปัญหาเรื่องสุขภาพยังเป็นปัญหาหลักที่น่าเป็นห่วงสำหรับวัยแรงงาน ล่าสุดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมาเปิดเผยสถิติที่น่าสนใจของการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนคนไทยวันแรงงาน

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สพฉ.ได้รวบรวมสถิติตัวเลขของการแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายฉุกเฉิน 1669 ของประชาชนในวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 20 – 60 ปี ขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.2561 – จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2562 พบว่า มีการแจ้งเหตุในเรื่องอุบัติเหตุยานยนต์มากที่สุดโดยได้รับแจ้งเหตุในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือ 148,377 ครั้ง ส่วนผู้หญิง 80,163 ครั้ง รองลงมาคือการได้รับแจ้งเหตุจาก อาการป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง โดยได้รับแจ้งเหตุในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเช่นกัน คือ ชาย ได้รับแจ้ง 66,460 ครั้ง หญิงได้รับแจ้ง 56,835 ครั้ง ขณะที่อันดับ 3 คืออาการปวดท้อง, หลัง, เชิงกราน ได้รับแจ้งเหตุในเพศชาย 42,301 ครั้ง และเพศหญิง 35,900 ครั้ง

นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากสถิติของ 3 อันดับแรกที่น่าเป็นห่วงแล้วยังมีสถิติของการแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายฉุกเฉิน 1669 ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของวัยแรงงานคือการพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด ที่มีการแจ้งเหตุเข้ามามากถึง 42,127 คน ตนจึงอยากฝากเตือนไปถึงสถานประกอบการให้ใส่ใจในการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานในการทำงานให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐานตามหลักสากลด้วย นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานเองหากใครที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงก็อยากให้ตรวจดูอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในการทำงานของเราว่าพร้อมและปลอดภัยพอสำหรับการทำงานของเราหรือไม่ หากไม่พร้อมก็ให้รีบแจ้งผู้ประกอบการให้เข้ามาดูแลทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเราและเพื่อนร่วมงานด้วย และที่สำคัญแรงงานเองก็ต้องดูแลตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้วย

รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งสถิติที่มีการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ามาและเป็นเรื่องที่ประชาชนวัยแรงงานต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือ คืออาการหายใจลำบากติดขัดที่มีการแจ้งเหตุเข้ามามากถึง 24,354 คนเช่นกัน ซึ่งอาการหายใจลำบากติดขัดมักมีต้นเหตุมาจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในหลายๆ โรค แต่โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดของอาการหายลำบากติดขัดคือ โรคภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) ซึ่งภาวะของโรคหัวใจขาดเลือดคือโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากรุนแรงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน โดยเฉพาะในขณะออกแรง หรือมีอาการแน่นเหนื่อยอึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย และมีอาการเจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวกรวมถึงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นการ หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจากแน่นหน้าอกแล้ว ยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้วัยแรงงานมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากปัจจัยหลายอย่างได้แก่ มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดของคนในครอบครัว แรงงานหลายท่านมีภาวะของความเครียดบางคนจึงสูบบุหรี่หนักซึ่งการสูบบุหรี่ในปริมาณที่มากในแต่ละวันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้นด้วย นอกจากนี้แรงงานที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน แรงงานที่มีภาวะอ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นด้วย

นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ตนจึงอยากฝากให้ประชาชนในวัยแรงงานดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีเพื่อให้ปลอดจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทุก ๆ โรค หากแบ่งเวลาได้ก็อยากให้มีการแบ่งช่วงเวลาจากการทำงานออกกำลังกาย บ้างและอยากให้เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือต้องไม่เครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ และหากแรงงานท่าใดพบว่าตนเองหรือเพื่อนร่วมงานมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามที่ตนกล่าวมาก็ขอให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที เราพร้อมดูแลประชาชนทุกคนฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: Newtv18, 30/4/2562

กรุงเทพโพลล์เผยผู้ใช้แรงงานอยากได้ค่าแรง 400 บาททันทีหลังมี รบ.ใหม่ แต่กังวลข้าวของแพง

กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ปรับค่าแรงขั้นต่ำกับความหวังของแรงงานไทย” โดยเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้แรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,160 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 42.1 ระบุว่าปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันพอดีกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ขณะที่ร้อยละ 31.6 ระบุว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ส่วนร้อยละ 26.3 ระบุว่าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม

เมื่อถามว่านโยบายหาเสียงเลือกตั้งค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทจากพรรคการเมืองต่างๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 เห็นว่ามีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 49.5 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

เมื่อถามต่อว่าหากได้รัฐบาลใหม่แล้ว คาดหวังกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.7 ระบุว่าคาดหวัง โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 43.0 หวังว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเลยในทันที รองลงมาร้อยละ 15.3 หวังว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 400 บาทภายใน 1-2 ปี และร้อยละ 3.4 หวังว่าไม่เกิน 3 ปี จะได้ค่าแรงถึง 400 บาท ขณะที่ร้อยละ 38.3 ไม่ได้คาดหวัง

ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาทคือ ข้าวของราคาแพงขึ้น คิดเป็นร้อยละ85.9 รองลงมาคือ ค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี คิดเป็นร้อยละ 21.6 และตกงาน โดนเลิกจ้าง คิดเป็นร้อยละ 21.0

เมื่อถามว่าหากภาครัฐมีการพัฒนาทักษะแรงงาน สำหรับงานและอาชีพแต่ละระดับให้เป็นมาตรฐาน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาปรับค่าแรงมาตรฐานให้สูงขึ้น ท่านสนใจจะเข้าร่วมมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.0 สนใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ38.0 สนใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

สุดท้ายในฐานะแรงงานไทย อยากฝากความหวังอะไรกับรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.0อยากให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค พื้นฐานไม่ให้ขึ้นราคา กระทบค่าครองชีพ รองลงมาร้อยละ 53.6 อยากให้ดูแลสวัสดิการความปลอดภัย ค่ารักษาพยาบาลแก่แรงงาน และร้อยละ 37.7 อยากให้รัฐบาลเร่งรัดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดภาวการณ์ว่างงาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/4/2562

NGO ผนึกเอกชน เดินหน้าศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN ปีที่ 2 เพิ่มการทวนสอบกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศต้นทาง

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อการดำเนินงาน ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพิ่มงานเชิงรุกเพื่อ สร้างความโปร่งใสในการจัดจ้างแรงงานต่างชาติ ช่วยคุ้มครองและดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติ และป้องกันปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทาน

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับซีพีเอฟ ดำเนินโครงการศูนย์รับเรื่องของพนักงาน ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN และ Worker Training ในปีนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเพิ่มการทวนสอบกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงบริษัท เพื่อให้ทราบข้อมูลที่มาเชิงลึกของแรงงาน และให้มั่นใจว่ากระบวนการสรรหาและจัดจ้างในประเทศต้นทางจนถึงไทยดำเนินการอย่างโปร่งใส ยึดมั่นตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันจะเพิ่มทักษะของแรงงานเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อนแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน หรือถูกเอาเปรียบ เพื่อเสริมให้การดำเนินงานการรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ฮอทไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การทวนสอบกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศต้นทางที่ LPN ร่วมกับซีพีเอฟจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการจัดการเชิงรุก ในการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และแรงงานผิดกฎหมายในทุกรูปแบบได้มากยิ่งขึ้น” นายสมพงค์กล่าว

การดำเนินการของ ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN ปีที่ 2 จะมีการจัดอบรมให้แรงงานไทยและต่างชาติต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังเน้นเพิ่มทักษะการสื่อสารให้แก่แรงงาน เพื่อให้แรงงานสามารถติดต่อขอคำปรึกษา หรือร้องเรียนมาที่ศูนย์ Hotline ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยังช่วยให้แรงงานมีทักษะสามารถให้คำปรึกษาแก่เพื่อนแรงงานได้อีกด้วย

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปีนี้ ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN จะมุ่งเน้นเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดจ้างแรงงานต่างชาติของซีพีเอฟ โดยมูลนิธิ LPN จะนำประสบการณ์ที่เคยช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ เข้ามาช่วยดำเนินการทวนสอบกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศต้นทาง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแรงงานของซีพีเอฟได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงาน ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงานกับบริษัทฯ รวมถึงตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาที่ประเทศต้นทางและเดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้จ่ายเกินความเป็นจริง

สำหรับ ความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ กับ มูลนิธิ LPN ตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN ซึ่งเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนของแรงงาน ที่รองรับภาษาไทย กัมพูชา และเมียนมา ได้ช่วยให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและช่วยจัดการปัญหาของเพื่อนแรงงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงานของบริษัทฯ ได้ช่วยให้พนักงานระดับแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติที่ทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟ รวม 1,063 คน มีความตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิของแรงงานดีขึ้นอย่างชัดเจน และสามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานที่พึงได้มากขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/4/2562

ก.แรงงาน ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่สิงคโปร์ หวังขยายตลาดแรงงาน พัฒนาฝีมือเป็นช่างชั้นสูง

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2562 พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และคณะ ตรวจเยี่ยมแรงงานไทย ที่ศูนย์บริการแรงงานนอกเวลาราชการของสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์

โดยพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศสิงคโปร์จำนวน 20,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคก่อสร้าง รองลงมา เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบำรุงรักษา ภาคงานเรือ และภาคเกษตร ตามลำดับ โดยถือใบอนุญาตการทำงานประเภท Work Permit ส่วนภาคบริการและอื่น ๆ จะถือใบอนุญาตการทำงานประเภท S Pass หรือ Employment Pass

สำหรับสถานการณ์การจ้างงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ในปัจจุบัน พบว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมลดการใช้กำลังแรงงานแต่เพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานแทน แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจากช่างฝีมือพื้นฐาน เป็นช่างฝีมือชั้นสูง จนถึงระดับหัวหน้างาน

โอกาสนี้ พล.ต.อ.อำนาจ ยังได้พบปะและมอบโอวาทแก่อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) และตัวแทนแรงงาน จำนวน 30 คน โดยปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มีอาสาสมัครแรงงานจำนวน 131 คน จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่มาผักผ่อนที่ร้านอาหารไทย ณ Golden mild complex ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของคนไทยในประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 30/4/2562

ม.หอการค้าฯ เผยแรงงาน 95% มีภาระหนี้สิน ส่วนใหญ่หวังค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจ "สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ ต่ำกว่า 15,000 บาท" จาก 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในกลุ่มอาชีพข้าราชการ รับจ้าง พนักงานเอกชนรัฐวิสาหกิจ และรับจ้างรายวัน พบว่า ส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท โดยสัดส่วนร้อยละ 86.2 ไม่มีเงินออม ทำให้แรงงานถึงร้อยละ 95 มีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่อยู่อาศัย และยานพาหนะ โดยเฉลี่ยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 158,000 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังมีสัดส่วนการกู้เงินในระบบสูงกว่า ซึ่งต้องผ่อนชำระประมาณเดือนละ 7,200 บาท และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเจอปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือน และรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจในประเทศยังทรงตัว

ทั้งนี้แรงงานส่วนใหญ่ เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน มีความเหมาะสมในระดับปานกลางเท่านั้น จึงอยากให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างน้อยก็ปรับเพิ่มให้เท่ากับค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

ส่วนกิจกรรมในช่วงวันแรงงาน จะไปท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานแรงงาน ดูหนัง สังสรรค์ และไปซื้อของ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,164 บาท ทำให้คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,232 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยยังต้องติดตามประเด็นภาระหนี้ต่อครัวเรือน ที่แม้จะยังมีสัดส่วนการกู้ยืมในระบบที่สูงกว่า แต่เริ่มมีการกู้นอกระบบมากขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่ร้อยละ 34 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41.8 ในปีนี้ เนื่องจากแรงงานมีการกู้ในระบบเต็มแล้ว จากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ยังพอดีกับรายจ่าย หรือรายได้ยังน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้ยังต้องกู้ยืมเงิน ซึ่งรัฐบาลควรแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ เช่น การปรับโครงการธงฟ้าเฉพาะในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงาน

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจแรงงานที่ออกมา ถือว่าปีนี้แม้ลูกจ้างยังต้องการค่าจ้างแรงงานเพิ่ม แต่ทุกคนก็เข้าใจนายจ้างมากขึ้น เพราะหากปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มจะกระทบต่อนายจ้างและไม่เป็นผลดีกับลูกจ้าง หากให้ออกจากงาน การหางานใหม่จะลำบากมากในช่วงนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่คาดว่าจะได้ภายในสิ้นปีนี้ ช่วยดูแลเรื่องค่าแรงงานและสวัสดิการอื่นๆ ดังนั้น หลายปัจจัยที่เกิดขึ้นยอมรับว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3.2-3.3 ซึ่งอยู่ในช่วงซึมลงจากหลายสาเหตุ ทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่เมื่อทุกอย่างดีขึ้นครึ่งปีหลังมีรัฐบาลใหม่เศรษฐกิจน่าจะเติบโตถึงร้อยละ 4 ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.5-3.8 และยังมองว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านด้านการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยผ่านมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสมกันต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/4/2562

โพลระบุแรงงานไทยกว่า 64% มีความสุขดี หวังปรับค่าแรง-ดูแลค่าหมอ

เนื่องด้วย วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้แรงงาน เรื่อง “ความสุขและความคาดหวังของแรงงานไทย 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 – 21 เมษายน 2562 จากประชาชนผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคและระดับการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความสุขในการทำงานและสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย

จากการสำรวจโดยใช้ข้อคำถามหมวด Happy Work Life (Happy Plus) / การงานดี จากคู่มือการวัดความสุขด้วยตนเอง HAPPINOMETER ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ระดับความสุขของผู้ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.89 ระบุว่า มีความสุข รองลงมา ร้อยละ 27.39 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 6.93 ระบุว่า ไม่มีความสุข และร้อยละ 0.79 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย

สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยเหลือแรงงานไทยมากที่สุด พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า พิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รองลงมา ร้อยละ 21.97 ระบุว่า เพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 11.31 ระบุว่า ส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้ ด้านฝีมือให้กับแรงงานไทย ร้อยละ 10.59 ระบุว่า แก้ไขปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 6.69 ระบุว่า ตรวจสอบ/ควบคุม นายจ้าง ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบ ร้อยละ 2.07 ระบุว่า การแย่งงานของแรงงานต่างด้าว และร้อยละ 0.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ลดอัตราภาษี ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีกองทุนรวมเหมือนรัฐวิสาหกิจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่แรงงานไทยอยากได้รับการพัฒนาฝีมือมากที่สุด พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.69 ระบุว่า ด้านภาษาต่างประเทศ รองลงมา ร้อยละ 12.90 ระบุว่า ด้านช่างอุตสาหกรรม ร้อยละ 10.19 ระบุว่า ด้านคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 7.40 ระบุว่า ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 6.93 ระบุว่า ด้านโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 6.53 ระบุว่า ด้านช่างก่อสร้าง ร้อยละ 5.41 ระบุว่า ด้านช่างซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 4.86 ระบุว่า ด้านช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 3.50 ระบุว่า ด้านช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ร้อยละ 0.88 ระบุว่า ด้านช่างผม และร้อยละ 2.71 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่อยากพัฒนา

ที่มา: ไทยโพสต์, 28/4/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net